xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนขานรับ“พรก.ฉุกเฉิน” ชงอุ้ม5อุตฯกันสินค้าขาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กกร.พร้อมร่วมมือรัฐใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เสนอให้ดูแล รง.อุตสาหกรรมที่จำเป็น 5 กลุ่มเดินหน้าต่อไป ย้ำต้องเปิดขนส่งต่อเนื่อง ป้องกันสินค้าขาดแคลน

วานนี้ (26 มี.ค.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงกรณี รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.- 30 เม.ย. ตามอำนาจในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ว่า กกร.ได้หารือเพื่อที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ในการป้องกันและแก้ไขการแพร่กระจายไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่จำเป็นยิ่งยวด (CISC) และการขนส่งสินค้าที่จะไม่ให้เกิดการขาดแคลน ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1. อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อลูมิเนียม, 2. อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง, 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งหุ่ม, 4.อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และ 5.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับ ธุรกิจที่มีความจำเป็น (Essential) ต้องดำเนินการต่อไป เป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต้องเดินหน้าต่อไป เช่น อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร , ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์

ในส่วนของข้อเสนอ กกร.ที่มีต่อภาครัฐนั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กกร.ต้องการให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้าง และนายจ้างเป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่ม 1 เม.ย., ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงาน หรือ ถูกเลิกจ้างจากเดิม 50% เป็น 80%, ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน, ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, ให้ระบบสาธารณูปโภคให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง, หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ และให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเสริมว่า สถาบันการเงินพร้อมบริการทางการเงิน โดยเฉพาะการเตรียมเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ 54,000 ตู้ สาขาธนาคารทั้งในศูนย์การค้า และ นอกศูนย์การค้า 6,800 สาขา ตลอดจนการใช้ธุรกรรมผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต และ พร้อมเพย์ ซึ่งรายการพร้อมเพย์ เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10 ล้านรายการ นอกจากนี้ ยังมีบริการโมบายแบงก์กิ้ง ที่เชื่อว่าจะสามารถรองรับธุรกรรมที่มีมากขึ้นได้อย่างไม่มีสะดุด

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ซีพีตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลประชาชนให้เข้าถึงอาหาร และเครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ที่จำเป็น ในขณะนี้จึงใช้ช่องทางร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในการจัดจำหน่ายซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ CPF มีความพร้อมบริการเช่นกัน จึงต้องการให้ภาครัฐ และ เอกชน ช่วยทางด้านขนส่ง เพราะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือ การขาดหายของระบบขนส่งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBevกล่าวว่า อยากให้ความมั่นใจว่า สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค จะมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยบริษัทก็ได้ดูแลพนักงานและลูกค้าอย่างเต็มความสามารถ และจะร่วมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวว่า เอสซีจี ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมมีความพร้อมร่วมมือทุกเรื่องกับภาครัฐและเอกชน ในการดูแลสินค้าและประชาชนและได้มีการสนับสนุนการทำงานที่บ้าน ยกเว้น ผู้ที่มีหน้าที่จำเป็น แต่ต้องมีมาตรการคุมเข้ม ซึ่งขอให้กำลังใจทุกคนที่จะร่วมฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า เอกชนและรัฐ จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้โรคนี้หายไป และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุด และในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลและเอทาอล ที่ขณะนี้มีความต้องการแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ ขอยืนยันว่ามีเพียงพอ เพราะการผลิตมีถึงวันละ 4 ล้านลิตร แต่จะต้องทำให้เกิดกระจายอย่างทั่วถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น