xs
xsm
sm
md
lg

วัฏจักรความเศร้าในช่วงการระบาดของ COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินเลยหากจะมองว่า COVDI-19 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ทุกคนจากทุกทวีปที่สามารถเข้าถึงสื่อกระแสหลัก และโซเชียลเน็ตเวิร์คสามารถรับรู้ถึงจำนวนของผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตได้แบบอัพเดทวันต่อวันและพร้อมกันหมดทุกคนซึ่งนำพามาถึง ความเศร้าโศก ความเครียด ความหดหู่รวมทั้งความกังวลใจว่าตนเองหรือคนที่ตนรักจะเป็นรายต่อไปหรือไม่?

เคยมีเหตุการณ์ใดบ้างในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่คนในทวีปยุโรปและคนในเอเซียรวมทั้งอเมริกาใต้ จะรู้สึกเครียดปวดตับขึ้นมาทันทีที่เห็นกราฟยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นที่อิตาลีและสเปน? แม้แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีที่มีต่อชาวยิว หรือการสังหารหมู่นานกิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดหรือส่งจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ตรงไปยังมือถือซึ่งบนโลกใบนี้มีอยู่ราว ๆ 3.8 พันล้านเครื่องทั่วโลก แม้ในวงการสื่อจะมองว่าเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 ที่โอซามาบินลาเดนสั่งให้ลูกน้องตนเองพลีชีพจี้เครื่องบินเข้าพุ่งชนตึกเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ที่กรุงนิวยอร์ก จัดเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนขวัญต่อคนทั้งโลกมากที่สุด แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ไม่ใช่อเมริกันชนแต่อย่างใด

ผมมั่นใจว่าความเสียหายร้ายแรงอีกประการที่ COVID-19 ได้มอบให้คนทั้งโลกคือ "ความเศร้าหมอง" ซึ่งมันมักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาเราอกหัก ถูกแฟนทิ้ง ญาติสนิทมิตรสหายชีวิตลงอย่างกระทันหัน หรือว่าตกงาน ไม่ว่าจะโยงเข้ากับเรื่องใดมันก็คืออารมณ์ในเชิงลบที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันนี้เอง ทีนี้ลองมาวิเคราะห์กันให้ดี ไอ้อารมณ์เชิงลบที่ COVID-19 มันมอบให้กับเราคืออะไร?

สรุปโดยรวมคือความเศร้าหมองจากการที่เราต้องสูญเสีย "การใช้ชีวิต" ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว จากเดิมที่เคยไปออกเที่ยว นั่งทานอาหารในร้านโปรด แม้กระทั้งร้านกาแฟที่มักไปนั่งประจำตอนนี้ทุกอย่างต้องเป็น Take Away หมด มันกระทบทั้งการออกกำลังกายสำหรับคนที่ชอบไปเล่นฟิตเนสหรือการเล่นกีฬากับเพื่อน ทุกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นตอนนี้มันไม่มีทางได้ทำแล้ว ความกังวลใจกับธุรกิจของตนเอง หากโรคระบาดยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ แล้วมันจะจบลงเมื่อไหร่? อย่างไร? ระหว่างนั้นจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ลูกน้อง?

เวลาเจอปัญหาสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีสติ เราจำเป็นต้องรู้ว่าตอนนี้ความผิดหวังจากการสูญเสีย Life Style ที่เราเคยมี (เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน) อยู่ในระดับไหน? Elisabeth Kubler Ross & David Kessler ได้อธิบายวัฏจักรของความผิดหวังไว้ 5 ขั้นตอนได้แก่

1. การปฏิเสธ (Denial)
2.ความโกรธ (Anger)
3.การต่อรอง (Bargaining)
4.ความโศกเศร้า (Depression)
5.การยอมรับความจริงจากใจ (Acceptance)

ผมเชื่อว่ามีเพื่อนใน FB จำนวนไม่น้อย โพสต์บ่นด่าความลำบากของวิถีชีวิตอันผิดปกติและกำลังจะกลายเป็น New Normal อยู่และจำนวนไม่น้อยก็ได้แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาเพื่อระบายแรงกดดันซึ่งซ่อนอยู่ภายใน หากเราพบเห็นโพสต์ข้อความในลักษณะแนวนี้ แสดงว่าอารมณ์ของสังคมกำลังอยู่ในขั้นตอนที่ 1-2 ซึ่งหากมองไปข้างหน้าภาพที่ทุกคนคงเห็นร่วมกันคือการ กักตัว อาจดำเนินไปนานกว่าที่คิดและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน ความไม่ชัดเจนตรงนี้อาจนำมาซึ่งการต่อรอง (Bargaining) ระหว่างภาคประชาชน เครือข่ายธุรกิจกับรัฐบาล โดยหวังว่าจะให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว สมมุติว่าเหตุการณ์ร้ายแรงมากกว่าเดิม กราฟจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อพุ่งสูง จะนำมาซึ่งขั้นตอนที่ 4 คือความเศร้าโศกนั้นคือ 4.1 ความเศร้าโศกจากยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นและ 4.2 ความล้มเหลวในการเจรจาที่จะให้มีการเปิดประเทศให้เป็นไปตามปกติ

เราจะอาจได้เห็นอารมณ์ของผู้คนในสังคม เดือดพล่านพุ่งไปมาระหว่างขั้นตอน 1-4 หากรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์หรือมอบความหวังที่ชัดเจนได้ สุดท้ายไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรสิ่งหนึ่งที่กล้าพูดได้คือ

โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิม และประเทศไทยก็จะไม่เหมือนเดิม

ส่วนตัวแล้วมองว่า COVID-19 กำลังนำมาซึ่งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ในขณะที่อเมริกาและหลายประเทศในยุโรปกำลังแย่ ตอนนี้จีนฟื้นตัวขึ้นแล้วและกำลังทำตัวเป็นพระเอกคอยช่วยเหลือ สเปน อิตาลี และ อีกหลายประเทศที่เจอวิกฤต ในขณะที่อเมริกาตอนนี้ยังเอาตัวเองแทบไม่รอด บทบาทความเป็นประเทศมหาอำนาจในสายตาชาวโลกจะยังคงเดิมอยู่หรือไม่ตรงนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

คำถามที่น่าคิดและเฝ้าติดตามคือสังคมไทยจะเข้าสู่โหมดที่ 5 หรือการยอมรับ New Normal อันเนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ได้เมื่อไหร่? และในรูปแบบไหน โดยการขับเคลื่อนของรัฐบาลหรือภาคประชาสังคม? คำตอบของคำถามเหล่านี้คือตัวกำหนดอนาคตของประเทศไทยภายใต้วิกฤตการแพร่กระจายโรคระบาด COVID-19


กำลังโหลดความคิดเห็น