หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผมติดตามรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในมุมของผมในฐานะคนสนใจข่าวสารบ้านเมืองคนหนึ่ง แม้จะมีความรู้ในเรื่องกฎหมายตามสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญ และเคยเรียนกฎหมายมาบ้างพอจะอ่านกฎหมายเข้าใจ ผมคิดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความกระจ่างชัดเจนในตัวของมัน
แต่ออกตัวก่อนว่า แม้โดยความเห็นของตัวเองเสมอมานั้นมีความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็หาใช่เป็นเหตุผลที่ผมได้เอาคติในใจตัวไปรับรองคำวินิจฉัยไม่ แต่ได้พยายามฟังว่าเขาใช้เหตุผลและหลักกฎหมายอย่างไร แน่นอนเมื่อมันสอดคล้องกับความเห็นของตัวเองอยู่แล้วก็อาจจะทำให้ผมเห็นด้วยได้โดยง่าย
ในทางกลับกันคนที่ตั้งป้อมไว้แต่แรกแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินให้ยุบพรรค ก็ต้องมีคติในใจตัวว่าอย่างไรฉันก็ไม่เห็นด้วย ดังที่เราเห็นคนมีความรู้จำนวนมากลงชื่อรณรงค์คัดค้าน ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้อ้างอิงกับข้อกฎหมายและเรื่องที่เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลเลย แต่กลายเป็นเรื่องประเทศไทยปิดกั้นเสรีภาพไปนั่น
และเมื่อได้อ่าน แถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผมแปลกประหลาดใจยิ่งกว่า แต่ท่านเป็นกูรูในด้านกฎหมายจำนวนมากหลายคนที่รวมตัวกัน ดังนี้แล้วคนส่วนใหญ่ก็ต้องเชื่อและคล้อยตามไปตามนั้นว่า สิ่งที่คณาจารย์เสนอความเห็นมานี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็เขาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ลงชื่อกันมายาวเหยียด จะไม่ให้รู้ดีได้อย่างไร แม้อีกฝั่งจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีทั้งนักกฎหมายและไม่ใช่นักกฎหมาย แถมยังมีจำนวนน้อยกว่าเสียด้วย ที่เหนือกว่าก็เพียงอำนาจในการวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรที่กฎหมายมอบให้เท่านั้นเอง
แต่ผมเป็นคนที่เชื่อ หลักกาลามสูตร อย่างน้อยก็ที่บอกว่า อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ หรืออย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วยกมาทั้ง 10 ข้อเพื่ออ้างอิงก็ยังได้
ส่วนตัวผมนั้นเคยไปนั่งเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์ แค่เทอมเดียวแล้วก็โบกมือลา แต่ด้วยความเชื่อของผมว่า กฎหมายนั้นเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผลและความยุติธรรมที่มีบรรทัดฐานเดียว ผมก็จะขอใช้หลักนี้ในการโต้แย้งกับแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ใน 4 ประเด็น
คณาจารย์ท่านบอกว่า 1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ พร้อมคำอธิบายดังนี้
แถลงการณ์ของคณาจารย์อธิบายว่า ในทางวิชาการ การพิจารณาว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน (นิติบุคคลมหาชน) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ 1. พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้น ว่าจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชนซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ 2. พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ ว่าองค์กรนั้นใช้อำนาจมหาชนในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวหรือไม่ และ 3. พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่ โดยที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนได้นั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการ
โดยสรุปคณาจารย์ท่านบอกว่า พรรคการเมืองนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ 2 และ 3 ทำให้ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลมหาชนดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นอกจากนั้นคณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน เนื่องจากขาดองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน
คือท่านยกเอาสมาคม มูลนิธิ และบริษัทมหาชนมาเปรียบเทียบกับพรรคการเมือง พร้อมกับบอกว่า การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้นจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนแต่อย่างใด การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลนี้ย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง ดังนั้นคณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
สำหรับความเห็นของผม ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ในพระราชบัญญัติกำหนดไว้ในหมวดการจัดตั้งพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองนั้นต้องประกอบด้วยองค์กรประกอบอะไรบ้าง ต้องดำเนินการอย่างไร ต้องมีรายรับและรายจ่ายอย่างไร และกำหนดให้มีข้อบังคับที่ต้องจัดทำไว้อย่างน้อย 16 รายการ เช่น (14) วิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทําบัญชีของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ซึ่งต้องกําหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและให้สมาชิกตรวจสอบได้โดยสะดวก หรือ (15) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งร้อยบาท
นั่นสะท้อนว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการดำเนินการพรรคการเมืองอย่างเคร่งครัดภายใต้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ พรรคการเมืองจึงจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายมหาชน ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังเช่น บริษัท ห้างร้านที่เป็นนิติบุคคลเอกชน หรือ บริษัทมหาชน ที่จัดตั้งภายใต้ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งคณาจารย์ได้อ้าง คำว่าบริษัทมหาชนมาเปรียบเทียบว่า พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนไม่ได้ให้อำนาจมหาชนหรืออำนาจรัฐแก่บริษัทมหาชนแต่อย่างใด ซึ่งผมว่า เป็นคำเปรียบเทียบที่ฉาบฉวยมาก เพราะความหมายของ “บริษัทมหาชน” กับ “กฎหมายมหาชน” นั้นเป็นคำ “มหาชน” ที่แตกต่างกัน
บริษัทมหาชนจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ส่วนกฎหมายมหาชนหมายถึง กฎหมายที่กำหนดระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับเอกชนในฐานะที่รัฐมีอำนาจปกครองเอกชนที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐนั้น เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ
การเอาคำว่า “มหาชน” ในกฎหมายมหาชน กับ คำว่า “มหาชน” ในบริษัทมหาชน มาเปรียบกันจึงเหมือนการเอามีชัย ฤชุพันธ์ มาเปรียบเทียบกับมีชัย วีระไวทยะ
ยิ่งอ้างว่า สมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน ก็ยิ่งไม่เข้าการจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะที่อ้างมานั้นล้วนแล้วไม่ได้จัดตั้งภายใต้กฎหมายมหาชนเลย แต่ที่มีเหมือนกันของพรรคการเมืองกับสมาคมและมูลนิธิคือ มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องไม่ดําเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน
ทีนี้ถามว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมได้หรือไม่ ความเห็นผมคิดว่า สามารถกู้ยืมได้ภายใต้มาตรา 62 และมาตรา 66 ของ พร.ป..พรรคการเมือง นั่นคือ วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท เพราะกฎหมายมีเจตนาในการควบคุมรายรับและรายจ่ายของพรรคการเมือง ไม่ให้เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร เงินกิจกรรมพรรคมาจากไหนบ้าง ใช้เงินได้แค่ไหนในการทำกิจกรรมพรรคการเมืองซึ่งต้องถูกควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำด้วยอำนาจเงินของใคร
ข้อ 2 คณาจารย์ท่านบอกว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา
โอ้แม่เจ้า ถ้าอย่างนั้นก็มีคนเอาเงินมาให้พรรคการเมืองกู้สักหมื่นล้าน แล้วบอกว่า ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ก็ถือเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา เช่นนั้นหรือ แล้วถามว่า ดอกเบี้ยของเงินจำนวนหมื่นล้านนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ในทางธุรกิจและการค้า
คณาจารย์ท่านบอกว่า การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าแต่อย่างใด ผมถามว่า ปกติการค้าที่ไหนในโลกนี้ครับ ถ้าจะให้กู้ยืมกันแบบนี้มันไม่เป็นเรื่องปกติทางการค้าต่างหากครับ เป็นเรื่องที่ยืมกันในหมู่เพื่อนฝูงเครือญาติที่รักใคร่และต้องการจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
แล้วข้ออ้างการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยที่ว่า เป็นปกติทางการค้านั้นอ้างอิงกับอะไรกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีที่ไหน หรือการอ้างว่าเป็นเรื่องปกติทางการค้าซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนมาใช้กับเอกชนกับพรรคการเมืองได้หรือ ถ้าเช่นนั้น พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะกำหนดกรอบที่มาของรายได้ไว้ทำไม
ถามว่า ถ้าพรรคการเมืองกู้เงินมาหมื่นล้านฝากธนาคารไว้สัก 2 ปีแล้วค่อยส่งต้นคืนเพราะเจ้าหนี้ไม่ประสงค์ดอกเบี้ย จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเท่าไหร่ เงินก้อนนี้ก็จะเข้าหมวดของรายได้ ตามมาตรา 62 (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง ใช่หรือไม่ เมื่อใช่จะต้องเข้ากับมาตรา 66 เรื่องกำหนดวงเงินหรือไม่
ความเห็นในข้อ 2 ของคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์จึงไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย แล้วผมถามว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นเจ้าสัวธนินท์ตั้งพรรค แล้วให้พรรคยืมเงิน คณาจารย์จะยังมีความคิดแบบนี้ไหม
ข้อ 3 คณาจารย์ท่านบอกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้
คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตาม เนื่องจากมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มาตรา 72 ได้กำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” จะเห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของมาตรา 72 ดังกล่าว คือ การห้ามพรรคเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือถูกครอบงำจากกลุ่มหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
คือท่านตีความว่า "โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" หมายถึง ต้องเป็นเงินที่กระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น
แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านตีความว่า มาตรา 72 มี 2 ความหมายคือ 1.การได้มา 2.คือแหล่งที่มา โดยอธิบายง่ายว่า ท่านแยกคำว่า “หรือ” ออกจากกัน คือ 1.ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 2.มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คือคณาจารย์ท่านตีความว่า “หรือ” คือคำที่เชื่อมประโยคเข้าด้วยกัน แต่ศาลตีความว่า “หรือ” คือการแยกประโยคออกจากกัน คำถามว่า ใครผิด
เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ส่วน คำว่า “หรือ” โดยความหมายทั่วไปจะหมายถึง การแยกออกจากกัน (disjunctive) และเสนอให้เลือก (presents alternatives ) แต่การพิจารณาบริบทเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการพิจารณาความหมายของคำว่า “และ” ดังที่ Lord Wilberforce เคยกล่าวว่า “in logic, there is no rule which requires that ‘or’should carry an exclusive force; whether it does depends on the context.”
