ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ความโชคดีของประเทศไทยคือไวรัสโควิด-19 ไม่ชอบพื้นที่อากาศร้อนชี้นอย่างที่ประเทศไทยเป็นอยู่และกำลังอากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าความโชคร้ายคือโรคนี้เกิดขึ้นและแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งหรือละอองเสมหะของเหลวประการหนึ่ง และคนจำนวนมากก็พักอาศัยอยู่ในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศซึ่งมีอุณหภูมิอากาศเย็นกว่าภายนอก จึงยังคงเอื้ออำนวยในการติดเชื้อได้อยู่เป็นอีกประการหนึ่ง
จากการทดลองในห้องทดลองพบว่า ไวรัสของโรคซาร์สเพื่อเทียบเคียงกับโควิด-19) สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 5 วัน บนผิวเรียบที่มีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่ 22-25 องศาเซลเซียส (ส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศ) ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 40-50% ในขณะที่อุณหภูมิเมื่อขึ้นถึง 38 องศาเซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 95% ไวรัสของโรคซาร์สจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ [1]
ช่างบังเอิญในตัวเลขที่ “38 องศาเซลเซียส” นั้น เป็นอุณหภูมิของร่างกายในมนุษย์ที่เป็นไข้และมีความร้อนสูงขึ้น และไข้นั้นเป็นกลไกตามธรรมชาติของกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและต้านการติดเชื้อจุลชีพ [2], [3] และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกลของการเกิดไข้นั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการทำงานต่อต้านการติดเชื้อของมนุษย์อีกด้วย [4]
แต่คนส่วนใหญ่มักจะรับประทานยาลดไข้เพื่อลดอาการไม่สบายตัว หรือเพื่อลดความเสี่ยงในการที่ “อุณหภูมิเป้าหมาย” ในร่างกายที่สูงขึ้นนั้นเกินขีดความสามารถของร่างกายที่จะรับมือได้ แล้วใช้ยาฆ่าเชื้อจุลชีพ (เช่น ไวรัส หรือแบคทีเรีย) หรือยาต้านจุลชีพตามเป้าหมายแทนการบำบัดด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
เมื่อคนส่วนใหญ่รับประทานยาลดไข้ รับประทานยาลดน้ำมูก (ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่ตอบสนองต่อการต้านจุลชีพ) ก็เป็นผลทำให้เราไม่ได้ใช้กลไกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเอง หรือยิ่งกว่านั้นคือมีการใช้ยาเพื่อกดระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ โดยที่ยังไม่มียารักษาใดๆ ด้วย และอาจทำให้การเจ็บป่วยนั้นยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ได้ด้วยเช่นกัน หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
เพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการตามให้เห็นภาพชัดกว่านี้ก็คือ “วัคซีน” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ถูกฆ่า หรือทำให้มีฤทธิ์อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อโรคได้ โดยใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคซึ่งเกิดจากเชื้อนั้นๆ แม้กระนั้นแล้วอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ร่างกายก็อาจจะมีผลข้างเคียงด้วยการมีไข้ ปวดเมื่อย อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ
แต่เมื่อในวันนี้ยังไม่มีตัวยาหรือแม้มีตัวยาแต่ไม่มากพอ หรือยังไม่มีวัคซีนในเรื่องไวรัส โควิด-19 เราควรจะบริหารระบบภูมิคุ้มกัน ไข้ และระบบความร้อน อย่างไร?
