เอเจนซีส์ - อัครราชทูตอังกฤษประจำฮังการี วัย 37 ปี สตีเวน ดิค (Steven Dick) เสียชีวิตในวันอังคาร (24 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลกรุงบูดาเปสต์ หลังติดเชื้อไวรัสโคโรนา ด้านอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำชาติต่างๆ ร่วมตั้งรัฐบาลฉุกเฉินนานาชาติรับวิกฤต ยอดตัวเลขเสียชีวิตในอังกฤษ 467 คน ติดเชื้อ 9,640 คน ดับรวมทั่วโลก 21,353 คน และติดเชื้อ 474,204 คน
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) ว่า สตีเวน ดิค (Steven Dick) ตำแหน่งอัครราชทูต (Deputy Ambassado) ของอังกฤษประจำฮังการี เสียชีวิตที่กรุงบูดาเปสต์ ในวันอังคาร (24) เกิดขึ้นหลังจากเขาติดเชื้อไวรัสโคโรนา อ้างอิงจากแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เมื่อบ่ายวันพุธ (25)
รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดมินิค ราบ (Dominic Raab) กล่าวถึงดิค ว่า “สตีเวนเป็นนักการทูตที่ทุ่มเทและเป็นตัวแทนประเทศด้วยความสามารถและการมีจิตวิญญาณที่เร่าร้อน และเขาจะเป็นที่คิดถึงในหมู่คนที่รู้จักและทำงานร่วมกับเขา”
ทั้งนี้ พบว่า ดิคได้เข้าทำงานให้กับกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 2008 และก่อนหน้าเคยทำหน้าที่ดำรงตำแหน่งที่อัฟกานิสถาน และ ซาอุดีอาระเบีย
เขาเข้ารับตำแหน่งที่กรุงบูดาเปสต์ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาอย่างหนักตลอดทั้งปีในการเรียนภาษาฮังการี นอกจากนี้ เขายังเป็นที่คุ้นเคยในหมู่แวดวงนักการทูตของกรุงบูดาเปสต์ และมีความเป็นมิตรและยังกระตือรือร้นต่องานของเขา
สื่ออังกฤษชี้ว่า ดิคเพิ่งเดินทางกลับเข้ากรุงบูดาเปสต์ หลังจากใช้เวลาพักผ่อนที่เม็กซิโก โดยในช่วงต้นของสัปดาห์ที่ผ่านมา อัครราชทูตอังกฤษวัย 37 ปี เปิดเผยผ่านทางวอทช์แอปว่า เขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาและอยู่ในระหว่างการกักตัว แค่มีความรู้สึกที่เบื่อ
แหล่งข่าวในกรุงบูดาเปสต์ เปิดเผยว่า ดิคได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในกรุงบูดาเปสต์ เมื่อไม่กี่วันมานี้ และดูเหมือนเขามีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และในเวลานี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาป่วยด้วยโรคอื่นอยู่เดิมหรือไม่
ด้านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำฮังการี เอียน ลินด์ซีย์ (Iain Lindsay) ได้กล่าวไว้อาลัยต่อดิค ว่า “เราขอแสดงความไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งและความเห็นใจไปยังครอบครัวและเพื่อนของเขา” และเสริมต่อว่า “สตีเวนเป็นเพื่อนงานและเพื่อนอันเป็นที่รักของพวกเราผู้ที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างมากในฮังการีนับตั้งแต่เขาเดินทางมาถึงเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว ด้วยความอบอุ่นของเขา และความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงภาษาฮังการีที่เป็นเลิศ”
สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านอดีตรัฐมนตรีอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ ออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้นำชาติต่างๆ ทั่วโลกจัดตั้งรัฐบาลฉุกเฉินโลกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโรคโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ
บราวน์ชี้ว่า มีความจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาด้วยการต้องตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่จะถูกสร้างนี้ต้องมีบรรดาผู้นำชาติต่างๆ ร่วมอยู่ด้วย และรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ ดิ เอ็กซเพรส ของอังกฤษ รายงานว่า บราวน์ได้ส่งเสียงเรียกร้องไปยัง ชาติกลุ่ม G-20 เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์สุนัขกินสุนัขที่จะเห็นหลายประเทศแย่งยิงยุทธปัจจัย ขณะเดียวกันยังได้ตำหนิ สหรัฐฯ จีน และ รัสเซีย ในการไม่ร่วมมือกันเพื่อผ่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น
เขาออกมาชี้ว่า กลุ่มชาติอุตสาหกรรม G-20 สมควรต้องให้การสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) และความพยายามของโกลบอล ฟันด์ (Global Fund) เพื่อประสานงานและเพิ่มการผลิตเพื่อที่จะได้มีการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์สำคัญเหล่านั้น รวมไปถึงในท้ายที่สุดสร้างคลังสินค้าโลก สินค้าคงคลัง และกำลังคน โดยที่ไม่มีกำแพงภาษีและข้อจำกัดทางการปกป้องทางการค้า
บราวน์ยังต้องการให้ทางกลุ่ม G-20 เร่งทำให้เกิดการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 และกระจายออกไปทั่วโลก
ในการแสดงความเห็นอดีตผู้นำอังกฤษ บราวน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างรุนแรง โดยชี้ว่า
เมื่อยุคช่วงหลังสงครามเย็น สหรัฐฯนั้นร่วมมือหลายฝ่าย แต่ทว่ากลับไม่ใช่ในเวลานี้ในยุคที่ “อเมริกาต้องมาก่อน”
“เวลานี้และยุคแห่งการมีหลายขั้ว อเมริกากระทำแต่ฝ่ายเดียว และนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนอย่างก้าวร้าว สหรัฐฯ vs ความเป็นชาตินิยมของพวกเขา และไปพร้อมกับ จีนต้องมาก่อน อินเดียต้องมาก่อน รัสเซียต้องมาก่อน บราซิลต้องมาก่อน และ ตุรกีต้องมาก่อน เกิดขึ้นไปทั่วโลก” กอร์ดอน บราวน์ กล่าว
การออกมาแสดงความเห็นของเขาเกิดขึ้นหลังสื่อเยอรมัน รายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯพยายามที่จะได้มีซึ่งสิทธิพิเศษในการเข้าถึงการวิจัยวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ที่กำลังพัฒนาโดยบริษัทยาเยอรมัน เคียวร์แว็ค (Curevac) ด้วยการใช้เม็ดเงินมหาศาลเข้าซื้อบริษัท
ยอดตัวเลขเสียชีวิตในอังกฤษ 467 คน ติดเชื้อ 9,640 คน ดับรวมทั่วโลก 21,353 คน และติดเชื้อ 474,204 คน