สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” กำลังเดินหน้าทำลายล้างอย่างขมีขมันท่ามกลางความความหวั่นของมวลมนุษยชาติ ด้วยตัวเลข “ผู้ป่วย” ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพุ่งทะลุ 1 ล้านคนตามความคาดหมาย
ขณะที่ประเทศไทยเองเมื่อวันที่ 2 เมษายน มีผู้ป่วยสะสม 1,875 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 15 ราย และคาดว่าจะทะลุ 2,000 คนตามความคาดหมายเช่นกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว
ปัญหาก็คือ แม้รัฐบาลจะใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ทั่วราชอาณาจักร และให้อำนาจ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ออกคำสั่งควบคุมสถานการณ์เฉพาะพื้นที่ได้ แต่ดูเหมือนคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงไม่ใส่ใจ ยังคงใช้ชีวิตปกติ ไม่สวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน แถมยังมีปาร์ตี้สังสรรค์ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
คนจำพวก “โควิดอีเดียต (COVID EDIOT)” เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาด และผลกระทบก็ตกอยู่กับ “บุคลากรทางการแพทย์” ซึ่งเป็น “ด่านหน้า” หรือ “ฮีโร่” ของคนไทยทั้งชาติที่จะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้วงกานแพทย์ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวน 2.4 เตียงต่อประชากร 1,000คน แพทย์ 0.8 คนต่อประชากร 1,000คน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และ ณ เวลานี้(1 เมษายน 2562) ไทยมียอดบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ COVID แล้ว 25 คน
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เปลี่ยนจากการขอ “ความร่วมมือ” มาเป็นการ “บังคับใช้กฎหมาย” อย่างเด็ดขาด และ “ลงโทษ” บรรดาโควิดอีเดียตเหล่านี้อย่างจริง จัง
และเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ยกระดับการควบคุม “โควิด-19” ด้วยการประกาศ “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศ คือ “ห้ามออกจากบ้าน” ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ เคอร์ฟิวคือคำตอบในการสู้กับโควิด-19 จริงหรือ?
แน่นอน กรณี “คนธรรมดา” ที่มิได้มีกิจกรรมพิเศษและตระหนักถึงการ “อยู่บ้านช่วยชาติ” ไม่น่าจะมีปัญหาในการดำเนินชีวิตมากนัก เพราะถือเป็นเวลาที่เหมาะสม และการห้ามออกจากบ้านก็จะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดลงได้
ที่สำคัญคือการเคอร์ฟิวจะสามารถจัดการกับพวก “โควิดอีเดียต” ที่ยังคงดื้อด้านฝ่าฝืนไปสังสรรค์ รวมกลุ่มกันไปเที่ยวได้อย่างถนัดถนี่มากขึ้นกว่าเดิม ดังตัวอย่างที่ศาลแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาจำคุก 18 วัยรุ่นที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปมั่วสุมเสพยาเสพติด เป็นเวลา 1-4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา หรือในอีกหลายพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นต้น
“ในส่วนของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ยังรวมกลุ่มนั่งดื่ม ขอให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายพิจารณาลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด” นั่นคือคำสั่งที่เด็ดขาดจาก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี
แน่นอน หลายคนอาจมองว่าการห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.น้อยเกินไป เอื้อทุนหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมองด้วยใจเป็นธรรมก็จะเห็นว่า เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกำราบพวก “โควิดอีเดียต” ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ขณะเดียวกันก็ยังคงเห็นใจประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ซึ่งตรงนี้ก็คือเป็น “จุดอ่อน” เพราะยังล็อกดาวน์แบบครึ่งๆ กลางๆ
แต่ถ้า “เคอร์ฟิว” เต็มรูปแบบคือห้ามจากบ้าน 24 ชั่วโมงเหมือนที่ “อู่ฮั่น” ทำ โดยเปิดให้ออกมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้สัปดาห์ละครั้ง รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนมากกว่านี้ เช่น ให้ทุกบริษัทหยุดงาน 1 เดือน แต่ประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้
