xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไวรัสระบาด แฟลชม็อบนักศึกษาวิบวับ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กำลังขยายวงกว้างและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าจับตาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโควิด-19” กับปรากฏการณ์ที่ “นิสิต-นักศึกษา” นัดหมายออกมาชุมนุมแสดงพลังในลักษณะ “แฟลชม็อบ” ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ลุกลามตั้งแต่ระดับปัญญาชนอุดมศึกษา ไปจนถึงชั้นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษา ที่ดูท่าจะ “ไฟลามทุ่ง” ไปอีกระยะ

ที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่า พลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษานั้นได้เคยนำความเปลี่ยนแปลงให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้วหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี กระแสการเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษานั้น ในเบื้องต้นอาจจะมองว่าเป็นแค่ “อาฟเตอร์ช๊อก” จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบ “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ ในคดีกู้เงินจาก “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท มาดำเนินกิจกรรมหาเสียงช่วงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังผลให้ถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี และ ส.ส.ในสังกัดเองต้องหาพรรคใหม่

แต่เอาเข้าจริงก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีความสลับซับซ้อนหลายประการ และมีความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดแฟลชม็อบแพร่ไปในหลายสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การสัมผัสถึงความไม่เห็นธรรมในการใช้อำนาจรัฐ และการใช้อำนาจรัฐแบบ “ไร้มาตรฐาน” ฯลฯ

ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วกระแสความไม่พอใจคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีการจุดกระแสกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการตัดสิน หรือพูดให้ถูกก็ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “เสี่ยเอก-ธนาธร” ถูกตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.จากคดีถือหุ้นสื่อสารมวลชน ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. รวมไปถึงคดีล้มล้างการปกครอง ที่ “ค่ายสีส้ม” รอดตัวมาได้

อีกทั้งยังเป็นกระแสที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่อง จากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่ไม่ได้นิยมชมชอบ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ เป็นทุน

ทั้งยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามี “ธงล่วงหน้า” เพื่อให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และกีดกันไม่ให้แกนนำพรรคบางรายมีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร

กระทั่งคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” และกลายเป็น “ผลบวก” ให้กับ “ธนาธรและพวกพ้อง” เพราะสามารถเปิดเกมได้มากขึ้นทั้งในสภาและนอกสภา






จุดเริ่มต้นที่เปิดหัวก่อนเพื่อน เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “รั้วโดม” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่มีป้ายระบุข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” โผล่ขึ้นทันทีตั้งแต่ยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังอ่านคำวินิจฉัยไม่เสร็จดี

รุ่งขึ้น สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ก็ได้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ภายใต้ชื่อ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” ขึ้นบริเวณ ลานปรีดี ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี “เซเลบริตี้สายประชาธิปไตย” ที่พ้นวัยนักศึกษาแล้วเข้าร่วมหลายราย

ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมในทำนองเดียวกันทั่วทุกภูมิภาค เหนือ-ใต้-อีสาน-กลาง -ออก -ตก อาทิ ม.เชียงใหม่ - ม.สงขลานครินทร์ ทั้ง มอ.หาดใหญ่ และ มอ.ปัตตานี-ม.วลัยลักษณ์ - ม.ขอนแก่น - ม.มหาสารคาม - ม.บูรพา-มศว.-ม.มหิดล-ม.เกษตรศาสตร์ ม.ศิลปากร ม.รามคำแหง เป็นต้น ไม่เว้นแม้แต่ ม.ราชมงคล- ม.ราชภัฏ และ ม.เอกชน

ฮือฮาที่สุด หนีไม่พ้น “รั้วจามจุรี” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเคลื่อนไหวชวนให้ชาวเน็ตร่วมติดแฮชแท็ก #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป และกิจกรรม “จุฬาฯรวมพล” ภายใต้คอนเซปต์ “เพราะเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” ด้วย เพื่อหักล้างครหาที่เคยมองว่า “รั้วจามจุรี” เป็น “ไทยเฉย” ไม่เคยแสดงออกเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของประเทศ ให้สมฐานะสถาบันอันดับต้นๆ ของประเทศ

