xs
xsm
sm
md
lg

มท.แจงแผนท้องถิ่น คัดกรอง “ผีน้อย-ผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยง” จัดอาหารใช้ระเบียบราชการ วันละ 3 มื้อ ไม่เกิน 30 บาท/คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย แจงด่วน! แผน อปท.ทั่วประเทศ รับคัดกรอง “กลุ่มผีน้อย-ผู้กลับจากประเทศเสี่ยง โควิด-19” ย้ำ วิธีนำส่งให้ใช้ยานพาหนะส่วนกลาง “รับ-ส่ง” ไปโรงพยาบาล-กลับภูมิลำเนาได้ทุกกรณี ยัน “ผู้นำท้องถิ่น-ขรก.-พนักงาน” ที่รับแต่งตั้งเป็น จนท.ควบคุมโรค ต้องจัดเตรียมเวชภัณฑ์ พร้อมลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม-เฝ้าระวัง-สังเกตอาการ ด้วยตนเองตามระยะเวลาต้องกักกัน เผยให้จัดหาอาหารรับ “ผีน้อย” ตามระเบียบราชการ ได้วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 30 บาท ต่อคน

วันนี้ (16 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ด่วนที่สุดเลขที่ 0808.2/6 ว 1552 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ให้แจ้งนายอำเภอทุกแห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือ เป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณี ไวรัสโควิด-19 ตามข้อกำหนดของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

โดยหนังสือฉบับนี้ อ้างอำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 3 ระดับ ต่อแนวทางปฏิบัติในการควบคุมฯ ดังนี้

กรณี กระทรวงคมนาคม ได้นำส่งผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือ เป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เข้ามาในเขต อปท.ใด ให้อปท.นั้น สามารถใช้ยานพาหนะเพื่อรับผู้เดินทางดังกล่าวโดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้ และ รักษารถยนต์ของ อปท. พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ เมื่อมีการคัดกรองจากจังหวัดว่าเป็นผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 “สามารถใช้รถยนต์ส่วนกลาง” เพื่อรับได้ ส่วนผู้ที่ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการในที่พัก หรือพื้นที่ควบคุม จะเข้าพักในที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือพื้นที่ควบคุมที่จัดให้ สามารถใช้รถยนต์ส่วนกลางในการรับเพื่อนำส่งไปยังสถานที่พักดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานใน อปท.ที่ไดัรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่ของอปท.ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะต้องไปตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังและสังเกตอาการของผู้ถูกกักกัน หรือผู้เดินทางกลับด้วยตนเอง ที่อยู่ในระยะเวลาต้องกักกัน

“ให้ อปท.จัดหายาหรือเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย และวัสดุอื่นที่จำเป็น ต้องใข้ในการปฏิบัติงาน เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปาก-ปิดจมูก เป็นต้น ในการปฏิบัติงานของบุคคลที่ได้รับมอบหมาย และหากพบผู้ถูกกักกันเข้าข่ายติดเชื้อ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยใช้รถส่วนกลาง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่พักของผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ”

ขณะเดียวกับ ให้ อปท.สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนนตามอำนาจหน้าที่ ของ อปท. พ.ศ. 2560

ในส่วนของ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.) ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นผู้ดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการ ให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ลักษณะและแนวทางจัดการสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine) กรณีผู้เดินทางจำนวนมากกลับจากพื้นที่เสี่ยงสูง ลงวันที่ 5 มี.ค. 2563 ของกระทรวงสาธารณสุซ โดยอนุโลม ดังนี้

“ให้จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรค เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ ถังขยะเพื่อรองรับขยะติดเชื้อ ฯลฯ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในบริเวณสถานที่ควบคุม เพื่อดำเนินการจัดหาอาหาร วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 30 บาท ต่อคน (เทียบเคียงค่าอาหาร ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ด้านการดำรงชีพ)รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสถานที่ควบคุม ให้เบิกได้เท่าที่ จ่ายจริง จำเป็น เหมาะสม และประหยัด”

ทั้งนี้ เมื่อปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่ยังอยู่ในระยะต้องเฝ้าระวังและ สังเกตอาการ ได้เดินทางไปในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของอปท.หรือในพื้นที่ ที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ อปท. เข้าไปดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโดยทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น