ตรงนี้เป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินงบประมาณมาให้การช่วยเหลือจากประชาชน โดยตัดงบที่ไม่จำเป็นจากทุกกระทรวง ทบวง กรม เอามากองรวมกัน และส่งผ่านให้ถึงมือประชาชน ซึ่งจำต้องอาศัย “ความเด็ดขาด” ในการดำเนินงาน (คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “งบฉุกเฉินเกลี้ยง? เกลี่ยงบประจำ 10% เข็นพ.ร.ก.กู้เงิน 2 แสนล้าน เดินหน้าฝ่าวิกฤตไวรัสฯ” )
ทีนี้ มาฟัง “ข้อเท็จจริงทางการแพทย์” บ้างว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นอย่างไร และทำไมถึงต้อง “ขันน็อต” ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมา(ก่อนหน้านี้)สามารถลดการแพร่กระจายของโรคมาได้ระดับหนึ่ง จากอำนาจการแพร่กระจายปกติ R0 = 2.5 (1 คน แพร่โรคต่อ 2.5 คน) ลดลงเหลือ R0 = 1.5 (1 คนแพร่ไป 1.5 คน)
อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจ จะต้องลดให้เป็น 1 หรือน้อยกว่า 1 ให้ได้ โดยต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น จึงจะควบคุมโรคได้ มาตรการทั้งหมดจะต้องประกอบไปด้วย
หนึ่ง - วินิจฉัยโรคให้ได้รวดเร็ว และให้ได้มากที่สุด โดยการตรวจผู้สัมผัส ผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น และต้องออกผลให้รวดเร็ว ตรวจจำนวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม กักกัน ไม่ให้โรคแพร่กระจาย ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ควบคุม ไม่ให้เกิดอาการมาก หรือรุนแรงโดยรักษาแต่เริ่มแรกรวดเร็ว และต้องการลดการแพร่กระจายโรคได้ รวมทั้งผู้ที่รักษาหาย จะต้องมั่นในว่า จะพ้นระยะและไม่ไปแพร่กระจายโรคได้
สอง - ลดความเสี่ยงในการติดโรคของคนทั่วไป ตั้งแต่สุขอนามัย ล้างมือ กินร้อนที่รู้จักกันดี ไปจนถึง physical distancing กำหนดระยะห่างของบุคคล สังคม ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่ว่านอกบ้าน ในบ้าน การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคและลดการติดต่อ
สาม - ลดการเคลื่อนที่ของประชากร ลดการสัมผัสโรคด้วยการอยู่บ้าน และจะต้องทำให้มากที่สุด ในการลดประชากรที่จะไปสัมผัสโรค การเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ การมีมาตรการเข้มงวดในการเคลื่อนที่ การเดินทางของประชาชน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
สี่ - การมีระเบียบวินัย เมื่อเปรียบเทียบ จีน กับประเทศประชาธิปไตยทางตะวันตกแล้ว จีนมีระเบียบวินัยมากกว่า สามารถควบคุมโรคได้จนไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ยกเว้นผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ
ศ.นพ.ยงย้ำว่า มาตรการทั้งหมดจะต้องเข้มข้นขึ้น ก่อนเข้าฤดูฝนที่จะเป็นฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งแยกยากระหว่างโรคโควิด-19 กับโรคทางเดินหายใจอื่น จะสร้างปัญหากับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
อีกหนึ่งข้อมูลและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมาจาก นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
นพ.เฉลิมชัยบอกว่า สถานการณ์ของไทย วันที่ 1 เม.ย. 63 ผู้ติดเชื้อ 1,771 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 120 คน เท่ากับ 7.27% เสียชีวิต 12 คน เท่ากับ 0.68% ซึ่งถ้าทบทวนตัวเลขย้อนหลังไป 7 วัน มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9.58% นั่น คือ ไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9.58% หรือจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลา 10 วัน ซึ่งดีกว่าช่วง 7 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 21.13% หรือเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 4.5 วัน
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงในสัปดาห์นี้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (9.58% vs 21.13%) แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะสบายใจได้ ยังคงต้องทำงานต่อไป เพราะถ้าเราพอใจกับการเพิ่มขึ้น 9.58% หรือเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 10 วัน แปลว่าไทยจะมีผู้ติดเชื้อตามคาดการณ์ดังนี้ (2 เท่าทุก 10 วัน)
10 เม.ย. 1,771 x 2 = 3,542 คน
20 เม.ย. 3,542 x 2 = 7,084 คน
30 เม.ย. 7,084 x 2 = 14,186 คน
10 พ.ค. 14,186 x 2 = 28,336 คน
20 พ.ค. 28,336 x 2 = 56,672 คน
30 พ.ค. 56,672 x 2 = 113,344 คน
10 มิ.ย. 113,344 x 2 = 226,688 คน
20 มิ.ย. 226,688 x 2 = 453,376 คน
30 มิ.ย. 453,376 x 2 = 906,752 คน
“ใช่แล้วครับ ภายใน 3 เดือน เราจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 1,771 คน เป็น 9 แสนคน ถ้าเราต้องการให้ภายใน 3 เดือน มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 แสนคน เราจะต้องลดอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงมาเป็นเพิ่มวันละ 6% ถ้าต้องการในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 15,000 คน เราจะต้องลดอัตราเพิ่ม ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ให้เกินวันละ 3%”
นพ.เฉลิมชัยบอกว่า การที่จะลดอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันละประมาณ 10% ลงมาเหลือวันละ 3% จะต้องช่วยกันดังนี้ 1. ลดการออกจากบ้านลงอีก 70% จากที่เราช่วยกันในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (มีข้อมูลว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเดินทางลดลงไปเหลือ 60%) เราต้องลดลงไปอีกให้เหลือ 18% เป็นอย่างน้อย 2. ผู้ที่อยู่กับบ้านเป็นหลักอยู่แล้ว ต้องลดจำนวนคนที่ออกนอกบ้านในแต่ละสัปดาห์ลงอีก และลดความถี่ที่ออกจากบ้าน ลดระยะทางและลดเวลาที่อยู่นอกบ้าน
3. ส่วนผู้ที่ยังออกจากบ้านค่อนข้างบ่อย จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอยู่บ้านให้มากขึ้นเท่าที่สามารถจะทำได้ 4. ลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและเป็นผู้ที่ทำงานติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก เช่น ผู้ปรุงอาหารในร้านอาหาร ผู้ขายของในร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาเกต ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งของและอาหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น โดยการตรวจบุคคลดังกล่าวปูพรมทั้งหมดให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้ออยู่ เพราะบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่ประชาชนจำนวนมาก แม้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี คนส่วนน้อยที่ออกมานอกบ้าน ยังคงต้องเคร่งครัดเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ออกมานอกบ้าน และต้อง เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นให้มากที่สุด (อย่างน้อย 2 เมตร) อยู่นอกบ้านให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อกลับเข้าบ้าน ให้ถอดรองเท้าไว้นอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที ก่อนจะพบปะพูดคุยกับคนในบ้านต่อไป
ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) สะท้อนในการประชุมถึงผลสำรวจที่ออกมาว่า ประชาชนออกจากบ้าน ในวันธรรมดาลดน้อยลงแค่ 20-30% ซึ่งไม่น่าพอใจ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ให้พิจารณาปรับปรุงการทำงานเพื่อให้ลูกจ้างลดการเดินทาง หรือลดความแออัด เพิ่มระยะห่างให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี การประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าวจะดำเนินไปพร้อมๆ กับการ “ชะลอ” การเดินทางเข้าประเทศไทย ด้วยมีข้อมูลว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการ “นำเข้า” โควิด-19 มาจากต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จาก “ผู้เสียชีวิต” ที่เดินทางมาจาก “ปากีสถาน” เพื่อกลับบ้านที่สุโหงโก-ลก ผ่านด่านคัดกรองจากทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง กระทั่งไปเสียชีวิตบนรถไฟระหว่างวิ่งผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
“ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น คือ คนที่กลับมาจากต่างประเทศ ต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อภายในประเทศ นายกฯ มีมาตรการว่าจะต้องชะลอการเดินทางของคนต่างชาติและคนไทยด้วย เราต้องหยุดเชื้อให้ได้ ต้องชะลอการเดินทางเข้ามาของคนต่างชาติและคนไทย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำข้อมูลต่อไป” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ข้อมูล
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเรื่อง “เชื้อนำเข้า” จะพบนัยจากบรรดา “ผู้ติดเชื้อ” เหล่านี้ กล่าวคือ คนไทยไปประชุมอิตาลี 6 คน ติดเชื้อ 4 คน สัมผัสติดเชื้อเพิ่ม 1 คน กักตัว 50 คน กลับจากศาสนกิจมาเลเซีย 132 คน ติดเชื้อ 47 คน ตาย 4 คน กักตัวมากกว่าพันคน จากอินโดนีเซีย 56 คน ติดเชื้อ 32 คน (ล่าสุด 27 คน ติดเชื้อ 19 คน) กักตัวมากกว่า 500 คน เดินทางจากอังกฤษ ติดเชื้อ 4 คน ตาย 1 คน กักตัวมากกว่า 200 คน โดยผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อ ป่วยแต่ปกปิดอาการและแอบเดินทางกลับมา เดินทางจากกัมพูชา ด่านปอยเปต ติดเชื้อ 19 คน กักตัวมากกว่า 300 คน
