xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือรับมือโควิด-19 ในแนวทางธรรมชาติบำบัด/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"



โรคไวรัสโควิด-19 จะต้องมีการสร้าง “ความตระหนัก” ให้กับประชาชน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้เกิดความ “ตระหนก” ด้วยในเวลาเดียวกัน


เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าประชาชนจำนวนมากมีความ “ตื่นตระหนก” เกินเส้นไปกว่าความ “ตระหนัก” ก็ด้วยเพราะข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียที่มีการแพร่กระจายด้วยความหลากหลายและสับสน โดยเฉพาะอย่างย่ิงเมื่อนโยบาย “ที่ผ่านมา” ของรัฐบาลที่ไม่เพียงสร้างความสับสน เตะตัดขา เลื่อยขาเก้าอี้ และเสียบแทงข้างหลังขัดแย้งกันเองเท่านั้น แต่ยังปรากฏเป็นข่าวทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของเครือข่ายนักการเมืองบางคนบนความทุกข์ยากของประชาชน ก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดลงไปด้วยเช่นกัน


แต่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้รัฐบาลมีพัฒนาการด้วยออกมาตรการที่คัดกรองบุคคลที่จะเดินทางเข้ามในประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม “เข้มงวดขึ้น” โดยเฉพาะต่อชาวต่างประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น การยกเลิกฟรีวีซ่า ชั่วคราว 3 ประเทศ คือ อิตาลี เกาหลีใต้ และฮ่องกง และยกเลิกการขอวีซ่าหน้าด่านคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival (VOA) 18 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีใบรับรองแพทย์ล่าสุดไม่เกิน 3 วันว่ามีสุขภาพแข็งแรง โดย 4 ประเทศที่มีการระบาดหนัก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน เมื่อผ่านเข้าเข้ามในประเทศไทย จะต้องถูกกักตัวไว้ที่โรงแรม โนโวเทล สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นเวลา 14 วันและหากไม่ยินยอมจะต้องถูกส่งตัวกลับโดยทันที และสำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงก็จะมีการตรวจที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมก็จะจัดรถรับส่งตั้งแต่สนามบินจนถึงที่พักของตนเองโดยไม่มีการแวะกลางทาง โดยมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละจังหวัดเพื่อติดตามดูแลต่ออย่างต่อเนื่อง หากไม่ยอมกักตัว หรือไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการถูกลงโทษตามกฎหมาย ฯลฯ



นี่คือมาตรการของรัฐบาลที่เป็น “รูปธรรม” กว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อรับมือ “โรคซึ่งมาจากต่างประเทศ”


เพราะอย่างน้อยที่สุดหากมีผู้ป่วยโควิด 19 หลุดเข้ามาในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเศษที่ผ่านมา เราก็จะต้องไม่เพิ่มผู้ป่วยมากขึ้นไปมากกว่านี้


เพราะแม้จะเป็นความจริงอยู่ที่ว่าโรคนี้มี “อัตราการเสียชีวิตน้อย” แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการที่โรคนี้ไม่รุนแรงและอัตราการเสียชีวิตน้อย จึงย่อมทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการระบาดง่ายขึ้น เพราะหลายคนอาจจะไม่ไปตรวจและรักษาและถูกกักตัวที่โรงพยาบาล และหากเกิดการระบาดขยายวงไปในวงกว้าง แม้อัตราการเสียชีวิตที่น้อยแต่เมื่ออยู่บนการคำนวณบนฐานของ “ผู้ป่วยจำนวนมาก” ก็ย่อมจะส่งผลทำให้มี “จำนวนผู้เสียชีวิต”มากขึ้นได้เช่นกัน


