xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เผย 11 โรงงานสนใจร่วมผลิตหน้ากากผ้า 30 ล้านชิ้นแล้ว จ่อชง “ครม.” 10 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมเผย 11 โรงงานสนใจร่วมผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 30 ล้านชิ้นตามนโยบาย “สมคิด-สุริยะ” แล้ว ส่วนคุณภาพผ้ารอการสรุปจากทุกฝ่ายและคำตอบจากสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ก่อนชง ครม.เห็นชอบ 10 มี.ค.นี้ มั่นใจ 10 ล้านชิ้นจะทยอยส่งถึงมือประชาชนก่อนสิ้น มี.ค.นี้

จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในการรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องสรุปที่จะให้มีการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า 30 ล้านชิ้นแจกฟรีให้แก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่คนละ 3 ชิ้นหรือราว 10 ล้านคน และมอบให้ทุกส่วนไปหารือถึงแนวทางดำเนินงาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า จากการหารือรายละเอียดขณะนี้มีเอกชน 11 รายแสดงความสนใจเบื้องต้นที่จะเข้าร่วมการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าแล้ว ส่วนผ้า 1.5 ล้านหลาที่คาดว่าจะต้องนำมาใช้ในการตัดเย็บนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสมาคมสิ่งทอที่เกี่ยวข้องและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันคัดสรรผ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการผลิต คาดว่าจะได้ข้อสรุปและนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะเดินหน้าผลิตและแจกประชาชนได้ต่อไป

“ผ้าที่จะนำมาผลิตจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย เบื้องต้นจะส่งตัวอย่างผ้าให้กระทรวงสาธารณสุขรับรองว่าผ้าชนิดใดที่มีความปลอดภัยต่อประชาชน ไม่มีสารพิษตกค้าง และมีประสิทธภาพป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรค และได้มีการหารือผู้ประกอบการเตรียมเร่งผลิตและตั้งเป้ากำลังการผลิต 10 ล้านชิ้นภายในเดือนนี้ จากเป้าหมายผลิตรวม 30 ล้านชิ้น” นายกอบชัยกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะรับผิดชอบภาคผู้ประกอบการได้มีหนังสือสั่งการไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกำชับผู้ผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งการผลิตและจัดเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่กำหนดมาตรการ วางแผนเตรียมการรับมือโรคติดเชื้อโควิด-19 ระยะการระบาดในวงจำกัด ระยะที่ 2 ไปพร้อมกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น