ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ล็อกเป้า “ดอยม่อนแจ่ม” จัดระเบียบรีสอร์ตและบ้านพักรุกป่าสงวนฯ หลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเต็มพื้นที่ มิหนำซ้ำ ที่ดินหลายแปลงถูกซื้อขายเปลี่ยนมือให้นายทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยกรมป่าไม้เป็นแม่งานลุยสางปัญหาไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วใน “ภูทับเบิก” รวมทั้งอีกหลายพื้นที่ที่เป็นข่าวครึกโครม
ปรากฏการณ์ปัญหาที่ “ดอยม่อนแจ่ม” เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกรณี “ภูทับเบิก” จังหวัดเพชรบูรณ์ การเติบโตในภาคธุรกิจท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด ตอบโจทย์ทุนนิยม จนเกิดการก่อสร้างที่พักบุกรุกป่าเป็นจำนวนมาก
กระทั่ง มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/59 เพื่อแก้ไขทวงคืนผืนป่า นำไปสู่การจับกุมและรื้อถอนรีสอร์ตบนภูทับเบิกกว่า 103 แห่ง แบ่งเป็นของชาวม้งในพื้นที่ 50 แห่ง และนายทุนนอกพื้นที่อีก 53 แห่ง
สำหรับ “ดอยม่อนแจ่ม” หมุดหมายในปฏิบัติการจัดระเบียบครั้งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ครอบคลุมพื้นที่กว่า 13,500 ไร่ ตำบลโป่งแยง และตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
แต่เดิมเป็นเขาหัวโล้นและป่าเสื่อมโทรม กระทั่ง ปี 2517 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย” เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ตลอดจนการพื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม กระทั่งกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกผักและวิจัยพืชเมืองหนาว
อย่างไรก็ดี ต่อมา ชาวบ้านพี่น้องชาวไทยภูเขารวมกลุ่มกันก่อตั้ง “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม” ซึ่งในระยะหลังมีการปรับเปลี่ยนประกอบธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเพื่อเปิดเป็นโฮมสเตย์ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เกิดรีสอร์ตบ้านพักผุดขึ้นเต็มพื้นที่
การเติบโตของ “ดอยม่อนแจ่ม” เร่งเครื่องรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกิดปัญหาใช้ที่ดินผิดประเภท สร้างสิ่งปลูกสร้างรองรับนักท่องเที่ยวแทนที่การทำเกษตร
มีข้อมูลเผยว่าการท่องเที่ยวในม่อนแจ่ม สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากกว่าการทำการเกษตรหลายเท่าตัว มีผลคาดการณ์ว่า ช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ต.ค. - ม.ค. หรือช่วงไฮซีซั่น ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยว 2,000 - 3,000 คน มีเงินสะพัดกว่า 1.5 ล้านบาทต่อวัน จึงไม่แปลกที่เกิดการเร่งขยายพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว
เพื่อไม่ให้เละเทะไปมากกว่า ดอยม่อนแจ่มจึงเข้าสู่การการจัดระเบียบครั้งใหญ่
กรมป่าไม้ได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 25 สั่งให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองพื้นที่ยุติ การดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในลักษณะบ้านพัก รีสอร์ต ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม พื้นที่โครงการหลวงหนองหอย หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงคำสั่งให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ม่อนแจ่มที่มีการรุกที่ป่าสงวน ให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าว ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562
รวมทั้ง ทางฝ่ายปกครอง อำเภอแม่ริม ได้มีการออกหนังสือราชการ สั่งยุติและระงับบริการที่พักบนม่อนแจ่ม เมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนายกฤตพล รชตเมธานนท์ ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนแม่ริม จ.เชียงใหม่ เจ้าของพื้นที่ได้ออกประกาศอำเภอแม่ริมและติดประกาศในพื้นที่ เรื่องให้ผู้ประกอบธุรกิจที่พักที่มีค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่สามารถออกใบอนุญาตหรือรับแจ้งได้ตามกฎหมาย ระงับหรือยุติการประกอบธุรกิจภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดยังปรากฏว่ามีผู้ประกอบการที่พักอาศัยรายใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด
ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการเข้ามาก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ของโครงการหลวงฯ รูปแบบของรีสอร์ต บ้านพัก โรงแรม ลานกางเต็นท์ ทั้งหมด 116 ราย ส่วนหนึ่งมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือให้นายทุนไทยและต่างชาติ มีการก่อสร้างผิดรูปแบบ บุกรุกป่าขยายพื้นที่เพิ่มเติม จะมีการจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไปแล้วจำนวน 7 ราย และยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง
สำหรับพื้นที่บริเวณดอยม่อนแจ่ม มีการใช้ประโยชน์ประมาณ 2,500 ไร่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 900 หลังคาเรือน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2563 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่าตามที่ได้มีประกาศของอำเภอแม่ริม เรื่อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่พัก โดยมีค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่สามารถออกใบอนุญาตหรือรับแจ้งได้ ตามกฎหมาย ระงับหรือยุติการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 15 ม.ค. 2563 ความว่า
“ชาวบ้านม่อนแจ่มได้รับความเดือดร้อนมาก จากคำสั่งดังกล่าว ขาดความมั่นคงในการดำรงชีพ ขาดรายได้ที่ใช้จ่ายในครอบครัว การที่จะไปประกอบเกษตรกรมก็ขาดแคลนน้ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ
ด้วยคำสั่งดังกล่าวที่ทางอำเภอแม่ริมประกาศอันเป็นต้นเหตุแห่งความเดือดร้อน เนื่องจากมีหลายข้อความที่ขัดและแย้งต่อข้อเท็จจริง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏดังนี้
1. พื้นที่ม่อนแจ่มมีการครอบครองทำประโยชน์และตั้งชุมชนมาก่อนการประกาศป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม
2. ราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ม่อนแจ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาดั่งเดิม
3. ราษฎรม่อนแจ่มทุกรายได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยเป็นหนังสือตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541
4. ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตได้ยื่นหนังสือตามคำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 มีผลได้รับการคุ้มครองให้ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.โรงแรม, พ.ร.บ. ผังเมือง และพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ส่วนพื้นที่นั้นอยู่ในระหว่างคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
ด้วยเหตุนี้ชาวม่อนแจ่มจึงขอวิงวอนให้ภาครัฐหากจะดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อประชาชน ควรคำนึงถึงความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำและการปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายเป็นหลัก และสิ่งสำคัญเมื่อผลของการกระทำจากภาครัฐที่ส่งผลทำให้ประชาชนเดือดร้อนจนไม่มีทางออก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเดือดร้อนของประชาชน ฉะนั้น ชาวม่อนแจ่มจึงขอแจ้งต่อผู้ที่ประสงค์จะเดินทางมาพักผ่อนที่ม่อนแจ่ม ผู้ประกอบการทุกรายยังเปิดอยู่ทุกวัน”
อย่างไรก็ตาม นอกจากการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ภาครัฐยังโต้ตอบโดยการกดดันผู้ประกอบการผิดกฎหมายในพื้นที่ เพื่อให้ระงับการให้บริการภายใน 30 วันตามกำหนด โดยการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต จนสร้างความเดือดร้อนกระทบชาวบ้านในพื้นที่
ส่วนในประเด็นการได้ยื่นหนังสือตามคำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 หรือ “ใบสีชมพู” ที่กล่าวในแถลงการณ์นั้น นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า เป็นเพียงการสำรวจพื้นที่และกิจการเท่านั้น ไม่มีการนิรโทษใดๆ และ คำสั่งรื้อถอนรีสอร์ตบนดอยม่อนแจ่มภายใน 30 วัน มีเพียง 7 แห่งเท่านั้นที่ตรวจพบว่ามีความผิด มีความจำเป็นต้องสั่งรื้อถอน ไม่ใช่ว่าสั่งรื้อทุกรีสอร์ตบนม่อนแจ่ม
โดยกรมป่าไม้จะสำรวจพื้นที่แบ่งกลุ่มในการจัดระเบียบ โดยกลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติที่เข้าไปอยู่คือ กลุ่มที่ไปซื้อกิจการหรือนายทุน จะต้องเข้าไปสู่กระบวนการดำเนินคดีและทำการให้รื้อถอน ขณะที่ในส่วนของชาวบ้านที่มีพัฒนาที่จนกลายมาเป็นรีสอร์ต จะขอให้มีการปรับปรุงรื้อถอนในบางส่วนที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัย
นายอรรถพล เปิดเผยว่าการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกพื้นที่ป่า จะเน้นการบังคับใช้กฎหมาย นำระเบียบกฎหมายทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบว่า ส่วนไหนจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนไหนจะต้องให้ความช่วยเหลือ หรือสิ่งใดต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดิมของโครงการหลวงฯ รวมถึง การขยายการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ทั้ง 13,000 ไร่ และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินบนโครงการหลวงให้แล้วเสร็จให้ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้
“เรื่องการกวาดล้างคนที่เข้าไปดูพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นจะต้องทำอย่างจริงจัง เพราะถ้าเราไม่ทำจริงจัง พอเงียบไปคนเหล่านี้ก็จะกลับเข้าไปอีก แต่จริงๆ เรื่องนี้จะต้องขอความร่วมมือจากพื้นที่โดยเฉพาะท้องถิ่นในเรื่องการอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย นอกจากพื้นที่ม่อนแจ่มแล้วเรายังจะมีการขยายไปยังพื้นที่รอบๆ ป่าแม่ริมต่อไป” นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่าดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่บุกรุกพื้นที่ป่าม่อนแจ่ม ที่ผ่านมากรมป่าไม้มีข้อตกลงและมาตรการร่วมกับชุมชนที่ม่อนแจ่มแล้ว ดังนั้น หากใครกระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหนหรือมีเพาเวอร์ขนาดไหน
นอกจากนี้ จะทยอยดำเนินคดีกับผู้บุกรุกจนกว่าสภาพที่ม่อนแจ่มจะกลับมาเป็นพื้นที่ทางการเกษตรเหมือนเดิม เพราะจุดประสงค์ของพื้นที่ม่อนแจ่ม คือ ต้องการให้เกษตรกรเข้าไปทำประโยชน์ทางการเกษตร ไม่ได้ให้เข้าไปทำรีสอร์ตในพื้นที่ป่า
“ม่อนแจ่มระบุไว้ชัดเจนให้ทำเป็นพื้นที่เกษตร ไม่ใช่ให้ทำรีสอร์ต แม้การทำรีสอร์ตจะรายได้ดีกว่าการทำเกษตร แต่ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ทางรัฐตกลงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นต้องทำตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งร่วมกันตั้งแต่ทีแรก” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
แน่นอนว่า จะมีการขยายผลไปทั่วประเทศ ฉะนั้น รีสอร์ตบ้านพักรุกป่าในพื้นที่อื่นๆ เตรียมตัวไว้เลย