xs
xsm
sm
md
lg

กล้ามั้ย! “ดร.นิว” ท้าดีเบต “ทอน” สนองสาวก “หมอวรงค์” โต้ “36 อ.นิติ” “ทุนสามานย์ครอบงำ” ประเทศไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นึกว่ากลัว? “ดร.นิว” สนองสาวก “ส้มหวาน” ท้าดีเบต “ทอน” ถ่ายสดทั่วประเทศ แน่จริงอย่าซุกกระโปรงเด็กสาว ขณะ “หมอวรงค์” โต้ 36 คณาจารย์ ตีความปล่อยทุนสามานย์ครอบงำประเทศ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(25 ก.พ.63) เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์หัวข้อ “#ศุภณัฐถึงธนาธร”

โดยระบุว่า “สาวกชอบมาท้าผมว่า...ถ้าเก่งจริงให้ไปดีเบตกับศาสดาของพวกเขา

ผมขอท้าอย่างเป็นทางการอีกรอบนะครับ...
Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เรามาดีเบตออกทีวีถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ออกทีวีทุกช่องด้วยกันดีไหมครับ?

อย่างพี่เอกอะครับ...คำถามเดียวเพียงพอ...แบบจบในดาบเดียว...

คนละ 1 คำถาม...อะไรก็ได้

กล้ารึเปล่า?

ย้ำนะครับ...ขอถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ออกทีวีทุกช่อง...

“พี่เอกครับ...พี่จะมุดหัวอยู่ใต้กระโปรงของเด็กสาวอยู่ไย เชิญโผล่หัวออกมาประลองกันด้วยความรู้ความสามารถเถิด จากนี้ไป...แผ่นดินไทยจะได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยของจริงกับประชาธิปไตยจอมปลอม"

เรื่องมันจะได้จบๆ
ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่า “ดร.นิว” มักโพสต์เฟซบุ๊ก แฉพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริงของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่มาตลอด ซึ่งทั้งสองคนมักอ้างประชาธิปไตย ซึ่งดร.นิวเชื่อว่า “จอมปลอม” เรื่องนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับสาวก “ส้มหวาน” อย่างยิ่ง จึงมีการท้าดีเบต “ดร.นิว” ผลก็คือ กลัวเสียเมื่อไหร่

และที่น่าสนใจไปกว่านั้น แม้แต่กรณี “ช่อ”พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายนอกสภา กล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหลายหน่วยงานของรัฐบาล พัวกันกับคดี 1 Malaysia Development Berhad (1MDB) ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือและพัฒนาประชาชนมาเลเซีย ดร.นิว ก็ค้นข้อมูลในทางสากลมาตอบโต้ เพื่อชี้ให้เห็นพฤติกรรมโกหกหลอกลวงจับแพะชนแกะ มาโจมตีรัฐบาลทางการเมือง เรื่องนี้ก็อาจทำให้สาวก “ส้มหวาน” ไม่พอใจเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) กฌโพสต์หัวข้อ “นิติบุคคลเอกชนกับมหาชน”

โดยระบุว่า “ผมได้อ่านแถลงการณ์ของท่านอาจารย์นิติศาสตร์ ต่อการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เห็นต่างจากศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ไม่ใช่มหาชน

แม้ผมไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ผมขอใช้ประสบการณ์จริงเห็นต่างจากท่านอาจารย์ ซึ่งท่านอาจารย์จะอ้างหลักวิชาการ ว่า นิติบุคคลมหาชนต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 ข้อ

1. พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้น ว่าจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชนซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาหรือไม่

2. พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ ว่าองค์กรนั้นใช้อำนาจมหาชนในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวหรือไม่
และ3.พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่

ท่านอาจารย์อาจมองแต่พรรคการเมือง ที่เป็นองค์การเดี่ยวๆ แต่ไม่มองเชื่อมโยงถึงส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ที่ไปใช้อำนาจในนามพรรคการเมือง เช่น เป็นกรรมาธิการเชิญราชการมาตรวจสอบ หรือแม้แต่ส.ส.ที่สังกัดพรรคที่ไปเป็นรัฐบาลก็ใช้อำนาจที่รับมาจากพรรคการเมืองไปใช้อำนาจ ดำเนินนโยบายบริการสาธารณะ พรรคการเมือง จึงใช้ความเป็นนิติบุคคลมหาชนผ่านส.ส.ที่ถูกบังคับสังกัดพรรค

ที่สำคัญคือ พรรคการเมืองไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเหมือนเอกชน แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ พรรคการเมืองยังได้รับงบสนับสนุนจากเงินภาษีของประชาชน พรรคการเมืองใช้อำนาจผ่านส.ส.ควบคุมรัฐ แต่เอกชนถูกรัฐควบคุม จึงไม่สามารถมาเทียบกับนิติบุคคลเอกชนได้เลย พรรคการเมืองจึงเป็นต้นธารของทุกสิ่งของประเทศที่จะต้องดูแลสาธารณะ

ผมจึงมองว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชนที่พิเศษตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มากกว่านิติบุคคลรัฐทั่วไป จึงกำหนดที่มาของรายได้ 7 ทางเท่านั้น และเจตนาของกฎหมายจึงไม่ต้องการการครอบงำจากนายทุน เพราะปัญหาความขัดแย้งจากสังคมไทยนั้น เริ่มต้นมาจากพรรคการเมืองที่ถูกครอบงำจากทุนสมานย์ และถูกกำหนดทิศทางโดยนายทุน ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง
ถ้าไปตีความว่า พรรคการเมืองคือนิติบุคคลเอกชน สามารถทำทุกอย่างแบบเอกชนตามที่อาจารย์ว่า ผมรับรองได้เลยว่า ประเทศชาติไปไม่รอดแน่นอน

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 36 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรค ระบุว่า

1.พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการภายใต้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้ทำให้พรรคมีสถานะเป็นนิติบุคลมหาชน ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน

ทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทย และสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลก

เมื่อพรรคไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนการกู้ยืมเงินของพรรคในฐานะนิติบุคคลนั้น จึงทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรค

ดังนั้น คณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการไม่คิดดอกเบี้ยนั้น เป็นกรณีที่ถือว่า “ผิดปกติทางการค้า” นั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นเพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน

การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า โดยมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเครื่องยืนยันว่า การไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นเรื่อง “ปกติ”

ด้วยเหตุนี้ การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ ซึ่งมาตรา 72 กำหนดว่า ห้ามมิให้พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนมาตรา 66 กำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวครอบงำการดำเนินการของพรรค

จะเห็นได้ว่า มาตรการตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้กฎหมายทั้ง 2 มาตราจึงแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 66 จึงไม่อาจเป็นกรณีเดียวกับการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อการกระทำตามมาตรา 66 ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 72 ได้ หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินที่ได้รับมานั้น มีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีเสรีภาพทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย ไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ

การยุบพรรคจึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่า พรรคหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรค หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน การวินิจฉัยยุบพรรค จึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้ง 2 ด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน

กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคได้เฉพาะกรณีที่พรรคนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคได้เท่านั้น การยุบพรรคจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) ของมาตรการอื่นๆ เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง

คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมายาวนาน จะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้ หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น

แน่นอน, ทั้งหมดเป็นเรื่องของการตีความข้อกฎหมาย จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือ ภาพ ขาว-ดำ ที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน ว่า ถูก-ผิด โดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ประเด็นก็น่าจะยุติ มิเช่นนั้น ก็ไม่รู้จะยุติได้อย่างไรแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น