จากการทดลองเล็กๆ ในมนุษย์ (Randomized Control Trail) เมื่อปี 2548 ในการพิจารณาการใช้การลดไข้ในผู้ป่วยวิกฤติ 82 คนที่เข้าเกณฑ์ โดยกลุ่มคนไข้ที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ได้รับยาพาราเซตตามอล 650 มิลลิกรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง และเสริมด้วยผ้าห่มที่มีความเย็นเมื่อคนไข้อุณหภูมิของร่างกายเกิน 39.5 องศาเซลเซียส กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มใช้กระบวนการลดความร้อนทั้งหมดกับคนไข้ที่มีอุณหภูมิที่ 40 องศาเซลเซียสเท่านั้น (แปลว่าปล่อยไข้ขึ้นสูง)
ปรากฏเบื้องต้นว่าคนไข้ 7 รายเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตตามอลและผ้าห่มเย็น แต่กลุ่มที่ใช้การบรรเทาเมื่ออุณหภูมิสูงเริ่มต้นที่ 40 องศาเซลเซียส กลับมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าคือเสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น [5]
การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในผู้ป่วยวิกฤติที่ได้รับการผ่าตัด 38 คนโดยไม่มีภาวะการบาดเจ็บของสมอง (Neurotrauma) หรือไม่มีภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนอย่างรุนแรง (Hypoxemia) และไม่ใช่ผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการบำบัดไข้ พบว่า ระหว่างผู้ที่ได้รับการบำบัดเพื่อลดไข้เมื่ออุณหภูมิเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส กับผู้ที่ไม่ได้รับการบำบัดเพื่อการลดไข้ใดๆ ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างกันในประเด็น การมีไข้กลับมาใหม่ การติดเชื้อ การใช้ยาปฏิชีวนะบำบัด ระยะเวลาการอยู่ในห้องหรือโรงพยาบาล หรือแม้แต่อัตราการตาย
โดยงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้สรุปผลแนะนำว่าระบบการกดไข้อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย (ในกรณีที่ไม่ได้มีการบาดเจ็บของสมองหรือไม่มีภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนอย่างรุนแรง) การปล่อยให้มีไข้ตามธรรมชาติไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วย เมื่อเทียบกับระบบตอบสนองการอักเสบหรือการทำให้ไม่สบายตัว วิธีการตามธรรมชาติดังกล่าวนี้ก็อาจจะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า [6]
งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่สุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วย 700 คนที่มีไข้เกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ทั้งที่รู้หรือสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อได้รับยาพาราเซตตามอลทางหลอดเลือด 1 กรัม กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับ “ยาหลอก” (หมายถึงไม่มีตัวยาใดๆ)ทุกๆ 6 ชั่วโมง จนกระทั่งออกจากห้องไอซียู ไข้ลดลง หรือการหยุดบำบัดด้วยยาต้านจุลชีพ หรือเสียชีวิต ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าการกินยาลดไข้แทบไม่ต่างกับกลุ่มที่กินยาหลอกเลย [7]
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ถือว่ามีความคลาสสิกมาก เป็นการทดลองเมื่อปี พ.ศ. 2524 แมทธิว คลุกเกอร์ และคณะ ได้ทดลองว่าจะสามารถประยุกต์ใช้การมีไข้อย่างไร เพราะอุณหภูมิเป้าหมายนั้นถูกควบคุมดูแลโดยไฮโปธาลามัสที่สมองเมื่อเกิดการติดเชื้อ โดยไปสู่อุณหภูมิเป้าหมายที่ถูกกำหนดเอาไว้ ส่งผลทำให้เกิดการเผาผลาญไขมัน ลดการไหลเวียนไปสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการหนาวสั่น และเสริมสร้างการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาว ซึ่งแน่นอนว่าอาการดังกล่าวที่ว่านี้ทำให้ไม่สบายตัว ซึ่งหลายคนจะกังวลการมีไข้จะใช้ยากดไข้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะในเด็ก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ แมทธิว คลุกเกอร์ สนใจทดลองความร้อนจากสภาวะแวดล้อมภายนอกแทน โดยตัดสินใจนำเชื้อ “แบคทีเรีย” ชนิดหนึ่งเข้าไปที่สัตว์เลื้อยคลานในจำพวกกิ้งก่าในทะเลทรายคือ “อิกัวน่า” ซึ่งเป็นสัตว์เลือดเย็นเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร
การทดลองที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า “อิกัวน่า” เป็นสัตว์เลือดเย็น และการที่จะทำให้ร่างกายร้อนขึ้นได้นั้นต้องอาศัยความร้อนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นหลัก โดยการทดลองครั้งนี้ได้มีการใช้ “หลอดไฟที่มีแสงอุลตร้าไวโอเลต” เพื่อเลียนแบบความร้อนจากแสงแดดและเพื่อควบคุมอุณหภูมิจากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยอิกัวน่า 13 ตัวได้รับการฉีดแบคทีเรียที่มีชีวิตเข้าไป
ปรากฏว่าอิกัวน่า 12 ตัว ที่ได้รับความร้อนจากหลอดไฟแสงอุลตร้าไวโอเลตมีชีวิตรอดทั้งหมด ส่วนอิกัวน่าอีก 1 ตัวที่ใช้ความร้อนจากตัวอิกัวน่าเองเสียชีวิตลง
หลังจากนั้นจึงนำแบคทีเรียที่มีชีวิตฉีดเข้าตัวอิกัวน่าที่มีชีวิตเหลืออยู่อีก 12 ตัว พร้อมกับให้ยาลดไข้ไปด้วย ปรากฏว่าอิกัวน่า 5 ตัวไม่สามารถที่จะผลิตไข้ก็ตายลงในที่สุด ในขณะที่อิกัวน่าอีก 7 ตัวสามารถผลิตไข้ได้กลับมีชีวิตรอด และเรื่องที่น่าสนใจก็คืออิกัวน่าที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นสำเร็จกลับทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นได้ด้วย [8],[9]
ถ้าเราถอดบทเรียนข้างต้นก็แสดงว่า แม้ว่าร่างกายสิ่งมีชีวิตจะไม่สามารถผลิตความร้อนด้วยตัวเองได้มากพอ แต่การมีสภาพแวดล้อมที่ช่วยเพิ่มความร้อนก็สามารถทดแทนการผลิตไข้ของสิ่งมีชีวิตนั้นได้ !!!!
