เป็นการฟื้นคืนชีพอย่างน่าพิศวงของอดีตรองปธน.โจ ไบเดน ในการชนะถล่มทลายในการหยั่งเสียงถึง 10 รัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐยักษ์แบบเทกซัส รวมทั้งรัฐตอนเหนือของ deep south คือ North Carolina และ Virginia จนมีฉายาใหม่เป็น Joe : the Comeback Kid (เช่นเดียวกับอดีตปธน.บิลล์ คลินตัน ที่ได้กลับมาวาระที่ 2) และมีการประดิษฐ์คำใหม่แทนคำว่า “Momentum” เป็น “Joe-mentum” หมายถึงการเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อของโจ ไบเดิน ซึ่งคำว่า “Momentum” นี้ เป็นสิ่งที่ผู้สมัครทุกคนถวิลหา ว่าเป็น “Big Mo” คือ ต้องได้คะแนนนิยมมากพอเพื่อสู้ต่อไป
คะแนนที่โจ ไบเดน ชนะใน 10 รัฐนี้ เป็นคะแนนที่ได้มาในนาทีสุดท้าย ใน 72 ชม.ก่อนการลงคะแนนหยั่งเสียงในวันอภิอังคาร (Super Tuesday) ที่มีการหยั่งเสียงครั้งแรกของพรรคเดโมแครตใน 14 รัฐหลังจากได้หยั่งเสียงแบบรัฐเดี่ยวๆ มา 4 รัฐแล้ว ได้แก่ โอไอวา, นิวแฮมป์เชียร์, เนวาดา และเซาท์แคโรไลนา ซึ่ง 3 รัฐแรกผลออกมาสำหรับไบเดนคือ แย่มากๆ
แต่เบอร์นี แซนเดอร์ส ได้คะแนนนำโด่ง...จนมาถึงรัฐเซาท์แคโรไลนาที่มีประชากรเป็นผิวดำส่วนใหญ่-ได้ให้คะแนนแก่ไบเดนอย่างถล่มทลาย
คะแนนในนาทีสุดท้าย เป็นการหักมุมอย่างแรง โดยมีผู้สมัครคู่แข่งถึง 3 คนของเดโมแครต ออกมาสนับสนุนไบเดน ได้แก่อดีตนายกเทศมนตรี พีท บูทเทดเจดด์ คนหนุ่มผู้บริหารเมือง South Bend, รัฐดีแอนา และมีฐานเสียงเป็นคนผิวขาว และพวกเพศที่ 3 และได้ที่ 1 ในรัฐโอไอวา; คนที่สองที่ออกมาสนับสนุนคือ เอมี โคลบูชาร์ ส.ว.หญิงคนแรกของรัฐมินเนโซตา ซึ่งได้ประกาศยุติการหาเสียง และขอให้ผู้สนับสนุนของเธอ (โดยเฉพาะในรัฐมินเนโซตาที่เป็น 1 ใน 14 รัฐที่ลงคะแนนใน Super Tuesday ด้วย) ช่วยเปลี่ยนมาลงคะแนนให้ไบเดน-ส่วนคนที่สามคือ อดีต ส.ส.คนดังของเทกซัสคือ เบโต โอรูร์ค (ซึ่งหวิดได้เป็น ส.ว.ของเทกซัสเมื่อปีที่แล้ว ที่สามารถทำให้ ส.ว.เทกซัส Ted Cruz ของพรรครีพับลิกันถึงกับเหงื่อตก-หวิดสอบตกทีเดียว)
ทั้ง 3 คนได้สร้างความสั่นสะเทือนแก่ชาวเดโมแครตใน 14 รัฐที่จะลงคะแนนใน Super Tuesday...จนทำให้คะแนนบางส่วนที่ตั้งใจจะให้แก่เบอร์นี กลับหันมาลงคะแนนให้ไบเดนแทน
ใน Super Tuesday นี้ จะเป็นครั้งแรกที่อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก จะลงสมัครเป็นครั้งแรก เขาเป็นเศรษฐีพันล้าน (ดอลลาร์) เจ้าของสื่อ Bloomberg ที่ขายข้อมูลด้านธุรกิจแก่วอลล์สตรีทจนมั่งคั่งเป็นผู้ร่ำรวยอันดับ 9 ของฟอร์บส์ และเขาได้ทุ่มเทถึง 500 ล้านเหรียญ (15,000 ล้านบาท) เพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างหนักใน 14 รัฐ เพราะมาลงสมัครช้ากว่าคนอื่นๆ และเขาตั้งใจจริง ที่ต้องการเป็นตัวเลือกของพรรคเดโมแครต เพื่อไปโค่นทรัมป์
ปรากฏว่า ไมเคิล บลูมเบิร์ก แพ้อย่างย่อยยับ ไม่ชนะสักรัฐเดียว
และได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าศึกษา คือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก ก็ได้ประกาศหลังผลเลือกตั้งหยั่งเสียงออกมาภายในไม่ถึง 5 ชม. ว่าเขาขอยุติการแข่งขัน และขอมอบการสนับสนุนทั้งหมดให้แก่โจ ไบเดน...ที่ว่าเป็นปรากฏการณ์ก็เพราะยังไม่เคยมีคู่แข่งในตำแหน่งปธน.ของสหรัฐฯ ในอดีต ที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วกับการยุติการหาเสียง ทั้งๆ ที่ตนเองมีเงินทุนหาเสียงอย่างไม่อั้น และได้ประกาศชัดเจนเมื่อตัดสินใจลงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะสู้จนถึงที่สุด (ทั้ง 50 รัฐ)...รวมทั้งตอนตัดสินใจจะลงหาเสียง ก็เพราะได้ประเมินแล้วว่า โจ ไบเดน จะไปสู้กับทรัมป์ไม่ได้ (เพราะโจ ไบเดน โดนตีหนักมากจากทรัมป์ กรณียูเคน) เขาก็เลยประกาศลงสมัครเลือกตั้งค่อนข้างช้ากว่าคนอื่นๆ
รวมทั้งการที่พีท บูทเทดเจดด์ และเอมี โคลบูชาร์ ได้รีบออกมาประกาศยุติการหาเสียงทันที ก่อน Super Tuesday และประกาศสนับสนุนไบเดนเต็มที่ ก็เป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกัน และนี่เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ไบเดนกวาดคะแนนนาทีสุดท้ายก่อน Super Tuesday
ปรากฏการณ์นี้น่าศึกษา เพราะถ้าคู่แข่งของไบเดนยังดันทุรังหาเสียงต่อไป ก็จะดึงคะแนนเสียงที่ไบเดนควรจะได้รับ และจะทำให้ไบเดนต้องแพ้แก่เบอร์นีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่มองเห็นผลประโยชน์ของชาติ (ที่ต้องการโค่นทรัมป์) มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง (ที่จะหาคะแนนนิยมไปเรื่อยๆ)
ในเวทีหยั่งเสียงของเดโมแครตขณะนี้ กำลังรอผลนับคะแนนที่รัฐยักษ์ใหญ่สุดของอเมริกาคือ แคลิฟอร์เนีย ซึ่งคาดว่าเบอร์นีจะกวาดคะแนน delegate มาเป็นที่ 1 เพราเขามีฐานเสียงพรรค latino สูงกว่าไบเดน
และขณะนี้ ทั้งไบเดนและเบอร์นีกำลังติดต่อหว่านล้อมให้เอลิซาเบธ วอร์เรน ยุติการหาเสียง เพื่อหันมาสนับสนุนคนใดคนหนึ่งระหว่างไบเดนและเบอร์นี ซึ่งเธอกำลังสองจิตสองใจว่าจะยุติการหาเสียงหรือไม่...และแนวโน้มที่เธออาจประกาศยุติการหาเสียง พร้อมมอบการสนับสนุนแก่เบอร์นีก็มีค่อนข้างสูง (ทั้งๆ ที่ตอนดีเบตหลายรอบ เธอได้พยายามสร้างความแตกต่างระหว่างนโยบายของเธอว่า ไม่เหมือนทีเดียวกับของเบอร์นี และเคยโจมตีว่า นโยบายของเบอร์นีจะนำมาปฏิบัติได้ค่อนข้างลำบากในความเป็นจริง)
ปรากฏการณ์ที่ผู้สมัครหลายคนหลีกทางให้ไบเดน กำลังถูกมองว่า มีลักษณะคล้ายๆ กับการเลือกตั้งปี 2016 ที่ทรัมป์ชนะฮิลลารี เพราะครั้งนั้นมี “คำสั่ง” จากฝ่ายนำ (ผู้อาวุโสของพรรค-the Establishment) ที่ไม่อยากให้พรรคถูกครอบงำ โดยนโยบายที่ค่อนไปทางสังคมนิยมประชาธิปไตย จึงทุ่มเทถึง (ขนาดกระซิบ) ให้เหล่า delegates และ Superdelegates ของพรรคไปลงคะแนนให้ฮิลลารี โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค (ผู้หญิง) คือ Debbie Wasserman ลงทุนส่งอีเมลลับ (ที่ตอนหลังถูกเปิดโปงโดยการเจาะของรัสเซีย) ไปยังเหล่า delegates ว่า การเลือกตั้งปี 2016 เป็นคราวของฮิลลารีที่จะได้เป็นปธน.หญิงคนแรกของสหรัฐฯ
