ส.อ.ท.ร่วมรับมือโควิด-19 เตรียมจัดส่งหน้ากากอนามัยผ้า 1 แสนชิ้น ให้กับ 10 โรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มเอทานอลสมาชิก ส.อ.ท.บริจาคแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อให้อีก 3 แสนลิตร
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนมีนาคม นี้ ส.อ.ท. ได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยแบบผ้า 100,000 ชิ้น ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง ที่รองรับการรักษาผู้สุ่มเสี่ยงติดโรค COVID-19 แต่ไม่ได้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง โดยหน้ากากผ้านี้ได้ผ่านการรับรองคุณภาพของผ้าจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม แล้ว
“ส.อ.ท. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงได้จัดเตรียมหน้ากากผ้าที่ผ่านการทดสอบจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติป้องกันละอองสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามของผู้สวมใส่ (ขนาด 50-5 ไมครอน) สามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง ที่รองรับการรักษาผู้สุ่มเสี่ยงติดโรค COVID-19 แต่ไม่ได้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลสงฆ์ และ โรงพยาบาลเลิดสิน
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอลทั่วประเทศ จำนวน 26 โรงงาน ที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับกรมสรรพสามิต ผลิตแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด โดยบริจาคเป็นจำนวน 300,000 ลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นในการใช้ หากต้องการสามารถติดต่อได้ที่สรรพสามิตทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่า หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ จะกระทบเศรษฐกิจภาพรวม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะยาวนานกว่านี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ความวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มขึ้นเริ่มเก็บสะสมสินค้า ขณะที่อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น ส่วนตัวเลขผลกระทบเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีข้อมูลในขณะนี้
พลอากาศตรี ไกรเลิศ เธียนุกุล ผู้แทนโรงพยาบาลภูมิพล กล่าวว่า หน้ากากอนามัยยังขาดแคลน เพราะความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงแบ่งโซนสีแดง โซนสีส้ม และโซนเขียว โดยโซนสีแดง ใช้หน้ากากผ้าไม่ได้ เพราะแพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วย การได้รับหน้ากากผ้า ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำหน้ากากผ้าไปจัดสรรให้บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ได้ เพราะทำงานในส่วนสำนักงานของโรงพยาบาล นอกจากนี้ การกักผู้เดินทางมาจากต่างประเทศก็มีความจำเป็นต้องใช้ชุดป้องกันและแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีการนำแอลกอลฮอล์ไปทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์มากขึ้น