xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง เรื่องยากไปหาง่าย เรื่องง่ายไปหายาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย เสรี พงศ์พิศ

การเรียนเริ่มจากอนุบาล ประถม มัธยม แล้วไปอุดมฯ มีคนเรียนเก่งพาสชั้นได้ และมีเด็กอัจฉริยะที่เรียนมหาวิทยาลัยตอนอายุ 12 แต่มีหนึ่งในกี่ล้านคนก็ไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องปกติ

นายเบอร์นี ซอนเดอร์ส นำการเลือกตั้งเบื้องต้นใน 3 รัฐแรกที่อเมริกา เขาเป็นคนแก่อายุ 78 ที่มุ่งมั่นมาก ไม่ได้คราวก่อนก็มาสู้ใหม่ และไม่เปลี่ยนวิธีคิด มีนโยบายดีๆ ง่ายๆ จับต้องได้ให้คนจน คนธรรมดามาหลายอย่าง ฟังแล้วโดนใจคนรากหญ้านัก อย่างเช่น ปลดหนี้ค่ารักษาพยาบาล พร้อมกับนโยบาย “สุขภาพถ้วนหน้า” ปลดหนี้ค่าเล่าเรียน พร้อมกับให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ ”อเมริกันจน” (ไม่ใช่อเมริกันชน) ต้องกู้เพื่อให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย กว่าจะจบเป็นหนี้หลายล้าน

น่าสนใจว่า นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัยนายบารัค โอบามา ที่เริ่มตีตื้นขึ้นมาจะไล่ทันและได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคเดโมเครต ไปสู้กับนายทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้หรือไม่ นายซอนเดอร์ส ถูกวิจารณ์ว่า ก้าวหน้าสุดขั้วเกินไป และนายทรัมป์ก็ถือโอกาส “ป้ายสีแดง” ให้แกให้ “แจ๋” มากกว่าเดิมว่าเป็น “สังคมนิยม” ที่อันตรายต่ออเมริกา ซึ่งเป็นเสรีนิยม ทุนนิยม ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

และนี่คือ “ต้นแบบ” ประชาธิปไตยและทุนนิยมของไทย แต่ไทยก็ปรับตัวยืดหยุ่นได้ไม่น้อย รัฐบาลทักษิณมาแบบแนบเนียน ทำระบบเศรษฐกิจ “สองแทร็ค” แบบบนและล่าง แบบใหญ่และแบบท้องถิ่น มีนโยบายสุขภาพถ้วนหน้าแบบ 30 บาทรักษาทุกโรค มีกองทุนหมู่บ้าน มีโอทอป มีทุนให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย จบแล้วถ้ามีงานทำก็คืนให้รัฐ และอื่นๆ ที่โดนใจคนจน คนรากหญ้า เป็นการเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้ลืมตาอ้าปากได้ เลือกตั้งทีไรถึง “ชนะ” ทุกครั้ง เพราะ “ชนะใจ” คนจน

ที่เขียนนี้เพื่อสรุปบทเรียนว่า นโยบายพรรคการเมืองที่โดนใจคนส่วนใหญ่ที่ลำบากยากแค้น มีหนี้สิน ขาดโอกาสนั้น ทำได้มากมายหลายอย่าง แต่การเมืองไทยมีด้านบวกด้านลบ มีจุดแข็ง จุดอ่อน ที่สุด “ระบอบทักษิณ” ที่มีนโยบายดีแค่ไหนก็ไปไม่รอด “แพ้ภัยตัวเอง” ด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็วิเคราะห์วิจารณ์กันมามากแล้ว
แต่ “มรดก” ของ “ทักษิณ” ก็ยังตกทอดมาถึงวันนี้ รัฐบาลปัจจุบันก็ยังสานต่อหลายอย่าง และคิดใหม่ในแนวทักษิณไม่น้อย เพราะคนร่วมคิดกับทักษิณก็มาอยู่ในรัฐบาลนี้ แค่เปลี่ยนคำว่า “ประชานิยม” มาเป็น “ประชารัฐ” เท่านั้น

พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่น่าจะสรุปบทเรียน ทั้งของอดีตการเมืองไทยและของตนเองใหม่ๆ หมาดๆ ว่า ยุทธศาสตร์แบบ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ทาง “การเมือง” นั้น คงประเมินผิดไป กำแพงหนาแปดศอกไม่ใช่จะพังง่ายๆ คนวิ่งไปชนต่างหากที่หัวแตกคอหัก พรรคอนาคตใหม่อยากพาสชั้นเร็วเกินไป เพิ่งเรียนประถมจะไปอุดมฯ เลยสอบตกและถูกไล่ออกจากโรงเรียนอีกต่างหาก เพราะทำผิดระเบียบโรงเรียนหลายอย่าง

คงมีเวลาได้สรุปบทเรียนจากไทยในอดีตและของตนเอง (รวมทั้งของประเทศอื่นอย่างอเมริกา ยุโรป รวมทั้งฝรั่งเศส ที่เห็นว่าชื่นชอบกันนัก) และควรอ่านซุนหวู่ดูสามก๊กอีกหลายครั้งอาจได้บทเรียนดีๆ สำหรับพรรคใหม่ที่มารองรับและสืบทอด

นอกจากจะลุย “การเมือง” นโยบายยากๆ อย่างปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกคัดเลือกทหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ มีนโยบายอะไรด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เห็นว่าคิดถึงคนจน คนรากหญ้า ประชาชนคนส่วนใหญ่จริงๆ ที่พรรคได้คะแนนเสียงมามาก ทั้งๆ ที่ผู้สมัครในจังหวัดต่างๆ “โนเนม” คงเป็นเพราะคนรุ่นใหม่และคนทั่วไปที่ไม่ซ้ายไม่ขวาหรือพลังเงียบต้องการทางเลือกใหม่ และไม่มีอะไรดีกว่าอนาคตใหม่

อนาคตใหม่รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาอื่นๆ แก้ไม่ได้ทั้งหมด ก็ดูจะมากเกินไป รัฐธรรมนูญเขียนมา 20 ฉบับ แล้วฉบับที่ 21 จะเนรมิตบ้านเมืองได้จริงหรือ อังกฤษ แม่แบบประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ เพราะถ้าเขียนไว้ในใจคน เป็นจิตสำนึกจริง ไม่มีรัฐธรรมนูญก็ได้

ประเทศพัฒนาแล้วมีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวเขียนมาเป็นร้อยปี แก้ไขบ้างเล็กน้อยเป็นครั้งคราว ที่สำคัญกว่าคือการออกกฎหมายที่ตอบสนองการแก้ปัญหาพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งประเทศพัฒนาแล้ว พรรคการเมืองเขาแข่งขันกันที่การเสนอกฎหมายที่ “โดนใจ” ประชาชน ที่ได้เลือกพวกเขาเข้าสภา

มีพรรคการเมืองไทยไหนบ้างที่ประกาศว่าจะแก้กฎหมายหลายพันฉบับที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนา คสช.ประกาศไว้ตั้งแต่แรก แต่ถามว่า วันนี้แก้ได้กี่ฉบับ จนคนลืมไปแล้ว แทนที่พรรคใหม่ของอนาคตใหม่จะเอาแต่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ทำไมไม่หานักกฎหมาย (ให้อดีตเลขาธิการที่เป็นอาจารย์กฎหมายที่ตกงาน 10 ปีมาทำก็ได้) มาวิเคราะห์ว่า กฎหมายแยกแยะเป็นประเภทต่างๆ อะไรบ้าง มีอะไรที่เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก่อนหลัง

แก้ไขกฎหมายที่ทุกฝ่ายหรือเกือบทุกฝ่ายเห็นด้วย ไม่ง่ายกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ หรืออยากประกาศเหมือนมาร์กซิสต์หัวรุนแรงที่อินเดียหลายปีก่อนว่า พวกที่ทำงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมการเมืองทุกแบบที่ทำกันอยู่ล้วน “ทำให้การปฏิวัติล่าช้า” (delay revolution) พรรคอนาคตใหม่คิดว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้จะ “ปฏิวัติสังคมไทย” ได้ ทำอย่างอื่น นโยบายอื่นๆ ล้วนทำให้การปฏิวัตินี้ล่าช้ากระนั้นหรือ

ผมเชื่อว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้จาก “ข้างล่าง” และไม่ใช่ว่าจะต้องเปลี่ยน “ข้างล่าง” ทั้งหมด เพราะแม้มีปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งสองคนก็สามารถทำให้แนวคิดดีๆ แพร่กระจายได้ 30 กว่าปีก่อน ไม่มีใครพูดถึงหรือให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชนไม่กี่องค์กรทำงานกับปราชญ์ชาวบ้าน สร้างเครือข่าย ไม่นานก็แพร่ขยายไปทั่ว หน่วยงานราชการก็ขานรับ พรรคการเมืองก็ตอบรับ วันนี้เราจึงมีโอทอป มีท่องเที่ยวชุมชน ที่มาจากคนเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ เหล่านั้น

คุณหมอสงวน นิตยรัมภ์พงศ์ เคยเป็นแพทย์ชนบทหลายปี ทำงานกับชุมชน กับเอ็นจีโอ คิดเรื่อง “สุขภาพถ้วนหน้า” ด้วย “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่พรรคไทยรักไทยรับมาเป็นนโยบาย และใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นระบบประกันสุขภาพโดยรัฐที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ประเทศต่างๆ มาเรียนรู้ดูงาน

Tony Seba นักวิเคราะห์และพยากรณ์สังคมที่แม่นยำที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมา นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ขยายไปเพียง 5% ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน (disruption) ได้ เขายกตัวอย่างสมาร์ทโฟน Airbnb, Uber, รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน ที่ก่อนนั้นคนที่วิเคราะห์แบบเส้นตรงไม่เชื่อว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในไม่กี่ปีได้ ธุรกิจหลายอย่างจึงเจ๊ง ล้มละลายเพราะตามไม่ทัน

สมัยยังเด็ก แม่ให้ไปก่อไฟนึ่งข้าว ผมก็จุดไฟจากข้างใต้กองฟืน โดยใช้เศษไม้เล็กๆ บ้าง กระดาษบ้าง หรือดีที่สุดก็ใช้ขี้ไต้ที่จุดติดได้เร็ว

ผมเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดจาก “ข้างล่าง” ได้ อาจจะช้าในตอนต้น แต่เมื่อ “จุดติด” จะขยายไปเร็วขึ้น และยั่งยืนกว่า

“เจดีย์ เขาสร้างจากฐานขึ้นไป ไม่ใช่จากยอดลงมา”


กำลังโหลดความคิดเห็น