xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ภัยแล้ง” ผสมโรง “โควิด-19” คนไทยพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจกันแล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่โลกทั้งโลกและประเทศไทยกำลังปริวิตกกับการแพร่ระบาดของ “เชื้อโควิด-19” อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามาเยือนประเทศไทยพร้อมๆ กันก็คือ “ภัยแล้ง” และถือเป็นวิกฤตที่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในระดับที่รุนแรงไม่แพ้กัน

ถือเป็นภัยที่ “ตีคู่” มาพร้อมๆ กับ “โควิด-19” เลยก็ว่าได้

มีการประเมินว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบยาวนานมากกว่า 3 เดือนและเกินกว่าที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ ขณะที่ภัยแล้งนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center) หรือ (EIC) วิเคราะห์เอาไว้ว่า ภัยแล้งปี 2563 นี้ เริ่มเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มยาวนานกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะกินระยะเวลายาวนานไปถึงเดือนมิถุนายนกันเลยทีเดียว

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนก.ย.62-ก.พ.63 ว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1,624,501 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,442,674 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่น ๆ อีก 1,143 ไร่

“วันนี้มีสองเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจคือ 1.ทำอย่างไรให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนพร้อมเก็บกักน้ำใช้ในฤดูแล้งและฤดูปกติได้อย่างไร 2.การแก้ปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้มีภัยธรรมชาติหลายด้านทำให้ปริมาณน้ำน้อยมากเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการเป็นประธานพิธีมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝน ปี 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการประกาศเขตภัยแล้วแล้ว 5,849 หมู่บ้าน ใน 22 จังหวัด ซึ่งอาจเป็นภัยแล้งที่ทำให้เสียหายที่สุดในรอบ 20 ปี

EIC ประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อย และข้าวนาปรังมากที่สุด โดยในกรณีร้ายแรง ผลผลิตอ้อย และข้าวนาปรังอาจลดลงถึง 27% และ 21% ของผลผลิตโดยรวม ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังอาจลดลง 7% ของผลผลิตโดยรวม แม้ว่าราคาอ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง ในปี 2020 จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง แต่อัตราการลดลงของผลผลิตที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคา จะยังกดดันให้รายได้ของเกษตรกรลดลง

ขณะที่เมื่อพิจารณาระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อน ณ เดือนก.พ.62 พบว่า ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ในขณะที่ภาคกลางเผชิญภาวะน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว โดยทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และกลางมีปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และยังต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักของปี 57 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีอีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภัยแล้งระดับรุนแรง

สอดรับกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ออกบทวิเคราะห์เช่นกันว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.2563) เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรง ยาวนานมากขึ้น โดยผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้งในฤดูกาลอาจอยู่ที่ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ที่น่าจะแล้งจัดและเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และระยะเวลาภัยแล้งที่อาจลากยาวต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีนี้ได้

ส่วนผลกระทบจาก “โควิด-19” ก็สาหัสไม่แพ้กัน ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินที่โดนไปเต็มๆ แล้ว จากการสำรวจของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก 12 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 2. ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 3. เคมี 4. โรงกลั่นน้ำมัน 5. โรงเลื่อยโรงอบไม้ 6. หัตถกรรมสร้างสรรค์ 7. เครื่องสำอาง 8. ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น 9. อัญมณีและเครื่องประดับ 10. เทคโนโลยีชีวภาพ 11. อาหาร และ 12. สมุนไพร เนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเพราะมีการปิดโรงงาน และมีอุปสรรคในการส่งสินค้าไปจีน มียอดขายลดลงเพราะนักเที่ยวลด ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพราะต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากที่อื่นมาทดแทน เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลางมี 9 กลุ่ม ได้แก่ 1. ยานยนต์ 2. สิ่งทอ 3. เซรามิก 4. เครื่องปรับอากาศ 5. แก้วและกระจก 6. ยา 7. เหล็ก 8. หนังและผลิตภัณฑ์หนัง และ 9. ต่อเรือและซ่อมเรือ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญเพราะสามารถหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนได้ ยังมีสต๊อกวัตถุดิบเพียงพอในระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยลบยังมีอยู่เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนติดขัด ล่าช้า มีการชะลอคำสั่งซื้อ ฯลฯ

