"คลัง" ยันไม่ได้หว่านเงินถึงแสนล้านบาทสู้พิษไวรัสโควิด-19 ย้ำไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย แต่เป็นชุดมาตรการระยะสั้นที่จำเป็นต้องประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดวิกฤต
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งท่านอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ เป็นชุดมาตรการระยะสั้นที่มีความจำเป็นและเห็นผลรวดเร็ว เพื่อประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดวิกฤต ซึ่งครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 2.ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยในส่วนของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเงินเข้ากระเป๋า เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยจะใช้วิธีโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล ซึ่งกระทรวงการคลังมีฐานข้อมูลรายชื่ออยู่แล้ว
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์แบบต้นทุนต่ำ เพื่อให้นำไปปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงและทำได้จริง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยยืดหยุ่นกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อและการกันสำรองหนี้เป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไม่อยากให้มองแยกส่วน อยากให้มองเป็นชุดมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระบบ เป็นการให้ความช่วยเหลือชั่วคราว ดูแลพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีเงินในกระเป๋าไว้จับจ่าย รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายถึงแสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงความเหมาะสมของคณะรัฐมนตรี
รัฐบาลในหลายๆ ประเทศที่กำลังประสบปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็มีชุดมาตรการระยะสั้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นกัน เช่น กระทรวงการคลังฮ่องกง ออกแถลงข่าวในวันที่ 26 ก.พ.63 ว่าจะแจกเงินให้ประชาชน 7 ล้านคน คนละ 41,000 บาท เพื่อให้จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ บรรเทาพิษเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด"
อย่างไรก็ตาม นายชาญกฤช กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีชุดมาตรการระยะยาวเพื่อดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบด้วยเช่นกัน เช่น โครงการประชารัฐสร้างไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนทั่วทั้งประเทศ โดยรัฐบาลได้นำร่องพัฒนาความรู้และทักษะเชิงนวัตกรรมในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีการเพาะปลูก-เก็บเกี่ยวเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ยกระดับสู่เกษตรแปรรูป ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างช่องทางการกระจายสินค้า ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วในหลายชุมชนนำร่อง รัฐบาลให้ความสำคัญต่อชุดมาตรการระยะยาว ผ่านโครงการประชารัฐสร้างไทยมาก เพราะจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตามชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างตรงจุดและอย่างยั่งยืน