xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คาร์บอมบ์ ศอ.บต. บีอาร์เอ็น ลูบคม? ความรุนแรงชายแดนใต้ยืดเยื้อเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา นำทีมลงตรวจจุดที่เกิดเหตุหน้า ศอ.บต.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหตุการณ์เขย่าขวัญในสถานการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้รอบล่าสุดที่เกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” หน้า “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)” ครั้งแรกในรอบ 15 ปี ถือเป็นการลูบคมหน่วยงานความมั่นคงอย่างแรง โดยผู้รับบาดเจ็บคราวนี้ 25 ราย มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ประชาชน รวมทั้งผู้สื่อข่าวด้วย

การวางระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะต้องการเอาชีวิต เพราะมีการวางระเบิดลูกแรกลวงให้เจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าว และประชาชนมาดูเหตุการณ์ ก่อนจะมีการระเบิดซ้ำอีกครั้งด้วย “คาร์บอมบ์” ที่คาดว่าประกอบระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม บรรทุกมาในรถกระบะ และยังเลือกวันที่มีการประชุมร่วมทุกหน่วยงานเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 แล้ว ระเบิดคราวนี้ ยังเป็นการเลือกจุดวางที่หน้า ศอ.บต. หน่วยงานที่เป็นสัญลักษณ์ในมิติของการพัฒนาและเป็นศูนย์รวมของมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

เป็นการวางระเบิดในเชิงสัญลักษณ์ว่าสามารถเจาะเข้าถึงใจกลางศูนย์อำนาจการพัฒนา ในวันที่ประจวบเหมาะทุกหน่วยงานมารวมตัวกัน โดยมีทั้งผู้ว่าฯ 5 จังหวัด ข้าราชการและประชาชนที่มาประชุมเพื่อหาทางช่วยเหลือคนให้รอดพ้นจากไวรัสฯ แต่กลับเป็นโอกาสของผู้ก่อความไม่สงบมาสร้างสถานการณ์เพื่อเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์ กระตุกต่อมสำนึกมวลชนจะเลือกยืนข้างไหน

ตามที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. แถลงภายหลังเกิดเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนเห็นแล้วว่าจะต้องยืนอยู่ด้านไหน ขณะที่ทางการกำลังแถลงเกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อรักษาชีวิตประชาชนชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมีผู้ไม่หวังดีมาก่อเหตุเพื่อสังหารปลิดชีพชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกว่าสวนทางกันอย่างสุดโต่ง ไม่ทราบว่าคนกลุ่มนี้มีจิตใจเป็นอย่างไร

ความจริงอาจจะมีการบาดเจ็บและล้มตายมากกว่านี้ ถ้า พล.ร.ต.สมเกียรติ และเจ้าหน้าที่หลายคนไม่มีประสบการณ์ โดยไม่ออกมาห้ามทัพเรียกให้ผู้คนจำนวนมากที่กรูออกจากห้องประชุมเพื่อไปดูที่เกิดเหตุระเบิดลูกแรก กลับเข้าห้องประชุมเสียก่อน เพราะระเบิดลูกแรกนั้นถือเป็น “การเรียกแขก” ก่อนที่ระเบิดลูกที่ 2 จะถูกจุดชนวนตามมาและเป็นลูกที่ “หวังผลจริง”

ขณะที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยถึงตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า คนร้ายก่อเหตุเพื่อสังหารหมู่ โดยใช้ระเบิดชนิดลูกแรกก่อเหตุที่หน้า ศอ.บต. เพื่อดึงเจ้าหน้าที่และประชาชนออกมาดูแล้วระเบิดซ้ำด้วยรถยนต์ประกอบระเบิดซึ่งมาจอดทิ้งไว้บริเวณทางเข้า ศอ.บต. ห่างจากจุดแรกเพียงเล็กน้อย สำหรับรถยนต์คันก่อเหตุดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไม้ เข้าก่อเหตุหวังสังหารหมู่และทำลายภาพลักษณ์เมืองเศรษฐกิจซ้ำเติมความเดือดร้อนให้ประชาชน

ต่อมา มีการเผยภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่า ก่อนเกิดเหตุมีคนร้ายเป็นชายหนึ่งคนขับรถยนต์กระบะ ไม่ทราบทะเบียน ลักษณะเหมือนรถรับเหมาก่อสร้าง บรรทุกไม้หน้าสามส่วนหนึ่งพาดหลังคาห้อยไปในกระบะ เข้ามาจอดใกล้กับประตูทางเข้า ศอ.บต. ขณะเดียวกัน มีชายอีกคนขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อ หมายเลขทะเบียน ขับตามมา เมื่อคนขับรถปิกอัพจอดรถเปิดประตูรถออกมา คนขับขี่จักรยานยนต์ได้จอดรถรับคนขับรถปิกอัพขึ้นซ้อนท้ายแล้วมุ่งหน้าไปทางตัวเมือง เลี้ยวซ้ายไปทางถนนข้างวัดเมืองยะลา แล้วหายไป หลังจากนั้นชั่วครู่จึงเกิดระเบิดขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า คนร้ายเป็นกลุ่มที่ก่อเหตุถล่มป้อม ชรบ.ลำพะยา อ.เมืองยะลา ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน.ภาค 4 สน.สนธิกำลังไล่ล่าอยู่ในพื้นที่ ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา

ภายหลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. หรือ “บิ๊กแป๊ะ” นำทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสถานที่เกิดเหตุ ซักถามพยานและผู้เกี่ยวข้อง ส่งชุดสืบสวนลงพื้นที่หาเบาะแส และสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน กำชับให้สถานีตำรวจในพื้นที่เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันเหตุความไม่สงบโดยรอบของสถานีตำรวจและหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งเข้มงวดตรวจตราแหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญที่อาจเป็นเป้าหมายเพื่อป้องกันเหตุในลักษณะเดียวกัน และเข้มจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจค้นรถทุกชนิดและบุคคลเป้าหมายตามเส้นทางหลักและเส้นทางรอง จัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจและชุมชน



สถิติความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
เป็นสไตล์การทำงานของ “บิ๊กแป๊ะ” ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างเหตุการณ์ที่ “เทอร์มินัล 21” เมืองโคราช “บิ๊กแป๊ะ” ก็อยู่หน่วยหน้า

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงกำชับฝ่ายความมั่นคงให้เร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดทั้งหมดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว ส่วน ศอ.บต.ยังคงความต่อเนื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงรุกตามความต้องการของประชาชนต่อไป เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขให้ได้ในที่สุด

ไชยยงค์ มณีพิลึก ศูนย์ข่าวภาคใต้ เครือผู้จัดการ วิเคราะห์ว่า คาร์บอมบ์ครั้งนี้ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการสร้างผลงานในโอกาส “ครบรอบ 60 ปีการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น” ตามแถลงการณ์บีอาร์เอ็น ที่ออกมารับผิดชอบ

บวกกับฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการไล่ล่ากดดันแนวร่วมในพื้นที่ป่าเขา และการปิดล้อมแนวร่วมที่ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา รอยต่อที่เชื่อมกับ จ.ปัตตานี ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจนต้องเร่งเผด็จศึก อาจเป็นเหตุให้บีอาร์เอ็นใช้วิธีก่อเหตุในเขตเมืองเพื่อดึงกำลังทหารที่ปิดล้อมไล่ล่าแนวร่วมนอกเขตเมืองถอนกำลังกลับมาป้องกันเหตุในเมืองแทน

เบื้องลึกอีกหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ ยุทธวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้มีความผิดพลาดหรือไม่ในการใช้จิตวิทยามวลชนในเชิงลบ ใช้งานมวลชนผิดแนวทางต่อผู้ก่อความรุนแรงและแนวร่วมด้านการทหารไม่ได้ทำตามนโยบายอย่างแท้จริง

อีกทั้งยังมีข้อสังเกตว่า “ผู้รับผิดชอบเจรจา” กับบีอาร์เอ็น ขาดความเข้าใจในสภาพที่แท้จริงขององค์กรนี้ทั้งด้านการเมืองและการทหาร ขณะที่ฝ่ายพูดคุยในพื้นที่ก็เน้นเนื้องานด้านสันติสุข ไม่ให้ความสำคัญกับการเจรจาใต้ดินที่ชี้วัดความสำเร็จของการยุติความรุนแรง

ไม่นับงานด้านการข่าวที่ล้มเหลวทั้งที่ใช้งบประมาณมาก แต่ไม่สามารถลงลึกถึงรากเหง้าของปัญหา ไม่รู้เขารู้เรา ซึ่งเป็นจุดที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยด่วน และที่สำคัญต้องทำให้กลุ่มผู้เป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นที่เป็นคณะเจรจาไม่สามารถควบคุมทิศทางและสั่งการขบวนการในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติตัวเลขแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากรายงานฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดย รศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ / สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งศึกษา “อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปีชายแดนใต้/ปาตานี” เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

รายงานชี้ว่า เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนเหตุการณ์ 20,323 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,997 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 13,143 ราย หากดูเฉพาะสถิติในปี 2562 (มกราคม - มิถุนายน) มีจำนวนเหตุการณ์ 222 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 92 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 153 ราย

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนลักษณะพิเศษของความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ แม้ว่าทิศทางของการก่อเหตุความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดต่ำลงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ลักษณะทั่วไปของเหตุการณ์เป็นความรุนแรงที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง ลักษณะเหตุการณ์มีความแปรปรวน-ขึ้นสูงๆ ต่ำๆ สลับกัน โดยในทุกๆ ห้วง 4 หรือ 5 ปี ความรุนแรงจะขึ้นสูงสุด จากนั้นก็ต่ำลงและสูงขึ้นอีกเป็นเหมือนกับวงจรอุบาทว์ ปรากฏการณ์ซ้ำๆ ดังกล่าวดูเหมือนเป็นอัลกอริทึม

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเหตุการณ์ที่สะท้อนการขึ้นๆ ลงๆ ของความรุนแรง ทิศทางที่เป็นไปได้อาจมีสองแนวทางคือ แนวทางแรก ความรุนแรงอาจลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ในรอบ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ส่วนแนวทางที่สอง ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรังก็มีความเป็นไปได้ที่รอบวงใหม่ของความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ....

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่ลืมไม่ได้คือ งบประมาณดับไฟใต้ที่ทุ่มเทลงไปมหาศาล เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มีการสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงความรุนแรงในพื้นที่ให้คงอยู่ เพื่อว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จะได้กอบโกยกันต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่สิ้นสุดนั้น เป็นเรื่องที่ “รัฐไทย” จะต้องหยุดวงจรความอุบาทว์ หยุดความรุนแรง และความสูญเสียนี้ให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น