ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ช่วงนี้ความคิดของคนในสังคมไทย แตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเอาเจ้าและฝ่ายล้มเจ้า ฝ่ายเอาเจ้านั้นออกจะมาทางฝั่งรัฐบาลและกองทัพ ตลอดจนพรรคการเมืองแนวร่วม ส่วนอีกฝ่ายล้มเจ้าก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง แสดงตัวเป็นปฏิกษัตริย์นิยมชัดเจน แต่ในเมื่อสังคมแตกแยกกันแบบนี้ความอึดอัดก็เกิดขึ้น หากผมพูดอะไรตำหนิหรือวิจารณ์รัฐบาลแม้แต่นิดเดียว ก็จะมีคนที่สนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายเอาเจ้า ตัดพ้อต่อว่ามากมาย และรุมถล่มว่าผม เออ คือในความเป็นจริง รัฐบาลก็ทำผิดทำชั่วได้ ไม่ได้จำเป็นต้องทำถูกต้องเสมอไป ในขณะที่หากผมวิจารณ์อะไรฝ่ายพรรคการเมืองล้มเจ้าไป ก็จะมีทัวร์ลง คือมีฝ่ายที่นิยมพรรคการเมืองล้มเจ้าออกมาแก้ต่างและถล่มด่าผมอีกเช่นกัน บ้านเมืองในขณะนี้เต็มไปด้วยความแตกแยกทางการเมือง
สำหรับตัวผมเองนั้น ไม่เชื่อว่าความเป็นกลางทางการเมืองมีอยู่จริง ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความถูกผิดชั่วดี เราคงไม่สามารถเป็นกลางได้ หากมีความไม่ถูกต้อง และผมเองก็ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองแต่อย่างใด และนักวิชาการก็ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุผลได้ และรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้เช่นกัน ในกรณีนี้เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินและมีคนนำไปกล่าวบิดเบือนเพื่อเป็นชนวนในการก่อความขัดแย้งเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง ผมขอแสดงความไม่เป็นกลางทางการเมืองของผม เพื่อให้สังคมตื่นรู้และเข้าใจให้ถูกต้อง โดยพยายามเขียนให้อ่านง่าย เข้าใจง่ายที่สุด
ประเด็นแรก โดยหลักการ ศาลอะไรก็ช่าง ไม่มีหน้าที่รักษาประชาธิปไตย ไอ้ที่ออกมาพูดกันปาว ๆ ว่าระบบศาลไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วออกมาต่อต้านว่ามีเสียงเลือกมาเป็นหลายล้านคน เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นคือตรรกะวิบัติ ในกระแสยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ ออกมาคัดง้างโวยวายเมื่อตัวเองเสียผลประโยชน์ และอ้างมวลชนเพื่อเป็นโล่ห์ป้องกันให้ตัวเอง ผลประโยชน์ตัวเองทั้งสิ้นทั้งปวง
ศาลไหนก็มีหน้าที่รักษาหลักนิติรัฐ และรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ จะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเผด็จการรัฐสภา จะประชาธิปไตยเต็มใบ จะประชาธิปไตยครึ่งใบ จะเผด็จการทหาร จะนักการเมืองระยำแค่ไหนปกครองบ้านเมือง หน้าที่ศาลมีอยู่หน้าที่เดียวคือการรักษากฎหมาย อำนวยความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้น หากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ศาลก็ไม่ต้องทำงานหรือทำหน้าที่เช่นนั้นหรือ? ความเป็นจริงไม่ว่าประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบใดก็ตาม ศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
ศาลไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องรักษาประชาธิปไตย ศาลต้องตัดสินตามกฎหมาย กฎหมายมีหลักการอย่างไร เขียนไว้อย่างไร บัญญัติไว้อย่างไรศาลก็ต้องตัดสินไปตามนั้น ต้องไม่ยึดหลักประชาธิปไตยบ้าบอ เอากฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายเลย ตรรกะวิปลาสล้วน ๆ ที่บอกว่าคำตัดสินไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าคิดว่าศาลตัดสินไม่ตรงตามกฎหมายก็ค่อยมาพูดกัน แต่ถ้าศาลตัดสินตรงตามกฎหมาย แต่ไม่ตรงใจ แล้วไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว หรือคิดว่ากฎหมายไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมแล้ว ก็ออกมาล้มรัฐธรรมนูญ หรือล้มพรบ. พรรคการเมืองไปเลย หรือล้ม กกต. ที่เป็นคนควบคุมกติกา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาลเลย
ประเด็นที่สอง ที่ศาลตัดสินให้ผิด ไม่ใช่เพราะให้กู้เงิน และไม่ใช่ว่าเงินกู้ เท่ากับ เงินบริจาค แล้วไปโพนทะนาบิดเบือนว่า ถ้าอย่างนั้นเป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ก็ไม่ต้องจ่ายคืนหนี้ อ้าว เป็นหนี้แล้วไม่ใช้ กยศ. เขาก็มีมีพรบ. ของเขามีกฎหมายในมือที่จะสามารถไปหักเงินหนี้จากนายจ้างของคนที่กู้เงินเขาไปแล้วไม่คืน ให้เขาได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนได้ นี่ก็การรักษากฎหมาย
เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิด ไม่ใช่เรื่องการกู้เงินเท่ากับเงินบริจาค แต่คือการทำนิติกรรมอำพราง โดยการปล่อยกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยที่ถูกมากกว่าท้องตลาดสองสามเท่า อันเป็นการเอื้อผลประโยชน์มากเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็น favor การที่มีนายทุนมาครอบงำพรรคด้วยการปล่อยเงินกู้ให้ ในราคาดอกเบี้ยมิตรภาพเป็นพิเศษ มีเจตนาจะทำนิติกรรมอำพราง การเอาเงินกู้เข้ามาครอบงำพรรคนั้นผิดหลักแน่ มีบุญคุณกันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องมีการต่างตอบแทน ดังเช่น กลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเขียนไว้ว่า “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำร่ำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย”
นายเงิน หรือนายทุนเงินกู้ นั้นมีอำนาจสูง ยิ่งการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณ และครอบงำพรรคการเมืองได้ง่าย
ประเด็นที่สาม การกล่าวอ้างว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล จะกู้เงินอะไรยังไงก็ได้ นั้นก็ผิดหลักความเป็นจริง แม้แต่หลักการบัญชีหรือมาตรฐานบัญชีของบริษัทจำกัด กับบริษัทมหาชนจำกัด ก็มีความแตกต่างกันมาก เพราะบริษัทจำกัดเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลตามกฎหมายที่เรียกว่า นิติบุคคลเอกชน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นจำนวนไม่มากรายนัก ในขณะที่บริษัทมหาชนจำกัด เป็นนิติบุคคลมหาชน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เกิดผลกระทบใหญ่ต่อสังคม
ประเด็นที่สี่ มาตรฐานบัญชีของบริษัทจำกัด จึงไม่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามมากเท่ากับมาตรฐานบัญชีของบริษัทมหาชนจำกัด และในทางปฏิบัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกลต. ก็มีฝ่ายกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล มีฝ่ายดูแลมาตรฐานบัญชีให้มีมาตรฐานสูงกว่าบริษัทจำกัด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อมหาชนคือพี่เม่านักลงทุนรายย่อยมาก ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนได้มากกว่า หากมีการก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทมหาชนจำกัด
พรรคการเมืองนั้น โดยหลักการต้องเป็นนิติบุคคลมหาชน เพราะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นตาม พรบ. พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองต้องเป็นนิติบุคคลมหาชน ในต่างประเทศกฎหมายระบุและแนวทางคำพิพากษาล้วนระบุว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชน ไม่ใช่นิติบุคคลเอกชน อย่างแน่นอน
ในความเป็นจริงพรรคการเมืองไทยนั้นล้วนแล้วเป็นพรรคหัวหน้าตั้ง ไม่ยั่งยืน นายทุนพรรคครอบงำ มีอิทธิพลสูงส่ง พรรคการเมืองเดียวที่ไม่เป็นพรรคหัวหน้าตั้งน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจะมีนายทุนพรรคครอบงำพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ผมไม่กล้ายืนยันและไม่มีหลักฐานเพียงพอ สำหรับพรรคพลังประชารัฐเอง ก็เป็นพรรคหัวหน้าตั้ง เป็นพรรคเฉพาะกิจ หากไม่มีนายกรัฐมนตรีชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา พรรคพลังประชารัฐก็จะสูญหายไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชน หลักการบัญชีและมาตรฐานการบัญชีก็ต้องดีกว่า เพื่อปกป้องมหาชนเช่น สมาชิกพรรค ต้องรักษาหลักการ การให้กู้เงินในดอกเบี้ยต่ำสุดๆ กว่าท้องตลาดมากมาย จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ผิดหลักการและมาตรฐานการบัญชีของนิติบุคคลมหาชน
การเป็นนิติบุคคลมหาชน ไม่อาจจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะความเสียหายจะเกิดในวงกว้างกว่ามาก แตกต่างจากนิติบุคคลเอกชนโดยสิ้นเชิงที่ความเสียหายจะเกิดในวงจำกัดกว่ามาก จึงต้องมีหลักการและมาตรฐานที่เคร่งครัดกว่ามาก
ผมขอสรุปตามความเข้าใจสั้นๆ ของผมดังนี้
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องรักษาประชาธิปไตย แต่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ถ้าไม่พอใจก็ต้องไปล้มรัฐธรรมนูญหรือ พรบ. พรรคการเมือง จะมาก้าวล่วงศาลไม่ได้
2.พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชน จะทำอะไรต้องไม่ส่งผลเสียหายต่อมหาชน มีมาตรฐานการบัญชีที่สูงกว่าบริษัทจำกัด ซึ่งจะทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ได้ห้ามไว้ แต่นิติบุคคลมหาชนจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะจะเสียหายแก่ประชาชนหนักมาก
3.นายทุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคเองปล่อยกู้ ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและครอบงำพรรคการเมืองได้เต็มที่
4.เงินกู้ก็คือเงินกู้ แต่การให้ดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้กลายเป็นปัญหา เข้าข่ายนิติกรรมอำพราง อย่างแน่นอน การให้ผลประโยชน์โดยการทำนิติกรรมอำพราง เข้าข่ายไม่สุจริต และส่งผลเสียหายต่อพรรคการเมืองที่จะถูกครอบงำโดยอิทธิพลทางการเงิน
5.การที่พรรคการเมืองถูกครอบงำโดยนายทุนเงินกู้ ทำให้สูญเสียหลักการในการเป็นนิติบุคคลมหาชน ทำให้ผิดหลักการตามพรบ. พรรคการเมือง ถือเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อมหาชนหรือประชาชน เช่นกัน
เมื่อมีกฎหมายก็ต้องรักษากฎหมาย ให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ไม่สามารถเอากฎหมู่หรือเอาเสียงประชาชนที่เลือกตั้งมาแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์อะไรของตัวเองได้ทั้งนั้น นั่นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และในความยุติธรรมย่อมมีคนที่ไม่พอใจเสมอ เมื่อไม่พอใจก็จะไปปลุกระดมเพื่อให้คนมาปกป้องตนเอง ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ใครจะตกเป็นเครื่องมือหรือไม่ก็ต้องไปพิจารณากันเอาเอง