“ส.อ.ท.” เผยผลสำรวจ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกต่อผลกระทบโควิด-19 พบ 12 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากสุด ขณะที่ 9 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบปานกลาง และ 24 อุตสาหกรรมกระทบน้อย แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ทำการรวบรวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมจาก 45 กลุ่มสมาชิก ส.อ.ท. เบื้องต้นพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก 12 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 2. ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 3. เคมี 4. โรงกลั่นน้ำมัน 5. โรงเลื่อยโรงอบไม้ 6. หัตถกรรมสร้างสรรค์ 7. เครื่องสำอาง 8. ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น 9. อัญมณีและเครื่องประดับ 10. เทคโนโลยีชีวภาพ 11. อาหาร และ 12. สมุนไพร เนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเพราะมีการปิดโรงงาน และมีอุปสรรคในการส่งสินค้าไปจีน มียอดขายลดลงเพราะนักเที่ยวลด ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพราะต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากที่อื่นมาทดแทน เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลางมี 9 กลุ่ม ได้แก่ 1. ยานยนต์ 2. สิ่งทอ 3. เซรามิก 4. เครื่องปรับอากาศ 5. แก้วและกระจก 6. ยา 7. เหล็ก 8. หนังและผลิตภัณฑ์หนัง และ 9. ต่อเรือและซ่อมเรือ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญเพราะสามารถหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนได้ ยังมีสต๊อกวัตถุดิบเพียงพอในระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยลบยังมีอยู่เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนติดขัด ล่าช้า มีการชะลอคำสั่งซื้อ ฯลฯ
สำหรับอุตสาหกรรมที่กระทบน้อยมี 24 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. เครื่องนุ่งห่ม 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3. น้ำมันปาล์ม 4. ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ 5. แกรนิตและหินอ่อน 6. เฟอร์นิเจอร์ 7. เครื่องจักรกลการเกษตร 8. ปิโตรเคมี 9. ปูนซีเมนต์ 10. เทคโนโลยีสารสนเทศ 11. ผลิตภัณฑ์ยาง 12. เยื่อและกระดาษ 13. พลาสติก 14. น้ำตาล 15. ก๊าซ 16. การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม 18. เครื่องจักรกลการเกษตร 19. การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 20. หลังคาและอุปกรณ์ 21. หล่อโลหะ 22. พลังงานหมุนเวียน 23. อะลูมิเนียม 24. ผู้ผลิตไฟฟ้า และ 26. รองเท้า โดยมีปัจจัยบวกคือ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเนื่องจากประเทศคู่ค้าของจีนหันมาซื้อสินค้าไทยแทนสินค้าจีน แต่ก็ยังคงมีปัจจัยลบที่กระบวนการขนส่งจีนล่าช้า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ฯลฯ
“ภาพรวมอุตสาหกรรมมีทั้งบวกและลบจากกรณีโควิด-19 โดยระยะสั้นนี้ในภาคแรงงานท่องเที่ยวอาจจะมีการจ้างงานที่ชะลอตัวไปบ้าง แต่ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีผลกระทบต่อแรงงาน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวหากการแพร่ระบาดยืดเยื้อและลุกลามมากเท่าใดผลกระทบก็จะมากขึ้น จึงต้องติดตามใกลัชิดแต่ละเดือน ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าจะจบเมื่อใด แต่ กกร.คาดหวังไว้ว่าจะจบภายใน มิ.ย.” นายสุพันธุ์กล่าว