ดังนั้นเมื่อชาวต่างชาติทั่วโลกมีความตื่นตระหนกพร้อมๆกันว่าโรคนี้มีการระบาดหนักเป็นภัยต่อชาติแล้ว แล้วประเทศไทยมีการ เตรียมตัวรับมือที่ไม่ดี ต่อให้ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวมากเพียงใด ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับการส่งเสริมจากประเทศอื่นๆให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศก็จะประสบความยุ่งยากในการเดินทางกลับเข้าประเทศตัวเองอีกครั้งเช่นเดียวกัน ดังนั้นการปกปิดความจริง หรือการหย่อนยาน ผ่อนผันในนโยบายหรือการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ในระยะสั้นจะสร้างวิกฤตเศรษฐกิจและตัวโรคได้ในระยะยาวต่อประเทศไทยได้อย่างแน่นอน


การตัดสินใจในภาวะวิกฤตนั้นต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ในอดีตในยามสงครามพระมหากษัตริย์สยามก็ต้องออกทัพจับศึกเดิมพันชีวิตด้วยตัวเอง ในภาวะที่สยามถูกล่าอาณานิคมก็ต้องยอมสูญเสียแผ่นดินเพื่อรักษาเอกราช แม้บางครั้งยังต้องมีการเจรจายอมแลกแผ่นดินเพื่อให้คนไทยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อไป แม้แต่ในโรคที่มีความร้ายแรง มนุษย์คนเราก็ต้องยอมเสียอวัยวะบางอย่างเพื่อแลกกับชีวิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นในภาวะวิกฤตการตัดสินใจให้ทันเวลาคือหนทางในการบรรเทาความเสียหายให้น้อยที่สุด


ในเรื่องของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าระบาดไปถึงประเทศไหนชและจำนวนเท่าไหร่เท่านั้น แต่ปัญหาสำคัญที่มากว่านั้นคือ “ความเชื่อมั่น” ว่าข้อมูมีความถูกต้องและมาตรการในการรับมือนั้นมีความน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีทั้งสองประการครบถ้วนแล้ว หากโรคนี้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นไม่มีการติดต่อเพิ่มเติม นั่นหมายถึงประเทศนั้นสามารถควบคุมโรคได้แล้ว


ดังนั้นประเทศใดสามารถใช้มาตรการที่เข้มแข็งและสามารถควบคุมโรคได้ดีที่สุด ประเทศนั้นจะสามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ แต่หากประเทศใดยังคงปรากฏผู้ป่วยโรคโควิด - 19 ถูกตรวจจับได้จำนวนมากอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศเป็นระยะๆ ต่อให้โฆษณาว่าปฏิบัติดีหรือไม่มีผู้ติดเชื้อแล้วก็คงไม่มีนานาประเทศไหนเชื่ออยู่ดี


ประเทศใดสามารถ “ยุติความยืดเยื้อของการระบาด” ได้ก่อนย่อมจะมีโอกาสดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้มากที่สุด และต้นทุนที่ต้องแลกมาคือ “มาตรการที่ชัดเจนสุด” และเป็นรูปธรรมในการรับมือ


โดยในขณะนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโรคนี้สามารถมือกับการระบาดโรคครั้งนี้ได้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก และทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามในโรคระบาดหรืออาวุธชีวภาพได้มากกว่าอีกหลายประเทศ โดยในขณะที่เขียนบทความนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังลดจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังระบาดอย่างหนัก [1][2]



โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น ประชากรในเมืองหนาวอาจไม่นิยมซักเสื้อผ้าที่สวมคลุมเป็นประจำ วัฒนธรรมการจูบ จับมือ การกอด ไม่ค่อยอาบน้ำ หรือซักเสื้อผ้าทุกวัน ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงในเรื่อง “วิถีชีวิตและพฤติกรรม” ที่อาจจะมากกว่าชาวเอเชีย แม้ว่าสภาพร่างกายและเนื้อเยื่อปอดของชาวเอเชียอาจจะติดเชื้อได้มากกว่าก็ตาม

ปัจจัยหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างความหวังของคนในประเทศก็คือ การที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิอากาศที่อุ่นกว่าประเทศระบาดโควิด -19 อย่างหนัก ในขณะเดียวกันก็ยังมีความชื้นสัมพัทธ์มากกว่าอีกหลายประเทศที่กำลังระบาดหนัก ซึ่งทั้งอุณหภูมิความร้อนของอากาศสูง และความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงเป็นสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของไข้หวัดกลุ่มโคโรนานี้


จาการสำรวจงานวิจัยที่กำลับรอการพิมพ์เผยแพร่ชิ้นหนึ่งของโรคไวรัส โควิด -19 ระหว่างวันที่ 10 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 429 เมือง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ยืนยันในขณะนั้น 24,232 คน พบอุณหภูมิเฉลี่ยต่อวันที่โควิด-19 ระบาดหนักที่สุดคือ 8.72 องศาเซลเซียส และการระบาดจะลดลงเมื่ออุณหภูมิต่ำสุดต่อวันอุ่นขึ้น [3]


การที่ประเทศไทยอุ่นกว่าอีกหลายประเทศ (ยกเว้นภาคเหนือที่อาจจะเย็นกว่าภาคอื่น) ย่อมทำให้เห็นว่าโควิด -19 ระบาดได้ยากกว่า โดยเฉพาะเมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนมากขึ้น อากาศที่อุ่นกว่าย่อมทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไวรัสโควิด-19 ลดลง


งานวิจัยที่อยู่ระหว่างการรอการตีพิมพ์ครั้งนี้เป็นการยืนยันเช่นเดียวกับโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว (ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับโควิด-19 มากที่สุด)ทั้งในมิติของระบาดวิทยา [3] [4] และในหลอดทดลองพบว่าอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงขึ้น (ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของภูมิอากาศในประเทศไทย) เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการระบาดไวรัสซาร์ส [5]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ของไวรัสโคโรนาที่เกาะฮ่องกงนั้น มีกราฟที่มาจากงานวิจัยแดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลต่อการแพร่ระบาดไวรัสชนิดนี้น้อยลง [4]

โดยเมื่อถอดบทเรียนจากการรายงานโรคซาร์สเดือนธันวาคม 2546 ซึ่งได้มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคซาร์ส ทั้งสิ้น 8,096 คน เป็นผู้ป่วยในสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งสิ้น 5,327 คน, ฮ่องกง 1,755 คน ส่วนประเทศไทยในครั้งนั้นมีผู้ป่วยประมาณ 9 คน และเป็นกรณีที่มาจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้ง 9 คน ความน่าสนใจในเวลานั้นก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนติดเชื้อครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และสิ้นสุดการติดเชื้อคนสุดท้ายในเดือนมิถุนายน 2546 ในขณะที่ฮ่องกงพบการติดเชื้อครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และสิ้นสุดการรายงานผู้ป่วยรายสุดท้ายคือเดือน มิถุนายน 2546 ส่วนประเทศไทยในครั้งนั้นพบการติดเชื้อครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2546 และสิ้นสุดการรายงงานผู้ป่วยรายสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2546 ก็ยิ่งชัดเจนว่าโรคไวรัสของซาร์สนี้ได้จากไปเมื่อโลกอุ่นขึ้นในฤดูร้อน [5]


แต่ปัญหาของโรคไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ต่างจากโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว คือรุนแรงน้อยกว่าและอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าจึงทำให้ระบาดมากกว่า และมากกว่าจนไปถึงขั้นลุกลามไปถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา กลายเป็นการระบาดระดับโลก นั่นหมายความว่าหากประเทศไทยมีการคัดกรอง ติดตามผล หรือควบคุมไม่ดี รายงานการระบาดคนสุดท้ายในครั้งนี้อาจจะยาวไปนานกว่าเดือนพฤษภาคม 2563 [5]

ทั้งนี้ สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 พบว่าอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 54%

