xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกงัดมาตรการ ‘ชัตดาวน์’ สู้ไวรัสระบาด WHO เร้า ‘อาเซียน’ ใช้เชิงรุกสกัด COVID-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวฟิลิปปินส์ยืนเข้าคิวที่ด้านนอกซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเว้นระยะห่างตามมาตรการ social-distancing
สหภาพยุโรปและหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มาตรการ ‘ชัตดาวน์’ ปิดพรมแดน และจำกัดการเคลื่อนย้ายของพลเมืองในประเทศ พร้อมสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคม (social-distancing) เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเวลานี้มีผู้ติดเชื้อทะลุหลัก 200,000 คนทั่วโลก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนรัฐบาลอาเซียนเร่งใช้มาตรการเชิงรุกต่อสู้ไวรัสมรณะ

สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศมาตรการปิดพรมแดนห้ามคนเดินทางจากภายนอกเข้ามายังกลุ่มประเทศเป็นเวลา 30 วันเพื่อสกัดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นไอเดียที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำฝรั่งเศสซึ่งหวังจะโน้มน้าวให้ชาติยุโรปไม่ประตูใส่กันเอง

แนวทางดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐในอียูหลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อป้องกันตนเองจากไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยทั้งอิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส และเบลเยียมเลือกใช้มาตรการ ‘ล็อคดาวน์’เข้มงวด และสั่งให้พลเมืองเก็บตัวอยู่แต่ในที่พักอาศัย เว้นแต่จำเป็นต้องเดินทางจริงๆ ขณะที่เนเธอร์แลนด์เลือกแนวทางควบคุมโรคแบบหลวมๆ โดยหวังว่าการแพร่กระจายของเชื้อในกลุ่มพลเมืองที่ไม่เปราะบางต่อโรคนี้อาจนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (collective immunity) ทว่าแนวคิดนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์

อังกฤษประกาศยกระดับมาตรการรับมือไวรัสโคโรนา หลังได้รับคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากหากปราศจากมาตรการที่เข้มข้น โดยสั่งให้ประชาชนงดเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น รวมทั้งงดกิจกรรมที่มีคนชุมนุมกันจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์กรณีวงร็อคผู้ดี “Stereophonics” ยังคงจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่เมืองคาร์ดิฟฟ์เมื่อวันที่ 15 มี.ค. โดยมีแฟนเพลงหลายพันคนเข้าไปอัดกันแน่นกันอยู่ใน Motorpoint Arena ราวกับว่าไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาเลยแม้แต่น้อย

สถานการณ์สหรัฐฯ ยังคงย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในเช้าวันพฤหัสบดี (19) พบผู้ติดเชื้อครบทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศรวมกว่า 9,200 คน ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งกว่า 100 คน ในขณะที่การตรวจคัดกรองพลเมืองกลุ่มเสี่ยงยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ

หลายภูมิภาคของสหรัฐฯ เริ่มหันมาใช้มาตรการปิดเมือง ตัวอย่างเช่นรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีการปิดย่านเบย์เอเรียริมอ่าวซานฟรานซิสโก เช่นเดียวกับนครลาสเวกัสซึ่งปิดทั้งโรงแรมและบ่อนกาสิโนตั้งแต่วันพุธ (18)

สหรัฐฯ เป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มประเทศก้าวหน้าที่ยังไม่มีข้อบังคับจากรัฐบาลกลางให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเมื่อลูกจ้างขอลาป่วย ข้อมูลของสถาบัน Economic Policy Institute พบว่าถึงแม้บริษัทเอกชนโดยทั่วไปจะอนุมัติให้ลาป่วยได้เฉลี่ยปีละ 8 วัน แต่ในความเป็นจริงแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดนั้นมีเพียง 30%เท่านั้นซึ่งสามารถลาป่วยโดยได้รับเงิน นี่เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมกักกันตัวเองเมื่อมีอาการป่วย นอกจากนี้อเมริกายังมีผู้อพยพผิดกฎหมายอีกเป็นล้านๆ คนที่ไม่มีประกันสุขภาพและไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง

ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะเล็งเห็นช่องโหว่ในจุดนี้ จึงได้อนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 100,000 ล้านเพื่อให้สิทธิ์ลาป่วย (sick leave) แห่ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมบริการตรวจคัดกรองไวรัสฟรีสำหรับผู้ที่จำเป็น นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ซึ่งรวมถึงการจ่ายเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันคนละ 1,000 ดอลลาร์

ทรัมป์ ซึ่งเคยถูกถูกกล่าวหาว่าประเมินสถานการณ์โควิด-19 ต่ำเกินไป ยังประกาศจะทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” และย้ำว่าอเมริกาจะต้องชนะ

ขณะเดียวกัน จีนและสหรัฐฯ ก็เริ่มเปิดสงครามน้ำลายในเรื่องต้นตอไวรัสโคโรนา โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มี.ค. กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียก ชุย เทียนข่าย เอกอัครราชทูตจีนเข้าพบเพื่อประณามการโหมกระพือทฤษฎีสมคบคิด หลังจากที่ จ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาทวีตข้อความทั้งในภาษาจีนกลางและอังกฤษในทำนองว่า “ผู้ป่วยต้นตอ” ของการระบาดครั้งนี้อาจมาจากอเมริกา ไม่ใช่อู่ฮั่น และอาจจะเป็นกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้ที่นำโรคดังกล่าวไปแพร่ในอู่ฮั่น

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ไปโวยกับ หยาง เจียฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เพื่อระบายความไม่พอใจที่ปักกิ่งโยนบาปเรื่องโควิด-19 ให้อเมริกา พร้อมเรียกร้องให้จีนหยุดแพร่ข้อมูลพิลึกพิลั่นและร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อต่อสู้โรคระบาด

อย่างไรก็ดี พอมเพโอ ก็ยังไม่หยุดใช้คำว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์เตือนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างมลทินให้กับจีนและอู่ฮั่น เช่นเดียวกับประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่ยังคงทวีตคำว่า “ไวรัสจีน” อยู่โดยไม่สนเสียงประท้วง


อิหร่านซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดในตะวันออกกลางพบผู้ติดเชื้อกว่า 17,300 คนตามข้อมูลในวันที่ 19 มี.ค. ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเพิกเฉยต่อคำเตือนของภาครัฐที่สั่งห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นในช่วงนี้

ผู้สื่อข่าวของรัฐบาลอิหร่านซึ่งเป็นแพทย์ด้วยได้ออกมาเผยผลการศึกษาซึ่งประเมินว่า อิหร่านอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสมากถึง 4 ล้านคน และเสียชีวิต 3.5 ล้านคน หากพลเมืองส่วนใหญ่ยังไม่งดการเดินทางไปมาหาสู่ซึ่งจะทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจาย

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศงดการทำละหมาด 5 เวลาภายในมัสยิดทั่วประเทศ รวมถึงการละหมาดวันศุกร์ ยกเว้นเฉพาะศาสนสถานสำคัญ 2 แห่งของอิสลามคือ ‘มัสยิดหะรอม’ ในนครเมกกะ และ ‘มัสยิดอันนะบะวีย์’ ในนครมะดีนะห์ ขณะที่มัสยิดอื่นๆ ทั่วประเทศจะป่าวประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทำละหมาดภายในเคหะสถาน นอกจากนี้รัฐบาลซาอุฯ ยังให้ภาคเอกชนหยุดงานเป็นเวลา 15 วันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ยกเว้นธุรกิจอาหารและบริการด้านสุขภาพ

ย้อนกลับมามองเอเชีย จีนพบผู้ติดเชื้อนำเข้ามากกว่ายอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันมาหลายวันแล้ว ขณะที่สถานการณ์ในเกาหลีใต้เริ่มมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเสถียร และทั้งสองประเทศเริ่มหันมาเน้นมาตรการคุมเข้มคนเดินทางซึ่งอาจนำไวรัสจากภายนอกเข้ามาแพร่ซ้ำ

จีนยังประกาศปิดโรงพยาบาลชั่วคราวทั้ง 14 แห่งที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น และยังส่งทีมแพทย์จากมณฑลเสฉวนพร้อมเวชภัณฑ์จำนวนมากไปยังอิตาลี ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่รัฐบาลโรมเคยส่งแพทย์มาช่วยเหลือจีนเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008

ประเทศหนึ่งที่ได้รับคำชมเชยว่าเป็นต้นแบบในการสกัดไวรัสโคโรนาอย่างได้ผลก็คือ “ไต้หวัน” โดยรัฐบาลประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน เริ่มใช้มาตรการคัดกรองคนเดินทางจากเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งแรกตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมผู้เดินทางทุกคนที่มีประวัติเดินทางไปอู่ฮั่น รวมถึงพื้นที่มณฑลหูเป่ยทั้งหมด นอกจากนี้ยังตัดสินใจใช้มาตรการควบคุมพรมแดน กักกันโรค และปิดโรงเรียนภายในระยะเวลาไม่นานนักหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ม.ค.

จากข้อมูลในวันพฤหัสบดี (19) ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อไวรัสสะสมเพียงแค่ 100 คน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศและดินแดนที่มีขนาดพอๆ กันอย่างสิงคโปร์ (313) และฮ่องกง (192)

ล่าสุด รัฐบาลไทเปได้ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. ส่วนพลเมืองที่กลับจากต่างประเทศก็จะต้องถูกกักกันโรค 14 วัน โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลวันละ 1,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 1,000 บาทเศษ

ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่เลื่อนจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เห็นแก่ความปลอดภัยของประชาชนและเหล่านักกีฬาจากทั่วโลก

ผลสำรวจของรอยเตอร์พบว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่าโตเกียวโอลิมปิกจะสามารถจัดขึ้นได้ตามแผนที่วางไว้ และ 2 ใน 3 เชื่อว่าการยกเลิกโอลิมปิกจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวไม่ต่ำกว่า 1%

ประชาชนทั่วโลกพากันกักตุนอาหารและข้าวของที่จำเป็นในยามไวรัสระบาด
รัฐบาลอินเดียยกระดับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ และระงับวีซ่าท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และล่าสุดยังมีการสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทัชมาฮาล, ถ้ำอชันตาและเอลโลรา, อนุสาวรีย์ และพิพิธภัณฑ์อีกนับสิบแห่ง ขณะที่นครมุมไบประกาศปิดโรงเรียน โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า โรงยิม และห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะ

ทั้งนี้ มีรายงานว่ากลุ่มชาวฮินดูในอินเดียได้จัดปาร์ตี้ดื่ม “ปัสสาวะวัว” (โคมูตร) เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 เนื่องจากวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู และบางคนก็เชื่อว่าปัสสาวะวัวนั้นมีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันแล้วว่าปัสสาวะวัวไม่สามารถรักษาความเจ็บป่วย และไม่มีหลักฐานว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ด้วย

สถานการณ์ไวรัสในอาเซียนก็เริ่มทวีความรุนแรง โดยจากข้อมูลในเช้าวันพฤหัสบดี (19) พบว่ามาเลเซียมีผู้ติดเชื้อแล้ว 790 คน มากที่สุดในอาเซียน โดยเคสส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานชุมนุมผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามซึ่งจัดขึ้นที่มัสยิดชานกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อปลายเดือน ก.พ. และมีชาวมุสลิมทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมเกือบ 20,000 คน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มาเลเซียต้องประกาศปิดพรมแดนไม่ต้อนรับนักเดินทางและห้ามพลเมืองออกนอกประเทศ, จำกัดการเคลื่อนย้ายพลเมือง, ระงับการเรียนการสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ และสั่งให้ภาคธุรกิจทั้งหมดปิดทำการระหว่างวันที่ 18-31 มี.ค.

ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ บรูไน และกัมพูชา ก็พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมชุมนุมทางศาสนาในมาเลเซีย ขณะที่ไทยเองก็กำลังเร่งติดตามชาวมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ไปเข้าร่วมงานชุมนุมดังกล่าว

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติแห่งชาติเป็นเวลา 6 เดือนในวันอังคาร (17) ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ภาครัฐสามารถระดมทรัพยากรเพื่อใช้สกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ได้ประกาศมาตรการล็อคดาวน์เกาะลูซอนจนถึงวันที่ 12 เม.ย.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเรียกร้องในวันอังคาร (17) ให้บรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้มาตรการเชิงรุกในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนว่าบางประเทศมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่เชื้อภายในชุมชน (local transmission)

สมาคม Akhil Bharat Hindu Mahasabha ในอินเดียจัดปาร์ตี้เครื่องดื่มที่ทำจากปัสสาวะวัว, อุจจาระวัว, นมวัว, เคิร์ด และเนยฆี ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้

คณะแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ไวรัสโคโรนาเดินทางถึงสนามบินกรุงโรมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. (Photo : Italian Red Cross Press Office)

บรรยากาศเงียบเหงาบริเวณประตูชัยในกรุงปารีส หลังรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศมาตรการล็อคดาวน์
กำลังโหลดความคิดเห็น