ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มีคำถามถึงแอกชันของ "ท้องถิ่น" กว่า 8 พันแห่งว่ามีการแผนอะไรบ้างระหว่างที่หลายหน่วงานรัฐระดมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นอกจากเร่งจัดทำ "หน้ากากอนามัยชนิดผ้า" ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขแจกจ่ายสู่พี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน-ชุมชนให้เป็นไปตาม "โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันโควิด-19" ของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดเป้าหมายไว้ 50 ล้านชิ้น จากงบประมาณปี 2563 "งบกลาง" รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น 225 ล้านบาท ให้ได้ "ต้นทุน"ชิ้นละ 4.50 บาท
วันนี้จะเห็นภาพ คนใน 7,774 ชุมชน อบต./เทศบาล ผนึกกำลังจิตอาสาในท้องถิ่น ตอนนี้รวมแล้วกว่า 9,411,782 ชิ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค.63) สุดสัปดาห์นี้ขึ้นสัปดาห์หน้า ทะลุ 10 ล้านชิ้นแน่นอน ให้กำลังใจคนทำงานกัน
ท้องถิ่น ได้รับโจทย์มาว่า "หน้ากากอนามัยชนิดผ้า" จะเป็นหน้ากากทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่ไม่ป่วย สามารถป้องกันและลดการแพร่กระจายจากละอองไอ จาม ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019
หน้ากากอนามัยชนิดผ้ายังสามารถซักทำความสะอาดนำมาใช้ซ้ำได้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยประหยัดงบประมาณในการหาซื้อหน้ากาก และลดขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งได้อีกด้วย เป้าหมายต้องแล้วเสร็จ 50 ชิ้น ในเดือนเม.ย.นี้
ล่าสุด ทราบว่าหน่วยงานที่ "รับงบประมาณ" งบกลาง 225 ล้าน ออกหนังสือเร่งรัดการใช้งบประมาณ "เสมือน" เป็นการกดดันท้องถิ่นให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณก้อนนี้ ท่ามกลาง หน่วยงานที่บางแห่ง จองซื้อผ้า จองซื้อสายยืด แต่ยังไม่ได้รับของ "ขาดตลาด" แถมสินค้าราคาสูงเกินกว่าจะได้ต้นทุน 4.50 บาท
ครม.เห็นชอบ 3 มี.ค. หน่วยงานรับงบประมาณ โอนงบประมาณ 225 ล้าน ไปยังอปท.อีก 1 สัปดาห์ต่อมา และล่าสุด 18 มี.ค. แจ้งมายังผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งรัดใช้งบประมาณ และรายงานให้มหาดไทยทราบทุก 15 วัน
มาตรการอื่น พบว่า "ท้องถิ่น" เฝ้าระวังการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ ต้นปี 63 เช่น การเฝ้าระวังสังเกตสถานศึกษาในสังกัด อปท.อย่างเคร่งครัด รวมถึงแจ้งวิธีป้องกันเบื้องต้น ตามหนังสือเมื่อ 27 ม.ค.63 ที่ระบุว่า หากมีความเสี่ยงให้ประสานสาธารณสุข เพื่อ "ปิดสถานศึกษา" โดยใช้ดุลยพินิจของผู้บริหาร อปท.
ในช่วงเดือน ก.พ. นอกจากคำสั่งเฝ้าระวัง ยังไม่มี "แอคชั่น"อะไรพิเศษ เพราะสถานการณ์ผู้ติดเชื่อยังอยู่ในส่วนกลางเท่านั้น ท้องถิ่นมาตื่นกลัว อีกครั้งจากกรณี "ผีน้อย" แรงงานที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ เริ่มมีแผนเฝ้าระวัง แต่ไม่เข้มข้นนัก
ท่ามกลางตัวอย่าง หน่วยงานสั่งกัด อปท. มีผู้บริหาร หรือท้องถิ่นมีความเสี่ยง เช่น กรณีของอบต.มะเริง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีความเสี่ยงจนต้องปิด อบต. 14 วัน เพื่อให้บุคลากรไปกักตัวเอง หรือตัวอย่างผู้ติดเชื้อ "ระดับผู้บริหาร" ใน อบจ.ฉะเชิงเทรา
กรณีของการปิด อปท. ยังมีคำถามอีกว่า 14 วัน ที่ปิดเฝ้าอาการ อปท. มีแผนรองรับ ประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในเรื่องของการ "ขออนุญาตอย่างไร ? "
ที่ผ่านมา "กรมส่งเสริมการปกครองสวนท้องถิ่น" หรือ สถ. หน่วยงานที่กำกับ อปท.ทั่วประเทศ มีหนังสือ"แอคชั่น" 3 ฉบับ ที่รวบรวมได้
ฉบับแรก หนังสือ สถ. ลงวันที่ 27 ม.ค.63 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ฉบับนี้ ระบุถึง การสั่งการให้ "ท้องถิ่น"งดหรือเลื่อนให้มีการจัดกิจกรรมประเพณี-อีเวนต์ "ประชุม สัมมนา เดินทางไปต่างประเทศ" ทุกประเภท
ฉบับที่สอง หนังสือ สถ. ลงวันที่ 11 มี.ค.63 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ล่าสุด ฉบับที่สาม หนังสือ มท. ลงวันที่ 18 มี.ค.63 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครานา 2019 (COVID-19)ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท.
ฉบับสุดท้ายนี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ กรณี "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด อปท. ขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "พิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่" สามารถใช้ดุลพินิจประกาศปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยให้ทำประกาศปิดเป็นหนังสือ ตามมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559
"ข้อ 1.3.4 และหากยังมีความจำเป็นก็สามารถประกาศปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วันทำการ"
ส่วนกรณี "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เปิดการเรียนการสอนตามปกติ" ให้ดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ความรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึง "ขอความร่วมมือผู้ปกครอง" ไม่ให้นำเด็กเล็กเดินทางไปประเทศ หรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แตกต่างจาก คำสั่งของ สพฐ. ที่มีคำสั่งให้ "ปิดทันที" คนในพื้นที่ก็เลยกำกวม ว่า หากผู้บริหารมีดุลยพินิจอีกอย่าง ควรทำอย่างไร
ในประเด็น "ปิดศูนย์เด็กเล็ก" นี้ มีคำถาม ถามกันมากมาย จะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าปิด ??
กรณี อาหารเสริม(นม) ที่ทำสัญญาแล้ว หรือ จ้างทำอาหารกลางวันเด็ก ที่ทำสัญญาไว้แล้ว มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่าง ท้องถิ่นให้คำตอบว่า ให้แจ้ง ผู้ขาย หรือ ผู้รับจ้าง ให้ "งดส่งนม" หรือ"งดทำอาหาร" ตามวันเวลาที่สั่งปิด นั้นๆ
ทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้ง "ทราบเป็นทางการ" อีกครั้ง
ดำเนินการจัดทำแก้ไขสัญญา หรือข้อตกลง...โดยการ คำนวนปรับลดปริมาณงาน (ปรับจำนวน (นม)ส่งมอบลง) หรือปรับลดวันทำ อาหารกลางลง...และปรับลดจำนวนเงิน ลง....(ปรัดลดจำนวน..และปรับลดเงิน ลง ตามจำนวนที่สั่งปิด)
หรือ อีกลักษณะหนึ่ง แก้ไขสัญญา ให้ปรับเปลี่ยนเป็น (นมกล่อง) เร่งให้ส่งมอบนม และให้นักเรียน (เด็กเล็ก) นำไปดื่ม (ช่วงที่สั่งปิด) ปรับเกลี่ย งบประมาณ ตามความเหมาะสมได้
ทำบันทึกต่อท้ายสัญญา หรือต่อท้าย บันทึกข้อตกลง..นั้นๆ
แจ้งผู้ขาย หรือ ผู้รับจ้างทำอาหารกลางวัน มา ลงนาม แก้ไขสัญญา หรือข้อตกลง....
เนื่องจาก เป็นหมวดรายจ่าย ค่าวัสดุหรือค่าใช้สอย การแก้ไขสัญญาหรือข้อตกลง เป็นอำนาจ (นายก อปท.) พื้นที่นั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังมี "แอกชัน" เรื่องการใช้ "เงินงบประมาณ" ในส่วนของ อปท. นอกจากคำสั่ง มหาดไทย ที่ให้ อปท.ใช้ "เงินสะสม"ในการอบรม ครู ก. หรือ จิตอาสา สอนทำหน้าหน้ากากผ้า แทน งบประมาณปกติไปแล้ว
เรื่องงบประมาณ "ปลัดกระทรวงมหาดไทย" มีหนังสือ ด่วนที่สุดเลขที่ 0808.2/6ว 1552 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ให้แจ้งนายอำเภอทุกแห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือ เป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
กรณี กระทรวงคมนาคม ได้นำส่งผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือ เป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เข้ามาในเขต อปท.ใด ให้อปท.นั้น สามารถใช้ยานพาหนะเพื่อรับผู้เดินทางดังกล่าวโดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และ รักษารถยนต์ของอปท. พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ เมื่อมีการคัดกรองจากจังหวัดว่าเป็นผู้เข้าข่ายติดเขื้อโควิด-19 "สามารถใช้รถยนต์ส่วนกลาง" เพื่อรับได้ ส่วนผู้ที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการในที่พัก หรือพื้นที่ควบคุม จะเข้าพักในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือพื้นที่ควบคุมที่จัดให้ สามารถใช้รถยนต์ส่วนกลางในการรับเพื่อนำส่งไปยังสถานที่พักดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานในอปท.ที่ไดัรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่ของอปท.ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะต้องไปตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังและสังเกตอาการของผู้ถูกกักกัน หรือผู้เดินทางกลับด้วยตนเอง ที่อยู่ในระยะเวลาต้องกักกัน
"ให้อปท.จัดหายาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และวัสดุอื่นที่จำเป็น ต้องใข้ในการปฏิบัติงาน เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปาก - ปิดจมูก เป็นต้น ในการปฏิบัติงานของบุคคลที่ได้รับมอบหมาย และหากพบผู้ถูกกักกันเข้าข่ายติดเชื้อ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยใช้รถส่วนกลาง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่พักของผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ"
ขณะเดียวกับ ให้อปท.สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนนตามอำนาจหน้าที่ ของอปท. พ.ศ. 2560
ในส่วนของ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด"(อบจ.) ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นผู้ดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการ ให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ลักษณะและแนวทางจัดการสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine) กรณีผู้เดินทางจำนวนมากกลับจากพื้นที่เสี่ยงสูง ลงวันที่ 5 มี.ค.2563 ของกระทรวงสาธารณสุซ โดยอนุโลม ดังนี้
"ให้จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ ถังขยะเพื่อรองรับขยะติดเชื้อ ฯลฯ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในบริเวณสถานที่ควบคุม เพื่อดำเนินการจัดหาอาหาร วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 30 บาท ต่อคน (เทียบเคียงค่าอาหาร ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ด้านการดำรงชีพ)รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานที่ควบคุม ให้เบิกได้เท่าที่ จ่ายจริง จำเป็น เหมาะสม และประหยัด"
ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่ยังอยู่ในระยะต้องเฝ้าระวังและ สังเกตอาการ ได้เดินทางไปในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของอปท.หรือในพื้นที่ ที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้อปท. เข้าไปดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโดยทันที
นอกจากนี้ ยังประกาศเลื่อนสอบพนักงานราชการ เลื่อนการอบรม สัมมนาชี้แจงการประเมิน LPA ประจำปี 2563 หรือ เลื่อนการจัดปฐมนิเทศข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นบรรจุใหม่ รุ่นที่ 64-77 เป็นต้น
หน้าที่ของท้องถิ่นอีกอย่าง คือ "ลดการหลั่งไหล เข้าสู่ท้องถิ่นตลอดเดือนนี้และเดือนหน้า" ตามคำสั่งและมติครม. ที่เน้น การ"ลดแพร่โรคเข้าสู่ท้องถิ่น" เป็นมาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” สกัดไวรัสโควิด-19
ทราบว่า งานบุญตามท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำทางความคิด ปราชญ์ชาวบ้าน แม้จังหวัดจะยังไม่มีประกาศให้ยกเลิก
ประเด็นนี้ "นายเทวัญ ลิปตพัลลภ" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งไว้ว่า ในส่วนของวัดทั่วประเทศที่อยู่ในความดูแลได้แจ้งไปแล้วหากช่วงนี้วัดไหนที่มีงานประจำปี ที่จะรวมคนจำนวนมาก หากเป็นไปได้ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงงดการจัดงานออกไปก่อน เพื่อความปลอดภัย
"แต่ถ้าวัดไหน ยกเลิกไม่ได้ จะต้องมีมาตรการป้องกัน คัดกรองคนเข้าไปรวมกันให้ได้ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีการวัดไข้คัดกรองคนเข้างาน มีเจลล้างมือตั้งตามจุดต่างๆที่จัดงาน มีหน้ากากอนามัย แจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานด้วย"
วันก่อน วัดขนาดใหญ่ อย่าง "วัดโสธรวรารามวรวิหาร" อ.เมืองฯ จ.ฉะเชิงเทรา พระธรรมมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัด ได้มีบัญชาให้งดการเข้าสักการะองค์หลวงพ่อโสธร ทั้งภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง และหลวงพ่อพระพุทธโสธรองค์จำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลังใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่เปิดให้ประชาชนเข้าทำบุญกราบไหว้สักการะ บูชาดอกไม้ และห่มผ้าอังสะ นับตั้งแต่ในวันที่ 19 มี.ค.63 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มี.ค.63 พร้อมทั้งยังให้งดการจัดงานอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำ (งานกลางเดือน 5) ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 63 ด้วย
ขณะที่ "วัดไร่ขิง" อีกวัดชื่อดัง พระอารามหลวง อ.สามพราน จ.นครปฐม "พระเทพศาสนาภิบาล" รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง ประกาศเลื่อน การจัดงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ประจำปี 2563 ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-11 เม.ย.63
นอกจากนี้ "เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด" เกือบทุกแห่ง ประกาศ งดบวชเณรภาคฤดูร้อนปีนี้
วัด และชุมชน ก็ได้ประสานงานกัน เพื่อลดการแพร่ บ้างวัด "เจ้าอาวาส" ออกประกาศยกเลิกผ่านโซเชียลฯ ของวัด ผ่านหอกระจายข่าวของวัดหรือชุมชน บางวัดประกาศเลื่อน โดยเฉพาะงานบุญเดือน 4 หรือ "บุญพระเวด" ในภาคอีสาน สั่งงดไปแล้วหลายพื้นที่ เกือบ100 %
รวมไปถึงงานบุญสงกรานต์ งานบุญประเพณี แม้จะไม่งด 100% แต่บางพื้นที่ในชุมชน ชาวบ้านมีแผนรองรับกันแล้ว เช่น กิจกรรมไหว้พระทำบุญ กิจกรรมรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ก็เพียงใช้พื้นที่เล็กๆ ระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร งดการแสดงมหรสพ ทุดกรณี
จนถึงขณะนี้ อปท.ทั่วประเทศ มี "นายอำเภอ" ลงไปกำกับทั้งหมดอย่างเข้มงวดแล้ว รอดูว่าจะ " ลดแพร่ " ได้มากน้อยเพียงใด
แม้จะมีบางแห่ง ยืนยันจะจัดกิจกรรมต่อไป โดยมีชาวบ้าน ออกมาคัดค้านกันบ้าง
พ่อแก่ แม่เฒ่าหลายคน พูดตรงกัน "งานบุญ" นั้น ทำเมื่อไรก็ได้ ลูกหลายเอ้ย !!