xs
xsm
sm
md
lg

"ลุงตู่"แตะเบรกแจกเงิน-พลังงานชงครม.วันนี้…4มาตรการลดภาระปชช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- นายกฯยอมถอยแจกเงิน 2,000 บาท หารือ ก.พลังงาน คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า แต่ละครัวเรือนแทน เข้าครม.วันนี้ แจงเงินกองทุนฯแบ่งช่วยแพทย์ทุกเม็ด ตรวจสอบได้ พร้อมดูแลภาคธุรกิจเอกชน ขอให้เชื่อมั่น-เข้าใจ อย่าโวยว่าแจกเงินอย่างเดียว "สนธิรัตน์" ถก กบง.เคาะ 4 มาตรการรับมือโควิด-19 และภัยแล้งกระทบศก. ทั้งคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า- ลดค่าไฟ -ยืดชำระค่าไฟบิลเม.ย.-พ.ค.เป็นเวลา 6 เดือน และดึงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าร่วมสู้ภัยแล้ง รวมวงเงินอัดลงศก.4.5 หมื่นล้านบาท

วานนี้ (9 มี.ค.) ที่อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม (กห.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 ว่าได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนราชการบูรณาการงานระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหา โควิด-19 ภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเราต้องการความเร่งด่วนในการทำงาน จึงต้องร่วมกันคิด โดยเฉพาะปัญหา โควิด-19 ได้เน้นย้ำในเรื่องการให้บริการประชาชน

สำหรับการแก้ปัญหา โควิด-19 ได้สั่งให้มีการทบทวน และให้แนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้น วันนี้มีความกังวลในกลุ่มแรงงานจากเกาหลีใต้ หรือ ผีน้อย ขอยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นมา รัฐบาลสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ขาออกจากเกาหลีใต้ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้แจ้งไปยังทุกสายการบินว่า จะต้องแจ้งตั้งแต่ต้นทางว่าใครจะเข้าประเทศบ้าง ในกลุ่มที่ได้เข้ามาก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการติดตามขอข้อมูลรายละเอียด จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กระทรวงคมนาคม (คค.) สายการบิน และท่าอากาศยานต่างๆ ก็กำลังเร่งติดตามคนที่เข้ามาก่อน เพื่อนำเข้าสู่ระบบให้ได้ ยอมรับเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพราะประชาชนของเราบางทีก็ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน หรือแจ้ง แต่กลับไปอ้อมเข้ามาอีกเส้นทาง จากนั้นก็ไปทานอาหาร และโพสต์ภาพถ่ายออกมา แสดงว่าความรับผิดชอบต่อตัวเองในส่วนของสังคมค่อนข้างน้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบย้อนกลับทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่ระบบการคัดกรองให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งระบบการคัดกรองเรามีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วว่า ผู้ใดที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ถ้าไม่เข้ารับการตรวจสอบ ก็จะถูกลงโทษ มีทั้งคดี และการปรับ ส่วนข้อเสนอให้ปรับเป็นล้านบาทนั้น ตนคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้ายังแก้ไม่ได้ ก็จะไปดูแก้ที่ความรุนแรงกฎหมายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมพื้นที่ควบคุมไว้กว่า 200 แห่ง แต่ไม่ขอลงรายละเอียด แต่ยืนยันว่าเป็นสถานที่ปิด ที่ควบคุมได้ คล้ายพื้นที่สัตหีบ หลายคนได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว แต่คนที่ยังไม่แจ้ง ต้องติดตามตัวกันต่อไป ในส่วนของพื้นที่วันนี้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ตำรวจ ทหาร ได้เข้าไปดูแลและสำรวจร่วมกับท้องถิ่น ว่ามีผู้ใดหลบหนีจากการกักตัว วันนี้ก็เข้มงวดทุกด่านสกัด จึงขอให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน วันนี้ได้มอบหมายให้มีการตรวจสอบไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งตัวเลขโดยประมาณ เดือนละ 38 ล้านชิ้น ที่ผลิตได้จาก 11 โรงงาน เฉลี่ยวันละ 1.8 ล้านชิ้น โดยมีสัดส่วน 8-9 แสนชิ้น ที่ลงไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ และการกระจายลงไปยังโรงพยาบาลต่างๆ มีสัดส่วนที่ชัดเจน รวมทั้ง รพ.เอกชนด้วย แต่ปัญหาคือ การบริหารจัดการ แต่เท่าที่ดูตัวเลขตอนนี้ส่งไปครบถ้วน เพียงแต่จะเพียงพอ หรือไม่ ถ้าไม่พอแล้วจะทำอย่างไร ในส่วนที่เหลือหลังแจกจ่ายไปให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว ก็แจกจ่ายไปตามการค้าขายตามปกติ ซึ่งจะมีระบบส่งจากพ่อค้าคนกลาง ไปสู่ร้านค้า แต่วันนี้หลายร้านค้าไม่มีของ ก็ต้องไปดูว่าหายไปไหน

"เช้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ลงพื้นที่ไปตรวจสอบใน 5 จุด ซึ่งอาจจะมีการกักตุน รวมทั้งในจุดที่มีการแพร่ในโซเชียลฯ ขณะนี้รอผลตรวจสอบอยู่ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือเพิ่มสายการผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งคาดว่าจะได้อีกประมาณ 20 ล้านชิ้น แต่อาจจะต้องใช้เวลา และจะมีการออกมาจำหน่ายในลำดับต่อไป ขณะที่ มท. ก็เริ่มแจกจ่ายหน้ากากผ้าไปบ้างแล้ว ถือเป็นหน้ากากทางเลือกในขณะนี้ และขอให้แยกแยะการใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ซึ่งบางครั้งถ้าอยู่บ้านก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้าใส่กันมาก ความต้องการก็มีมาก ประเทศไทยมีคน 70 ล้านคน แต่เราผลิตได้เพียงเดือนละ 38 ล้านชิ้น ก็จำเป็นต้องเอาหน้ากากผ้ามาเสริม

นายกฯ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่า ถ้ามีการแพร่ไปสู่ระยะที่ 3 จริง เราจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องความสำคัญกับสถานควบคุม โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ อย่างสถาบันบำราศนราดูร ที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งมีความเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ดูแลในส่วนของประกันสุขภาพ โยงมาถึงการรับบริจาคเงินของรัฐบาล ยืนยันว่า ไม่ใช่รัฐบาลไม่มีเงิน เพียงแค่ ครม.เสนอมา ต้องการร่วมมือกันตั้งงบประมาณบริจาคมา แต่มีคนเอาไปพันกับงบฯ น้ำท่วม ยืนยันว่า ทุกงบฯ มีบัญชี มีการตรวจสอบ และจะต้องขออนุมัติทุกครั้งในการใช้จ่าย ไม่ใช่จน หรือใครจะสั่งได้ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ เงินบริจาคดังกล่าว จะเผื่อไว้ถ้ามีความจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณรัฐ ส่วนหนึ่งก็จะนำไปช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หลายคนเอามาโยงกันทั้งหมด ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยไม่พอ มาพันกับเงินบริจาค อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน

เลิกแจกเงิน2พันแต่คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในขณะนี้ ทุกเรื่องตนนำมาคิดใคร่ครวญทั้งหมด แม้จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ไปแล้วก็ตาม ทุกอย่างต้องเข้าสู่การคัดกรองของครม.ชุดใหญ่ อีกครั้ง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะประกาศใช้ได้เลย

"วันนี้ผมได้หารือกับกระทรวงพลังงานแล้ว เรื่องการจ่ายเงิน คนละ 1,000 บาท จำนวน 2 เดือน ผมยังไม่จ่าย เอาไว้อีกระยะหนึ่ง ค่อยมาดู แต่วันนี้ได้พิจารณา จะคืนเงินให้ประชาชน เช่น ในเรื่องค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการประกันอยู่มิเตอร์ละประมาณ 3,000 บาท รัฐจะคืนตรงนี้ให้ ซึ่งถือว่ามากกว่า 2,000 บาท จะได้ทุกบ้าน ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จะไม่ให้ คนที่จะได้คือผู้ที่มีบ้านเป็นของตัวเอง อย่างน้อยก็ประทังไปได้ 3,000 บาท ส่วนเงิน 2,000 บาท เอาไว้ว่ากันภายหลัง ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ยังไม่รู้ ต้องขอไปดูเม็ดเงินก่อน"

