กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ช่วงนี้เวลาไปห้างค้าปลีก ค้าส่ง โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดอย่างเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, แม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ แม็กซ์แวลู และห้างท้องถิ่น จะพบผู้คนแห่แหนเข็นรถกักตุนข้าวสาร อาหารแห้งจำนวนมาก
สินค้ายอดนิยมที่ผู้คนแห่กักตุน เท่าที่เห็นก็คือ ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่ นมยูเอชที แม้กระทั่งกระดาษทิชชู่ก็ยังซื้อไปกักตุน นอกนั้นก็จะมีขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม สินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ ทั่วไป
เท่าที่ฟังเหตุผลของคนที่กักตุนอาหาร ก็มีแตกต่างกันไป บ้างก็เพราะไม่อยากออกไปเดินห้างฯ บ่อยๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็เข้าห้างฯ สักอาทิตย์ละครั้ง บ้างก็เพราะที่ทำงานให้พนักงานทำงานอยู่กับบ้าน
แต่ก็มีคนที่กักตุนอาหารเพราะไม่เชื่อมั่น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะแม้สถานการณ์ยังอยู่ในระยะที่ 2 หรือเริ่มมีการติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ แต่ตัวเลขผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นทุกวัน
บางคนเห็นภาพข่าวต่างประเทศ ที่พบว่ามีคนแห่กักตุนอาหาร แม้กระทั่งกระดาษทิชชู่เกลี้ยงชั้นวาง เกรงว่าประเทศไทยจะกลียุคแบบนั้น คิดในใจว่าสุขาบ้านเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่มีสายชำระ บ้านเขายังต้องใช้กระดาษชำระอยู่เลย
ไม่นับรวม “เฟกนิวส์ (Fake News)” ผ่านไลน์ ทำนองว่า “พยาบาลศิริราช เดินมาบอกว่า ช่วยตุนของไว้หน่อย ตะกี้เพิ่งประชุมเสร็จ จะมีการปิดเมืองแล้ว ให้พยาบาลเตรียมความพร้อมจะประกาศในสัปดาห์หน้า ...” ใครเห็นเป็นต้องผวา
ช่วงนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล งานจะเข้าบ่อยครั้ง บรรดาข้อความเฟกนิวส์ทั้งหลายในไลน์มักจะอ้างว่ามาจากศิริราชบ่ ก่อนหน้านี้ก็มีข้อความไลน์ถึงขนาดแอบอ้างชื่อยันคณบดี นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ช่วงนี้แนะนำให้ตามไปกดไลค์ได้ที่เพจ “sirirajpr” เพื่อติดตามข่าวที่เชื่อถือได้จากศิริราชโดยตรง ถ้าเจอเฟกนิวส์หรือข้อความอ้างว่าจากศิริราช อย่าเพิ่งรีบแชร์ ให้แคปหน้าจอแล้วอินบอกซ์ไปถามแอดมินศิริราช เพื่อช่วยตรวจสอบอีกทาง
ด้วยความสงสัยว่า ที่แห่กักตุนอาหาร หนึ่งในนั้นคือ “มาม่า” มันจะขาดตลาดไหม เลยลองทักไปหา คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมาม่าโดยตรง
ยืนยันว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ขาดตลาดแน่นอน กำลังการผลิตมีเพียงพอ ผู้ผลิตทุกเจ้ารวมกันมีประมาณ 10-15 ล้านแพ็กต่อวัน สต๊อกวัตถุดิบมีพอ การกระจายสินค้ายังทำได้ปกติ และมีทางเลือกสำรองอีกหลายช่องทาง
“ปัจจุบันบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงที่พนักงานอาจจะติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด” คุณพันธ์ ระบุ
ปรากฎการณ์ที่ประชาชนแห่แหนกักตุนอาหารขนาดนี้ มีคนให้คำนิยามว่า มันคือ “แพนิค บาย” (Panic Buy) หรือ “แพนิค บายอิ้ง” (Panic Buying) ซึ่งหมายถึงการซื้อสินค้าจำนวน “มากผิดปกติ” เมื่อเกิดการรับรู้ถึงภัยที่คาดว่าจะมาถึงตัว
เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ก็มีคนแห่ไปซื้อเครื่องฟอกอากาศมีไว้ติดบ้าน จากที่เมื่อก่อนมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เมื่อรับรู้จากแอปฯ AirVisual ว่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ก็ยอมซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ ทั้งในบ้านและในรถ
แม้ที่ผ่านมาแอปฯ AirVisual ถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือก็ตาม ปีที่แล้วที่เวียดนาม มีครูสอนวิชาเคมีรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า AirVisual มีการปรับแต่งข้อมูล เพื่อขายเครื่องฟอกอากาศที่ผลิตโดย IQair ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ AirVisual
อีกทั้งการจัดอันดับคุณภาพอากาศ กระทบต่อการท่องเที่ยวเวียดนาม เรียกร้องให้ผู้ใช้เข้าไปรีพอร์ตแอปฯ ดังกล่าว ทำเอาช่วงหนึ่งแอปฯ นี้ถูกลบออกจากสโตร์ ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกในเวียดนาม แต่ภายหลังก็กลับมาดาวน์โหลดได้ตามปกติ
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในช่วงฤดูแล้ง น้ำประปาในกรุงเทพฯ ฝั่งพระนครที่ดื่มหรือบ้วนปาก จะรับรู้รสชาติเค็มปะแล่มๆ หรือที่เรียกว่า “น้ำประปารสกร่อย” ก็มีคนที่วิตกเปลี่ยนจากดื่มผ่านเครื่องกรองน้ำ หันมาซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดแทน
ล่าสุด การระบาดของโควิด-19 ก็มีประชาชนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ แม้กระทั่งน้ำยาเดทตอล จนสินค้าขาดตลาด ทราบมาว่าปัจจุบันน้ำยาเดทตอลผลิตและนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้ผลิตที่ไทยโดยตรง
แม้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเดทตอลจะขาดตลาด แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคเอนกประสงค์ (ใช้กับร่างกายไม่ได้) เข้าห้างโมเดิร์นเทรดเรื่อยๆ อย่างห้างบิ๊กซี มีสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคเอนกประสงค์เดทตอลเข้ามาเรื่อยๆ ที่สาขาราชดำริ
คุณณัฐพัชญ์ วงเหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เคยให้คำนิยามนี้กับทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ว่า แพนิค บายอิ้ง คืออาการตื่นตระหนก ตกใจ หรือภาวะที่ทำให้รู้สึกว่าบางอย่างมีความพิเศษ
ทำให้เกิดการซื้อสินค้า การบริการบางอย่างมากขึ้นแบบตั้งตัวไม่ทัน จนเกิดทำให้สินค้าขาดตลาด
สถานการณ์ที่เกิดแพนิค บายอิ้งบ่อย คือน้ำท่วม ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระบาด สินค้าและอาหารจะหมดอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคจะคำนึงว่าควรใช้อะไรบ้างในแต่ละครั้ง ความกลัวหรือตื่นตระหนกทำให้เกิดความต้องการอย่างรวดเร็ว
จนทำให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการโก่งราคาเพราะสินค้าขาดตลาด
แพนิค บายอิ้ง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทยอย่างเดียว ในต่างประเทศทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ต่างก็มีภาพสินค้าอุปโภคบริโภคเกลี้ยงชั้นวาง เกลื่อนโซเชียลมีเดีย
ห้างสรรพสินค้าในอังกฤษบางแห่ง เริ่มจำกัดการซื้อสินค้าที่จำเป็นไม่เกิน 5 ชิ้น พร้อมกับขอความร่วมมือลูกค้าให้ “มีน้ำใจในการจับจ่าย” ทำนองว่าการซื้อสินค้ามากเกินความจำเป็น อาจกลายเป็นการทำลายโอกาสผู้อื่น
แต่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวทำนองว่า มั่นใจว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของอังกฤษยังไปได้ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนควรมีความรับผิดชอบและนึกถึงผู้อื่นบ้าง
ที่แคนาดา มีผู้คนเข้าไปในห้างฯ เพื่อซื้อสิ่งของจำเป็น เช่น กระดาษชำระในห้องน้ำ อาหารกระป๋อง สบู่ และเจลล้างมือ ทำเอาสภาค้าปลีกของแคนาดา ขอร้องว่าอย่าซื้อของอย่างตื่นตระหนก
การกักตุนอาหารไว้บริโภค ถือเป็นการวางแผนที่ดี หลายคนก็อยากทำแบบนั้น แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า พอซื้อของตุนเก็บไว้แล้ว มักจะไม่ค่อยหยิบมากิน มาใช้เพราะเสียดาย ก็เลยเก็บไว้กินวันอื่น หรือไว้ใช้คราวอื่น
นานวันเข้าเราอาจจะหลงลืมอะไรไป วันหนึ่งของที่ซื้อมากักตุนก็หมดอายุ เสื่อมคุณภาพ กินไม่ได้ ใช้ไม่ได้ แล้วเหลือทิ้งอย่างน่าเสียดาย ซึ่งสิ่งที่ทิ้งก็มาจากเงินที่เราจ่ายไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้ ปล่อยเอาไว้อยู่อย่างนั้น
โดยส่วนตัวไม่ได้กักตุนอาหาร ตราบใดที่วันนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้น “ห้ามออกนอกบ้าน” เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และยังคงหาซื้อของกินติดไม้ติดมือเข้าบ้านหลังเลิกงานได้ ก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกถึงขนาดนั้น
แต่ถ้าใครยังคิดจะกักตุนอาหาร แนะนำว่าให้กักตุนของกินของใช้ที่ “เราบริโภคประจำทุกวัน” และ “เราบริโภคแต่ยี่ห้อนี้” เช่น ข้าวสาร น้ำดื่ม แล้วให้ทยอยบริโภคจนหมด หลังจากนั้นก็ไปซื้อมาใหม่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนสินค้าไปในตัว
อย่ากักตุนอาหารเพราะความอยากกิน ทั้งที่สินค้านี้เราบริโภคนานๆ ครั้ง เพราะจะเกิดความ “เกรงใจตัวเอง” ทำนองว่าเดี๋ยวเก็บไว้กินวันอื่น สุดท้ายก็ไม่ได้กิน!
ส่วนปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีติดบ้านไว้ก็ดี แต่ต้องดูความเป็นจริงด้วยว่า ในภาวะปกติเราบริโภคกันบ่อยแค่ไหน ชีวิตจริงเราคงไม่มามัวแต่นั่งกินมาม่า หรือปลากระป๋องทุกวันให้เอียนกันไปข้างหรอก
แต่ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไปในทิศทางใด ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจะมากน้อยขนาดไหน สำคัญที่สุดคือ “สติ” รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แล้วจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นยังไง เชื่อว่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้เหมือนเช่นที่ผ่านมา.