xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน ชง ครม.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงระยะสั้น ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง โดยเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) วงเงินรวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ มาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์การขอใช้ไฟฟ้าให้กับครัวเรือน 21.5 ล้านราย สำหรับประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละรายว่าจ่ายเงินประกันมิเตอร์กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงเท่าไรจะมีสิทธิ์ขอคืนเงินประกันได้ โดยจะเริ่มทยอยคืนตั้งแต่รอบบิลที่จะถึงนี้

มาตรการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน โดยเห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ที่ประมาณ 3.64 สตางค์ต่อหน่วยอีก 3 เดือน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามาช่วยลดราคาค่าไฟฟ้าได้อีก 11.60 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ โดยคิดเป็นวงเงินช่วยเหลือจาก กกพ.ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนจาก กฟภ.และ กฟน.จะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 4,800 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าที่เก็บในรอบเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ให้สามารถชำระนานได้ถึง 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก และกิจการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

ส่วนมาตรการสุดท้าย คือ เห็นชอบให้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าวงเงิน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปี 2562 วงเงิน 2,500 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 1,500 ล้านบาท ให้กระทรวงพลังงาน ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย มาใช้ดำเนินโครงการสร้างงานให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ขุดลอกคูคลอง ผันน้ำ เป็นต้น เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินในการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก บรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว