xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตกรรมการร่าง รธน.60” ชี้ โทษ “อนาคตใหม่” ไม่ถึงขั้น “ยุบพรรค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต” อดีตกรรมการร่าง รธน.60 ชี้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน สามารถกู้เงินได้กฎหมายไม่ห้าม แต่ “อนาคตใหม่” กู้เกิน 10 ล้าน ผิดมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถไปผูกกับมาตรา 72 จนถึงขั้นยุบพรรคได้ เสนอศาล รธน.จำกัดอำนาจในการยุบพรรค เพราะส่วนที่ใช้ความเห็นยังไม่ชัดเจน ควรเลือกตัดสินในทางที่ส่งผลกระทบน้อย



วันที่ 26 ก.พ. 63 ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ถึงเหตุผลในการร่วมเป็น 1 ใน 36 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี

ศ.ดร.อุดมกล่าวว่า ต้องบอกก่อนว่าตนไม่ใช่ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการยกร่างตนไม่ได้เป็นคนยกร่างในคำแถลงด้วยตัวเอง เพียงแต่เป็นคนอ่านหลังจากคณะกรรมการส่งมาให้อ่าน บางเรื่องถ้าตนเขียนเองอาจแตกต่างไปจากนี้บ้าง ตนเห็นด้วยโดยธงว่าไม่ควรไปยุบพรรคอนาคตใหม่ ตนแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้หมายความว่าเชียร์อนาคตใหม่

โดยธรรมชาติกฎหมายพรรคการเมือง เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมเรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง นอกจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งก็คือการเข้ามามีส่วนในการกำหนดเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง ทุกพรรคต้องหาคะแนนนิยม มีความหลากหลาย เราไม่ได้ปิดกั้นว่าทุกพรรคต้องเห็นเหมือนกัน เพียงแต่วางกรอบว่าห้ามทำเกินจากที่กำหนด แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามก็ไม่ควรไปจัดการเขา

ศ.ดร.อุดมกล่าวอีกว่า การกู้เงิน เท่าที่ตนจำได้เราพิจารณาเรื่องการตัดรายได้อื่นออกไป โดยเห็นว่าพรรคควรได้เงินมาในช่องทางเท่าที่เราเขียน แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหลายทั้งปวงห้ามกู้เงินห้ามยืมเงิน ไม่เคยคิดว่าการยืมเงินเป็นปัญหา เชื่อว่าทุกพรรคต้องใช้เงิน แต่พรรคใหญ่จะใช้วิธีระดมเงิน จัดโต๊ะจีน ซึ่งการรับบริจาคเราวางเพดานไว้ที่ 10 ล้านบาทเพื่อไม่ให้เกิดการครอบงำพรรค ส่วนกู้เป็นร้อยล้าน ตอนนั้น กรธ.ไม่คิดว่าจะเกิดประเด็นนี้ เรื่องครอบงำพรรคก็มองได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราคิด การกู้ยืมแม้ไม่ได้เขียนอะไรไว้ ท้ายที่สุดสิ่งที่เราเห็นคือเขาเปิดเผย มันสะท้อนว่าเขาไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย

ศ.ดร.อุดมกล่าวว่า มาตรา 66 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดเพดานการรับเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งศาลมองว่าการกู้เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงมาตรา 66 แต่เชื่อกันไหมว่าพรรคอื่นรับเงินตามจำนวนที่แจ้งจริง แต่ตนไม่ติดใจเรื่องนี้ เห็นว่าผิดจริงตามมาตรา 66 เพราะเกิน 10 ล้าน ไม่เช่นนั้นพรรคก็จะเลี่ยงไปทำการกู้เยอะๆ แทน

ศ.ดร.อุดมกล่าวด้วยว่า มีข้อถกเถียงกันว่าตกลงพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชนหรือนิติบุคคลเอกชน ตนคิดว่าแม้พรรคการเมืองเกิดโดยกฎหมายมหาชน แต่โดยธรรมชาติคือการรวมตัวของคนที่มุ่งหวังมามีอำนาจรัฐ ถือว่าเป็นเอกชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ไม่มีประเทศไหนห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน

เราลองมองพรรคเล็กๆ ที่ไม่มี ส.ส.แม้แต่คนเดียว จะเป็นพรรคมีอำนาจมหาชนอะไร เวลาดูให้เท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ใช่ดูว่า ส.ส.เยอะแล้วเป็นมหาชน

ศ.ดร.อุดมกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่เอามาตรา 66 มาผูกเข้ากับมาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (มาตรา 72 กำหนดว่า ห้ามมิให้พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย) จนเป็นเหตุในการยุบพรรคตามมาตรา 92

เพราะปัญหาคือพรรครับผลประโยชน์เกินกฎหมายกำหนด แต่จะยุบพรรคทันทีมันไม่ถูกต้อง การครอบงำพรรคไม่ร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรค เพราะมันมีมาตรการทางกฎหมายจัดการอยู่แล้ว ไปว่ากันที่ศาลอาญาตามมาตรา 125 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน)

ศ.ดร.อุดมกล่าวต่อว่า ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องไปตรวจสอบทุกพรรค ถ้าเงินยืมผิดต้องยุบไปหลายพรรคเลย กฎหมายต้องใช้กับทุกคนโดยเสมอกัน

ในแถลงการณ์ 36 คณาจารย์ มีระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องจำกัดอำนาจในการยุบพรรค เพราะส่วนที่ท่านใช้ความเห็นมันยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ การนำมาสู่การยุบพรรค การตัดสิทธิใคร ต้องเลือกทางที่อ่อนกว่า กฎหมายมหาชนมันมีทางเลือกว่าต้องทำให้ส่งผลกระทบน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น