(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
The case against a US-China ‘divorce’
by Ken Moak
19/03/2020
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ จงใจเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เอ่ยว่าเป็น “ไวรัสจีน” ทางด้าน เจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบโต้ด้วยการแสดงความสงสัยว่า ไวรัสนี้อาจจะถูกทหารสหรัฐฯอิมพอร์ตเข้ามาที่เมืองอู่ฮั่น เกมประณามกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นต้นกำเนิดของโควิด-19 เช่นนี้ กำลังเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มความเป็นปรปักษ์กันระหว่างอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสอง
“โควิด-19” ซึ่งมีต้นกำหนดในจีน กำลังกลายเป็นตัวเติมเชื้อเพลิงให้แก่วาทกรรมว่าด้วย “การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจใหญ่” สหรัฐฯ-จีน โดยที่มีผู้คนในแวดวงรัฐบาลสหรัฐฯ, สื่อมวลชนอเมริกัน, บัณฑิตผู้รู้ในสหรัฐฯ, และสาธารณชนอเมริกัน กำลังประณามกล่าวโทษจีนว่าเป็นตัวการทำให้อเมริกาจะต้องประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความป่วยไข้อย่างอื่นๆ
ไวรัสที่มีนามอย่างเป็นทางการว่า ไวรัสโคโรนาโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 (severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 เรียกย่อๆ ว่าSARS-CoV-2) ได้ถูกรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ระบุชื่อเป็น “ไวรัสอู่ฮั่น” และ โรเบิร์ต โอไบรอัน (Robert O’Brien) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนล่าสุดของทำเนียบขาว ก็กล่าวโจมตีรัฐบาลจีนว่า “ขาดความโปร่งใส” หรือกระทั่งปกปิดอำพรางสาเหตุของการแพร่กระจายของ โควิด-19 ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาตัวนี้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังรีทวิตข้อความที่เรียกชื่อไวรัสนี้ว่าเป็น “ไวรัสจีน” การออกนามเรียกขานในลักษณะมุ่งกล่าวหาโจมตีกันเช่นนี้ ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่เต็มไปด้วยพิษร้ายอยู่แล้วยิ่งทรุดหนักลงไปใหญ่ โดยที่ผู้คนจำนวนมากในสหรัฐฯเวลานี้กำลังเร่งเรียกร้องให้ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกนี้ หย่าร้างแยกขาดออกจากกัน
บางทีอาจจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ในลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรืออาจจะเป็นเพียงความเบื่อหน่ายที่ถูกประณามว่าเป็นตัวการแพร่กระจายโควิด-19 นักการทูตจีน เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) ได้ออกมาแสดงความข้องใจสงสัยว่า ไวรัสโคโรนาตัวนี้อาจจะถูกนำเข้าประเทศจีนโดยทหารสหรัฐฯ ระหว่างที่มีการจัดการแข่งขันเกมกีฬาทหาร เวิร์ลด์ มิลิแทรี เกมส์ (World Military Games) ณ เมืองอู่ฮั่น ในเดือนตุลาคม 2019 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2020/03/13/asia/china-coronavirus-us-lijian-zhao-intl-hnk/index.html) ทั้งนี้ผู้ล้มป่วยรายแรกด้วยโควิด-19 ถูกพบที่นครแห่งนี้ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของการระบาด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ถ้าหากไม่ใช่ก่อนหน้านั้นไปอีก
ทฤษฎีข้อวินิจฉัยเช่นนี้ของ เจ้า อิงอยู่กับรายงานฉบับหนึ่งของ ศูนย์กลางเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของสหรัฐฯ (US Centers for Disease Control and Prevention) ซึ่งระบุบ่งชี้ว่า มีการเสียชีวิตในสหรัฐฯก่อนหน้านี้บางรายโดยถูกขึ้นบัญชีว่ามีสาเหตุจากไข้หวัดใหญ่นั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นการตายเนื่องมาจากโควิด-19 ถึงแม้วันที่ซึ่งเกิดการเสียชีวิตเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้หรือไม่เป็นที่ทราบกันก็ตาม การแสดงความคิดเห็นของ เจ้า ยังอาจจะได้รับอิทธิพลจากผลการตรวจทดสอบหลายครั้งซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯมีสายพันธุ์ของไวรัสนี้ 5 สายพันธุ์ทั้งหมด ขณะที่ 2 สายพันธุ์แรกนั้นไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในจีน นักวิทยาศาสตร์บางรายเชื่อว่าสายพันธุ์แรกสุดได้กลายพันธุ์กลายมาเป็นสายพันธุ์ที่ 2 และสายพันธุ์อื่นๆ ต่อมา
การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของ เจ้า ยิ่งดูมีน้ำหนักมากขึ้นอีก จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ของ แอนน์ แอปเปิลโบม (Anne Applebaum) แห่งนิตยสาร ดิ แอตแลนติส (The Atlantic) (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ได้ที่ https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/coronavirus-showed-america-wasnt-task/608023/ ) ข้อเขียนของ แอปเปิลโบม เปิดเผยว่า ห้องแล็ปที่ดำเนินการโดย พ.ญ.เฮเลน วาย ชู (Dr Helen Y Chu) ผู้ชำนาญการด้านโรคติดต่อ ได้ค้นพบว่ามีวัยรุ่นผู้หนึ่งในย่านเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ของสหรัฐฯ ติดเชื้อโรคติดต่อโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยที่เขาไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศใดๆ เลย อย่าว่าแต่ประเทศจีน
ตามรายงานข่าวดังกล่าวนี้ กรณีของวัยรุ่นผู้นี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเพียงรายเดียวเท่านั้น ยังมีคนไข้รายอื่นๆ อีกซึ่งติดเชื้อไวรัสนี้ในลักษณะคล้ายๆ กัน ข้อเขียนของ แอปเปิลโบม ดูเหมือนกับเสนอแนะว่า ไวรัสนี้ไม่จำเป็นว่าจะถูกนำเข้าจากต่างประเทศ แต่กำลังแพร่กระจายอยู่แล้วในสหรัฐฯ น่าขันอยู่หรอกที่พวกสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐฯ ไม่ได้อ้างอิงพาดพิงถึงเหตุการณ์นี้ หรือรายงานเจาะลึกเรื่องราวนี้อย่างกัดไม่ปล่อยแบบที่ได้กระทำกับกรณีจีน
ยิ่งไปกว่านั้น คลิปวิดีโอผู้หญิงจีนรับประทานซุปค้างค้าวซึ่งถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งบางทีอาจจะมีส่วนอย่างมากในการแพร่กระจายข่าวที่ว่าจีนเป็นแหล่งที่มาของโควิด-19 นั้น ปรากฏอย่างชัดเจนในภายหลังว่าไม่ใช่คลิปซึ่งถ่ายในจีน หากแต่ถ่ายกันตั้งแต่เมื่อปี 2016 ที่ ปาเลา หมู่เกาะทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/blogs-trending-51271037) โดยที่นั่นนิยมชมชื่นว่าสตูว์ค้างค้าวเป็นอาหารเลิศรสของท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่เฉพาะแต่ ปาเลา ความชมชอบเช่นนี้ยังปรากฏที่อินโดนีเซีย และมีการทำฟาร์มเลี้ยงค้างคาวด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าหากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดโควิด-19 เป็นไวรัสที่กระโดดข้ามพันธุ์จากค้างคาวหรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ มาสู่มนุษย์แล้ว มันก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จีนจะไม่ได้เป็นต้นแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อสายพันธุ์ 2 สายพันธุ์แรก ไม่ได้มีการค้นพบเลยในแดนมังกร
