xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ฉุกเฉิน “บิ๊กตู่” เข้มคลั่ก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา


จะว่าเป็นไปตามเสียงเรียกร้องหรือว่าเป็นไปตามสถานการณ์ที่ฉุกเฉินขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 มีกำหนด 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม นี้ เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญหลักๆ ก็คือ เป็นการขอคืนอำนาจจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งรวบอำนาจตามกฎหมายอีกกว่า 30 ฉบับ มาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถมีอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน นับจากนี้ก็จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่ นายกรัฐมนตรี เรียกชื่อย่อว่า “ศอฉ.” อย่างไรก็ดี ชื่อ ศอฉ. ดังกล่าวนี้ เชื่อว่า ประชาชนก็คุ้นเคยกันมาแล้วเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่ผ่านมา ทีมีการจัดตั้งศูนย์ขึ้นมาโดยอาจมอบหมายให้รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง มาเป็นหัวหน้าศูนย์ก็ได้ แต่คราวนี้มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ด้วยตัวเอง และมีคณะกรรมการจากคณะรัฐมนตรีบางคนและจากหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

หากพิจารณาตามความจำเป็นก็ต้องบอกว่า “ได้เวลา” แล้ว หลังจากยอดตัวเลขผู้ป่วยจากการติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจากการติดเชื้อ เพิ่มขึ้นอีก 106 ราย และเสียชีวิตอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตในประเทศไทยเป็น 4 รายแล้ว และมีผู้ป่วยสะสมจำนวน 827 ราย แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและสัมผัสกับกลุ่ม “สนามมวย” และ “ผับย่านทองหล่อ” รวมทั้งจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ก็ตาม
 
แต่ที่น่าจับตาก็คือ บรรดาผู้ติดเชื้อเริ่มมีแนวโน้มแพร่ระบาดออกไปสู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการออกคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ และสถานบริการในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ทำให้บรรดาแรงงาน และพนักงานทั้งไทยและเทศต่างพรั่งพรูเดินทางกลับภูมิลำเนาของแต่ละคนเป็นจำนวนมาก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกิดความวิตกว่าจะการแพร่ระบาดในต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวกกลับมาที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งได้เบ็ดเสร็จมากกว่าเดิม และเชื่อว่า นับจากนี้ (ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม) จะมีการออกคำสั่งและประกาศออกมาและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และหากพิจารณาจากสัญญาณคำพูดบอกใบ้ของ นายกรัฐมนตรีอาจจะได้เห็นคำสั่ง “ปิดเมือง” แบบของจริงออกมาให้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ หากยัง “เอาไม่อยู่”

การปิดเมืองที่ว่าหากออกมาในแบบ “เข้ม” ก็คือ การ “ห้ามออกจากบ้าน” และหากมีความจำเป็นก็ต้องขออนุญาตเป็นรายๆ ไป รวมไปถึงเมื่อเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ก็หมายความว่า “ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน” ตามมาอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรเชื่อว่า คำสั่งและมาตรการที่ออกมาจะต้องทยอยแบบเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ชาวบ้านได้ปรับตัวกันบ้าง

ขณะเดียวกัน หากมองในมุมการเมือง ถือว่า น่าจะ “เป็นบวก” กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะหากพิจารณาจากจังหวะเวลาในการเข้ามา “ควบคุมสถานการณ์” ตามคำเรียกร้อง ไม่ใช่แบบผลุนผลันเข้ามาตั้งแต่แรก เพราะหากเข้ามาก่อนอาจจะถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าต้องการ “ปิดปาก” เป็นการฉกฉวยสถานการณ์ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหว แต่เมื่อเป็นแบบนี้มันก็ย่อมกลายเป็นคนละเรื่อง เพราะเวลานี้กลายเป็นว่าพรรคฝ่ายค้านกลับโจมตีว่า “ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช้าไป” เป็นงั้นไปเสียอีก

เอาเป็นว่าจะด้วยแบบไหนก็แล้วแต่ นับจากวันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นไป อำนาจจะกลับมาอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบเบ็ดเสร็จมากกว่าเดิม แม้ว่าอาจจะไม่เทียบเท่ากับการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือในช่วงที่ยังมี มาตรา 44 แต่ภายใต้พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ ถือว่า “เต็มมือ” และเชื่อว่าจะต้อง “ข้นคลั่ก” แน่นอน

และที่น่าจับตาก็คือ การส่งสัญญาณจัดการขั้นเด็ดขาดกับพวกที่ ปล่อยข่าว “เฟกนิวส์” ในโซเชียลฯ ที่ขู่จัดการขั้นเด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นคำเตือนแรกๆ ที่ออกมาก่อน เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคงมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าเป็น “กลุ่มไหน”

แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง หากการมีอำนาจในมือเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดลงได้ หรือ “เอาไม่อยู่” มันก็ถือว่า เขาก็ต้องรับผิดชอบเต็มที่คนเดียวเหมือนกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น