สำหรับอุตสาหกรรมที่กระทบน้อยมี 24 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. เครื่องนุ่งห่ม 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3. น้ำมันปาล์ม 4. ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ 5. แกรนิตและหินอ่อน 6. เฟอร์นิเจอร์ 7. เครื่องจักรกลการเกษตร 8. ปิโตรเคมี 9. ปูนซีเมนต์ 10. เทคโนโลยีสารสนเทศ 11. ผลิตภัณฑ์ยาง 12. เยื่อและกระดาษ 13. พลาสติก 14. น้ำตาล 15. ก๊าซ 16. การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม 18. เครื่องจักรกลการเกษตร 19. การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 20. หลังคาและอุปกรณ์ 21. หล่อโลหะ 22. พลังงานหมุนเวียน 23. อะลูมิเนียม 24. ผู้ผลิตไฟฟ้า และ 26. รองเท้า โดยมีปัจจัยบวกคือ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเนื่องจากประเทศคู่ค้าของจีนหันมาซื้อสินค้าไทยแทนสินค้าจีน แต่ก็ยังคงมีปัจจัยลบที่กระบวนการขนส่งจีนล่าช้า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ฯลฯ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.ที่ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.มีมติปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยปี 2563 ลงอยู่ที่ 1.5-2% จากเดิมคาดการณ์ไว้โต 2-2.5% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแต่ยังคงอัตราการส่งออก-2ถึง 0% และคงเงินเฟ้อ 0.8-1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยตัวเลขทั้งหมดอยู่บนสมมติฐานที่โควิด -19จะจบภายในมิ.ย. 63

“นับเป็นครั้งแรกที่กกร.ทำการปรับลดเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากเดิมจะทบทวนไตรมาสละครั้งเนื่องจากปัจจัยต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งกกร.เดือนที่ผ่านมาได้ลดคาดการณ์ไว้จีดีพีอยู่ที่ 2-2.5%และครั้งนี้ก็ลดลงอีก อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีเศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบแต่กกร.คาดหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเพราะล่าสุดจีนมีผู้ป่วยติดเชื้อลดลง”นายสุพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ภาครัฐได้เตรียม “แพคเกจ” เพื่อรับมือกับ “โควิด-19” ด้วยงบประมาณสูงลิ่วถึง 1 แสนล้านบาท โดยมีมาตรการสำคัญคือ การแจกเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ให้ประชนผู้มีรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินที่เหมาะสมระหว่าง 1,000-2,000 บาท และต้องการให้มีผลทันทีและต่อเนื่องในช่วง 3-4 เดือนนี้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หารือกันเพื่อปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ใช้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือตลาดทุนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ร่วงลงไปอย่างมาก และอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดว่าจะเพิ่มวงเงินลงทุนได้ 5 แสน และระยะเวลาการถือครองรอบ 7 บัญชีเหมือนเดิมหรือไม่

ขณะเดียวกันจะมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ้างงานลูกจ้างต่อไป โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และกรมสรรพากรจะออกประกาศให้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายลดลง เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น รวมทั้งจะมีการตั้งกองทุนเพื่อให้เงินสนับสนุนให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราวด้วย

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งผู้ประกอบการภาคธุรกิจทั่วไป และภาคท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก (ซอฟท์โลน) เพื่อไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการผ่อนปรนการสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น

เห็นสถานการณ์และความเป็นจริงจากหลายปัญหาสารพัดที่รุมเร้ามาในช่วงนี้แล้วก็ต้องบอกว่า คนไทยพร้อมรับมือกันแล้วหรือยัง.


กำลังโหลดความคิดเห็น