xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” ชง 4 มาตรการเข้า ครม.พรุ่งนี้ อัด 4.5 หมื่นล้านกระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิรัตน์” ถก กบง.เคาะ 4 มาตรการรับมือโควิด-19 และภัยแล้งกระทบ ศก. ทั้งคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ลดค่าไฟ ยืดชำระค่าไฟบิล เม.ย.-พ.ค.เป็นเวลา 6 เดือนทั้งผู้ใช้ไฟบ้าน กิจการขนาดเล็ก และโรงแรม และดึงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าร่วมสู้ภัยแล้ง รวมวงเงินอัดลง ศก. 4.5 หมื่นล้านบาท ชง ครม.พรุ่งนี้ (10 มี.ค.)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภาวะภัยแล้งที่จะมีผลต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเสนอขออนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 มี.ค.นี้ต่อไป

สำหรับ 4 มาตรการประกอบด้วย 1. การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า (ค่าประกันมิเตอร์) ที่จะคืนให้แก่ผู้ใช้ไฟใน 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือบ้านอยู่อาศัย และประเภท 2 หรือกิจการขนาดเล็ก ครอบคลุมจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ 21.5 ล้าน คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะมีการทยอยคืนเงินตั้งแต่รอบบิลเดือนมีนาคมนี้ หรือตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นไป โดยรายละเอียดการคืนเงินจะได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป


"เงินค่าประกันมิเตอร์นั้นจะมีอัตราต่างกันออกไปแล้วแต่ประเภทกิจการ โดยเฉลี่ยก็จะมีตั้งแต่ 2,000-3,000 บาทต่อมิเตอร์ ส่วนจะคืนอย่างไรก็คงต้องไปดู" นายสนธิรัตน์กล่าว

มาตรการที่ 2 ได้แก่ การลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยรวม 23.2 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชนโดยรวม (รวมค่าไฟฐาน) คงอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63) โดยเป็นการบริหารจัดการในส่วนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ได้นำเงินจากการไฟฟ้าลงทุนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (Call Back) และเงินช่วยเหลือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อีก 4,800 ล้านบาท รวมประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท

"ค่าไฟฟ้ารวมขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3.60 บาท โดย Ft จะมีการปรับตามทิศทางต้นทุนการผลิตทุก 4 เดือน ซึ่งหากไม่ทำอะไรในงวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค.) จะต้องขึ้น 11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟรวมจะขึ้นไปอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย จึงนำเงินมาดูแลไม่ให้ขึ้นและนำเงินอีกส่วนหนึ่งมาทำให้ลดลงอีก 11.60 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟรวมลดลงมาอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย" นายสนธิรัตน์กล่าว

มาตรการที่ 3 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าบิลเดือน เม.ย.-พ.ค. 63 ให้นานได้ถึง 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก และกิจการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่

มาตรการที่ 4 เห็นชอบให้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าวงเงิน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปี 2562 ที่หลือวงเงิน 2,500 ล้านบาท และงบปี 2563 วงเงิน 1,500 ล้านบาท ให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย มาใช้ดำเนินโครงการสร้างงานให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ขุดลอกคูคลอง ผันน้ำ เป็นต้น เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินในการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก บรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น