“กกร.” พร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เสนอให้เร่งบริหารจัดการรองรับ ทั้งการดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่จำเป็น 5 กลุ่มหลักป้องกันการขาดแคลนทั้งอาหาร ยา สิ่งทอ พลังงาน สื่อสาร พร้อมให้งดจ่ายเงินประกันสังคมทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เลื่อนจ่ายน้ำไฟออกไป 4 เดือน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และขนส่งต้องพร้อมรับมือ ฯลฯ มั่นใจร่วมมือไทยพ้นโควิด-19 แน่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.ว่า กกร.พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยมีข้อเสนอหลัก 8 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ภาครัฐดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงัก
สำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อะลูมิเนียม 2. อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม 4. อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และ 5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
“ธุรกิจที่มีความจำเป็น (Essential) ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร, ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์” นายสุพันธุ์กล่าว
2. ขอให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและนายจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน มีผล 1 เม.ย.
3. ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิม 50% เป็น 80% มีผล 1 เม.ย. 4. ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน 5. ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโควิด-19 6. ให้ระบบสาธารณูปโภคให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง 7. หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ และ 8. ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค
“ขณะนี้รัฐได้ออกมาตรการดูแลแรงงานที่ตกงาน และสภาพคล่องทางการเงินให้กับเอสเอ็มอีบางส่วนแล้วซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เอกชนต้องขอบคุณ แต่ก็เห็นว่าบางอย่างต้องมีเพิ่มเติม ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเราจะรอดแน่นอน” นายสุพันธุ์กล่าว
นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดว่าสถานการณ์นี้คงจะยังมีผลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนด้านสาธารณสุขที่เอกชนพร้อมร่วมมือรัฐในการจัดหาและนำเข้าให้เพียงพอ ทั้งหน้ากากอนามัย Test Kit, เครื่องช่วยหายใจ, วัตถุดิบในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เอกชนนอกเหนือจะผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการดำรงชีพแล้ว ยังคงการจ้างงานเพื่อประคองธุรกิจในช่วงนี้ไปด้วยกัน
“หลังประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว เอกชนมั่นใจว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง เช่น ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การเงิน และท่าเรือขนส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งหากเป็นไปได้ควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงานในช่วงนี้ด้วยและภาคเอกชนจะประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน” นายกลินทร์กล่าว
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ส่วนของธนาคารพร้อมทำงานที่จะดูแลให้การเงินไม่กระทบต่อประชาชน โดยเตรียมเงินสดที่ภาคธนาคารมีตู้ ATM ถึง 5.4 หมื่นตู้ มีสาขาธนาคาร 6.8 พันสาขา อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำคือการทำธุรกิจกรรมผ่านโมบายล์แบงกิ้งหรือพร้อมเพย์เพื่อความสะดวกไม่มีค่าธรรมเนียม