xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสรอง (2)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


นิโคลัส จอร์เจสคู
นักเศรษฐศาสตร์กระแสรองอีกหนึ่งราย...ที่น่าจะหยิบมาพูดถึง กล่าวถึง เอาไว้ ณ ที่นี้ ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ชาวโรมาเนีย ผู้มีนามกรว่า “นิโคลัส จอร์เจสคู” (Nicholas Georgescu-Roegen) ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อัจฉริยะแห่งวงการเศรษฐศาสตร์” ในฐานะผู้ริเริ่มนำเอาเรื่องสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นระบบ แต่สำหรับประวัติความเป็นมาของ “จอร์เจสคู” นั้น อาจแตกต่างไปจาก “อี.เอฟ. ชูมัคเกอร์” อยู่บ้างในช่วงแรกๆ เพราะเกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ยากจนเอามากๆ เมื่อปี ค.ศ.1906 พ่อเป็นทหารที่ต้องออกจากราชการและเสียชีวิตขณะที่ตัวเองอายุแค่ 8 ขวบ เหลือเพียงแม่ที่ต้องตรากตรำทำงานสายตัวแทบขาด เพื่อส่งลูกให้เรียนในโรงเรียนทหารซึ่งเข้มงวดในเรื่องวินัยเอามากๆ คือโรงเรียน “Lyceum Manastirea Dealu” ในเมือง “Constanta” เมืองท่าเล็กๆ ริมฝั่งทะเลดำ...

แต่ด้วยความมานะพยายาม แถมยังเรียนเก่งอีกต่างหาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ “นิโคลัส จอร์เจสคู” จึงได้ทุนการศึกษาให้เรียนไปจนจบมหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ จากนั้น...ยังได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ณ สถาบัน “Institute de Statistique Sorbonne” ในกรุงปารีสอีกด้วย จากนั้นยังไปเรียนต่อที่ “University College” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วข้ามไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศอเมริกา จนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถึงกับพยายามรั้งตัว ให้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยเหตุเพราะความผูกพันกับแผ่นดินเกิด โดยเฉพาะช่วงที่ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยบูคาเรสต์นั้น ความสนิทสนม คุ้นเคยกับศาสตราจารย์รายหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ชื่อว่า “ไทรอัน ลาเลสคู” (Traian Lalescu) ที่นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ยังเป็นผู้พยายามนำเอาความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศโรมาเนีย และได้ดึงเอาลูกศิษย์คนโปรดไปร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย ความอยากกลับมาแก้ปัญหาให้กับบ้านเกิดเมืองนอน จึงทำให้ “จอร์เจสคู” ปฏิเสธตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หันมาปักหลักอยู่ในประเทศโรมาเนียกันแทนที่ และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ให้มีฐานะตำแหน่งต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ตำแหน่งรองประธานศูนย์สถาบันสถิติแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารการค้าระหว่างประเทศ หนึ่งในคณะตัวแทนเจรจาปัญหาเขตแดนระหว่างฮังการีกับโรมาเนีย...ฯลฯ...

แต่ครั้นเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 2” และเมื่อโรมาเนียถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของคอมมิวนิสต์โซเวียตรัสเซีย “จอร์เจสคู” เลยต้องเผ่นมาอยู่อเมริกา แล้วรับตำแหน่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ.1948 ก่อนย้ายไปมหาวิทยาลัย “Vanderbilt” ในปี ค.ศ.1948 ไปจนถึงปี ค.ศ. 1976 ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ทศวรรษนี่เอง ที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวโรมาเนียผู้นี้ได้รวบรวมเอาแนวคิดและประสบการณ์ ไม่ว่าภาคทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติ ซึ่ง “ตกผลึก” อยู่ในตัวตนของตน มาสรุปเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงทางเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นงานเขียนที่ใช้ชื่อว่า “The Entropy Law and the Economic Process” อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแขนงวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกขานกันในนาม “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” (Ecological Economics) ในเวลาต่อมานั่นเอง...

