ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่น่าเสียดายที่ “แฟลชม็อบใสๆ” ที่ถือกำเนิดมาด้วย “พลังบริสุทธิ์” ของ “นักเรียน-นิสิต-นักศึกษา” ซึ่งปรารถนาที่จะเห็นประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ต้องมา “บอบช้ำ” ด้วย “ปัจจัย” ที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น
ทั้งจาก “ความผิดพลาด” ในการเคลื่อนไหวของตัวเอง และการรุกคืบเข้ามาแทรกซ้อนของเหล่า “นักการเมือง” หรือ “สาวกของนักการเมือง” ที่พยายามเข้ามาสร้างกระแสให้ลุกลามเกินขอบเขตความพอดี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญก็คือกรณี “ธงดำ” ของนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในนามกลุ่ม “จุฬาฯ รวมพล” ซึ่งส่งผลกระเทือนต่อแนวร่วมอย่างมหาศาลด้วยเห็นว่าเป็น “ยุทธวิธี” ที่ไม่เหมาะสมและเลยเถิดไปไกล ยิ่งเมื่อได้ยิน “เสียงกรีดร้อง” ออกมาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สังคมไม่เข้าใจว่า อะไรมันจะขนาดนั้น
แม้แต่ “รุ่นพี่จุฬาฯ” ด้วยกันเองยังรับไม่ได้
“การแสดงออกและกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมตามที่เผยแพร่ผ่านสื่อทั่วประเทศ อาจส่งสัญญาณผิดๆ ให้นิสิตบางกลุ่มคิดว่าตนมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีขีดจำกัด โดยลืมคำนึงถึงเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่ได้สร้างสมกันมากว่าหนึ่งศตวรรษ... จึงเรียนมาเพื่อโปรดรับทราบความกังวลของพวกเรานิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิจารณาว่ากล่าวตักเตือน เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เพื่อนร่วมรุ่นและรุ่นน้องๆ ของคณะอักษรศาสตร์ และคณะอื่นๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
นั่นคือจดหมายเปิดผนึกในนามของ กลุ่มผู้ใช้ชื่อว่า “CU Wisdom เพาะต้นกล้า นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่วิพากษ์วิจารณ์กรณี “ธงดำและเสียงกรีดร้อง”
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณี “ชักธงดำ” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย “อั้ม เนโกะ” นายศรันย์ ฉุยฉาย นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และต่อต้านสถาบันฯ จนในที่สุดต้องเดินทางไกลไปอยู่ที่ฝรั่งเศสมาแล้ว
หรือย้อนไปไกลกว่านี้ก็คงเป็นช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มีการชักธงดําครึ่งเสา เหนือยอดโดม
พฤติกรรมการแสดงออกด้วยการ “ชักธงดำ” แทนที่ “ธงชาติ” ของนิสิตจุฬาฯ กลุ่มนี้ จึงทำให้ผูกโยงไปได้ว่า มีการบ่มเพาะ ปลูกฝังจาก “ผู้ใหญ่” ที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังมาอย่างต่อเนื่อง
และหากอยากทราบว่า ใครเป็นคนชักธงดำขึ้นยอดโดม ก็ลองไปถามคนตุลาสาย มธ. ที่นั่งอยู่ใน “คณะอนาคตใหม่” ดูก็ได้
นี่คือความผิดพลาดและบทเรียนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งจำต้องมีสติและรอบคอบามากกว่านี้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ข้อผิดพลาดของแฟลชม็อบใสๆ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่อง “ธงดำ” เท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลายกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กัน เช่น กรณี “แผ่นป้ายคำหยาบคาย-จาบจ้วง” ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งๆ ที่น่าจะสร้างสรรค์วาทกรรมที่ “ทรงพลัง” ได้มากกว่านี้
หรือกรณีสายปลุกปั่นอย่าง “เพนกวิน”-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีวาทะเผ็ดร้อนด้วย “เฮทสปีด” ที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกเวทีและพยายามดึงนิสิตนักศึกษาลงถนนให้ได้ จนสร้างปัญหาทางด้านภาพลักษณ์
เดชะบุญที่บรรดาผู้ร่วมชุมนุมต่างก็รับรู้และตระหนักกระทั่งต้องมีการติดแฮชแท็กว่า #ไม่เอาเพนกวินปราศรัย เพราะต่างรู้ดีว่านั่นหมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกลดทอนความชอบธรรมในการแสดงออกของพลังคนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า การตื่นรู้ของขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษาเกิดขึ้นในจังหวะไม่ดีนัก เพราะกำเนิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ “เชื้อไวรัสโควิด-19” ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกโจมตีด้วยวาทกรรม “ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”
กระนั้นก็ดี แม้จะสะดุดไปบ้าง แต่ถึงจะอย่างไรพวกเขาก็ยังคงมีพลังและไม่อาจมองข้ามได้
ดังนั้น จึงต้องจับตาว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามา “บริหารจัดการ” กับการลุกฮือของพลังคนหนุ่มสาวเขย่าโลกนี้อย่างไร เพราะแฟลชม็อบที่ขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยลามเลยไปถึงระดับมัธยมฯ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะคล้ายๆ “ฮ่องกงโมเดล” ซึ่งเป็นกระแสการเคลื่อนไหวของโลกยุคสมัยนี้ที่ไม่มี “แกนนำ” ม็อบในแนวดิ่ง คุยกับผู้นำม็อบไม่กี่คนแล้วจบ หรือมีการจัดตั้งมวลชนที่ชัดเจน มีแต่ “แกนนอน” และกระจายไปทุกซอกทุกมุมโดยอาศัยเทคโนโลยีเชื่อมเข้าหากัน
ไม่ใช่แนวแบบ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือ พฤษภาฯ 35 ใดๆ ทั้งนั้น แม้ว่าจุดหมายปลายทางจะคล้ายคลึงกันคือ ล้มรัฐบาล ล้างกติกาเก่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไส้ในมีความต่างแน่นอน
อาจบางทีแม้แต่นิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่เหล่าคนรุ่นใหม่ต้องการ ก็อาจจะไปคนละทิศละทาง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกติกาใหม่ เพื่อ “ประชาชนจงเจริญ” ดังว่า เอาเข้าจริงลำพังพลังบริสุทธิ์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าไปทางไหน หรือลำพังพวกเขาอาจยังไม่ไปไกลขนาดนั้น?
ดังจะเห็นจากการแสดงความคิดอ่านผ่านป้ายผ้า กระดาษเอ 4 หรือคำสัมภาษณ์ผ่านสื่อรวมๆ แล้วสะท้อนสภาพความไม่พอใจ “ท่านผู้นำ” บริหารบ้านเมืองไม่เข้าตา เอื้อพวกพ้อง ฯลฯ เป็นหลักใหญ่ด้วยถ้อยคำที่เข้าถึงใจคนรุ่นเดียวกัน “ผนงรจตกม” “ชั่ย-ชั่ยส์” ฯลฯ นั่นแหละ
แต่เอาเข้าจริงแค่โจทย์เฉพาะหน้าการออกมา “ไล่ลุง” กัน ก็ยังไม่แน่ว่าพลังบริสุทธิ์จะมีแรงกดดันมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?
อย่างที่เห็นจาก “ฮ่องกงโมเดล” พลังของม็อบที่ลุกฮือขึ้นกดดันรัฐบาลทั่วทั้งเกาะ ลงถนนมืดฟ้ามัวดิน แต่คีย์สำคัญที่ทำให้รัฐบาลฮ่องกง ไม่กล้าลงมือปราบและยอมถอนร่างกฎหมายส่งตัวนักโทษนั้นมีหลายปัจจัยที่ช่วยหนุน
หนึ่งในนั้นคือท่าทีของอังกฤษ เจ้าอาณานิคมเก่าของฮ่องกง และมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ คู่ปรับของจีน ที่คุมเชิงให้ท้ายม็อบ ซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขหรือตัวแปรสำหรับแฟลชม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษาไทย ที่กำลังก่อกระแสชุมนุมเป็นไฟลามทุ่งในเวลานี้ และยังไม่เห็นว่า แฟลชม็อบคนรุ่นใหม่จะเชื่อมไทยกับโลกสากลแม้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่กำลังเรียกร้องจะมาจากตะวันตกก็ตาม
น่าสังเกตได้ว่าถึงเวลานี้ ทุกฝ่ายกำลังเฝ้ามอง และวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ว่าพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาที่ออกมารอบนี้จะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด แน่นอนย่อมมีพวกกำลังหาทางฉกฉวยใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็จำต้องบริหารจัดการกระแสแฟลชม็อบให้ผ่อนคลายลง
หากมองท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลอันดับแรกสุดคือพยายามลดความร้อนแรง ให้คนรุ่นใหม่ได้ระบายความคับแค้น คือปล่อยให้ชุมนุมกันไปในขอบเขตที่ดูแลจัดการได้ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน
ถ้ายกระดับลงถนนเมื่อไหร่ นั่นเป็นอีกสเตปหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องประเมินกันใหม่ แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
ขณะที่ม็อบนักศึกษาเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเพราะสุ่มเสี่ยงจะถูก “มือที่สาม” เข้าแทรกแซงและชักนำให้เป็นไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลกก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายต่อหลายเหตุการณ์
ทั้งนี้ ตามเกมลดความร้อนแรง ฝ่ายรัฐบาลโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บอกว่าในการประชุม กมธ. วันที่ 5 มีนาคม ได้มอบหมายให้นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไปรับฟังความคิดเห็นและเชิญตัวแทนของกลุ่มนักศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน กมธ.วิสามัญฯ และเพื่อเปิดพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่
ความเคลื่อนไหวนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเข้าใจเป้าประสงค์ดีว่า แฟลชม็อบคนรุ่นใหม่ต้องการอะไร ไม่เช่นนั้นคงไม่ลดความร้อนแรงด้วยการเปิดช่องให้มีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา และเปิดให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม
แต่ต้องไม่ลืมว่า แฟลชม็อบนักศึกษายุคนี้ไม่มีแกนนำที่ชัดเจนมีแต่แกนนอน ไม่มีใครที่สามารถอ้างความเป็นผู้นำหรือตัวแทนที่ได้รับเชิญไปคุยกับฝ่ายรัฐแล้วเรื่องจะจบ เหมือนกับการเจรจาสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผู้ซึ่งถูกเชิญเข้าร่วมวงเจรจาไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวแทน ตัวจริง เสียงจริง” และไม่สามารถสยบการก่อเหตุรุนแรงได้ นั่นแหละ
ดังเช่นที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไป เพราะกลุ่มที่มาชุมนุมก็ตระหนักเรื่องการแพร่ระบาดไม่แพ้เรื่องการเมือง อีกทั้งนักศึกษายุคนี้ไม่มีใครนำใคร เพราะถ้ามีผู้นำแล้วการเคลื่อนไหวคงไม่ได้เดินมาถึงจุดนี้ จึงคิดว่าคณะกรรมาธิการควรดำเนินการให้จัดเวทีฟังความคิดเห็นและเชิญมาแสดงความคิดเห็นจะเป็นการดีกว่า
ทั้งนี้ ความพยายามเบรกกระแส เปิดฝากาต้มน้ำที่เดือดพล่านของรัฐบาลผ่านทางสภา ตามเกมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อเพียงสั้นๆ เพียงว่า “เป็นเรื่องของสภา” ดูจากการขยับของนายพีระพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น สอดประสานกับเสียงของ ส.ส. และวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ที่แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เตรียมขอยื่นญัตติให้สภาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนหนุ่มสาว
ฝั่งรัฐบาล รัฐสภา ส.ส. ส.ว. โยนหินถามทางนำร่องสร้างเวทีหาทางออกร่วมกัน เพื่อยื้อและซื้อเวลากันไปให้ม็อบน้องใหม่ลดความเดือด ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็คุมโทน จับตาดูแลการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบของนักเรียนนักศึกษาอย่างใกล้ชิดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ปิดกั้นแต่ขอให้จัดกิจกรรมอยู่ในสถาบันการศึกษา อย่าหมิ่นสถาบันฯ อยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยย้ำอย่าขยายการชุมนุมลงท้องถนน เพราะอาจมีมือที่สามเข้ามาแทรกสร้างสถานการณ์ความรุนแรง
ถามว่าใครจะเป็นตัวแทนนักศึกษาเข้าไปนั่งในนั่งกมธ.วิสามัญฯ หรือเวทีร่วมหาทางออก “แกนนำระดับเซเลป” ที่เคยป๊อบปูล่าร์อย่าง “เนติวิทย์” - นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมในคราวนี้ หาได้เป็น “แกนนำ” แต่อย่างใด ไม่ต้องพูดถึงนางสาวสิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตคณะอักษรฯ จุฬาฯ ที่ขึ้นเวทีนำแฟลชม็อบ #จุฬารวมพล แต่ต้องมาพังเพราะกรณี “ธงดำ” ชั่วข้ามคืน เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้กันไป
ขณะที่ตัวแทนพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษายังมองไม่เห็นใครจะโดดเด่นจนได้รับการยอมรับในฐานะ “ตัวแทน” จากแฟลชม็อบที่ขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วทุกหัวระแหงตั้งแต่เหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก
แต่ถ้ามาโฟกัสที่ข้อเรียกร้องจะเห็นว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องที่กล่าวได้ว่าชัดเจนที่สุดก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาสารพัด และการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ
ข้อเรียกร้องนี้ เปิดทางให้อีกสายคือคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จับจังหวะต่อยอดแฟลชม็อบนักศึกษา โหมกระแสมาสอดรับพอดิบพอดี โดยนัดรวมพลคนอยากแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมเดินเท้าไปรัฐสภาในวันที่ 13 มีนาคมนี้ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ
อย่าแปลกใจที่ทำไมถึงมีชื่อ ครช.มาต่อยอดข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญฯ ของแฟลชม็อบ เพราะที่จริงแล้ว องคาพยพของ ครช. ซึ่งประกอบด้วยภาคประชาชน นักวิชาการ และนักศึกษา 28 เครือข่าย จับมือทำงานเชิงลึกในประเด็นนี้มาด้วยกันร่วมครึ่งปีแล้ว
โดย ครช. ซึ่งมีชื่อ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานนั้น เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 วางเป้าเดินหน้าสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยวางกรอบการทำงาน 3 เดือน พร้อมกับเดินสายจัดกิจกรรมต่อเนื่อง
ครช.จึงต่อยอดและสร้างความชัดเจน ความแหลมคม ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของแฟลชม็อบนักศึกษา มองไปยังคล้ายกับว่าเป็นการส่งไม้ต่อด้วยซ้ำไป โดยการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญยกนี้ ว่ากันตั้งแต่สีของการรณรงค์ที่เลือกใช้ “สีเขียว” แต่ต่างเฉด เช่นเดียวกันกับการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540
เช่นเดียวกันกับการชูธงที่ว่า การเขียนและแก้รัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชน
พลังบริสุทธิ์ของแฟลชม็อบนักศึกษา เท่ากับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมีโอกาสเป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น เปิดกว้างให้ภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ ได้มีส่วนร่วม และมองเห็นหัวประชาชนเจ้าของประเทศ ดังม็อตโต้ที่คนหนุ่มสาวชูป้ายว่า “ประชาชนจงเจริญ” แทนที่จะจำกัดวงอยู่เพียงฝ่ายถืออำนาจรัฐและรัฐสภาที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน เพราะ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ได้รับคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
อีกทั้ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ที่ตั้งขึ้นมาก็มีพลพรรคพลังประชารัฐ คุมเสียงข้างมาก ส่งสัญญาณปักธงตั้งแต่ไก่โห่ว่ายังไงก็คง “ไม่แก้” แต่ถึงนาทีนี้คงยากที่จะปิดกั้น
แฟลชม็อบจุดประกาย เปิดเกมเขี่ยบอลกันแล้ว กองเชียร์แต่ละฝั่งต่างส่งเสียงเชียร์กันลั่น
สำคัญที่ว่า พลังคนหนุ่มสาวต้องฟันฝ่ากันไปให้ถึงเป้าหมาย อย่าให้เสียของและที่สำคัญคือต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แสวงหาแนวร่วมให้ได้มากที่สุด อะไรที่ผิดพลาดไปแล้วก็ต้องแก้ไข เพราะต้องไม่ลืมว่า “พลังต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” ด้วย.