และต้องไม่ลืมว่าแม้สภาวะอากาศภายนอกอาคารมีความอุ่นและชื้นกว่าหลายประเทศ คนไทยจำนวนมากอยู่ในห้องหรืออาคารที่มีเครื่องปรับอากาศที่เย็นกว่าอุณหภูมิภายนอก จึงยังคงทำให้มีความเสี่ยงการระบาดภายในอาคารอยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ จากการทดลองในห้องทดลองพบว่า ไวรัสของโรคซาร์ส (เพื่อเทียบเคียงกับโควิด-19) สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 5 วัน บนผิวเรียบที่มีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่ 22-25 องศาเซลเซียส (ส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศ) ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 40-50% ในขณะที่อุณหภูมิเมื่อขึ้นถึง 38 องศาเซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 95% ไวรัสของโรคซาร์สจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ [5]




แต่มีคนจำนวนหนึ่งอาจจะมีข้อโต้แย้งว่าประเทศอิหร่านอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จึงเข้าใจว่า “น่าจะ” มีอุณหภูมิอากาศร้อนกว่าประเทศไทยเหตุใดจึงมีการระบาดมาก เรื่องดังกล่าวนี้เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อิหร่านเย็นกว่าไทย กล่าวคือที่กรุงเตหะราน มีอุณหภูมิต่ำสุดระหว่าง - 7 องศาเซลเซียส ถึง 11 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิสูงสุดระหว่าง 1 องศาเซลเซียส ถึง 19 องศาเซลเซียส ซึ่งความจริงแล้วอิหร่านนั้นมีอุณหภูมิอากาศเย็นกว่าไทยตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว มนุษย์จะมีกลไกในการผลิตไข้ใน “อุณหภูมิเป้าหมาย” เพื่อเอาชนะการติดเชื้อให้ได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเป็นไข้เป็นประโยชน์ในการรักษาตัวตามธรรมชาติ แต่การเป็นไข้ทำให้ไม่สบายตัว หรือมีความเสี่ยง “อุณหภูมิเป้าหมายสูงเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้” คนส่วนใหญ่จึงมักกินยาลดไข้แม้มีไข้เพียงเล็กน้อยแล้วไปหวังผลในเรื่องยาฆ่าเชื้อแทน จึงไม่ได้มีโอกาสใช้ระบบภูมิคุ้มกันเยียวยาตัวเอง

ดังนั้นเมื่อเรารู้กลไกดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สามารถจะดูแล “ป้องกัน” ตัวเองได้แบบธรรมชาติบำบัดในช่วงนี้ (นอกจากการปฏิบัติตัวพื้นฐาน สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงไปในที่มีผู้คนมากๆ เมื่อป่วยต้องกักบริเวณตัวเอง ฯลฯ) คือพยายามงดน้ำเย็น และดื่มน้ำอุ่นค่อนข้างร้อนเพื่อเป็นตัวช่วยทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนจากสภาวะแวดล้อมภายนอกแทนภาระการผลิตไข้ของร่างกายให้ลดลง รวมถึงการสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นอย่างเพียงพอ และงดอาหารที่กดระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงโดยเฉพาะเครื่องดื่มใส่น้ำตาล ข้าวขัดขาว หรือของหวาน โดยเฉพาะคนที่มีสภาพอุณหภูมิในร่างกายเย็น (โดยเฉพาะผู้สูงวัย) ด้วยแล้วอาจจะต้องพันผ้าพันคอในเวลากลางคืนด้วย

และหมายความว่าสถานที่ต่างๆทั้งราชการและเอกชน สามารถทำความสะอาดนอกจากด้วยแอลกอฮอล์หรือยาฆ่าเชื้อแล้ว สำหรับคนที่ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือหาซื้อสินค้ายาก สามารถใช้น้ำร้อนผสมสบู่ชุบผ้าแล้วทำความสะอาดร่วมด้วยได้ ทั้งในวัสดุใดที่มีการสัมผัสจากผู้คนต่อเนื่อง เช่น ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟท์ ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู ฯลฯ