ฮือฮาไม่น้อยกว่ากัน เมื่อมีแฟลชม็อบพลังเด็กมัธยม ที่มีโรงเรียนชั้นนำ จัดกิจกรรมแสดงจุดยืนทางการเมือง ตั้งแต่นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่พร้อมใจติดแฮชแท็ก #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ เช่นเดียวกับ โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็มีนัดทำกิจกรรมแฟลชม็อบด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวม “แฮชแท็ก” ของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ที่แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาล โหมประโคมผ่านสังคมโซเชียลในทุกแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ Facebook - Twitter- IG เช่น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหา'ลัยกูทั้งนั้น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #ช้างเผือกจะไม่ทน #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ
มหาวิทยาลัยมหิดล #ศาลายางดกินของหวานหลายสี
มหาวิทยาลัยรามคำแหง #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง
มหาวิทยาลัยศิลปากร #ศิลปากรขอมีซีน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ #มศวขอมีจุดยืน #รากฐานจะหารด้วย
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม #ถึงจะอยู่ไกลขอส่งใจที่ลานแปดเหลี่ยม
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) #สามพระจอมจะยอมได้ไง
มหาวิทยาลัยนเรศวร #มอนออยากออกจากกะลา
มหาวิทยาลัยบูรพา #ทีมลูกระนาดอยากจะฟาดบ้างแม่
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ #BUกูไม่ใช่สลิ่ม
มหาวิทยาลัยรังสิต #บลูบานเย็นไม่ได้เป็นขนมหวาน
มหาวิทยาลัยพะเยา #ฟ้ามุ่ยไม่คุยเผด็จการ
กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล #ราชมงคลจะไม่ทนอีกต่อไป
กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม
มหาวิทยาลัยขอนแก่น #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี#ถึงมออยู่ใกล้หลายค่ายก็ไม่ได้ชอบเผด็จการ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี #กันเกราไม่เอากะลา เป็นต้น

ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถือเป็นปัจจัยที่หนุนเสริมให้การชุมนุมของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ด้วยการ ประดิษฐ์ถ้อยคำเหล่านี้กลายเป็น “วาทกรรม” ที่แสดงออกถึงจุดยืนและตัวตนของพวกเขา รวมทั้งเป็น “แรงกระตุ้น” ให้สถาบันอื่นๆ พากันทำตาม ประมาณว่า “ไม่มีไม่ได้แล้ว”

และเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็มีการส่งข่าวสาร ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ก็ยิ่งทำให้ “ม็อบเด็ก” ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ






อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมแฟลชม็อบแต่ละแห่ง รูปแบบไม่แตกต่างกันมาก เริ่มจากการออกแถลงการณ์ อ่านบทกวี ปราศรัย และร่วมแสดงสัญลักษณ์ทั้งการจุดเทียน ชูสามนิ้ว บางแห่งอัพเกรดเข้ายุคร่วมกันชู “แสงแฟลช” จากสมาร์ทโฟน

กระทั่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงหนึ่งของพรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ ก็ยังหยิบยืมการชูแสงแฟลชจากโทรศัพท์มือถือเรียกร้องให้ “นายกฯประยุทธ์” ลาออกหรือยุบสภา มาสร้างสีสันในสภาด้วย

นอกจากนี้ยังมีคนจากค่าย “อดีตอนาคตใหม่” และ “เพื่อไทย” ที่ไม่พลาดรายการ “โหนเด็ก” ส่งเสียงเชียร์สนับสนุนการแสดงออกของลูกหลานเยาวชน ดักคอว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ควรใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง

พร้อมใช้เครือข่าย “ไอโอ” กระทุ้งประเด็นมาตรา 3 (4) แห่ง “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” ที่ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ “ไม่ใช้บังคับ” การชุมนุมภายในสถานศึกษา

ก่อนจะสวมวิญญาณ “ห้อย-โหน” โดดคร่อม “สัญญะ” ต่างๆ ที่กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา แสดงออกนั้น ซึ่งแม้ไม่วิพากษ์วิจารณ์โดยตรง ด้วยรู้ถึงข้อจำกัดขอบเขตอำนาจศาล แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นในเชิงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งขยายความไม่พอใจในประเด็น “สองมาตรฐาน” ภายใต้การบริหารบ้านเมืองของ “บิ๊กตู่” มาตลอดมากกว่า 6 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ฝ่าย “อดีตอนาคตใหม่” เองก็ปูพื้นมานานนมแล้วว่าเป็น “ผู้ถูกกระทำ” มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งพรรค กระทั่งถูกยุบพรรค และ “แกนนำแถวแรก” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองยาวนานถึง 10 ปี ที่ถูกประเคนคดีความความต่างๆ ยาวเป็นหางว่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโหมประโคมความไม่เป็นของรัฐธรรมนูญ อันเป็น “กฎหมายสูงสุด” ถึงขั้นเคยออกปากด้วยว่า “เฮงซวยทุกมาตรา” มาแล้ว

อย่างไรก็ดี ต้องโทษ “ฝ่ายรัฐบาล” เองด้วยเหมือนกันที่ทำให้ “นักเรียน นิสิตนักศึกษา” รับไม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกตัวอย่างเช่น การที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็เคยประกาศก้องว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และผลพวงก็เป็นอย่างที่เห็นๆ กัน ชัดเจนมากก็กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีการใช้ “ตัวช่วย” อย่าง ส.ว. 250 เสียงมาเลือกนายกฯ ส่งผลให้ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่เคลมว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” โวยไม่เลิกว่าถูกเอาเปรียบ

แน่นอน “เด็กๆ” ย่อมรับรู้ได้ว่า นี่คือ การเอาเปรียบทางการเมือง และไม่ว่าจะใช้ตรรกะอธิบายก็ไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเห็นชัดๆ ว่า แม้ชนะการเลือกตั้งแต่สุดท้ายก็ต้องแพ้เกมในสภา หรือแม้รัฐบาลลุงตู่มีคะแนนนิยมทางการเมืองตกต่ำหนักขนาดไหน ก็ไม่มีใครโค่นล้มได้ในสภา




เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และถ้าหากรัฐบาลต้องการผ่อนสถานการณ์ การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรกระทำ

นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบกรณีระดมทุนของ “ค่ายพลังประชารัฐ” ที่จัดเลี้ยงโต๊ะจีน โดยมีรายชื่อสปอนเซอร์ที่หมิ่นเหม่ ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ไม่ถูกลงโทษใดๆ ต่างจาก “อดีตอนาคตใหม่” ที่โพนทะนาเรื่องการกู้เงินจาก “ธนาธร” อ้างว่าเพื่อความโปร่งใสการดำเนินกิจการพรรคการเมือง แต่กลับถูกยุบพรรค

แต่เรื่องที่เตะตาชัดเจน ก็กรณีของ “สาวเอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี ที่ยังสลัดไม่พ้นข้อหาบุกรุกและหาประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน และครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบ ที่ยื้อมาจนกระแสสร่างซาลงไป

นี่ไม่นับรวมถึงเรื่อง “นาฬิกาลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ผู้คนครหากันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่สุดท้ายก็ถูก “ป.ป.ช.” ตัดจบไปแบบค้านสายตาเยาวชน

สิ่งเหล่านี้คือการปลูกเมล็ดพันธุ์ความคิดในหมู่เยาวชนให้เห็นถึงสภาวะเมืองไทย 2 มาตรฐาน ปรากฏการณ์ตราชั่งเอียง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แถมยังมี “สื่อเชียร์ลุง” ย่านบางนาที่ออกโรงตำหนิติติงเด็กๆ แบบดูถูกเหยียดหยามว่าไร้พลัง ไม่มีความคิด ตกเป็นเหยื่อของ “เสี่ยเอก” ในการเคลื่อนไหวอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ปัจจัยที่เข้ามา “เสริม” และทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลลุงในสายตาของ “เด็กๆ และเยาวชน” ย่ำแย่ก็คือ สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ทุกคนสัมผัสได้ ซึ่งจะว่าไปก็โทษรัฐบาลลุงเสียทีเดียวไม่ได้ เพราะเจอปัจจัยภายนอกที่โหมกระหน่ำเข้ามาไม่ขาดสาย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน หรือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งกระทบไปทั่วโลก แต่นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลลุงต้องแบกรับ

ส่วน “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน เพราะแม้จะไม่สร้างความกระทบกระเทือนถึงขึ้นโค่นล้มรัฐบาลลุงได้ แต่การที่ “ยอดคนดู” สูงขึ้น และกลายเป็น “ไวรัลทางการเมือง” ในโลกออนไลน์ ก็สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกได้ปลดปล่อยพันธนาการของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

บรรดานิสิต นักศึกษาก็คิดไม่ต่างกัน เพราะพวกเขาเติบโตมาในยุคนี้พอดี

แถมในระยะหลังๆ “ภาพลักษณ์ของทหาร” ยิ่งตกต่ำลงไปทุกทีจากกรณี “จ่าคลั่ง” ที่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพบกของ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ซึ่งแม้การปฏิรูปจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังมีช่องว่างช่องโหว่ที่เปิดช่องให้โจมตี เช่นเรื่องบ้านหลวง เพราะแทนที่ “พวกพี่ๆ” จะเด้งรับและประกาศคืนบ้าน แต่ก็กลับนิ่งเฉยเลยผ่านไปเสียอย่างนั้น

อย่างไรก็ดี ความเป็นไปของปรากฏการณ์ “แฟลชม็อบนักศึกษา” จะเป็นแค่ “ผีพุ่งใต้” ที่ส่งแสงวิบวับชั่วครู่ หรือจะเป็น “ดาวฤกษ์” ที่แสงวาววับร้อนแรง พลานุภาพทำลายล้างสูง ก็ขึ้นอยู่กับการสร้าง “มาตรฐานใหม่” ของ “รัฐบาลลุงตู่” เอง เพราะเวลานี้ ต้องยอมรับว่ากระแสการไม่ยอมรับและต่อต้านรัฐบาลมีแนวโน้มขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งถ้ายังไม่มีการแก้ไขปรับปรุง และมีการ “ผสมโรง” จาก “ฝ่ายการเมือง” ที่คอยปลุกปั่น ยุยง โอกาสที่ “ไฟจะลามทุ่ง” จากนักเรียน นิสิต นักศึกษาไปสู่ประชาชนนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น