xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ2แสนล้าน ดูแลธุรกิจ-ประชาชนเจอพิษโควิด-19 "บิ๊กตู่"เปิดศูนย์นั่งบัญชาการเอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360-ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวม 12 มาตรการ ใช้วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท ดูแลทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน ผ่านมาตรการทางการเงินและภาษี "บิ๊กตู่"ยันแค่เฟสแรก อาจมีเฟส 2 และ 3 ตามมาอีก เผยได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แล้ว นั่งบัญชาการเอง สั่งเร่งผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าอีก 50 ล้านชิ้น แก้ขาดแคลน ล่าสุดพบผู้ป่วยอีก 3 ราย รวมเป็น 53 ราย เตือนเลี่ยงเที่ยวยุโรป หลังระบาดหนัก ระบุตามตัวผีน้อยได้เกือบครบแล้ว เล็งเปิดที่กักกันอีก 2 แห่งรองรับ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า วานนี้ (10 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 รวม 12 มาตรการ เพื่อการดูแลทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ภายใต้หลักการที่ว่าเป็นมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็น ประกอบด้วยมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี

โดยมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย

2.มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

4. มาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม โดยเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

นายอุตตมกล่าวว่า ส่วนมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 1.มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.2563 ในรอบปีภาษี 2563 2.มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้นำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่าในการคำนวณภาษีเงินได้ และ 4.การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น โดยหากเป็นผู้ที่ยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต จะคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนการยื่นที่สำนักงานสาขาของสรรพากร จะคืนให้ภายใน 45 วัน

สำหรับมาตรการอื่นๆ เช่น 1.มาตรการบรรเทาการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ , การคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า 2.กองทุนประกันสังคม ให้ลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 3.มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ 4.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท สำหรับเงินลงทุนในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนได้ 2 แสนบาท โดยอาจจะพิจารณาขยายเวลาให้อีกหากมีความจำเป็น

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรเสนอในการยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัย เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากนี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบให้กันวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดรูปแบบและขอบเขตการใช้วงเงินดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม. ยังมีมติให้ทุกส่วนราชการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ได้รับ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท ให้ได้ประมาณ 10% เพื่อไปดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายย่อย การจ้างแรงงาน ระยะสั้น และให้พิจารณาปรับแผนการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่ตั้งไว้สำหรับศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ให้นำมาดำเนินการภายในประเทศที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเบื้องต้นออกมาแล้ว ว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง ทั้งช่วยประชาชนทั่วไป เอสเอ็มอี รายย่อย หรือผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการที่ออกมา ถือเป็นมาตรการระยะที่หนึ่งเท่านั้นเอง อาจจะมีระยะ 2 ระยะ 3 ต่อไป แต่อย่าลืมว่ามันต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบในการที่จะใช้เงินของรัฐให้ถูกต้อง

สำหรับการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีการเปิดศูนย์บริหารสถานการณ์ มีตนบัญชาการเอง ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ที่ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยที่ต้องแยกออกเป็น 3 ศูนย์ เพราะใช้กฏหมายคนละฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ , พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่จะทำให้มีการกำกับดูแลได้ดีขึ้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ได้มีการสั่งทำทั้งหน้ากากอนามัยแบบผ้าเพิ่มจำนวน 50 ล้านชิ้น พร้อมสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมหาช่องทางในการผลิตอีก 20 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนลงได้ ส่วนโรงงานตรวจสอบแล้ว ไม่พบมีการกักตุน และการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ ก็ได้เร่งกระจายแล้ว แต่ที่ยังไม่พอ เพราะกำลังผลิตในประเทศมีเดือนละ 38 ล้านชิ้น และยังไม่มีการนำเข้า โดยคนที่ไม่เป็นอะไร ก็ไม่ต้องใช้หน้ากากอนามัย ใช้แบบผ้าแทน เพื่อลดความต้องการลง ขณะที่เงินบริจาค จะเป็นเงินกองทุนที่นำมาใช้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้นโยบายไปผลักดันจัดตั้งโรงงานทำหน้ากากอนามัยแบบครบวงจร ซึ่งมีบริษัทใหญ่ๆ เสนอเข้ามาแล้ว อันนี้ต้องไปหามาตรการสร้างแรงจูงใจในการตั้งโรงงาน ซึ่งไม่ได้มีเจ้านี้เจ้าเดียว ให้ดูเจ้าอื่นด้วย เดี๋ยวจะหาว่าเอื้อประโยชน์กันอีก ถือเป็นสิทธิในการเสนอขอรับมาตรการต่างๆ ของบีโอไอ ถ้าจะทำหน้ากากให้ครบวงจร ทั้งนี้ ทราบว่า 5 สัปดาห์ ก็ตั้งได้แล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับกรมการปกครองดำเนินการ ว่า ขณะนี้การฝึกวิทยากรกำลังดำเนินการ โดยใช้ฐานตำบลและหมู่บ้าน มีความคืบหน้าได้ประมาณ 100,000 กว่าคนทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งจ่ายเงินไปถึงทางจังหวัดแล้ว ในสัปดาห์นี้ น่าจะเป็นเรื่องของการให้เงินลงไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วเมื่อเงินไปถึง เขาก็จะสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ ซื้อของได้ ถ้าเป็นไปตามนี้ใครที่สามารถทำได้เร็ว ก็น่าจะเริ่มผลิตได้ต้นสัปดาห์หน้า เราก็พยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19ยังไม่ร้ายแรงที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยภาพรวมของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เห็นได้จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ที่รักษาหาย รัฐบาลยังสามารถควบคุมดูแลได้ แต่เห็นว่าในการทำงานของกระทรวงต่างๆ ในการควบคุมดูแลไวรัสโควิด-19ทุกฝ่ายคงต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่จำนวน 3 ราย มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางกลับมาจากอิตาลี โดยรายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 41 ปี ไม่มีประวัติไปเดินทางต่างประเทศ แต่มีความใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วยชายไทยรายที่ 45 ที่กลับมาจากอิตาลี โดยหญิงรายนี้เริ่มป่วยวันที่ 7 มี.ค. มีอาการไข้ ตรวจวินิจฉัยพบไวรัสโคโรนา2019 แต่อาการไม่มาก รักษาอยู่ รพ.ราชวิถี ส่วนรายที่ 2 และ 3 เป็นสามีภรรยากัน โดยภรรยาอายุ 46 ปี กลับมาจากอิตาลีถึงไทยวันที่ 28 ก.พ.2563 แล้วมีอาการไม่สบาย จึงไปตรวจวินิจฉัย เมื่อไปตรวจก็พบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่รายนี้ไม่ได้สัมผัสใคร เพราะรู้ว่ากลับมาจาก 4 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรคจึงระวังมาก ยกเว้นคนในครอบครัว คือ สามี อายุ 47 ปี เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด เริ่มมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย วันที่ 7 มี.ค.2563 จึงไป รพ.แล้วตรวจพบเชื้อ โดยทั้ง 2 ราย อยู่ในการรักษาของ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม

ทั้งนี้ หากนับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ทำให้ไทยมีผู้ติดเชื้อรวมเป็น 53 ราย รักษาหาย 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังรักษาใน รพ. 19 ราย สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 4,682 ราย กลับบ้านแล้ว 2,844 ราย ยังรักษาตัว 1,838 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วย 108 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ ผู้ป่วยยืนยัน 111,817 ราย เสียชีวิต 3,893 ราย โดยสถานการณ์ในจีนมีแนวโน้มดีขึ้น มีผู้ป่วยรายใหม่ในหลัก 10 ราย มีการปิด รพ.สนามบางแห่ง แสดงว่าผู้ป่วยในระบบ รพ.ปกติรักษาเพียงพอ แต่ที่น่าห่วง คือ อิตาลี มีผู้ป่วยสะสมและผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอันดับ 2 ของโลก และนอกจากการปิดแคว้นในช่วงแรก ก็ได้มีการปิดประเทศทั้งหมด ดังนั้น ใครที่จองตั๋วจะไม่ไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะไปยุโรป ต้องระวังให้มาก ซึ่งไม่ใช่แค่อิตาลี ยังมีฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สวีเดน เบลเยียม ที่ขึ้นมาเป็นอันดับท็อป 10 เร็วมากในเวลาไม่กี่วัน โดยสถานการณ์เปลี่ยนจากจีนไปสู่ยุโรป จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ๆ มีการระบาด

ส่วนกรณีแกร็บจากสิงคโปร์มาประชุมที่ไทย และกลับไปมีอาการป่วยเป็นโควิด-19 นั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ต้องตรวจสอบก่อนว่ารับเชื้อจากประเทศไหน เพราะมาไทยแค่สั้นๆ ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วย และกรณีนักบิน แอร์โฮสเตส ที่กลับมาจาก 4 ประเทศเขตติดโรค ต้องกักตัว 14 วัน ถึงจะกลับไปทำงานต่อได้

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แรงงานไทยนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จนถึงขณะนี้มีจำนวน 188 คน เป็นผู้ชาย 88 คน และผู้หญิง 100 คน มาจากเมืองที่มีการระบาดมาก คือ แทกู และคยองซังเหนือ มีกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ 20 คน การคัดกรองไม่พบผู้ป่วย สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อยู่ในสถานที่สะดวกสบาย อย่างไรก็ตาม จำนวนแรงงานนอกระบบที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้คงมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างบุรีรัมย์ก็ทยอยเข้าสถานที่กักตัวที่กำหนดแล้ว

สำหรับแรงงานนอกระบบจำนวน 80 คนที่ไม่ได้เข้าสถานที่กักตัวนั้น ตอนนี้ตามได้เกือบหมดแล้ว เหลือไม่ถึง 10 ราย เนื่องจากมีการแจ้งที่อยู่หนึ่ง แต่เมื่อไปดูพบว่าไม่ได้อยู่ตามที่แจ้ง และเมื่อตามเจอแล้ว ก็จะให้กักตัวที่บ้านอย่างเข้มงวด 14 วัน ห้ามออกจากบ้าน มีการวัดไข้รายงานสุขภาพทุกวัน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการรายงานการกักตัวผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศว่า ที่สัตหีบมี 188 คน ยังไม่มีใครมีไข้เลย ยังสามารถรองรับได้อีก 200 คน ส่วนบุรีรัมย์ มี 200 คน ซึ่งสถานที่อาจจะยังไม่พร้อม ต้องขออภัยและกำลังจะปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจจะเห็นมีคนโพสต์ที่ไปกักตัวว่าเป็นห้องน้ำรวม ไม่สะดวกสบาย ก็จะมีการปรับปรุง ก็ขอโทษด้วย ส่วนที่สัตหีบ ถือว่ามีความพร้อม มีการบริหารจัดการอย่างดี เพราะเขามีประสบการณ์ ซึ่งวันที่ 10 มี.ค.2563 จะมีไปที่สัตหีบอีก 3-4 เที่ยวบิน ส่วนคนที่หนีการรายงานตัว ขณะนี้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว 74 คน จาก 80 คน ถ้าใครไม่ร่วมมือจะเอาไปกักตัวในสถานที่ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมไว้ ส่วนที่เหลือ 6 คน เขามีเวลาวันนี้อีก 1 วัน ถ้าก่อนเที่ยงคืนเขาไปรายงานตัว จะได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ได้เตรียมสถานที่รองรับอีก 2 จุด คือ ที่กำแพงแสน จ.นครปฐม และค่ายอดิศร จ.สระบุรี

วันเดียวกันนี้ แถลงการณ์จากทางแกร็บ แจ้งว่า พนักงานที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นชาวต่างชาติ ที่ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ แต่เดินทางมาติดต่องานที่ไทยช่วงวันที่ 5-6 มี.ค.2563 ณ บริเวณชั้น 19 ของอาคารสมัชชาวาณิช 2 (หรืออาคาร UBC 2) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ แกร็บ ประเทศไทย โดยมิได้แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด และได้เดินทางกลับไปยังประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา แต่เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรค บริษัทได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเพื่อระบุตัวตนบุคคลที่พนักงานคนดังกล่าวได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย และส่งตรวจร่างกาย พร้อมให้กักตัวเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งได้ปิดสำนักงานใหญ่เป็นการชั่วคราว 5 วัน และให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะที่ศูนย์บริการพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บ ณ อาคารธนภูมิ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น