ความจริงแล้วไม่ใช้สัตว์เลื้อยคลานอย่าง “อิกัวน่า” เท่านั้น ธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิเพื่อป้องกันการติดเชื้อในสัตว์อื่นๆ เช่น ปลา แมลง ก็ต้องอาศัยอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อันได้แก่ การย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่อุ่นขึ้น หรือแม้กระทั่งผึ้งก็ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางกายภาพที่มากขึ้นในการเพิ่มอุณหภูมิของตัวเอง [10] -[17]
ไม่เพียงแต่สัตว์เท่านั้นแม้กระทั่งความพยายามในการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นนั้นยังครอบคลุมไปถึง “ต้นไม้”ด้วย ตัวอย่างเช่น ใบของถั่วแขก (Phaseolus vulgaris)ที่ติดเชื้อราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง [18] [19]
ในขณะที่โลกกำลังแสวงหาความจริงในเรื่องการมีไข้นั้น เป็นเพียง “เสี้ยวเดียว” ของความคืบหน้าในการหาเบาะแสกลไกตามธรรมชาติ ส่วนการทดลองในแต่ละงานวิจัยอยู่ระหว่างการหาคำตอบและทำความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติบำบัดทั้งหมดเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะมนุษย์สมัยก่อนไม่ได้รองานวิจัยแต่เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นในวิธีการรักษาตั้งแต่ในอดีตที่มนุษย์ยังไม่มีกล้องส่องจุลทรรศน์ ยารักษาโรค ยังไม่มีวัคซีน และมนุษย์ก็ยังสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งธรรมชาติบำบัด และตำรับยาจากสมุนไพร
แต่จากบทเรียนข้างต้นทำให้เห็นว่าเบาะแสเรื่องการ “บริหารความร้อน” ในร่างกายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองเรื่องการติดเชื้อที่เรายังไม่มีความชัดเจนหรือมีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือมันได้ แต่เรารู้เพียงว่าโรคนี้ไม่เหมาะกับอุณหภูมิความร้อนที่สูง ไม่ว่าจะมาจากอากาศ สภาพแวดล้อม และรวมถึงการผลิตไข้
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวป่วยโรคหวัด หอบหืด ภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไมเกรน เคยใช้ยาแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดไมเกรน ฯลฯ แทบทุกเดือนไม่เคยเว้นมาเกือบตลอดชีวิต และได้หยุดการใช้ยาเหล่านี้ทั้งหมดมาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว โดยปรับเปลี่ยนมาใช้ธรรมชาติบำบัดและโภชนาการบำบัดโดยไม่ใช้ยาเลย และทำให้การเจ็บป่วยเว้นระยะห่างนานมากและเมื่อเป็นก็สามารถหายป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้
ประการแรก แม้ว่าไข้จะมีประโยชน์และการบริหารระบบภูมิคุ้มกันจะทำให้เราเรียนรู้ในการอยู่กับโรคนั้นได้เป็นปกติโดยไม่เจ็บป่วยอีก แต่เราสามารถบริหารความร้อนเพื่อลดภาระการผลิตไข้ในอุณหภูมิเป้าหมายได้ เช่น การดื่มน้ำร้อนต่อเนื่อง การห่มผ้าหนาๆ และพันผ้าพันคอให้ร้อนจัด เมื่อเหงื่อออกได้ก็จะทำให้ไข้นั้นลดลงโดยไม่ต้องใช้ยาเลย และนี่คือเหตุผลว่าธรรมชาติสอนให้เรารู้สึกหนาวสั่นเพื่อให้ร่างกายแสวงหาความร้อนมาเป็นตัวช่วยมากขึ้น
ประการที่สอง เนื่องจากไวรัสซาร์สซึ่งมีความใกล้เคียงมากที่สุดกับโควิด-19 ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ดังนั้นความจริงแล้วประเทศไทยมีอากาศร้อนขึ้นเป็นลำดับมีสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของไวรัสโควิด-19
