ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การอุบัติขึ้นและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่ออารยธรรมและศีลธรรมของมนุษย์ในหลายมิติ มีสมมุติฐานหลายประการที่ยังเป็นข้อถกเถียงและเป็นความสงสัยที่ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ชัดเจนเกี่ยวการกำเนิดของโรคนี้ ขณะที่การระบาดนั้นทำให้เห็นถึงแบบแผนและแนวทางการจัดการสังคมที่แตกต่างของแต่ละประเทศ ซึ่งมีระบอบการเมือง สังคม และวัฒนธรรมต่างกัน และแน่นอนว่าสะท้อนภาวะผู้นำของประเทศเหล่านั้นด้วย
มีสมมุติฐานอย่างน้อยสองประการที่เกี่ยวข้องกับการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ประการแรกคือเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของไวรัสโคโรนา และประการที่สอง เกิดจากการสร้างของมนุษย์เอง โดยการตัดต่อทางพันธุกรรมไวรัสในห้องทดลอง
สมติฐานการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ มีรากฐานประสบการณ์เดิมรองรับอยู่หลายกรณี เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ โรคอีโบล่า โรคเอดส์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมมุติฐานนี้จึงได้รับการนำมาเสนอ ซึ่งในระยะแรกดูเหมือนได้รับการเชื่อถืออยู่ไม่น้อย แต่ต่อมาก็ถูกท้าทายโดยสมมุติฐานอื่น สำหรับสัตว์ที่มนุษย์กล่าวหาว่าเป็นต้นตอของโรคคือ ค้างคาว
กระบวนการแพร่ระบาดจากค้างคาวไปสู่คนของโควิด-19 คือ การนำค้างคาวมาทำเป็นอาหาร ซึ่งในกระบวนการทำอาหาร ตั้งแต่การเชือด การชำแหละ การประกอบ และการรับประทานอาหารนั้น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และติดต่อมาสู่คนได้ สมมุติฐานข้อนี้ค่อนข้างได้รับการกล่าวถึงกันมากในระยะแรกของการแพร่ระบาด แต่ต่อมาภายหลังก็ได้มีข้อโต้แย้งในแง่ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ ซึ่งมีมากเกินไป ผิดแผกจากวิวัฒนาการของธรรมชาติ อันเป็นข้อสงสัยที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปรากฏการณ์ที่ไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ จากสัตว์ติดต่อมาสู่คนนั้น มีความจริงในอดีตรองรับ แม้ว่าในกรณีโควิดจะยังมีข้อสงสัย ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึง การตอบโต้ของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์อย่างหนึ่ง อันเกิดจากการที่มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๐ และ ต้น ๒๑ ได้รุกรานและทำลายล้างธรรมชาติอย่างรุนแรงและกว้างขวางนั่นเอง
สมมุติฐานที่สอง ไวรัสโควิด-19 เกิดจากการสร้างของมนุษย์เอง ซึ่งคิดค้นตัดต่อพันธุกรรมไวรัสในห้องทดลอง โดยวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านไวรัสวิทยา หรือ เพื่อนำมาเป็นอาวุธทางชีวภาพในการทำลายล้างกันเอง หรือเพื่อวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางธุรกิจผลิตวัคซีน
ภายใต้สมมุติฐานนี้มีสมมุติฐานย่อยสองประการในการแพร่ระบาดคือ ประการแรกเกิดจากความผิดพลาดที่ไม่ได้เจตนาของมนุษย์ และประการที่สองคือ เกิดจากการจงใจเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
ความผิดพลาดที่ไม่ได้เจตนาของมนุษย์ คือ การผิดพลาดที่ทำให้เชื้อโรคหลุดออกมาจากห้องทดลองโดยไม่ได้ตั้งใจ มีความเป็นไปได้ว่าบุคลากรที่ทำงานในห้องทดลองกระทำการผิดพลาด เมื่อออกจากห้องทดลองอาจทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรคไม่ดีพอ ทำให้เชื้อโรคติดมากับตัวเอง และแพร่กระจายสู่สังคมในวงกว้าง หรือไม่ก็เป็นไปได้ว่า ระบบกำจัดเชื้อโรคมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอหรืออาจชำรุด ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ให้หมดจด สมมุติฐานย่อยข้อนี้ได้รับการกล่าวถึงมากพอสมควรในระยะแรก ๆ ของการแพร่ระบาด
สำหรับสมมุติฐานย่อยข้อสองคือ การแพร่ระบาดอย่างจงใจ เพื่อทำลายเศรษฐกิจของประเทศคู่แข่ง และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่บริษัทผลิตวัคซีน สมมุติฐานนี้อยู่ภายใต้ทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งมีสาระคือ ในโลกใบนี้มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มั่งคั่งและมีอำนาจ ซึ่งต้องการรักษาและเพิ่มพูนอำนาจและความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มตนเองตลอดกาล เมื่อพวกเขารับรู้ว่า มีประเทศหรือกลุ่มบุคคลใดที่บังอาจมาท้าทายอำนาจและแย่งชิงความมั่งคั่งของพวกเขา พวกเขาก็จะหาทางทำลายประเทศหรือกลุ่มนั้นเสีย
พร้อม ๆ กับการทำลายหรือทำให้ประเทศคู่แข่งอ่อนกำลังลง พวกเขาก็สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสะสมความมั่งคั่งให้แก่ตนเองเพิ่มขึ้นโดยให้บริษัทของประเทศตนเองเตรียมการคิดค้นวัคซีนไว้ล่วงหน้า เพราะเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น หากสามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้ ความร่ำรวยมหาศาลก็จะตามมาทันที
คำถามคือ สมมุติฐานนี้เป็นไปได้หรือไม่ จะมีใครหรือประเทศใดที่มีความคิดชั่วร้ายปราศจากความเป็นมนุษย์เยี่ยงนี้ ที่อาศัยความตายของผู้คนเป็นฐานในการกระชับและเพิ่มพูนอำนาจและความมั่งคั่งแก่ตนเอง คำตอบก็ต้องไปหาร่องรอยจากเหตุการณ์ในอดีตว่า ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาหรือไม่
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เราก็พบว่า มนุษย์เคยมีการสร้างอาวุธทำลายล้างซึ่งกันและกันหลายรูปแบบที่อาศัยวิทยาศาสตร์เป็นฐานอย่างกว้างขวาง ทั้งการผลิตและใช้ระเบิดนิวเคลียร์(สหรัฐใช้กับญี่ปุ่น) การใช้ก๊าซพิษฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (นาซีเยอรมันใช้กับชาวยิว) และการใช้อาวุธชีวภาพ (ญี่ปุ่นใช้กับเชลยศึกชาวจีน) ในสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาก็มีการใช้สารเคมีที่เรียกว่า “ฝนเหลือง” ในสงครามเวียตนาม และสิ่งที่เราเห็นในกรณีเหล่านี้ก็คือ ประเทศที่ผลิตและใช้อาวุธทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติล้วนแต่เป็นประเทศมหาอำนาจทั้งสิ้น
แม้ว่าในอดีตอาวุธชีวภาพอาจมีการใช้ไม่แพร่หลายและสร้างการล้มตายแก่มนุษย์มากเท่าอาวุธทางฟิสิกส์และเคมี แต่อาวุธชีวภาพนั้นสร้างความทุกข์ทรมานและสร้างความน่าสะพรึงกลัวอย่างรุนแรง และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศผู้ชนะสงคราม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพโซเวียต และสหราชอาณาจักร ก็ยังคงทำการทดลองอาวุธชีวภาพต่อไป
จวบจนปี ค.ศ. 1982 เกิดอนุสัญญา “Biological and Toxin Weapons Convention” (BWC) ห้ามผลิตและใช้อาวุธชีวภาพ และมีการลงนาม 141 ประเทศ แต่การลักลอบคิดค้นและทดลองเพาะพันธุ์และตัดแต่งพันธุกรรมของเชื้อโรคหลายชนิดในนามของการสร้างองค์ความรู้ ก็ยังคงดำรงอยู่ ส่วนในการใช้เพื่อทำลายล้างอย่างเป็นทางการนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม แต่เราก็รับรู้ถึงเหตุการณ์การนำเชื้อโรคมาทำร้ายกันโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายบางกลุ่ม และเชื้อโรคที่โด่งดังมากคือ เชื้อแอนแทรกซ์
สมมุติฐานที่ว่า มีการนำเชื้อโรคโควิ-19 มาใช้อย่างจงใจ มาจากการแถลงของประเทศหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับอีกประเทศหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศจีนตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นทหารสหรัฐฯ ที่นำเชื้อโรคไปแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ระหว่างเข้าร่วมมหกรรมกีฬาทหารโลก 2019 ซึ่งจัดขึ้นในมณฑลหูเป่ย ระหว่างวันที่ 18-27 ต.ค. 2562
อย่างไรก็ตามการตั้งข้อสงสัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางวาทกรรมระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีต่อเนื่องมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งในระยะแรกสหรัฐอเมริกาได้วิพากษ์และกล่าวหาจีนว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด ต่อมาทางจีนจึงตอบโต้คืนว่า เป็นไปได้ที่สหรัฐคือต้นตอของการผลิตและแพร่ระบาดของโรคโควิด และเมื่อนำเรื่องราวของการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนได้แล้วของบริษัทในประเทศสหรัฐที่เกิดขึ้นในระยะหลัง และเรื่องนี้เป็นความจริง สมมุติฐานนี้ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
หากสมมุติฐานที่ว่า มนุษย์บางกลุ่มจงใจแพร่เชื้อไวรัสโควิดได้รับการยืนยันว่าเป็นจริง ย่อมบ่งบอกให้เห็นว่า เจตจำนงในการแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งของมนุษย์บางกลุ่มโดยใช้วิธีการที่ไร้ศีลธรรม นำชีวิตและคุณค่าความเป็นมนุษย์มาเป็นสิ่งสังเวย เป็นอันตรายที่แท้จริงต่อมนุษยชาติทั้งมวล
ในเวลานี้ เรายังไม่อาจสรุปว่า สมมุติฐานใดจะเป็นจริง และสมมุติฐานใดไม่จริง เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปในวันข้างหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจไม่สามารถหาสรุปได้ว่า เรื่องใดจริงหรือไม่จริง ในกรณีนี้ การเกิดของโรคโควิดก็จะกลายเป็นปริศนาของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยไปอีกเรื่องหนึ่ง
เหตุผลที่อาจทำให้เรื่องนี้ไม่สามารถหาความจริงในเรื่องนี้ได้ก็คือ ความจริงอาจทำให้อำนาจและความน่าเชื่อถือของบางประเทศต้องสั่นคลอนและลดลง ดังนั้นการปกปิดและการปฏิเสธความจริงก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง และคงต้องรออีกหลายสิบปีกว่าความจริงจะปรากฏ หรือ บางทีอาจกลายเป็นปริศนาตลอดกาลก็ได้