ดูเหมือนผู้คนพร้อมที่จะเชื่อถือสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเชื่อ หรือก็คือ “สัจธรรมความจริงคือสิ่งที่ฉันบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น” --ความคิดจิตใจของพวกเขาก่อรูปขึ้นมา ไม่ใช่ด้วยการค้นคว้าเสาะแสวงหาความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ หากแต่ด้วยอารมณ์ความรู้สึก, การเมือง, และความคิดอุดมการณ์ ถ้าหากเราอ่านสื่อมวลชนกระแสหลักชั้นนำของสหรัฐฯ (เป็นต้นว่า นิวยอร์กไทมส์ และ วอชิงตันโพสต์) และบทวิจารณ์ความคิดเห็นที่ติดมากับรายงานข่าว เราจะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่สุดกล่าวโทษประณามจีน รวมทั้งบอกว่าอะไรก็ตามทีซึ่งออกมาจากจีนคือ “การโฆษณาชวนเชื่อของพวกคอมมิวนิสต์” หรือเป็นการโกหกหลอกลวงซึ่งกำลังพยายามที่จะพลิกผันคำประณามกล่าวโทษให้พุ่งมายังสหรัฐฯ ขณะที่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก พลเมืองชาวจีนเป็นล้านๆ คนต่างเชื่อว่า เจ้า น่าจะพูดออกมาถูกต้องแล้ว
อย่างไรก็ดี “การใช้ไฟมาต่อสู้กับไฟ” เช่นนี้ กำลังมีการสะสมรวมศูนย์อยู่ในการเรียกร้องให้สหรัฐฯกับจีน “หย่าร้างแยกขาดออกจากกัน” โดยสิ้นเชิง รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) บอกว่า การระบาดของโควิด-19 คราวนี้ คือ “โอกาสทอง” สำหรับพวกบริษัทสหรัฐฯที่จะหวนกลับคืนมายังอเมริกา ขณะที่คณะบริหารทรัมป์ออกคำสั่งให้ สเตย์เอ็นทัช (StayNTouch) บริษัทซอฟต์แวร์สหรัฐฯ ถอนตัวออกมาจากการถูกถือหุ้นถูกครอบครองกิจการโดย เป่ยจิง สือจี (Beijing Shiji) ที่เป็นบริษัทจีน รวมทั้งรัฐสภาสหรัฐฯยังผ่านรัฐบัญญัติไทเปปี 2019 (Taipei Act of 2019) ซึ่งส่งผลกลายเป็นการพยายามเล่มเกม “นโยบายสองจีน” ไม่รักษาคำมั่นของสหรัฐฯในเรื่องรับรอง “นโยบายจีนเดียว” [1]
ทั้งนี้รัฐบัญญัติไทเป กำหนดให้ลงโทษชาติใดๆ ก็ตามที่เปลี่ยนจากการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน มามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน รวมทั้งให้รางวัลแก่ชาติซึ่งเดินหน้าไปในอีกทางหนึ่ง ตลอดจนจะพยายามหาทางให้เกาะไต้หวันได้เข้าสู่องค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย เป็นต้นว่า องค์การอนามัยโลก เมื่อผสมรวมกันกับรัฐบัญญัติหลายฉบับที่ออกมาในระยะ 2 ปีหลังนี้ สามารถที่จะมองว่ารัฐบัญญัติไทเปเป็นก้าวเดินอีกก้าวหนึ่งในการมุ่งสู่นโยบาย 2 จีน โดยที่บางทีอาจจะมีความพยายามในการรับรองไต้หวันว่าเป็นชาติอธิปไตยชาติหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนคัดค้านอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด
เกี่ยวกับการหย่าร้างแยกขาดกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน รัฐมนตรีพาณิชย์รอสส์ของสหรัฐฯ และ แลร์รี คุดโลว์ (Larry Kudlow) ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจของทรัมป์ กำลังส่งเสริมสนับสนุนพวกบริษัทสหรัฐฯให้เดินทางกลับมาลงหลักปักฐานในอเมริกา ภายหลังการระบาดของไวรัสนี้ได้เป็นสาเหตุทำให้พวกโรงงานตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ของจีนเป็นจำนวนมากต้องปิดทำการ กลายเป็นการดิสรัปต์สายโซ่อุปทานระดับโลก เนื่องจากประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของสายโซ่นี้นั่นเอง
ทางด้านแนวรบของสงครามเทคโนโลยี คณะบริหารทรัมป์และรัฐสภาสหรัฐฯแสดงท่าทีว่ามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน จุดยืนล่าสุดของการก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางดังกล่าว ได้แก่การที่ทรัมป์ออกคำสั่งให้พวกเซิร์ฟเวอร์สื่อสารโทรคมนาคมทุกๆ เครื่อง ต้องถอดอุปกรณ์ทำในจีนทั้งหมดออกไปจากเครือข่ายทั้งหลายของพวกตน
สหรัฐฯกำลังเพิ่มความพยายามมากขึ้นไปอีกในการโดดเดี่ยวจีน โดยที่กำลังประสบความสำเร็จในการล็อบบี้อินโดนีเซียให้หักหลังบอกเลิกการซื้อเรือรบจีนและเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรัสเซีย อินโดนีเซียยังตัดสินใจชะลอหรือยกเลิกพวกโปรเจ็กต์การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน โดยหยิบยกเหตุผลข้ออ้างในลักษณะเลียนแบบวาทกรรมว่าด้วย “การขาดความโปร่งใส” และ “กับดักแห่งหนี้สิน” ตามแนวทางของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม จีนดูเหมือนกำลังทำการต่อสู้ตอบโต้เอาคืน เป็นต้นว่า การจัดทำ “รายชื่อบริษัท/บุคคล” ของสหรัฐฯที่ไม่ควรทำธุรกิจด้วย, การตอบโต้ชนิด “มาไม้ไหน ไปไม้นั้น” กับการปฏิบัติการ “สำแดงเสรีภาพด้านการเดินเรือ” ของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้, การผลักดันกล่าวหากลับแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 , รวมทั้งการใช้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) เพื่อแยกบรรดาประเทศที่เข้าร่วมให้ถอยห่างออกจากการพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯในด้านการค้าและการลงทุน กล่าวโดยสรุปก็คือ จีนดูเหมือนเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับท่าทีมุ่งหย่าร้างแยกขาดจากกันของสหรัฐฯ ด้วยการต่อสู้อย่างซึ่งๆ หน้า
ถ้าหากทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีความปรารถนาที่จะถอยหลังกลับและสูดหายใจลึกๆ ขบคิดพิจารณาให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นอีก โลกก็อาจเผชิญกับความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง ทั้งนี้คงต้องขอบคุณการที่พิภพของเราในปัจจุบันมีความเป็นโลกาภิวัตน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอันที่จริงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯเองสนับสนุนผลักดันนำเอามาใช้ โดยมีจีนคอยทำให้เกิดการบูรณาการยิ่งขึ้นไปอีก เป็นสหรัฐฯนั่นแหละที่ส่งเสริมโปรโมตและจัดตั้งสายโซ่อุปทานระดับโลกขึ้นมาด้วยความประสงค์ที่จะเพิ่มความได้เปรียบอันเกิดจากขนาด (economies of scale) และก็เป็นนโยบายต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรมของจีนนั่นเอง (อย่างน้อยที่สุดก็เป็นจำนวนมากทีเดียว) ซึ่งเป็นตัวเสริมเติมนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ ผลิตภาพ (Productivity)จึง เพิ่มพูนขึ้น, มาตรฐานการครองชีพก็สูงขึ้น, และทำให้โลกมีการติดต่อเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้น
อันที่จริง ถ้าหากไม่มีตลาดที่ใหญ่โตมหึมาของจีน และความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในด้านการผลิตทางอุตสาหกรรมของจีนแล้ว พวกธุรกิจต่างๆ ของอเมริกาก็น่าที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ และมีความสามารถในการทำกำไรลดลงกว่าที่เป็นอยู่ แท้จริงแล้วจีนน่าที่จะเป็นผู้ช่วยชีวิตทำให้พวกธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ของสหรัฐฯเป็นจำนวนมากอยู่รอดมาได้ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น จีนคือลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของพวกกิจการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเป็นผู้ที่กำลังซื้อหาชิปของพวกเขามากกว่า 60% ทีเดียว นี่เป็นเหตุผลซึ่งอธิบายได้ว่า ทำไมคณะบริหารทรัมป์จึงถูกบีบบังคับให้ต้องชะลอการสั่งห้ามพวกบริษัทเทคโนโลยีของตนขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่คู่ค้าชาวจีนของพวกเขา
