ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากกลางปี 2562 กระทรวงมหาดไทยมีการคุมเข้มตรวจจับ “ตู้คีบตุ๊กตา” หรือที่เรียกว่า “ตู้ฝึกทักษะ” เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่ผลลัพธ์ไม่ต่างกันเพราะเข้าข่าย “ผิดกฎหมายการพนัน” จนหลายแห่งทั่วประเทศต้องปิดตัวเงียบกันไปพักใหญ่
ล่าสุด มีกระแสข่าวบิดเบือนจากบรรดาผู้ประกอบการว่า “ตู้คีบตุ๊กตาไม่ผิดกฎหมาย” ทำให้ตู้คีบตุ๊กตากลับมาเปิดให้บริการกันพิ่บพั่บ มิหนำซ้ำ กลับมาทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเดือดเนื้อร้อนใจกันอีกครั้งเพราะมีเสียงร้องเรียนทำนองเดียวกันว่า ลูกหลานเอาเงินค่าขนมไปเล่นตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญแข่งกับเพื่อนๆ ซ้ำร้ายเล่นกันจนเงินค่าขนมหมดจนแอบขโมยเงินที่บ้านไปหยอดตู้คีบตุ๊กตา
กล่าวสำหรับตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญแพร่ระบาดไม่แตกต่างจาก ตู้ม้าไฟฟ้า หรือตู้สลอต เมื่อสิบปีก่อน อย่างไรก็ดี ตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญมีความผิดกฎหมายการพนัน เนื่องจากใช้เงินที่หยอดมีมูลค่าน้อยกว่ารางวัลในตู้ มีการแพ้ชนะระหว่างผู้เล่นกับเครื่อง (หรือเจ้าของเครื่องที่ได้กำไร) ชี้ชัดว่าไม่ได้เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ลักษณะเป็นการพนัน
เดิมทีตู้คีบตุ๊กตานิยมตั้งตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ แต่ในระยะหลังระบาดไปตามแหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เรียกว่าเข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเป้าหมายกลุ่มเด็กและเยาวชน
ก่อนหน้านี้ มีการปราบปรามในช่วงเดือน ก.ค. 2562 โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดชุดปฏิบัติการพิเศษออกตรวจตราและตรวจจับตู้คีบตามสถานที่ต่างๆ โดยมีการตรวจสอบขยายผลทั่วประเทศ
เนื่องจากมีการร้องเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกหลานติดตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญงอมแงม บางคนขอเงินไปเล่น 300 บาท 500 บาท หยอดเหรียญครั้งละ 10 บาท เสียเงินแต่คีบตุ๊กตาไม่ได้สักตัว เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่บางคนก็เสียเงินเสียทองไปกับตู้ชนิดนี้ไม่น้อย เพราะตุ๊กตาน่ารักๆ ในตู้คีบหยอดเหรียญล่อตาล่อใจ
โดยกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือที่ มท.0307.2 / ว 3810 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549 เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดทราบว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายอนุญาตให้มีการเล่นการพนันดังกล่าว และไม่เคยออกใบอนุญาตแก่ตู้คีบตุ๊กตา เนื่องจากมองว่าเป็นการมอมเมาเยาวชน
กระทั่ง ต้นปี 2563 “ตู้คีบตุ๊กตา” กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากกระทรวงมหาดไทยพยายามสร้างความชัดเจนกรณี “ธุรกิจตู้คีบตุ๊กตา” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ผิดกฎหมายการพนัน และ 2. ไม่เข้าข่ายผิดการพนัน
โดยรายละเอียด นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือคำสั่ง มท.0307.10/ว1081 วันที่ 19 ก.พ. 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ความว่า
ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายไม่อนุญาตให้มีการเล่นเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตาที่เป็นการพนันในบัญชี ข. หมายเลข 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2474 พร้อมทั้งให้ดำเนินการจับกุมและปราบปรามอย่างเฉียบขาดกับผู้ฝ่าฝืนนั้น ปรากฏว่าปัจจุบันตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ มีผู้ประกอบการนำตู้คีบสินค้ามาติดตั้งให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยตู้คีบข้างต้นมีทั้งตู้คีบที่มีลักษณะเข้าข่ายและไม่เข้าข่ายการพนัน
หนังสือคำสั่งระบุว่า ผู้ประกอบการที่นำตู้คีบสินค้ามาให้บริการยังขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ประกอบการและประชาชนถึงลักษณะของตู้คีบสินค้าที่นำมาติดตั้งให้บริการข้างต้น จึงขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับทราบถึงลักษณะของตู้คีบสินค้าทั้ง 2 ประเภท ดังนี้
โดยประเภทที่ “เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นการพนัน” นั้น ผู้เล่นจะต้องแลกชิปมูลค่าเหรียญละ 10 บาท จากนั้น นำไปหยอดที่ช่องและจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา จากนั้น กดปุ่มเพื่อให้ที่คีบตุ๊กตาปล่อยตุ๊กตาลงช่อง โดยการเล่นในแต่ละครั้งผู้เล่นอาจจะได้หรือไม่ได้ตุ๊กตา จึงถือเป็นการพนัน เพราะมีการแพ้ชนะกันระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง การจัดให้มีการเล่นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะเล่นได้
หากฝ่าฝืนเป็นความผิดตามมาตรา 12 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนตู้คีบสินค้าประเภทที่ “ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องเล่นการพนัน” ได้แก่ ตู้คีบสินค้าที่ผู้เล่นต้องหยอดเหรียญครบตามราคาสินค้าที่กำหนดเพื่อให้เครื่องทำงาน แม้จะใช้วิธีการสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยก หมุน หรือวิธีอื่นใด เมื่อผู้ซื้อสินค้าชำระราคาตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนก็จะได้รับสินค้าที่อยู่ในตู้ขายสินค้ากลับไปทุกครั้งตามจำนวนที่กำหนด โดยมีอุปกรณ์นับไว้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน มูลค่าเท่ากัน ประกอบกับผู้ซื้อสินค้าได้รับทราบขั้นตอนและวิธีการขายสินค้าจากป้ายที่ติดไว้หน้าตู้ขายสินค้า อันเป็นการแสดงเจตนาตรงกันถึงวิธีการเล่นหรือการซื้อ หรือการซื้อสินค้าระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อสินค้าก่อนทำการซื้อที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อเป็นอย่างอื่นได้