โดยเนื้อหลักๆ ของงานเขียนที่ว่านี้...คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการนำเสนอแนวคิด ความเชื่อในทางเศรษฐศาสตร์ ว่าบรรดาทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวลในโลกใบนี้ ท้ายที่สุดแล้วย่อมต้องมีวันหมดสิ้น ณ จุดใด จุดหนึ่ง อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ เนื่องจากทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจนั้น ไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับมาสู่สภาพเดิมได้ ไม่ว่าจะนำเอาระบบ “รีไซเคิล” มาปรับใช้แบบไหน อย่างไร ก็ตามที ด้วยเหตุนี้... “ขีดความสามารถของโลกจึงมีอยู่อย่างจำกัด” ตามจำนวนประชากรและตามระดับของการบริโภค ดังนั้น...ถ้าไม่ลดหรือจำกัดการใช้ทรัพยากร หรือเลือกใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจของโลกทั้งโลก จะเดินหน้าเข้าสู่ความฉิบหาย ล่มสลาย พังทลาย ณ วันใด วันหนึ่ง อย่างเป็นที่แน่นอน...

ภายใต้แนวคิดและความเชื่อเช่นนี้... “จอร์เจสคู” จึงไม่เห็นด้วยเอามากๆ กับบรรดาพวก “นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภททุนนิยมแบบนีโอ-คลาสสิก หรือสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ ที่ต่างมุ่งเอาทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไปตามลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดยไม่คิดจะนำเอา “สิ่งแวดล้อม” ทางธรรมชาติ เข้าไปใช้เป็นมาตรวัด หรือเป็นตัวคิดคำนวณถึงมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจใดๆ แม้แต่น้อย ดังนั้น...เขาจึงได้ประดิษฐ์ คิดค้นมาตรวัดชนิดหนึ่งขึ้นมา ที่เรียกว่า “Entropy” อันผนวกรวมเอาจำนวน ปริมาณ และคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาพจำลองทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของวิชา “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ที่ได้รับการยอมรับเป็นแขนงวิชาชนิดหนึ่ง ในแวดวงเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา...

และจากแนวคิดที่ว่านี่เอง...ได้ถูกนำไปถกเถียง อภิปราย ขยายผล และยกระดับ ในหมู่นักคิด และในกลุ่มก้อนขบวนการต่างๆ ในระดับโลก จนก่อให้เกิดสมาคมที่รวบรวมเอาบรรดาอดีตผู้นำรัฐ ผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศ ผู้นำธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ มาร่วมกันประดิษฐ์คิดค้น และนำเสนอแนวทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมให้กับประเทศต่างๆ ที่รู้จักกันในนาม “Club of Rome” ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1968 ณ “Accademia dei Lincei” ในประเทศอิตาลี โดยนำเอาแนวคิดเรื่อง “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ของ “จอร์เจสคู” ไปใช้เป็นรากฐานในการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจในจอคอมพิวเตอร์ เพื่อชี้ให้เห็นกันชัดๆ ถึงฉากสถานการณ์ที่เป็นจริงในอนาคต ว่าความหมกมุ่นอยู่กับ “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” หรือมุ่งที่จะให้เกิดการเติบโตของ “ตัวเลข GDP” ให้มากๆ เข้าไว้นั้น จะส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติของโลกทั้งโลก จะนำมาซึ่งภัยพิบัติไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในระดับหนักหนาสาหัสไปถึงขั้นไหน จนกลายมาเป็น “ข้อเรียกร้อง” ให้บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลก หันมาปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจของตัวเอง ที่กำลังก่อให้เกิด “การบริโภคที่ล้นเกิน” (Overconsumption) ไปสู่แนวทางเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า “การจำกัดการเติบโต” หรือ “การลดระดับการเติบโต” หรือจะไปถึงขั้น “การเติบโตเท่ากับศูนย์” ก็แล้วแต่จะว่ากันไป...

โดยในปี ค.ศ. 2008 บรรดานักคิด นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักเคลื่อนไหว และแม้แต่นักการเมือง ฯลฯ ที่เห็นพ้องต้องกันกับแนวคิดที่ว่านี้ ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ ในนามกลุ่ม “Research & Degrowth Network” (R&D) โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 2010 ได้ขยายสาขาไปที่กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่มอนทรีออล ในแคนาดา และที่เมืองเวนิส ในอิตาลี ปี ค.ศ.2012 ที่เมืองไลพ์ซิก เยอรมนี และกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ฯลฯ ตามลำดับ ทั้งนั้น ทั้งนี้ โดยมีลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “จอร์เจสคู” เป็นคีย์แมนรายสำคัญในการแพร่ระบาดแนวคิดดังกล่าว แบบเดียวกับที่เชื้อไวรัส “COVID-19” กำลังบีบบังคับให้ตัวเลข “GDP” ของใครต่อใคร ใกล้จะเหลือ 0 ยิ่งเข้าไปทุกทีนั่นแล...
กำลังโหลดความคิดเห็น