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงได้สั่งให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและต่างชาติที่จะมา เว้นคนขออนุญาตกันไว้ก่อนแล้ว โดยคนที่จำเป็นต้องกลับมาให้ติดต่อสถานทูตประเทศนั้นๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำเอกอัครราชทูตของแต่ละแห่งอย่างเข้มงวดที่สุด ไม่ไปที่ชุมชน โดยให้เข้มงวดนับแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 เมษายน
สำหรับรูปธรรมที่เห็นชัดเจนจากมาตรการนี้ก็คือ คนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซียประมาณ 1,000 คน ที่ ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ได้มีประกาศแจ้งมายัง จ.สงขลา ว่าได้แจ้งให้พี่น้องคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในมาเลเซียที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศให้ชะลอการเดินทางแล้วไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือคนไทยตกค้างในมาเลเซียอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี การประกาศยกระดับควบคุมโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยอย่างไร และคงต้องพิจารณาถอด “บทเรียน” จากหลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ไต้หวันที่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อได้อย่างชะงัก จีนที่ล็อกดาวน์เมืองต่างๆ หรือเกาหลีใต้ที่ใช้วิธีการตรวจให้มากที่สุด เป็นต้น
ที่ “อู่ฮั่น” เมืองเอกมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาด และประกาศปิดเมืองอย่างเด็ดขาดในวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้ประสบความสำเร็จกับโรคร้ายและกำลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ชาวเมืองนับสิบล้านคนได้ก้าวออกออกมานอกบ้านสูดอากาศภายนอกเป็นครั้งแรกในรอบสองเดือนเศษ แต่ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมไวรัสอย่างเคร่งครัด เช่น ร้านอาหารจะตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าสองครั้ง ผู้โดยสารรถสาธารณะจะต้องแสดงรหัสรับรองสุขภาพบนสมาร์ทโฟน โดยอู่ฮั่นจะดีเดย์เปิดเมืองอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 8 เม.ย.นี้
ผลศึกษาที่จัดทำซึ่งเผยแพร่ทางวารสาร “ไซเอนซ์” ระบุว่า มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขันของจีนในช่วง 50 วันแรกของการระบาดของโรคร้ายจากไวรัสนี้ ทำให้เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศมีเวลาในการเตรียมพร้อมและบังคับใช้มาตรการจำกัดเข้มงวดของตนเอง เช่น การห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และการปิดสถานบันเทิง เป็นต้น
“เมื่อถึงวันที่ 50 ของการระบาด ซึ่งคือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ในประเทศจีนมีผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ 30,000 คน” คริสโตเฟอร์ ดาย นักวิจัยจากออกซ์ฟอร์ดและเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้กล่าว
จากการศึกษาวิเคราะห์ของทีมบ่งชี้ว่า หากไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางในอู่ฮั่นและไม่มีการประกาศมาตรการรับมือฉุกเฉินทั่วประเทศจีนแล้ว นอกนครอู่ฮั่น ณ ตอนนั้นอาจมีผู้ติดเชื้อกว่า 700,000 คนแล้ว
เพราะฉะนั้น นับแต่นี้ไป ประเทศไทยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทว่า คงไม่ดุเดือดเลือดพล่านเหมือนที่ “ฟิลิปปินส์” ซึ่งประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เตือนประชาชนว่าถ้าไม่เคารพคำสั่งล็อกดาวน์อาจจะถูก ‘ยิงทิ้ง’ ฐานสร้างความวุ่นวาย และย้ำว่าการล่วงละเมิดบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่รัฐบาลจะไม่อดทน
ส่วนจะมีมาตรการอะไรออกมา “มากไปกว่านี้” คือ ห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมงหรือไม่ ดังที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ว่าไว้ว่า “ ไวรัสไม่เลือกเวลาแพร่เชื้อ” หากจะ “เคอร์ฟิว” ประกาศห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง คงต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก หากประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือและตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน.