"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ก่อนมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ นักวิเคราะห์ทางการเมืองประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ๒ แนวทาง แนวทางแรก เชื่อว่านักศึกษาคงมีการเคลื่อนไหวตอบโต้ต่อการยุบพรรคไม่มากนักและหากมีก็คงเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ส่วน แนวทางที่สอง เชื่อว่าจะมีการเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างกว้างขวาง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
นักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยให้เหตุผลสองประการด้วยกัน ประการแรก อนุมานจากสิ่งที่เห็นจากเหตุการณ์ยุบพรรคการเมืองในอดีต และนำมาสรุปคาดการณ์ว่า อนาคตจะมีทิศทางเดียวกับอดีต กล่าวคือมีการยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ซึ่งทั้งสองพรรคต่างก็เคยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนนับสิบล้านเสียง มากกว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาเสียอีก แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีผู้สนับสนุนพรรคทั้งสองออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองทั้งคู่
คำอธิบายต่อการที่ผู้สนับสนุนของพรรคทั้งสองไม่ออกมาแสดงปฏิกิริยามีสองมุมคือ มุมแรก มีความเป็นไปได้ว่า ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทั้งสองเห็นว่า ผู้บริหารพรรคมีความผิดจริง และความผิดนั้นนำไปสู่การยุบพรรคได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าผู้สนับสนุนพรรคทั้งสองไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรค ก็ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมามากนัก
ส่วนมุมที่สองคือ ผู้สนับสนุนพรรคทั้งสองไม่มีความผูกพันกับ “พรรค” มากนัก หากแต่ผูกพันกับ “ผู้นำพรรคและแกนนำพรรค” มากกว่า การยุบพรรคจึงไม่มีความหมายใด หากผู้นำและแกนนำพรรคเดิมสามารถไปจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมารองรับขับเคลื่อนการเมืองต่อไปได้ ผู้สนับสนุนก็ตามไปเลือกพรรคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำและแกนนำกลุ่มเดิมอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลประการที่สองของการประเมินการเคลื่อนไหวของนักศึกษาต่ำกว่าความจริง มาจากความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต และนักศึกษาในปัจจุบันเป็นเพียงนักเลงคีย์บอร์ด เพียงแสดงความคิดเห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ รักความสะดวกสบาย หากไม่พอใจสิ่งใดก็ระบายความรู้สึกลงในหน้าจอก็ทำให้ความไม่พอใจบรรเทาเบาบางลงไป โอกาสที่เยาวชนเหล่านั้นจะออกมาแสดงพลังด้วยการชุมนุมทางการเมืองมีความเป็นไปได้ต่ำอย่างยิ่ง เพราะการไปชุมนุมนั้นต้องเผชิญกับความไม่สะดวกสบาย และต้องใช้ความอดทนยืนหยัดอย่างยาวนาน ซึ่งเยาวชนในปัจจุบันถูกมองว่ามีค่อนข้างน้อย
สำหรับการประเมินแนวทางที่สอง ซึ่งมองว่าจะมีการเคลื่อนไหวตอบโต้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แนวทางนี้ได้ประเมินถูกต้องครึ่งหนึ่งแล้ว นั่นคือ มีกระแสการเคลื่อนไหวตอบโต้การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างกว้างขวางและกระจายตัวทั่วทั้งประเทศภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และขยายไปสู่นักเรียนระดับมัธยมด้วย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ การชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอเวลามาพิสูจน์ในเวลาอีกไม่ช้าไม่นานนี้
เพียงหนึ่งวันหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ การชุมนุมก็เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก ซึ่งจัดโดย สหภาพนักเรียน นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ การชุมนุมมีลักษณะเป็น Flash mob มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มและสิ้นสุดการชุมนุมอย่างชัดเจน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ ๑,๐๐๐ คน ประเด็นหลักของการชุมนุมคือ การแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการชุมนุมเชื่อว่า เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ
จากนั้นในวันถัดมาก็มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีกหลายมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ จำนวนผู้เข้าชุมนุมในแต่ละมหาวิทยาลัยมีนับพันคนที่สำคัญคือ กระแสของการชุมนุมยังขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมระดับชั้นนำของประเทศหลายแห่งอีกด้วย
ประเด็นหลักของการชุมนุมก็มีการขยายตัวจากเรื่อง การแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไปสู่การต่อต้านเผด็จการ การเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย และในเชิงรูปธรรมคือ การขับไล่รัฐบาลประยุทธ์
ทำไมนิสิตและนักศึกษาจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเข้มข้นต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อกรณียุบพรรคการเมืองในอดีต เรื่องนี้จำเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจโดยละเอียด
๑. การปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองอย่างยาวนานของรัฐบาลประยุทธ์ เป็นความจริงที่ว่า นิสิต นักศึกษา และเยาวชนคนหนุ่มสาวในยุคนี้เติบโตขึ้นมาภายใต้บรรยากาศการเมืองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีความเข้มข้นของการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการทำกิจกรรมทางการเมืองในระดับสูง อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของเยาวชนที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมเรื่องเสรีภาพและความเป็นปัจเจกบุคคล ดังนั้นความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจก็เกิดขึ้นและสะสมอย่างต่อเนื่อง
๒. ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ความมั่งคั่งของประเทศรวมอยู่ในตระกูลมหาเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ตระกูล ขณะที่นิสิตนักศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นครอบครัวชนชั้นกลางและชาวบ้าน ซึ่งครอบครัวต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจโดยทั่วหน้า และเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังไม่รู้ชะตากรรมของตนเองว่าจะได้งานทำเมื่อไร สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำให้ว่ารัฐบาลประยุทธ์ไร้วิสัยทัศน์และไร้ฝีมือในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง เป็นรัฐบาลที่พวกเขาไม่อาจฝากอนาคตของตนเองเอาไว้ได้ พวกเขาจึงต้องออกมาทวงถามอนาคตของตนเอง