คำว่า “หรือ” จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึงการแยกออกจากกัน โดยในบางกรณี การใช้คำว่า “หรือ” อาจเป็นเพื่อการขยายเนื้อหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มคำที่มีความหมายใกล้เคียง อย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศแคนาดา Code S. 115 กล่าวว่า ผู้ใดกระทำความผิดเมื่อผู้นั้น “เก็บรักษา มีในครอบครอง หรือพกพาอาวุธอันตราย”ทั้งนี้ โทษฐานดังกล่าวมีเพียงฐานเดียวคือ การมีอาวุธ ไว้ในครอบครองและการใช้คำว่า“หรือ” ในกรณีนี้ก็เพื่อขยายคำว่าครอบครองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในบางกรณีอาจใช้คำว่า “หรือ” ให้หมายความว่า “และ” โดยการอ้างถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น แต่การกระทำเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากตามที่ Lord Justice Scrutton เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในศาลชั้น Court of Appeal ของประเทศอังกฤษว่า “ในบางครั้งเราอาจจะอ่านคำว่า “หรือ” ให้ หมายความว่า “และ” แต่เราจะทำเช่นนั้นได้เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น เพราะว่าโดยปกติแล้วคำว่า “หรือ” ไม่ได้หมายความว่า “และ” และคำว่า “และ” ไม่ได้หมายความว่า “หรือ””
ถ้าอ่านคำอธิบายของกฤษฎีกาแล้ว จะเห็นว่า คำว่า “หรือ” อาจหมายถึงคำว่า “และ” อย่างที่คณาจารย์ตีความได้ และอาจหมายถึงคำว่า “หรือ” ที่แยกสองประโยคออกจากกันได้ แต่ในการใช้คำว่า “หรือ” ให้หมายความว่า “และ” โดยการอ้างถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น แต่การกระทำเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ถามว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีเจตนารมณ์ในการควบคุมที่มาของรายได้และรายรับจำกัดจำนวนวงเงินอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายหรือไม่ มีใครบอกว่ากฎหมายไม่มีเจตนาเช่นนั้นบ้าง
คณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่านแถลงต่อว่า ข้อ 4 ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ
คณาจารย์แถลงว่า พรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ด้วยการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วยเลือกพรรคการเมืองนั้น ๆ เข้าไปเป็นผู้แทนของตนในรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปประเทศไปในแนวทางที่ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการ ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นผู้แทนในการจัดการผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และในกรณีประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่ม ต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกัน รัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตนผ่านหลักการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากโดยเคารพเสียงข้างน้อย ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระ เสรีภาพ และการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมืองทั้งหลาย การยุบพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึง การทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนในสังคมการเมืองนั้นควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและ มีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค
ใช่ครับ คำแถลงนี้เป็นหลักการที่เลิศหรู ถ้าเช่นนั้นเราควรกลับไปแก้ไขและเขียนมาตราที่เป็นบทบัญญัติให้ยุบพรรคอย่างชัดแจ้ง ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ซึ่งลงชื่อด้วยและเป็นผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายก็ควรจะอธิบายให้เพื่อคณาจารย์ให้เข้าใจว่า ทำไมท่านถึงบัญญัติให้ความผิดตามมาตรา 72 เข้าข่ายต้องยุบพรรค แต่ท่านไม่ต้องอธิบายหรอกครับว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพการตั้งพรรคและการดำเนินการของพรรคการเมืองตามที่แถลง เพราะไม่เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้อยู่แล้ว และเราให้เสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมเพียงแต่เรามีกรอบของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองบังคับไว้ว่า พรรคสามารถดำเนินการได้แค่ไหนซึ่งเขียนขึ้นมาก่อนพรรคอนาคตใหม่จะตั้งพรรคเข้าสู่การเมือง และเมื่อกฎหมายระบุไว้ โดยหลักการมันต้องบังคับใช้จะเอาบทบัญญัติในกฎหมายของต่างประเทศมาเทียบและบังคับใช้ไม่ได้
แต่ผมเห็นด้วยว่า การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) ของบรรดามาตรการอื่น ๆ เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และในกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง หรือบังคับใช้กับพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเป็นภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ แต่ท่านต้องไปแก้ไขกฎหมายเสียก่อนครับ เพราะศาลก็ต้องยึดเอาตามตัวบทกฎหมาย ประเทศต้องบังคับโดยกฎหมายไม่ใช่หลักการที่สวยหรู
นี่เป็นความเห็นที่พยายามไตร่ตรองจากความรู้ทางกฎหมายที่น้อยนิด แต่พยายามหาเหตุและผลมาอธิบาย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีคำโต้แย้งและไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับที่ผมไม่เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของคณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามนี้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan