xs
xsm
sm
md
lg

คนไม่ใช่ระบบ : เหตุให้การเมืองดีหรือเลว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การปกครองที่ได้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันแบ่งออกได้ 3 รูปแบบ ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยอธิปไตย คือ อำนาจในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร 3 ประการคือ

1. อัตตาธิปไตย คือ การถือตนเองเป็นใหญ่ในการทำหรือไม่ทำอะไร เปรียบได้กับพฤติกรรมของผู้นำในระบบเผด็จการ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำ โดยยึดความคิดเห็นของตนเองเพียงผู้เดียวเป็นหลัก จะฟังผู้อื่นบ้างก็เพียงส่วนประกอบในการตัดสินใจเท่านั้น

2. โลกาธิปไตย คือ การถือกระแสโลกหรือความคิดเห็นของคนหมู่มากในสังคมนั้นๆ เป็นหลักในการทำหรือไม่ทำอะไร เปรียบได้กับพฤติกรรมของผู้นำในระบอบประชาธิปไตย

3. ธัมมาธิปไตย คือ การถือความถูกต้อง และเป็นธรรมในการทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งเป็นพฤติกรรมของผู้นำการปกครองในสังคมของอริยบุคคล ผู้หลุดพ้นจากกิเลส เฉกเช่นพระพุทธเจ้าผู้ทรงปกครองสังฆมณฑล โดยยึดธรรมะเป็นหลัก และทรงบัญญัติพระวินัยเป็นเครื่องมือ เนื่องจากภิกษุในสังฆมณฑลส่วนหนึ่งยังคงเป็นสมมติสงฆ์ จึงต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบเรียบร้อย

ในสังคมของปุถุชนคนมีกิเลส พฤติกรรมของผู้นำจะเป็นไปตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ส่วนข้อ 3 ถ้ามีก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่แฝงไว้ในระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครอง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ในทำนองเดียวกันกับพระวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครองสังฆมณฑล เมื่อมีจำนวนภิกษุเพิ่มขึ้น และมีทั้งที่เป็นอริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์ (คือยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล อาจกระทำความผิดเพราะถูกกิเลสครอบงำได้ จึงต้องมีพระวินัยควบคุม ในทำนองเดียวกับกฎหมายของบ้านเมือง)

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ผ่านการปกครองทั้งในระบบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย โดยการสลับสับเปลี่ยนเป็นระยะๆ และจากการที่ประเทศไทยเคยเป็นเช่นนี้ อนุมานได้ว่า การปกครองทั้งสองระบบไม่มีระบบใดทำให้คนไทยอยู่ดี กินดี มีความสุข เป็นที่พอใจของประชาชนได้อย่างถาวร ในทางกลับกัน ทั้งสองระบบทำให้คนไทยมีความทุกข์ ความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากความยากจน และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะการเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ อันเกิดจากนักการเมือง พ่อค้า และข้าราชการร่วมกันในรูปแบบของ 3 ประสาน และนี่เองคือเหตุจูงใจให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทั้งสองระบบ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสลับสับเปลี่ยนเป็นวัฏจักรระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ กำลังจะเดินเข้าสู่วัฏจักรทางการเมือง เฉกเช่นหลายๆ รัฐบาลในอดีต ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรก โดยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการที่ คสช.ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และเป็นรัฐบาลในระบอบเผด็จการนานกว่า 5 ปี แต่ตลอดเวลา 5 ปีไม่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และแถมมีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันให้เป็นที่ครหาอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง จึงทำให้มีข้อด้อยทางการเมืองในด้านบริหารประเทศ ประกอบกับในรัฐบาลชุดนี้มีรัฐมนตรีจากรัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจได้เข้ามาร่วมด้วย จึงทำให้เกิดข้อด้อยทางการเมือง ประการที่สองของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่มีโอกาสเลือกคนดีมีฝีมือ แต่ไม่เลือก

2. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โอกาสกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง

3. องค์กรอิสระ เช่น กกต. และป.ป.ช. เป็นต้น ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือเกื้อหนุนบุคลากรทางการเมืองฝ่ายรัฐบาล และในขณะเดียวกัน เป็นเครื่องมือกำจัดการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น จึงทำให้เกิดกระแสต้านทางการเมืองเกิดขึ้น จะเห็นได้จากการที่นิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนส่วนหนึ่งได้ชุมนุมคัดค้านในเชิงสัญลักษณ์

ดังนั้น จากนี้ไปถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเป็นเหตุแห่งการเกิดกระแสต้าน จึงอนุมานได้ว่า คงจะมีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความรุนแรงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น