๓. ความไม่เห็นธรรมในการใช้อำนาจรัฐ และการใช้อำนาจรัฐแบบ “ไร้มาตรฐาน” ตลอดระยะเวลา ๕ ปีเศษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการสถาปนา “มาตรฐานใหม่” ในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง นั่นคือ “การไร้มาตรฐาน” หรือ “การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นพวกเดียวกันแบบหนึ่ง ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่พวกเดียวกันอีกแบบหนึ่ง” กล่าวได้ว่า “ความไร้มาตรฐาน” กลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ในองค์กรของรัฐ
สิ่งที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์คือ มีอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มทั้งกลุ่มทุน นักการเมือง และข้าราชการระดับสูงละเมิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง บางกลุ่มละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง บางกลุ่มบุกรุกที่ดินสาธารณะ ที่ป่าสงวน และบางกลุ่มสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลากหลายมิติ แต่รัฐกลับไม่ดำเนินการใด ๆ กับอภิสิทธิชนกลุ่มนี้ให้เด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายพวกพ้องของผู้มีอำนาจเอง
ในทางกลับกันหากชาวบ้าน หรือบุคคลที่ไม่ใช่พวกของตน ละเมิดกฎหมายเพียงเล็กน้อย หรือกระทำที่ยังไม่แน่ชัดว่าละเมิดกฎหมายหรือไม่ ก็จะถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและมักถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด
๔. เยาวชนคนหนุ่มสาวปรารถนาเปลี่ยนแปลงสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ขยายเสรีภาพและประชาธิปไตยมากขึ้น มีการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมทางสังคมและกฎหมาย เมื่อพรรคอนาคตใหม่นำเสนอความคิด อุดมการณ์ และแนวนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา ในการเลือกตั้งเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ พวกเขาส่วนใหญ่จึงสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ จนทำให้ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง ๘๐ เสียง
๕ การทำลายตัวแทนทางความคิดและความหวัง เยาวชนคนหนุ่มสาวมีความรู้สึกว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นตัวแทนทางความคิดของพวกเขาที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในเวทีรัฐสภา และเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรก็พยายามขับเคลื่อนนโยบายผ่านเวทีสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปตามสัญญาประชาคมที่เคยให้ไว้ก่อนหน้าการเลือกตั้ง และส.ส.หลายคนของพรรคนี้แสดงบทบาทอย่างโดดเด่นในการอภิปรายและนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพใหม่ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร ความรู้สึกผูกพันกับพรรคอนาคตในกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวจึงเพิ่มมากขึ้น
พวกเขาจำนวนมากมีความรู้สึกว่า นี่คือ พรรคการเมืองของพวกเขา เป็นพรรคที่พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยคำตัดสินที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งทางหลักวิชาการและข้อเท็จจริง ความรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม ความคับข้องและคับแค้นใจต่ออำนาจรัฐจึงเกิดขึ้นตามมา พวกเขาไม่น้อยมีความรู้สึกว่าอำนาจได้ทำลายความยุติธรรมและอนาคตของตนเองลงไปเสียแล้ว
ผมคิดว่าทั้ง ๕ ประเด็นคือสิ่งที่เป็นรากฐานและนำไปสู่ปฏิกิริยาการแสดงออกเพื่อตอบโต้กับอำนาจรัฐ
๖.ปัจจัยที่หนุนเสริมให้การชุมนุมของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางคือ Twitter ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมกันมากในกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว การนัดหมายชุมนุมดำเนินการผ่าน Twitter ซึ่งกระทำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งยังมีการจัดทำและประดิษฐ์ถ้อยคำที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของการชุมนุม อย่างเช่น # เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) #ช้างเผือกจะไม่ทน (นักศึกษา ม.เชียงใหม่) #ที่ยุบอนาคตใหม่ พี่มหาลัยกูทั้งนั้น (นศ. ธรรมศาสตร์) #ลูกพ่อขุน ไม่รับใช้เผด็จการ (นศ. รามคำแหง) เป็นต้น และเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็มีการส่งข่าวสาร ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
๗. การชุมนุมเกือบทั้งหมดยังเป็นการชุมนุมในลักษณะที่เป็น Flash Mob และส่วนใหญ่จัดภายในรั้วมหาวิทยาลัย ยังไม่พัฒนาไปสู่การชุมนุมในที่สาธารณะ การจัดในมหาวิทยาลัยมีจุดแข็งคือ ไม่อยู่ในเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทำให้น.ศ.มีความสะดวกในการจัดชุมนุม สามารถจัดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ และยังสามารถระดมผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่จุดอ่อนคือ พลังในการกดดันรัฐบาลมีจำกัด
หากเยาวชนเหล่านี้ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พวกเขาต้องกระทำอีกอย่างน้อยสามเรื่อง คือการแสวงหาเป้าหมายร่วมที่เป็นรูปธรรมและทรงพลัง การจัดเครือข่ายการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างแกนนำของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่าง ๆ และการคิดค้นรูปแบบการชุมนุมที่สามารถสร้างผลกระทบและมีพลังกดดันต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาสามารถดำรงความต่อเนื่องและขยายไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ จนกลายเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบให้แน่ชัดลงไปได้ แต่กระนั้น สถานการณ์ในขณะนี้บ่งชี้ว่า กระแสการไม่ยอมรับและต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายอำนาจมีแนวโน้มขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ความเสื่อมถอยของรัฐบาลและกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจเป็นไปในอัตราเร่ง เกินกว่าที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ได้อีกต่อไป ดั้งนั้นผมประเมินว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับตัวผู้เล่นหลัก และในระดับโครงสร้างอำนาจภาพรวม