จึงมิได้เป็นลักษณะการนำมาซึ่งผลของการแพ้ชนะกันแต่อย่างใด เพียงประสงค์จะให้ความสนุกเพลิดเพลินและเพิ่มทักษะแก่ผู้เล่นโดยมิได้ประสงค์จะให้เป็นเครื่องเล่นการพนัน กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง ดังนั้นจึงไม่เข้าลักษณะเป็นเครื่องเล่นพนัน
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ตู้คีบตุ๊กตาตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นตู้คีบประเภท 2 ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการติดตั้งให้ประชาชนเล่นได้ ส่วนประเภท 1 ที่ผิดกฎหมาย มักแอบติดตั้งตามสถานบันเทิง หรือมุมลับๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
สำหรับการดำเนินการ หากเจ้าหน้าที่พบเห็นตู้คีบตุ๊กตาผิดกฎหมายได้กำชับให้เข้าไปตักเตือนก่อน หากยังไม่เชื่อฟังจะดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม หนังสือคำสั่ง มท.0307.10/ว1081 โดยกระทรวงมหาดไทย แทนที่จะสร้างความชัดเจน กลับทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตาบางส่วน “บิดเบือดข้อเท็จจริง” เหมารวมว่าตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญโดยเฉพาะที่ติดตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าต่างๆ ถูกกฎหมายทั้งหมด ทั้งที่ข้อเท็จจริงจำแนกเป็น 2 ประเภท ตามที่ระบุข้างต้น ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆ ไป
ในประเด็นนี้ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจตู้คีบตุ๊กตาหยุดให้ข่าวบิดเบือน โดยอ้างกรมการปกครองไฟเขียวตู้คีบตุ๊กตาในห้างสรรพสินค้า
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงกรณีผู้ประกอบการอ้างกระทรวงมหาดไทย สรุปให้ตู้คีบตุ๊กตาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าไม่เข้าข่ายเป็นการพนันตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478 บัญชี ข.หมายเลข 28 ไม่เป็นความจริง
“เครือข่ายยืนยันว่า เราพบตู้คีบตุ๊กตาที่เข้าข่ายการพนันตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478 บัญชี ข. หมายเลข 28 อีกจำนวนมาก เฉพาะพื้นที่ กทม.สำรวจพบใน 49 ห้างสรรพสินค้า กว่า1,077ตู้ เราขอเรียกร้องไปยังกรมการปกครองให้เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริง และเร่งดำเนินการสืบหาแหล่งที่มาของผู้ให้ข้อมูลอันไม่ใช่ความจริงนี้ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อทางราชการและขัดขวางการทำงานของรัฐ และขอให้กรมการปกครองสั่งเด็ดขาดให้ยุติการดำเนินการตู้คีบตุ๊กตาดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อเร่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายปกครองพิสูจน์ว่าตู้คีบตุ๊กตาในห้างสรรพสินค้าเข้าข่ายการพนันหรือไม่”
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันและมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้ลงพื้นที่สำรวจตู้คีบตุ๊กตาในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 10 จังหวัด จำนวน 92 ห้าง พบว่า 75 ห้างมีเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตากว่า 1,300 ตู้ ปรากฏว่าพบตู้คีบตุ๊กตาเยอะที่สุดในห้างเดอะมอลล์บางกะปิ แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะมอลล์ท่าพระ เมเจอร์ปิ่นเกล้า และเซ็นทรัลพระราม 3 ตามลำดับ
และพบว่าตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเหล่านี้ เปิดให้บริการอย่างโจ่งแจ้งในบริเวณโซนเครื่องเล่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร หน้าห้องน้ำ และทางเข้าออกห้างฯ ล้วนเป็นจุดที่เข้าถึงได้โดยง่าย ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่มีการควบคุมอายุของผู้เล่น
นอกจากนี้ ยังพบมีเด็กและเยาวชนเข้าเล่นเป็นจำนวนมาก และไม่พบใบอนุญาตให้สามารถเล่นการพนันตู้คีบตุ๊กตาได้ รวมถึงพบข้อความเพื่อบิดเบือนความจริง เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน มีไว้เพื่อการขายสินค้าเท่านั้น และข้อความบอกลักษณะของตู้คีบถูกและผิดกฎหมาย เพื่อหลอกให้ผู้เล่นสับสนและเข้าใจผิด
ชัดเจนแล้วว่า “ตู้คีบตุ๊กตา” มี 2 ประเภท ทั้ง “ผิดกฎหมาย” และ “ไม่ผิดกฎหมาย” จำแนกตามคุณลักษณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุไว้ ซึ่งผิดกฎหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ และต้องไม่ลืมว่าตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญสามารถ “โกยกำไรมหาศาล”
แน่นอนว่า เบื้องหลังของผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ย่อมไม่ธรรมดา ต้องมี “คอนเนกชัน” อันดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถประกอบกิจการในลักษณะนี้ได้
ฉะนั้น การปราบปรามตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ คงต้องฝากความหวังไว้กับของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยอย่างเข้มงวด เพื่อตัดวงจรธุรกิจสีเทาและยับยั้งไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อการพนันโดยไม่รู้ตัว