แต่การระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องปรับอากาศที่มีอุณหภูมิเย็นกว่านั้น หรือสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นนอกจากจะหลีกเลี่ยงการไปในที่มีผู้คนเยอะหรือเสี่ยงสัมผัสวัตถุที่มีสารคัดหลั่งสัมผัสต่อเนื่องแล้ว ควรงดการนอนในห้องปรับอากาศเพื่อรับอุณหภูมิที่แท้จริงตามฤดูกาล ยกเว้นว่ามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ก็ให้แต่งกายให้อบอุ่นให้มากโดยเฉพาะหน้าอกและคอ รวมถึงอาจต้องใช้ผ้าพันคอร่วมด้วย
ประการที่สาม เนื่องจาก “ผู้สูงวัย” เป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะผู้สูงวัยจะมีธาตุไฟหย่อนไปตามธรรมชาติ ดังมีงานวิจัยพบว่าผู้ที่สูงวัยอุณหภูมิในร่างกายจะเย็นลงตามธรรมชาติ [20] ส่งผลทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องระบบความร้อนร่างกาย เช่น การย่อยอาหาร การเผาผลาญอาหาร หรือการสร้างความร้อน จึงมักพบผู้สูงวัยที่มีปัญหาความเสี่ยงในเรื่องเกี่ยวกับการเผาผลาญร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
นอกจากนั้นผู้สูงวัยจะมีความสามารถในการผลิตไข้ลดลงด้วย ประมาณ 20% - 30% [21] ในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์อายุรเวทอินเดียต่างเห็นพ้องว่าผู้สูงวัยจะมีปัญหาเรื่องระบบการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือระบบธาตุลม
ในการแพทย์แผนไทยและอายุรเวทอินเดีย เห็นว่าผู้สูงวัยมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเป็นการ “ป้องกัน” โรค เช่น พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง ฯลฯ ส่วนเมื่อเป็นไข้แล้วจะมีวิธีการบริหารจัดการอีกวิธีหนึ่ง นอกจากนั้นในปัจจุบันยังสามารถใช้น้ำมันมะพร้าว หรือกรดไขมันโมเลกุลสายปานกลางที่จะมาช่วยเสริมสร้างระบบความร้อนได้ นอกจากนั้นยังสามารถออกกำลังกาย และอาบแดดเพิ่มอุณหภูมิร่างกายได้เช่นกัน รวมถึงการอบตัวเพิ่มความร้อน แต่ทั้งหมดนี้สามารถทำได้เพื่อเป็นการป้องกันในยังที่ไม่ได้เป็นไข้
ประการที่สี่ งดดื่มน้ำเย็น และขนมหวานหรือแป้งขัดขาว เพื่อหลีกเลี่ยงการกดระบบภูมิคุ้มกันจากความเย็นและอาหาร
ประการที่ห้า เมื่อมีไข้ การอดอาหารระหว่างการมีไข้ จะทำให้ร่างกายลดภาระในการใช้พลังงานในการย่อยอาหารลง เมื่อมาพร้อมกับดื่มน้ำร้อน ซึ่งจะเป็นผลทำให้มีความสามารถใช้พลังงานในร่างกายเพื่อเยียวยาตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งความจริงแล้วธรรมชาติได้ทำให้ผู้ป่วยปากขมและรับประทานอาหารไม่ลงอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจจะต้องทำความเข้าใจในกลไกธรรมชาติบำบัดมากขึ้น
การบริหารไข้ทั้งห้าประการข้างต้นควรกำหนดในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 วันจะต้องมีอาการที่ดีขึ้น และหากเป็นผู้สูงวัยก็ยิ่งมีความสามารถในการดำเนินวิธีการข้างต้นได้ยากขึ้น หากไม่ประสบความสำเร็จจำเป็นจะต้องอาศัยสมุนไพรอื่นร่วมด้วย และควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องการบริหารระบบภูมิคุ้มกันด้วยระบบความร้อนเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆที่ต้องมีการบริหารจัดการไปพร้อมๆกันด้วย เช่น เครื่องดื่มผัก ผลไม้ และสมุนไพร ตำรับยา อาหารที่ควรรับประทาน การขับถ่าย การจัดการเรื่องเสมหะ ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] K.H Chan, et al., The Effects of Temperature and Relative Humidity on the Viability of the SARS Coronavirus, Advance in Virology,Volume 2011 |Article ID 734690 | 7 pages | https://doi.org/10.1155/2011/734690
[2] Ryan M, Levy MM. Clinical review: fever in intensive care unit patients. Crit Care 2003;7:221-5. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
[3] Mackowiak PA, Ruderman AE, Martin RM, et al. Effects of physiologic variations in temperature on the rate of antibiotic-induced bacterial killing. Am J Clin Pathol 1981;76:57-62. [PubMed] [Google Scholar]
[4] Sharon S. Evans, et al., Fever and thermal regulation of immunity:the immune system feels the heat., Nat Rev Immunol. 2015 Jun; 15(6): 335-349, Published online 2015 May 15, doi:10.1038/nri3843
[5] Schulman CI, Namias N, Doherty J, et al. The effect of antipyretic therapy upon outcomes in critically ill patients: a randomized, prospective study. Surg Infect (Larchmt) 2005;6:369-75. [PubMed] [Google Scholar]
[6] Gozzoli V, Schöttker P, Suter PM, et al. Is it worth treating fever in intensive care unit patients? Preliminary results from a randomized trial of the effect of external cooling. Arch Intern Med 2001;161:121-3. [PubMed] [Google Scholar]
[7] Young P, Saxena M, Bellomo R, et al. Acetaminophen for Fever in Critically Ill Patients with Suspected Infection. N Engl J Med 2015;373:2215-24. [PubMed] [Google Scholar]
[8] Kluger MJ, Ringler DH, Anver MR. Fever and survival. Science 1975;188:166-8. [PubMed] [Google Scholar]
[9] Function of Fever. Available online: http://www.pbs.org/wgbh/evolution/library/10/4/l_104_04.html. Accessed December 1, 2015.
[10] Kluger MJ. Phylogen of fever. Fed Proc. 1979;38:30-34 [PubMed] [Google Scholar]
[11] Bernheim HA, Kluger MJ. Fever: effect of drug-induced antipyresis on survival. Science. 1976; 193:237-239 [Pubmed] [Google Scholar]
[12] Vaughn LK, et al., Fever in the Lizard Dipsosaurus dorsalis. Nature. 1974;252:473-474 [Pubmed] [Google Scholar]
[13] Covert JB, et al., Survival value of fever in fish. Nature. 1977;267:43-45 [Pubmed] [Google Scholar]
[14] Reynolds WW, et al., Behavioural fever in teleost fishes. Nature. 1976;259:41-42. [Pubmed] [Google Scholar]
[15] Simone-Finstrom M, et al., Impact of Food Availability, Pathogen Exposure, and Genetic Diversity on Thermoregulation in Honey Bees (Apis melifera) Journal of Insect Behavior. 2014; 27:527-539 [Google Scholar]
[16] Blanford S, et al., Adult survival, maturation, and reproduction of the desert locus Schistocerca gregaria infected with the fungus Metarizium anisopliae var acridum. J Invertebr Pathol. 2001;78:1-8 [Pubmed] [Google Scholar]
[17] Mackowiak PA. Fever: blessing or curse? A unifying hypothesis. Ann Intern Med. 1994;120:1037-1040. [Pubmed] [Google Scholar]
[18] Yarwood CE. Heat of Respiration of Injured and Disease Leaves. Phytopathology. 1953; 43:675-681 [Google Scholar]
[19] Zhu Y, et al., Regulation of thermogenesis in plants: the interaction of alternative oxidase and plant uncoupling mitochondrial protein. J Integr Plant Biol. 2011;53:7-13 [Pubmed] [Google Scholar]
[20] Güneş UY1, Zaybak A., Does the body temperature change in older people?J Clin Nurs. 2008 Sep;17(17):2284-7. doi: 10.1111/j.1365-2702.2007.02272.x.
[21] D C Norman, T T Yoshikawa, Fever in the Elderly, Review
Infect Dis Clin North Am, 10 (1), 93-9 Mar 1996, PMID: 8698997 DOI: 10.1016/s0891-5520(05)70288-9