และรัฐบาลก็ควรส่งสัญญาณในการให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันความสะอาดในจุดที่มีความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญของหน้ากากอนามัยให้ได้อย่างเพียงพอให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน และส่งสัญญาณให้ประชาชนให้ชัดเจนว่าประชาชนควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร การปฏิบัติตัวอย่างไรถูกต้อง และการปฏิบัติตัวอย่างไรเป็นเรื่องเข้าใจผิด

ส่วนผู้ที่ต้องการออกกำลังกายรับแสงแดดอุณหภูมิความร้อนจากภายนอกในช่วงเวลานี้อาจจะต้องระวัง เพราะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครยังสูงอยู่กลายเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่ง

ดังนั้นในเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร นอกอาคารจะเสี่ยง PM 2.5 ภายในอาคารจะเสี่ยงไวรัสโควิด-19 !!!

ดังนั้นในช่วงเวลานี้ ควรออกกำลังกายภายในบ้าน แม้ว่าจะมีการปิดหน้าต่างและประตูป้องกัน PM 2.5 แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ควรจะต้องทำความสะอาดในบ้าน และสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอด้วย

นอกจากนั้น จากการสำรวจข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ 25 คนขององค์การอนามัยโลกร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 16 ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2563 ยังพบเรื่องสำคัญว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่ 78%-85% นั้นเกิดจากการติดต่อกันในครอบครัวจากละอองเสมหะ ไม่ใช่การกระจายจากละอองลอยเป็นหลัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าน้ำหนักในเรื่องหน้ากากอนามัยนั้นยังสำคัญน้อยกว่าการทำความสะอาดมือเป็นประจำ และการทำความสะอาดวัสดุและสถานที่ โดยเฉพาะการทิ้งระยะจากผู้คนให้เกิน 1 เมตรเพื่อหลีกเลี่ยงละอองเสมหะ

จากการสำรวจพบว่าประมาณ 5% ของคนที่วินิจฉัยว่าป่วย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีก 15% ต้องใช้ออกซิเจนเข้มข้นสูง นั่นหมายความว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือมากขึ้น 85 % ถึง 95% ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเลย

ช่วงการฟื้นตัวโดยเฉลี่ยราว 3–6 สัปดาห์ สำหรับรายที่อาการหนัก และ 2 สัปดาห์สำหรับรายที่ป่วยไม่มาก แปลว่าระยะ 2 สัปดาห์ถ้าฟื้นตัวแล้วก็จะลดความเสี่ยงได้มาก

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ มักจะมีอาการในที่สุด แม้ว่าจะช้าเร็วต่างกัน ในกรณีที่ตรวจพบไวรัสแต่ยังไม่มีอาการนั้น หายาก และส่วนใหญ่จะป่วยในอีกสองสามวันต่อมา

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%) ไอแห้งๆ (68%) ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) ไอแบบมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%) อาการที่พบน้อยลงมาหน่อยคือ คลื่นไส้และอาเจียน (5%) คัดจมูก (5%) และท้องเสีย (4%) โดยอาการที่ไม่ใช่สัญญาณโรคของโควิด-19 คือ น้ำมูกไหล

สำหรับสภาพร่างกายก่อนการติดเชื้อนั้น พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่มีโรคระบบหลอดเลือดหัวใจในจีนคือ 2% ขณะที่สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวานที่ไม่ควบคุม) อยู่ที่ 9.2% และ 8.4% สำหรับโรคความดันสูง, 8% สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ 7.6% สำหรับโรคมะเร็ง โดยคนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ 1.4%
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็คือผู้สูงวัย เพราะจากการสำรวจพบว่า กลุ่มประชากรที่อายุ 30 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากร แต่เมื่อป่วยแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัยเกิน 60 ปีขึ้นไป และเสี่ยงที่สุดคืออายุเกิน 80 ปีขึ้นไป