ครั้ง 2016 ปรากฏว่า มีชาวเดโมแครตผิวดำและลาตินโนหลายคน ที่ไม่ออกไปลงคะแนนให้ฮิลลารี พวกเขาผิดหวังที่เบอร์นีไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรค-ประกอบกับการสร้าง Fake News จากฝ่ายรัสเซียที่เข้าแทรกแซงข้อมูลปลอมที่ส่งไปให้แก่ผู้สนับสนุนฮิลลารีที่หน้าจอ จนทำให้พวกเขาเข้าใจว่าฮิลลารีจะชนะชนิดท่วมท้น จึงไม่จำต้องพึ่งคะแนนของพวกเขาก็ได้ รวมทั้งมี Fake News โจมตีฮิลลารีอย่างมากมายส่งไปให้ผู้สนับสนุนฮิลลารี เป็นต้น
การหักเหของผู้สมัครแข่งกับไบเดนอย่างเฉียบพลัน ทำให้ชาวเดโมแครตฝ่ายสนับสนุนเบอร์รี ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มันกำลังจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยปี 2016 เพราะในครั้งนั้น ฝ่ายนำพรรคหนุนหลังฮิลลารี และทำให้ทรัมป์สามารถแย่งคะแนนเหล่าชาวผิวขาวในรัฐที่เป็นรัฐเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (Swing Vote) เช่น มิชิแกน, วิสคอนซิน, ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งรัฐเหล่านี้เคยเป็นของเดโมแครต แต่ได้หันหลังให้ฮิลลารี เพราะนโยบายของเธอไม่ถึงใจแก่เหล่าผู้ใช้แรงงาน, สหภาพที่อยากได้อะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยเหลือการตกงานของพวกเขา
เพราะฝ่ายนำพรรคหวาดกลัวนโยบายที่ก้าวหน้าอย่างมากของเบอร์นี ที่เสนอแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ที่แทบจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของสหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีแก่ผู้มั่งคั่ง โดยเฉพาะเหล่านักลงทุนในวอลล์สตรีท (แทนที่จะลดภาษีอย่างหนักแก่คนรวยแบบที่ทรัมป์ได้ทำให้เกิดขึ้น) เพื่อนำเงินมารักษาพยาบาลฟรีแก่คนอเมริกันที่ยากจนส่วนใหญ่ รวมทั้งให้การศึกษาฟรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัย (ของรัฐ)-ตลอดจนการคิดภาษีมากขึ้นแก่เหล่าอุตสาหกรรมที่เอาเปรียบมาตลอด คือ อุตสาหกรรมน้ำมัน, ยา, ประกัน, ธนาคาร เป็นต้น
เบอร์นีย้ำเสมอว่า เขากำลังสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Movement) ที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และเป็นธรรมแก่สหรัฐฯ ก่อนที่จะสายเกินไป ขณะที่ข้อเสนอของไบเดนเป็นแค่ “Moment” คือ ชั่วคราว, ไม่มีแก่นสาร และพูดแค่ผลงานในอดีต (กับโอบามา) แทนที่จะมองไปในอนาคต
ทั้งสองคนไบเดนและเบอร์นี จะเป็นคู่แข่งเพื่อจะได้เป็นตัวแทนของเดโมแครตทั้งคู่มีความแตกต่างอย่างชัด ไบเดนพูดถึงเอาอเมริกากลับคืนมา (จากทรัมป์-กลับสู่ความรักสามัคคีและร่มเย็นเป็นสุข) ขณะที่เบอร์นีต้องการสร้างอเมริกาใหม่ทีเดียว และเท่าเทียมมากขึ้น
2020 จะเหมือนหรือไม่กับ 2016 ที่ทรัมป์จับใจคนส่วนใหญ่กลางประเทศและชนะในหลายรัฐมากกว่าผู้สมัครจากเดโมแครต คงต้องติดตามดูว่า ทรัมป์จะเตรียมฟาดฟันตัวแทนจากเดโมแครตได้ขนาดไหน?