โบรกเกอร์เปิดโผหุ้นรับประโยชน์จากมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 หุ้นกลุ่มค้าปลีก รับเหมา ท่องเที่ยวเรียงคิวรับอานิสงส์ ขณะที่เตรียมลุ้นเฟสต่อไปกระตุ้นท่องเที่ยว ออกนโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดา เชียร์ CPALL STEC TASCO ERW
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ออกมาตรการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยแล้ง โดยการแจกเงินให้แก่ประชาชน 2,000 บาท/คน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยจะแจกเดือนละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน และพฤษภาคมนี้ ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ
ASPS แนะเลือก CPALL รับมาตรการแจกเงิน
บทวิจัยจาก บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ครม.เศรษฐกิจพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังซึ่งเน้นการใส่เงินเข้าระบบทันที และมาตรการเยียวยาภาคท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อรองรับผลจาก COVID-19 หลักๆ คือ กระตุ้นการบริโภควงเงินรวมราว 1 แสนล้านบาท (ราว 1% ของ GDP) แบ่งเป็น อัดฉีดเงินกระตุ้นการบริโภค 1,000-2,000 บาท/คน ให้แก่ประชาชนราว 14.6 ล้านคน หลักๆ คือ ผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ เกษตรกร ผ่านระบบพร้อมเพย์
นอกจากนี้ ยังมีมาตรอื่น เช่น มาตรการภาษี คือ ผู้ประกอบการให้สามารถจ้างลูกจ้างต่อ นำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายสำหรับคำนวณภาษีได้มากกว่า 1 เท่า และมาตรการช่วยเหลือ SME สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เป็นต้น
โดยรวมมาตรการกระตุ้นที่รัฐออกมาดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามุ่งเน้นไปที่กระตุ้นกำลังซื้อการบริโภค ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อหุ้นค้าปลีกโดยตรง ASPS เลือก CPALL(FV@B 91)
หยวนต้า ชี้ยังมีก๊อก 2-3 กระตุ้นเศรษฐกิจ แนะ 3 กลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว โรงแรม
บล.หยวนต้า เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แบ่งเป็น
(1) ให้เงินผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกรรายละ 1,000-2,000 บาท จำนวน 14 ล้านคน ใช้วงเงินรวม 1.4-2.8 หมื่นล้านบาท
(2) ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แบ่งเป็น 2 ส่วน (2.1) ธนาคารออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยต่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ (2.2) ให้ ธปท. ผ่อนมาตรฐานบัญชีบางอย่างแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้
(3) ดูแลแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้าง โดยให้นำรายจ่ายค่าแรงมาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า และลดค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐเรียกจัดเก็บเป็นการชั่วคราว เช่น ค่าเช่าที่ราชพัสดุ
(4) มาตรการดูแลตลาดทุน จะผ่อนคลายเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) โดยการขยายวงเงินสูงสุดจาก 200,000 บาท ไปใกล้เคียงกับ LTF เดิมคือ 500,000 บาท
(5) มาตรการทางภาษี สำหรับมาตรการชุดที่ 1 อาจพิจารณาลดวงเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย และยืดเวลาการจ่ายภาษีนิติบุคคลเหมือนที่ยืดให้บุคคลธรรมดา แต่ยังไม่มีการลดอัตราภาษี ขณะที่มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 และการเพิ่มสวัสดิการคนจนจะพิจารณาในช่วงเดือน เม.ย.63 และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจะออกไล่เลี่ยกันใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ในส่วนของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจากฝั่งพรรคภูมิใจไทย คาดว่าจะเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยในส่วนของการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว ก่อนหน้ากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีช่วยไปแล้ว ทั้งการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน การให้นำค่าปรับปรุงโรงแรมมาลดหย่อนได้ 1.5 เท่า และการให้ประชาชนยืดเวลาจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน ถึง มิ.ย.63
แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังไม่ออกมาตรการกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ที่จะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศฟื้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นไปได้ที่จะเร่งออกมาตรการเพื่อให้สอดรับต่อกระทรวงการคลังในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุน กระทรวงคมนาคมจะนำโครงการ PPP ให้ ครม. อนุมัติกว่า 41 โครงการ มูลค่าการลงทุน 7.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.5% ของ GDP ซึ่งจะทำให้ยอดการลงทุนภาครัฐและเอกชนทั้งปีนี้มีโอกาสเร่งตัวจากปีก่อนที่โตต่ำเพียง 2.2% YoY คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น Series หลังจากนี้ โดยถ้าชุดแรกไม่ได้ผล ยังเหลือชุดที่ 2-3 ที่คาดว่าจะมีการลดภาษีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ ส่วนผลกระทบต่อมาตรการชุดที่ 1 เบื้องต้น เราประเมินเป็นบวกต่อ SET INDEX จากสภาพคล่องในระบบที่เพิ่มขึ้นและจะได้เม็ดเงินลงทุนในหุ้นผ่าน SSF ที่ปรับโฉมให้ใกล้เคียง LTF โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทันที คือ
(1) ค้าปลีก (CPALL/BJC/MAKRO/CRC/HMPRO) โดยเฉพาะ CPALL ที่ครั้งก่อนไม่ได้ประโยชน์จากชิมช้อปใช้ แต่ครั้งนี้จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากผลของโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนเลือกนำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อมากกว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
(2) กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง (STEC/CK/TASCO/TEAMG)
(3) กลุ่มท่องเที่ยว (AOT/MINT/ERW)
แนะนำ “สะสม” CPALL (ราคาเหมาะสม 81.00 บาท) STEC (ราคาเหมาะสม 24.80 บาท) TASCO (ราคาเหมาะสม 27.00 บาท) ERW (ราคาเหมาะสม 5.00 บาท)
HMPRO ตั้งตารอเงื่อนไขแจกเงิน เชื่ออานิสงส์แน่
นายรักพงษ์ อรุณวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบัญชี บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรอดูเงื่อนไขในการแจกเงินให้แก่ประชาชนก่อนว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แต่เบื้องต้นมองว่า หากแจกเงินเข้าพร้อมเพย์โดยตรง เชื่อว่า HMPRO น่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการดังกล่าวด้วย
“มาตรการที่ออกมาจะมากหรือน้อย ก็เป็นเรื่องดี เพราะดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย ส่วนประโยชน์จะได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูเงื่อนไขออกมาก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของวิธีการ และร้านค้าในการให้ประชาชนจับจ่ายได้” นายรักพงษ์ กล่าว