xs
xsm
sm
md
lg

ลุงตู่จะพาเรารอดไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



แม้จะประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินล่าช้าไปบ้าง เพราะสถานการณ์ใกล้สุกงอมเต็มทีจนกระทั่งทีมอาจารย์แพทย์ออกมาเตือนประสานเสียงกันว่า ถ้าไม่ทำอะไรให้จริงจังก็มีโอกาสมากที่จะทำให้เราเดินไปแบบอิตาลีคือมีคนไข้ล้นจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ภาพความสยดสยองที่เราเห็นผ่านภาพข่าวต่างประเทศก็ลอยมาเลย

บรรดาอาจารย์แพทย์เขียนให้เห็นถึง worst case ว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้คือ การที่รัฐบาลไม่ได้ออกมาแอ็คชั่นอย่างจริงจัง เพราะมาตรการของท้องถิ่นอย่าง กทม.ที่ออกมาตรการมาก่อนในการปิดสถานที่ต่างๆ นั้นไม่เพียงพอ เพราะจะทำให้มีคนป่วยเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในวันที่ 15 เมษายนคือกว่า 3.5 แสนคน แต่ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการ lockdown จะมีคนป่วย ณ วันนั้นประมาณ 20,000 กว่าคน

ส่วนตัวผมคิดว่า การคาดคำนวณของบรรดาอาจารย์แพทย์จะเป็นตัวเลขที่เกินเลยความจริง โดยใช้บัญญัติไตรยางศ์แบบทวีคูณเพราะ ณ วันที่คาดการณ์ประมาณทั้งโลกก็ยังอยู่ที่ 3 แสนกว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เราประเทศเดียวจะวิ่งไปถึงจุดนั้น แต่ก็พยายามคิดว่า อาจารย์แพทย์พยายามสร้างจุดที่ให้สังคมตระหนักว่าถ้าคนไทยไม่ให้ความร่วมมือและรัฐบาลไม่มีมาตรการที่จริงจังแล้ว ความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง แม้จนถึงวันนี้ก็เห็นได้ว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่วิ่งขึ้นสูงทุกวันจนเราหวั่นใจกันนั้นก็ค่อยลดลง

เรียกว่าลุ้นกันเหนื่อยกว่าจะเห็นรัฐบาลออกมาตรการที่ตั้งรับได้ก็ต้องรอวันอังคารในการประชุม ครม.นัดที่ผ่านมา เราก็หวังว่าตั้งแต่วันที่เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือวันที่ 26 มีนาคม การดำเนินการต่างๆ จะเข้ารูปเข้ารอยขึ้นแล้วพาประเทศไทยเดินไปถูกทาง และเชื่อมั่นได้ว่าผู้นำจะไม่พาเราไปตายกันหมด

ก่อนหน้านี้เราเห็นความสับสนของการสั่งการที่ซับซ้อนกันอย่างชัดเจน กรณีของรัฐบาลและ กทม.นั้นสะท้อนการขาดเอกภาพในการทำงาน จริงอยู่แม้ กทม.จะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจของตัวเองในการดูแลเมืองหลวงแห่งนี้ แต่นโยบายก็ต้องสอดคล้องกับรัฐบาล

ในตอนแรกนั้นเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลตั้งใจให้การเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากในช่วงสงกรานต์หยุดชะงักลงด้วยการประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ให้เป็นวันทำงาน แต่พอ กทม.ประกาศให้สถานที่ต่างๆ หยุดโดยเฉพาะสถานที่บริการทั้งหลาย คนส่วนใหญ่ในภาคบริการก็ต้องหยุดงานโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เขาทำได้คือ ต้องหาทางกลับบ้าน เพราะถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็อดตาย นโยบายให้หยุดเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ในช่วงสงกรานต์ของรัฐบาลก็ล้มเหลวทันที

จนกระทั่งกรมควบคุมโรคต้องออกหนังสือไล่หลังไปยังจังหวัดต่างๆ ให้เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงกระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกมาตรการสำทับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้ไปติดตามสอดส่อง เป็นการวิ่งไล่หลังโควิดอย่างเห็นได้ชัด

เพราะให้เขาหยุดงานแล้วไม่มีมาตรการรองรับว่า เขาจะกินอยู่อย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างไร ก็ไม่ได้นึกถึง กทม.สั่งหยุดนั้นไม่ผิด เป็นทางออกที่ควรทำเพราะรัฐบาลล่าช้า แต่สั่งแล้วไม่คิดให้รอบคอบหรือไม่ได้หารือกับรัฐบาลว่าจะรับมือกับความเป็นอยู่ของคนในภาคบริการอย่างไร ไม่ให้เขาเคลื่อนไหว และกักตัวอยู่ในบ้านได้ นี่ไม่ได้มีอะไรรองรับเลย ทางเดียวคือ เขาต้องกลับบ้าน เราจึงเห็นภาพโกลาหลที่ขนส่งซึ่งมีฉากสะเทือนขวัญลอยมาว่าจะมีคนติดเชื้อเพิ่มอีกเท่าไหร่

