ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
สิ่งหนึ่งที่คาใจผมอยู่ตลอดคือทำไม อินเดีย ถึงมีจำนวนผู้ป่วย Covid19 น้อยมากทั้งที่จำนวนประชากรก็เยอะไม่แพ้จีน แถมการดูแลสุขภาพหรือสุขอนามัยก็ไม่น่าจะดีไปกว่าประเทศไทย (ส่วนตัวแล้วคิดว่าไทยน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำ) สมมุติตัวเลขที่แสดงไม่หมก เป็นตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริง (ซึ่งตรงนี้นักวิชาการหลายคนก็ยังกังขาว่าที่ตัวเลขไม่ขึ้นก็เพราะ test kit ไม่พอหรือแค่ไม่ไปตรวจเท่านั้นเอง) แสดงว่ามันต้องมีความลับอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ที่อินเดียและหากเราสามารถไขปริศนานี้ได้ ประเทศทั่วโลกก็สามารถนำ Best Practices นี้ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศตัวเองได้เช่นกัน
เริ่มจากตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนอินเดียมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 231 รายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละต่อจำนวนประชากรซึ่งมีอยู่ราวๆ 1,380,004,385 คนเท่ากับว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 0.000017% ต่ำกว่าไทยซึ่งมีผู้ติดเชื้อคิดเป็นร้อยละต่อประชากรที่ 0.00052% เกือบ 31 เท่า ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน [1] และจำนวนผู้ติดเชื้อแค่หลักร้อยต้นๆ ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากว่าเหตุใดจึงสามารถจัดการได้อย่างดี? ผมลองศึกษาปัจจัยที่เอื้อต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น หรือในทางกลับกันป้องกันทำให้ติดเชื้อได้ยากขึ้น หลังจากนั้นค่อยมาวิเคราะห์หา สาเหตุถึงความเป็นไปได้ดังนี้ครับ
1. อินเดียคือ บิดา/มารดาแห่งการ Social Distancing
คงเป็นที่ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมการยกมือไหว้ของเรามาจากอินเดีย การที่ไม่ได้จับไม้จับมือกันโดยตรงย่อมเป็นการลดทอนการสัมผัสกับเชื้อโรคลงไปได้มาก นอกจากนี้อินเดียยังมีเรื่อง "วรรณะ" ที่ยังคงฝังรากลึกในสังคมมานานนับพันปีจนถึงปัจจุบัน คนต่างวรรณะกันจะไม่สุงสิงกัน เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื่อลงไปได้ระดับหนึ่ง
2. อินเดียมีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่ต่ำมาก
จากรายงานของ WHO ในปี 2010 พบว่าปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของคนอินเดียค่อนข้างต่ำ ตกอยู่ที่คนละ 4.3 ลิตรต่อปีจัดเป็นอันดับที่ 119 ของโลกในขณะที่ไทยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์ตกคนละ 7.1 ลิตรต่อปีจัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก [2] ส่วนประเทศที่มีรายชื่อกลุ่มเสี่ยงต่อวิกฤต Covid เช่น ฝรั่งเศส (18) สเปน (17) เยอรมัน (16) อิตาลี (31) อังกฤษ (6) ต่างติดอันดับการบริโภคแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งนี้ไม่รวมอิหร่านที่แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก แต่อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ต่ำมากอยู่ที่ 1.0 ลิตรต่อปีเท่านั้นเป็นอันดับที่ 168 ของโลก แน่นอนการดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวที่เอื้อให้ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่อย่างน้อยมันน่าจะมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง เลยลองไปค้นดูพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก (ไม่นับรวมพวกที่ดื่มแต่พอประมาณ) อาจส่งผลเชิงลบต่อระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยเฉพาะการทำลาย Macrophage ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นป้อมปราการด่านแรกที่จัดการกับเชื้อจุลินทรีย์แปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย [3-4] ดังนั้นชนชาติที่ไม่นิยมดื่มแอลกฮฮอล์อย่างอินเดีย ย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำกว่าชนชาติที่ชื่นชอบการดื่มอย่างหนักหน่วง
3. วิตามิน D กับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า วิตามิน D มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำงาน [5-6] ดังนั้นประเทศที่คนในชาติไม่ขาดวิตามิน D ก็ควรจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าชาติที่คนในประเทศรับประทานอาหารที่มีวิตามิน D ไม่เพียงพอ เลยลองไปค้นข้อมูลต่อในรายงานของ WHO พบสิ่งที่น่าสนใจคือ คนอินเดียส่วนใหญ่ขาดวิตามิน D!! ประเทศที่มีวิตามิน D เพียงพอหรือสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานส่วนใหญ่คือประเทศที่มีปัญหา Covid ระบาดหนักด้วยกันทั้งสิ้นเช่น กลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา [7]
งงในงง จริง ๆ แล้ววิตามิน D น่าจะมีส่วนช่วยเสริมหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นชาติที่ได้รับปริมาณวิตามิน D มากพอก็ควรมีภูมิคุ้มกันที่สู้กับ COVID ได้แต่ปัญหาของ COVID คือคนที่แข็งแรงอย่างนักกีฬาก็อาจป่วยได้ เช่นกันกับคนแก่ที่มีการพัฒนาภูมิคุ้มกันมามากพอสมควร กลับกลายเป็นว่าเชื้อ COVID ไปกระตุ้นร่างกายให้เกิด Cytokine Storm หรือพายุไซโตไคน์ซึ่งคือภาวะความผิดปกติของภูมิคุ้มกันที่มีการผลิตสารสารไซโตไคน์ สารแอนตี้บอดี้ และสารภูมิคุ้มกันออกมามากจนเกินไปเพื่อมาสู้กับเชื้อไวรัส แต่ผลค้างเคียงที่ตามมาคือ มันกลายเป็นดาบสองคม นอกจากไปฆ่าไวรัสแล้วมันก็ฆ่าเซลล์ที่ดีในร่างกายด้วยกลายเป็นว่า ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพุ่มพวงหรือโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ได้ง่ายกว่าเด็กซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด หนึ่งในเหตุผลที่มีความเป็นไปได้สูงคือ ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ในขณะที่ผู้สูงอายุ1ซึ่งมักมีโรคประจำตัวอื่นอยู่แล้ว ที่สำคัญอวัยวะภายในหลายอย่างของผู้สูงอายุมันเสื่อมโทรมไปมาก เปรียบเสมือนกับอะไหล่รถยนต์ที่วิ่งมานาน ย่อมง่ายที่จะพังหรือถูกโจมตีโดยเชื้อไวรัส ในขณะที่เด็กอะไหล่ยังใหม่และสด สามารถทนต่อ พายุไซโตไคน์ ได้ง่ายกว่า สรุปประเด็นวิตามิน D กับการติดเชื้อ Covid ตรงนี้ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอเนื่องจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ส่วนใหญ่มักหยิบยกตัวอย่างการศึกษาในจีนเป็นหลักและจำนวนยังน้อยมาก คงต้องรออีกสักพักถึงจะมีความชัดเจน
4. การคัดสรรตามธรรมชาติ (Natural Selection)
แน่นอนหากพูดถึงระบบการจัดการสุขาภิบาลที่แย่ติดอันดับต้นๆของโลก ผมเชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงอินเดีย ไม่รวมเรื่องของค่าฝุ่น PM2.5 ที่หลายเมืองในอินเดียได้ติด Top 10 ของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพของซากศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำคงคาซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ดื่มใช้ล้างตัวอยู่เป็นประจำ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าหรือเป็นเพราะพวกเขาต้องเผชิญกับเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว มานานนับพันปี พันธุกรรมของคนที่อ่อนแอต่อโรคร้ายเหล่านี้ก็ต้องล้มหายตายจากไม่อาจสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ คงเหลือแต่ยีนส์ของกลุ่มคนที่มีความอึดและทนต่อโรคร้ายเหล่านี้เท่านั้นที่อยู่รอด แน่นอนอาจมีความลับทางด้านรหัสพันธุกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาทนต่อเชื้อ Covid ด้วยก็เป็นได้ เรื่องนี้คงต่อรออีกสักระยะให้นักวิจัยมาช่วยไขปริศนากันต่อ
5. หรือจะเป็นเพราะความพิเศษของอาหารอินเดีย?
เป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องเทศที่สำคัญและใช้บ่อยในอาหารอินเดียมีพริกขี้หนู เมล็ดมัสตาร์ดสีดำ (rai) ยี่หร่า (jeera) ขมิ้นชัน (haldi, manjal) เมล็ดฟีนูกรีก (methi) ขิง (adrak, inji) ผักชี (dhania) และกระเทียม (lehsun, poondu) ซึ่งเครื่องเทศเหล่านี้ใช้น้อยมากในอาหารตะวันตก มีงานวิจัยหลายชิ้นพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าการทานอาหารอินเดียอย่างสม่ำเสมอส่งผลดีต่อสุขภาพ [8-10] พูดง่ายๆคือมันเป็นภูมิปัญญาของชาวอินเดียที่บริโภคอาหารเป็นยา แทนการกินยาเป็นอาหารมานานนับพันปี
6. การทำสมาธิและออกกำลังกาย
เป็นที่ทราบกันดีกว่าการทำสมาธิและออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม (ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป) มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและนั้นก็คือการฝึกโยคะ มีงานวิจัยหลายชิ้นได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความถี่ในการฝึกโยคะและความแข็งแกร่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย [11-12] เป็นไปได้หรือไม่ว่าการฝึก โยคะ อย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยในการต้านเชื้อไวรัสCOVID? อันนี้เป็นเพียงแค่สมมุติฐานนะครับ ต้องรอผลงานวิจัยมายืนยันซึ่งก็คงอีกหลายปี
7. คนอินเดียสูบบุหรี่น้อยมาก
จากการสำรวจปี 2016 โดย Tobacco Atlas พบว่าชาวอินเดียสูบบุหรี่เทียบต่อสัดส่วนจำนวนประชากรแล้วอยู่อันดับที่ 177 จากการสำรวจทั้งหมด 182 ประเทศ!! [13] เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ส่งผลร้ายต่อระบบภูมิคุ้มกันมากเนื่องจากในควันบุหรี่มีทั้งสารก่อมะเร็ง โลหะหนักรวมทั้งสารอนุมูลอิสสระอีกหลายชนิด [14-16] ดังนั้นชนชาติใดที่สูบบุหรี่น้อยปอดน่าจะแข็งแรงทนต่อการถูกโจมตีโดยเชื้อไวรัสได้มากกว่าคนที่ปอดอ่อนแอเนื่องจากสูบบุหรี่เป็นประจำ
8. คนอินเดียส่วนใหญ่ทานมังสวิรัติและไม่ทานเนื้อสัตว์ใหญ่เช่นวัว
โคหรือวัวสำหรับชาวฮินดูจึงถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูจึงไม่ฆ่าโคและกินเนื้อวัว ต่างจากชาวตะวันตกซึ่งทานเนื้อสัตว์เป็นหลัก จีน เกาหลี ญี่ปุ่นที่มีการแพร่ระบาดเยอะ สัดส่วนของการเป็นมังสวิรัติน้อยกว่าอินเดีย ที่น่าสนใจคือสัดส่วนการเป็นมังสวิรัติของอินเดียเยอะที่สุดในโลกคือ 38% ตามมาด้วยอิสราเอล (13%) และไต้หวัน (12%) [17] เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทานมังสวิรัติส่งผลดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามกลไกรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างการไม่ทานเนื้อสัตว์และความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อ COVID ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่ผมขอหยิบประเด็นนี้เป็น Research Question สำหรับนักวิจัยท่านอื่นต่อไป
9. ไวรัสส่วนใหญ่ไม่ชอบอุณหภูมิสูง
COVID-19 ก็เช่นเดียวกัน มีงานวิจัยพบว่าเชื้อ COVID จะมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวที่อุณหภูมิ 4 องศาได้นานถึง 28 วันและมีแนวโน้มที่จะตายหากอุณหภูมิสูงขึ้น [18] เป็นที่ทราบกันดีว่าอุณหภูมิอากาศที่อินเดียน่าจะสูงกว่าประเทศที่มีการระบาดอย่างหนักเช่น จีน อิหร่าน อิตาลี ดังนั้นอุณหภูมิคือปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตัวนี้
10. ปริมาณแสง UV ที่มากของอินเดีย
น่าจะมีส่วนอย่างมากต่อการช่วยฆ่าเชื้อโรคหลายชนิดรวมทั้ง COVID เนื่องจากเชื้อตัวนี้เกิดขึ้นมาจากการกลายพันธุ์องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมันจึงมีน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ยากต่อการปฏิเสธคือ แสง UV มีผลอย่างมากต่อการช่วยทำลายเชื้อ COVID ดังนั้นการตากแดดอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตวิตามิน D เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมทั้งการเปิดโอกาสให้แสง UV ทะลุทะลวงไปถึงปอด ย่อมช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อได้ในระดับหนึ่ง
สรุปความเป็นไปได้ที่คนอินเดียติดเชื้อ COVID น้อยกว่าชนชาติอื่นทั้งที่ควรจะมีจำนวนมาก ภายใต้สมมุติฐานว่าตัวเลขที่ได้รับมาถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริง (ซึ่งอาจไม่ใช่) เป็นเพราะ คนอินเดียที่มีชีวิตเหลือรอดในปัจจุบันมีรหัสพันธุกรรมที่ทนต่อการระบาดของโรคนี้ได้ดีเป็นพิเศษประกอบกับมีการทานอาหารอินเดีย (มังสวิรัติ) ที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศที่ช่วยต้านเชื้อไวรัสได้ในระดับหนึ่งอีกทั้ง มีพฤติกรรมที่ไม่ทานเหล้าไม่สูบบุหรี่ ฝึกโยคะเป็นประจำทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ภูมิอากาศของอินเดียร้อนและมีค่า UV สูงช่วยลดการแพร่กระจายชองเชื้อโรคอีกทั้งในวัฒนธรรมก็มี Social Distancing อยู่แล้วเช่นคนต่างวรรณะก็จะไม่คบค้าไปมาหาสู่กัน เจอกันก็ยกมือไหว้ไม่จับมือ ไม่กอดจูบกันเหมือนฝรั่งทำให้โอกาสแพร่เชื้อลดน้อยลง
อ้างอิง
1. https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/
2. "WHO Global status report on alcohol and health 2014" (PDF). who.int. Archived (PDF) from the original on 2018-02-14.
3. Barr, T., Helms, C., Grant, K., & Messaoudi, I. (2016). Opposing effects of alcohol on the immune system. Progress in Neuro-Psychopharmacology and Biological Psychiatry, 65, 242-251.
4. Romeo, J., Wärnberg, J., Nova, E., Díaz, L. E., Gómez-Martinez, S., & Marcos, A. (2007). Moderate alcohol consumption and the immune system: a review. British Journal of Nutrition, 98(S1), S111-S115.
5. Baeke, F., Takiishi, T., Korf, H., Gysemans, C., & Mathieu, C. (2010). Vitamin D: modulator of the immune system. Current opinion in pharmacology, 10(4), 482-496.
6. Aranow, C. (2011). Vitamin D and the immune system. Journal of investigative medicine, 59(6), 881-886.
7. http://www.jarlife.net/703-the-global-epidemiology-of-vitamin-d-status.html
8. Iyer, A., Panchal, S., Poudyal, H., & Brown, L. (2009). Potential health benefits of Indian spices in the symptoms of the metabolic syndrome: a review.
9. Kumar, K. S., Umadevi, M., Bhowmik, D., Singh, D. M., & Dutta, A. S. (2012). Recent trends in medicinal uses and health benefits of Indian traditional herbs Aegle marmelos. The Pharma Innovation, 1(4).
10. Bhowmik, D., Kumar, K. S., Yadav, A., Srivastava, S., Paswan, S., & Dutta, A. S. (2012). Recent trends in Indian traditional herbs Syzygium aromaticum and its health benefits. Journal of Pharmacognosy and Phytochemistry, 1(1), 13-23.
11. Falkenberg, R. I., Eising, C., & Peters, M. L. (2018). Yoga and immune system functioning: a systematic review of randomized controlled trials. Journal of behavioral medicine, 41(4), 467-482.
12. Diamond, L. (2012). The benefits of yoga in improving health. Primary Health Care, 22(2).
13. Consumption | Tobacco Atlas". Tobacco Atlas. Retrieved 27 April 2018.
14. Stämpfli, M. R., & Anderson, G. P. (2009). How cigarette smoke skews immune responses to promote infection, lung disease and cancer. Nature Reviews Immunology, 9(5), 377-384.
15. Domagala-Kulawik, J. (2008). Effects of cigarette smoke on the lung and systemic immunity. J Physiol Pharmacol, 59(Suppl 6), 19-34.
16. Stämpfli, M. R., & Anderson, G. P. (2009). How cigarette smoke skews immune responses to promote infection, lung disease and cancer. Nature Reviews Immunology, 9(5), 377-384.
17. https://www.worldatlas.com/articles/countries-with-the-highest-rates-of-vegetarianism.html
18. Casanova, L. M., Jeon, S., Rutala, W. A., Weber, D. J., & Sobsey, M. D. (2010). Effects of air temperature and relative humidity on coronavirus survival on surfaces. Appl. Environ. Microbiol., 76(9), 2712-2717.