เกี่ยวกับพวกประเด็นปัญหาระดับโลกเป็นจำนวนมากก็เช่นเดียวกัน สหรัฐฯจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากจีน ในฐานะที่เป็น 2 ประเทศผู้มีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซไอเสียซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก มากที่สุดของโลก พวกเขาจำเป็นต้องมีความคิดความอ่านคล้ายๆ กัน ถ้าหากการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะสามารถบังเกิดผลขึ้นมาได้ ในฐานะที่เป็น 2 ประเทศผู้มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและเป็นชาติค้าขายซึ่งใหญ่ที่สุด สหรัฐฯกับจีนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดทอนประเด็นปัญหาทางด้านการค้าให้เหลืออยู่น้อยที่สุด ตลอดจนหาทางปรับปรุงยกระดับรระบบการค้าโลกและระบบการเงินโลก
ยิ่งไปกว่านั้น กระทั่งหากสหรัฐฯไม่มีความต้องการที่จะทำธุรกิจกับจีนเสียแล้ว ประเทศอื่นๆ ในโลก รวมทั้งพวกพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอเมริกันทั้งหลาย อย่างเช่น ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, และแคนาดา ก็จะยังมีความต้องการอยู่ดี ประเทศต่างๆ จำนวนมากกว่า 80 ประเทศ (และกำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ) ซึ่งเข้าร่วมในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน กำลังเรียกร้องการค้าและการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากจีนกระทำตามคำพูดในการช่วยเหลือพวกเขาให้เพิ่มพูนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประคับประคองอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและทางด้านอุตสาหกรรมของจีนนั้น มีส่วนรับผิดชอบอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียวในการนำเอาระบบเศรษฐกิจของแอฟริกาและของละตินอเมริกาเป็นจำนวนมากให้เคลื่อนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 การค้าระหว่างจีนกับพวกผู้เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้เพิ่มพูนขึ้นในอัตรา 15% ต่อปีตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา จนกระทั่งมีมูลกว่าเกินกว่า 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้วเมื่อปี 2019 ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขของรัฐบาลจีน ยกเว้นประเทศเพียงไม่กี่ราย อย่างเช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ (ซึ่งอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้), ญี่ปุ่น, และโปแลนด์ แล้ว ประเทศต่างๆ ล้วนแต่ปฏิเสธไม่ทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่จะให้ห้าม หัวเว่ย เข้าร่วมในโครงการก่อสร้างระบบ 5จี ออกมาใช้งาน
อันที่จริงแล้ว มีเหตุผลข้อโต้แย้งอยู่เป็นจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากพวกสายเหยี่ยวต่อต้านจีนสามารถกระทำตามความปรารถนาของพวกเขาในเรื่องการหย่าร้างแยกขาดออกจากจีนแล้ว สหรัฐฯอาจจะกลายเป็นสถานที่ซึ่งโดดเดี่ยวเต็มที เนื่องจากแทบไม่มีประเทศอื่นๆ อีกเลยที่จะกระทำอย่างเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว พวกบริษัทของสหรัฐฯก็น่าที่จะคัดค้านและเพิกเฉยละเลยการตัดสินเช่นนี้ ไม่เพียงเพราะไม่ต้องการสูญเสียตลาดใหญ่ที่สามารถทำกำไรงามๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ใช้มาเล่นงานจีนนั้นอย่างเก่งที่สุดก็เป็นการขยายเรื่องให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริง รวมทั้งน่าสงสัยข้องใจว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริง
ความเป็นจริงมีอยู่ว่า สหรัฐฯกับจีนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันและประสานงานกันในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 และในการรับมือกับประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การปรับปรุงยกระดับระบบการค้าโลกและระบบการเงินโลก ตลอดจนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันไม่ใช่เป็นสำคัญหรอกว่าไวรัสนี้มีต้นกำเนิดจากที่ใด แต่ข้อเท็จจริงก็คือมันกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจของทุกๆ ชาติ รวมทั้งของสหรัฐฯและของจีนด้วย จึงกำลังเรียกร้องต้องการให้ใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อสู้รบปราบปรามมัน
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันพวกโปรโมตส่งเสริมการหย่าร้างกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนในทั้งสองฟากฝั่งของแปซิฟิก ให้ถอยร่นกลับไปอยู่ในหลุมในรูของพวกเขา
เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer
หมายเหตุผู้แปล
[1] “นโยบายจีนเดียว” เว็บไซต์ข่าวบีบีซีนิวส์ เคยทำคำอธิบายในลักษณะถาม-ตอบ เกี่ยวกับนโยบายนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:
นโยบาย “จีนเดียว” ('One China' policy) คืออะไร?
มันคือการยอมรับในทางการทูตต่อจุดยืนของจีนที่ว่ารัฐบาลจีนนั้นมีเพียงรัฐบาลเดียวเท่านั้น ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯยอมรับและมีสายสัมพันธ์ผูกมัดอย่างเป็นทางการกับจีน แทนที่การมีสายสัมพันธ์ผูกมัดกับเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป ซึ่งจะต้องถูกนำกลับมารวมกับแผ่นดินใหญ่ในวันหนึ่งข้างหน้า
นโยบายจีนเดียวนี้ กลายเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ นอกจากนั้นมันยังเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งหนักแน่นชั้นล่างสุดชั้นหนึ่งของสหรัฐฯในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับจีนและในการดำเนินการทางการทูตกับจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯถือว่านโยบายจีนเดียวนี้ มีความแตกต่างไม่เหมือนกับ “หลักการจีนเดียว” (One China principle) ซึ่งจีนประกาศออกมา ที่มีเนื้อหายืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกถ่ายโอนได้ของจีนที่มีเพียงหนึ่งเดียว โดยจะต้องถูกนำกลับมารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนในวันหนึ่งข้างหน้า
นโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯนั้นไม่ได้เป็นการรับรองจุดยืนของปักกิ่ง และที่จริงแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ซึ่งวอชิงตันมุ่งมั่นที่จะยังคงรักษาความสัมพันธ์ “อย่างไม่เป็นทางการอันแข็งแกร่ง” ที่มีอยู่กับไต้หวัน โดยรวมไปถึงการขายอาวุธให้เกาะแห่งนี้เพื่อให้ไต้หวันสามารถป้องกันตนเองได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/35855.htm)
ถึงแม้รัฐบาลไต้หวันประกาศอ้างอย่างเป็นทางการว่าตนเองเป็นประเทศเอกราชประเทศหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อเรียกว่า “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) แต่ในทางเป็นจริงแล้ว ประเทศใดก็ตามที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ล้วนต้องตัดสายสัมพันธ์ความผูกมัดอย่างเป็นทางการที่มีอยู่กับไทเปเสียก่อน
นี่จึงส่งผลให้ไต้หวันอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวทางการทูตและถูกตัดออกจากประชาคมระหว่างประเทศ
“นโยบายจีนเดียว” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
นโยบายนี้สามารถสาวย้อนกลับไปจนถึงปี 1949 เมื่อสงครามกลางเมืองในจีนสิ้นสุดลง ฝ่ายที่พ่ายแพ้ คือพวกชาตินิยม หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กิ๊กมิ่นตั๋ง ได้ถอยร่นไปยังเกาะไต้หวัน และประกาศให้ที่นั่นเป็นสถานที่ตั้งรัฐบาลของฝ่ายตน ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมือง ได้เริ่มต้นเข้าปกครองแผ่นดินใหญ่โดยใช้ชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งสองฝ่ายต่างประกาศว่าฝ่ายตนเป็นตัวแทนของประเทศจีนทั้งมวล
นับตั้งแต่ตอนนั้นมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้ปกครองประเทศจีนอยู่ ได้ข่มขู่คุกคามที่จะใช้กำลังทหาร ถ้าหากไต้หวันขืนประกาศตนเอง นั่นคือเกาะไต้หวัน ว่าเป็นประเทศเอกราชอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการดำเนินเส้นทางด้านการทูตที่นุ่มนวลมากขึ้นกับเกาะแห่งนี้ในระยะหลายปีหลังๆ มานี้
ในตอนต้นๆ รัฐบาลจำนวนมาก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ได้ประกาศรับรองไต้หวัน ขณะที่ถอยห่างไม่คบค้ากับจีนคอมมิวนิสต์ แต่แล้วกระแสลมทางการทูตได้มีการเปลี่ยนทิศ และจีนกับสหรัฐฯมองเห็นความจำเป็นร่วมกันในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่เมื่อทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา สหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ก็มีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทเป และหันไปรับรองปักกิ่งแทนที่
อย่างไรก็ดี หลายๆ ประเทศยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันเอาไว้ โดยผ่านสำนักงานการค้าหรือสถาบันทางวัฒนธรรม ทั้งนี้สหรัฐฯยังคงถือว่าไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงรายสำคัญที่สุดของตน
สหรัฐฯดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด
หลังจากมีความสัมพันธ์ที่กระเตื้องขึ้นอยู่หลายปี สหรัฐฯก็สถาปนาสายสัมพันธ์ความผูกมัดทางการทูตอย่างเป็นทางการกับปักกิ่งเมื่อปี 1979 ในยุคของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์
ผลก็คือ สหรัฐฯต้องตัดความสัมพันธ์ผูกมัดที่มีอยู่กับไต้หวัน รวมทั้งต้องปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนที่ตั้งอยู่ในไต้หวัน
แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯได้ออกรัฐบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.congress.gov/bill/96th-congress/house-bill/2479) ซึ่งรับประกันว่าสหรัฐฯสนับสนุนเกาะแห่งนี้ จุดสำคัญยิ่งยวดในกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่การเน้นย้ำว่าสหรัฐฯต้องช่วยเหลือไต้หวันในการพิทักษ์ป้องกันตัวเอง --ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นเหตุผลในการที่ยังคงขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน สหรัฐฯยังแถลงด้วยว่าตนเองยืนกรานให้ฝ่ายจีนและฝ่ายไต้หวันใช้หนทางสันติในการแก้ไขความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายดำเนิน “การสนทนาที่สร้างสรรค์”
สหรัฐฯยังคงรักษาการปรากฏตัวอย่างไม่เป็นทางการในไทเปเอาไว้ โดยผ่านทาง “สถาบันอเมริกัน” (American Institute) ในไต้หวัน โดยถือว่าเป็นบริษัทเอกชนแต่เนื้อแท้แล้วสหรัฐฯใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในทางการทูต
(เก็บความจากเรื่อง What is the 'One China' policy? ในเว็บไซต์บีบีซี วันที่ 10 ก.พ. 2017 ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-asia-china-38285354)