ซึ่งตามสถิติแล้วเมื่ออายุมากขึ้นประชากรกลุ่มนี้จะมีอุณหภูมิในร่างกายลดลงตามธรรมชาติ [6] และมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงตามธรรมชาติ โดยในทางอายุรเวทอินเดีย และแพทย์แผนไทยมีทฤษฎีของคนในกลุ่มนี้ว่ามีธาตุไฟหย่อนลง ระบบการผลิตความร้อน การย่อยอาหาร และการเผาผลาญต่ำลง ส่งผลกระทบทำให้เสี่ยงในระบบธาตุลมมากขึ้น และโดยทั่วไปแล้วจะแนะนำคนกลุ่มนี้ให้มีความระมัดระวังเรื่องธาตุลมด้วยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มรสร้อน หรือเผ็ดร้อน หรือสุขุมร้อนมากขึ้น (ถ้าไม่ใช่ช่วงที่มีไข้)
แต่เนื่องจากกรณีโควิด-19 นี้เป็นโรคตามฤดูกาลจากชาติอื่น และใช้การเดินทางผ่านเครื่องบิน และการแพทย์แผนโบราณอย่างการแพทย์แผนไทยก็ไม่ได้มีการแยกแยะหรือวิเคราะห์ชนิดของไวรัส แต่มุ่งเน้นการจัดการกับสภาพร่างกายของสุขภาพในภาวะที่ธาตุ ฤดูกาล อายุ และเวลาที่แตกต่างกัน รวมถึงการดำเนินไปของโรค และบันทึกตำรับยาที่ใช้ได้ผลบันทึกเอาไว้ โดยเฉพาะเมื่อเรามี Big data สถิติการเก็บอาการทั่วโลก และการเสียชีวิต ประกอบกับข้อมูลทางเภสัชสมุนไพรยุคใหม่ ก็เชื่อได้ว่าประเทศไทยก็ควรจะมีตำรับยาของชาติไทยที่มาบูรณาการช่วยป้องกันหรือบรรเทาโรคเหล่านี้ได้เช่นเดียวกับที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดียซึ่งนำมาบูรณาการใช้กันอยู่ในขณะนี้

ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังรอในเรื่องวัคซีน เซรุ่ม หรือยาที่มาต้านไวรัสชนิดนี้ กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรจะมีบทบาทในการรวบรวมองค์ความรู้และความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการเพื่อนำภูมิปัญญาของชาติมาร่วมเสริมทัพฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ด้วย


วิกฤตโรคโควิด-19 ครั้งนี้ยังจะส่งผลสะเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจอีกนานพอสมควร แปลว่าปีนี้จะเป็นปีที่คนไทยและคนทั่วโลกจะต้องเดือดร้อนในหลายมิติ รัฐจึงควรต้องหามาตรการทั้งงบประมาณการงดเว้นการจัดเก็บภาษี หรือ การจัดเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเยียวบรรเทาธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและการบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ก่อนที่ผู้ประกอบการที่มีสายป่านไม่พอจะต้องปลดคนงานหรือปิดกิจการที่ยากจะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้

และขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ให้จงได้


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง

[1] 疫情通报 (in Chinese). National Health Commission of the People's Republic of China. Retrieved 9 February 2020.

[2] "Tracking coronavirus: Map, data and timeline". BNO News. Retrieved 9 February 2020.

[3] Moo Wang, et al.,Temperature significant change COVID-19 Transmission in 429 cities
doi: https://doi.org/10.1101/2020.02.22.20025791

[4] Kun Lin, et al., Environmental Factors on the SARS epidemic: air temperature, passage of time and multiplicative effect of hospital infection., Epidemiol Infect. 2006 Apr; 134(2): 223-230, Published online 2005 Sep 7. doc: 10.1017/S0950268805005054

[5] K.H Chan, et al., The Effects of Temperature and Relative Humidity on the Viability of the SARS Coronavirus, Advance in Virology,Volume 2011 |Article ID 734690 | 7 pages | https://doi.org/10.1155/2011/734690

[6] Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19), 16-24 February 2020, https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/who-china-joint-mission-on-covid-19-final-report.pdf







กำลังโหลดความคิดเห็น