บอกตรงๆ ว่า ช่วงแรกๆ นั้นฟังการแก้ปัญหาของรัฐบาลแบบวิ่งไล่ตามหลังโควิดก็เหนื่อย แถมจะทำอะไรก็ต้องรอมติ ครม.ในวันอังคาร มันบ้าหรือเปล่า หวังว่าเมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว เราจะมีรูปแบบการทำงานที่กระชับ ฉับไวทันสถานการณ์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการที่นำมาใช้ตอนนี้จะยังไม่ใช่มาตรการ lockdown ที่บรรดาอาจารย์แพทย์ต้องการ แต่น่าจะดีกว่าที่ให้สถานการณ์มาเป็นตัวกำหนดให้เราวิ่งไล่หลังอย่างที่ผ่านมา

โอเคละครับ การออกมาตรการของรัฐแม้จะช้าไปหน่อย ช้ากว่าคนต่างจังหวัดที่แห่กลับไปปักหลักที่บ้านเกิด แต่ตอนนี้เราอยู่ในภาวะฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลออกมาแล้วว่าจะช่วยเหลือคนตกงานจากสถานการณ์โควิดที่อยู่นอกเหนือระบบประกันสังคม โดยจะช่วยเหลือลูกจ้างคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และมีมาตรการด้านสินเชื่ออย่างไร ก็ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริงได้หน่อยว่า พวกเขาจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้

และแม้การเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายในปัจจุบัน แต่ก็ต้องดูให้ทั่วถึงด้วยว่ามีผู้ตกสำรวจจากการไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ไหม

ตอนนี้รัฐบาลวางมาตรการในการแก้ปัญหาระยะสั้น 3 เดือนไปแล้ว ต้องคิดเผื่อไว้เลยนะครับว่า ถ้าสถานการณ์โควิดยังไม่จบหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร มาตรการที่กทม.และหลายจังหวัดประกาศใช้ให้ปิดสถานบริการและสถานที่ที่คาดว่าคนจะไปชุมนุมกันเยอะนั้น หลังวันที่ 22 เมษายนเมื่อครบกำหนดแล้วยังจะต้องประกาศต่อไหม ถ้าประกาศต่อรัฐบาลจะมีมาตรการเสริมอย่างไรเพื่อให้เป็นเอกภาพ

คิดยาวๆ เผื่อไว้นะครับว่า เราต้องอยู่ในภาวะแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ เมื่อไหร่การแพร่ระบาดจะหยุดลงแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีก เมื่อไหร่จะมียารักษาโรค เมื่อไหร่จะมีวัคซีน แล้วถ้ายังไม่มีเราจะมีภาวะหยุดชะงักงันแบบนี้ไปถึงปลายปีหรือต้นปีหน้าไหม เพราะนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นบอกว่า จะมีวัคซีนใช้ได้ในปลายปีนี้ และนักวิทยาศาสตร์อังกฤษบอกว่าจะมีวัคซีนอย่างเร็วกลางปีหน้า

จะทำอย่างไรถ้าจะเป็นแบบนี้อีก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีหรือมากกว่านั้น มโนภาพเผื่อไว้เลยนะครับว่า เราอาจต้องอยู่ในภาวะแบบนี้อีกเป็นปี

เมื่อไหร่การทำงานต่างๆ จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ หรือเมื่อไหร่โรงงานต่างๆ จะเดินหน้าเครื่องจักรการผลิตได้ ถ้าคิดระยะเวลาที่ยาวนานมาตรการต่างๆ ที่รัฐใช้ออกมาเพื่อช่วยพยุงนั้นจะมีกำลังแรงพอไหม worse case scenario ที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร อิสระเสรีจะกลับมาเมื่อไหร่ เราจะสามารถกลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัยไหม

นอกจากนั้นการเรียนของนักเรียนและนักศึกษาจะเข้าสู่ระบบปกติได้ไหม หรือพวกเขาจะต้องดร็อปการเรียนไปตลอดเทอมการศึกษาของปีนี้ แล้วมีโรงเรียนสักกี่โรงเรียนที่มีศักยภาพให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ หรือเราจะทิ้งการศึกษาทุกชั้นเรียนปีนี้ไปก่อนเพื่อเริ่มในปีหน้า ตราบที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้

ผมคิดว่าคนไทยอยากเห็นภาพของผู้นำที่เด็ดขาด วันก่อนยังเอามาตรา 44 ที่มีอยู่มาใช้ได้กับเรื่องไม่ค่อยเป็นเรื่อง วันนี้ไม่มีมาตรา 44 ก็จริง ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการก็จริง แต่เขาต้องการเห็นความเด็ดขาดมากกว่านี้ ใช้ออกมาให้ประชาชนมีความหวังว่า ผู้นำจะไม่พาเราไปตายกันหมด และผู้นำคิดแทนพวกเราอย่างชาญฉลาด

เราไม่ได้คาดหวังลุงตู่คนเดียวหรอกครับ แต่หวังว่าท่านจะใช้คนทำงานเป็น ใช้คนถูกงาน คนไทยมีศักยภาพที่มีความรู้ความสามารถจะช่วยกันนำพาประเทศเต็มไปหมด เพียงแต่เขาอยู่ในสายงานอาชีพที่ไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งในภาวะแบบนี้นั้นนักการเมืองควรจะถอยออกมาหลายก้าวเพื่อให้มืออาชีพได้ทำงาน

ออกมาแอ็คชั่นเพื่อให้ประชาชนเขามีความหวังว่าจะรอดหน่อยครับท่านผู้นำ

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น