นอกจากนี้ ยังได้หารือในเรื่อง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ว่าอะไรจะลดราคาได้บ้าง รวมทั้งค่าพลังงาน ค่าน้ำมัน แก๊ส จึงขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาตีกัน ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

เมื่อถามว่า เรื่องมาตรการช่วยเหลือ 2,000 บาท จะนำมาพิจารณาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องมาตรการช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยเดือนละ 1,000 บาทนั้น ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะยังไม่เข้าครม. จะมีแค่มาตรการช่วยเหลือคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าประจำบ้านหลังละ 3,000 บาท ที่จะนำเข้าครม. ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ ก่อน

พร้อมดูแลภาคธุรกิจเอกชน

นายกฯกล่าวว่า เราต้องหาเงินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อดูแลภาคธุรกิจ เอกชน ที่มีปัญหา เช่นการท่องเที่ยว บริษัทประกอบการร้านค้า การจัดอีเวนต์ เพราะไม่มีใครจัดอะไรเลย และเรื่องสมาคมขนส่งรถบัส ที่รับส่งทัวร์ ก็ไม่มี ส่วนการจัดประชุมสัมนา ก็ขอให้จัดกันภายในประเทศ ต้องไปดูว่าส่วนราชการพอจะจัดได้หรือไม่ ถ้ามีคนมาก ก็ต้องดูมาตรการ เช่น โรงแรมสามารถรองรับได้หรือไม่ ภาคเอกชน ก็มีการเตรียมมาตรการป้องกันด้านความสะอาด เพื่อรับรองว่าสถานประกอบการนั้นพร้อม และหากเราช่วยเขาได้ ในการใช้สถานที่จัดประชุม ก็จะช่วยดูแลกัน ในการไม่ต้องลดแรงงาน ขณะที่การไปประชุม และดูงานต่างประเทศ ได้ห้ามไปแล้ว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็แจ้งมาแล้วว่า จะไม่ไป ทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมมือสอดประสานกัน ตนพยายามคิดเพื่อให้ตอบคำถามได้ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะขับเคลื่อนภายในสองเดือนนี้ให้ได้โดยเร็วก่อน

"สนธิรัตน์"ชง4มาตรการเข้าครม.วันนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ว่า กบง.ได้เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภาวะภัยแล้งที่จะมีผลต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยโดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเสนอขออนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้(10 มี.ค.) ต่อไป

สำหรับ 4 มาตรการประกอบด้วย 1. การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า(ค่าประกันมิเตอร์) ที่จะคืนให้กับผู้ใช้ไฟใน 2 ประเภทได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือบ้านอยู่อาศัย และประเภท 2 หรือกิจการขนาดเล็ก ครอบคลุมจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ 21.5 ล้านคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะมีการทยอยคืนเงินตั้งแต่รอบบิลเดือนมีนาคมนี้หรือตั้งแต่เม.ย.เป็นต้นไป โดยรายละเอียดการคืนเงินจะได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

" เงินค่าประกันมิเตอร์นั้นจะมีอัตราต่างกันออกไปแล้วแต่ประเภทกิจการโดยเฉลี่ยก็จะมีตั้งแต่ 2,000-3,000 บาทต่อมิเตอร์ ส่วนจะคืนอย่างไรก็คงต้องไปดู"นายสนธิรัตน์กล่าว

มาตรการที่ 2 ได้แก่ การลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) โดยรวม 23.2 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนโดยรวม(รวมค่าไฟฐาน)คงอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 3 เดือน(เม.ย.-มิ.ย.63 )

มาตรการที่ 3 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าบิลเดือนเม.ย.-พ.ค.63 ให้นานได้ถึง 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก และกิจการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

มาตรการที่ 4.เห็นชอบให้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าวงเงิน 4,000 ล้านบาท มาใช้ดำเนินโครงการสร้างงานให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่นต่างๆ

"ส่วนของน้ำมันนั้นก็จะมีการมาบริหารจัดการเพื่อดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนโดยจะมาดูกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าราคาตลาดโลกก็ได้ลดลงแต่คงจะต้องมาดูแลระยะยาว"นายสนธิรัตน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น