ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กฟภ.แจงเหตุตัดไฟ “ม่อนแจ่ม” เนื่องจากพบมีการต่อพ่วงมิเตอร์ผิดสัญญา ด้านที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวฯ รับกรณีถูกตัดไฟและรื้อเสาสัญญาณโทรศัพท์ เป็นฝ่ายผิดเช่นกัน ยอมรับสภาพ แต่ยังหวังทางออกประนีประนอมกว่านี้
จากกรณีที่วันนี้ (18 ก.พ. 63) กลุ่มผู้ประกอบการเจ้าของที่พักและมวลชนในพื้นที่ม่อนแจ่ม ประมาณ 300 คน นำโดยนายสุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม และายไชยชนะ สุขสกุลปัญญา อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเก่า ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวแสดงความไม่พอใจเนื่องจากความเดือดร้อน พร้อมยื่นหนังสือทวงถามเรียกร้องของความเป็นธรรมกรณีที่มีการรื้อถอนเสาสัญญาณโทรศัพท์,ระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมทั้งตัดไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดระเบียบพื้นที่ม่อนแจ่ม และการที่อำเภอแม่ริม มีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 15 ม.ค. 63 ให้ผู้ประกอบการยุติประกอบธุรกิจภายใน 30 วัน และรื้อถอน เนื่องจากผิด พ.ร.บ.โรงแรม อีกทั้งมีการตรวจสอบพบว่ามีการรุกพื้นที่ป่าสงวนด้วย โดยนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือดังกล่าว และประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกที่องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแย่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีการตัดไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่ริมได้มีหนังสือถึงผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ม่อนอิงดาว เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 63 ว่าตรวจพบระบบไฟฟ้ามีการต่อพ่วงไปใช้ภายนอก ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเป็นการต่อโยงไฟฟ้าให้แก่ผู้อื่น จึงได้แจ้งเตือนของดเว้นให้ผู้อื่นต่อพ่วงไฟฟ้าไปใช้สถานที่อื่นโดยให้ดำเนินการภายใน 7 วัน ซึ่งการขอมิเตอร์ในพื้นที่ม่อนแจ่มสามารถดำเนินการได้น้อยเนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ทำให้ไม่สามารถเดินสายไฟได้ โดยมิเตอร์ที่ขอจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประมาณ 10 ตัว ที่เหลือเป็นการต่อพ่วงจากศูนย์พัฒนาโครงการหนองหอย และม่อนอิงดาว ส่วนการตัดสัญญาโทรศัพท์ไม่ได้มีการสั่งการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในกรณีมีการดำเนินการจะเป็นของเอกชนที่มีการต่อไฟฟ้าโดยผิดกฎหมาย โดยมาตรการดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้อยู่อาศัยและดำเนินกิจการต่างๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ม่อนแจ่ม
ทั้งนี้ นายสุรินทร์เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและประชุมหารือร่วมกับทางปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ที่รับหนังสือ จากการพูดคุยหารือและรับฟังข้อมูลกันแล้วแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยทางเจ้าของที่พักและชาวบ้านม่อนแจ่ม ยอมรับว่าไม่ได้เป็นฝ่ายถูกทั้งหมด จึงทำให้ต้องมีการตัดการเชื่อมต่อไฟฟ้าและเสาสัญญาณโทรศัพท์ แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาในแง่มุมของมนุษยธรรมด้วย โดยทางฝ่ายเจ้าของที่พักและชาวม่อนแจ่ม เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยราชการและชาวบ้าน ขึ้นมาพิจารณาหาทางออกร่วมกันโดยพิจารณาจากสภาพจริงและไม่ยึดถือแต่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว เบื้องต้นมีการรับฟังความต้องอย่างดีและจะมีการรับไปพิจารณา ส่วนจะใช้เวลานานเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับความกรุณาของทางภาครัฐ ขณะที่ผลจากการตัดไฟฟ้านั้นกระทบต่อชาวบ้านประมาณ 10 หลังคาเรือน และที่พักประมาณ 10 แห่งที่จะไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ยอมรับสภาพ ส่วนที่พักที่ยังเปิดให้บริการนั้นมีเฉพาะส่วนที่เปิดอย่างถูกต้องเท่านั้น
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ตรวจยึดและดำเนินคดีบ้านพักตากอากาศ ม่อนใจโฮมสเตย์ บ้านหนองหอยใหม่ หมู่ 11 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ 1-3-70 ไร่ พื้นที่มีลักษณะของสิ่งปลูกสร้างก่อสร้างหลังปี 2557 ซึ่งไม่อยู่ในโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ป่าแม่ริม ขณะตรวจสอบไม่พบตัวผู้กระทำผิด ต่อมาขยายผลสำรวจและตรวจสอบบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต ร้านกาแฟขนาดใหญ่ หรือสถานบริการนักท่องเที่ยวอื่นๆ พบว่ามีกลุ่มผู้อยู่อาศัยทำกินเดิมซึ่งขยายพื้นที่เพิ่มเติม 11 ราย
ขณะเดียวกัน มีการดำเนินคดีต่อสถานประกอบการที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมบุกรุกครอบครองที่ป่าไม้ซึ่งดำเนินคดีเต็มพื้นที่ 6 ราย ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการซื้อที่ดินจากผู้ครอบครองเดิม ดำเนินธุรกิจในลักษณะนอมินี รวมถึงเป็นนายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่ ใจโฮมสเตย์ เนื้อที่ 1-3-70 ไร่, ม่อนแสนสิริจันทรา เนื้อที่ 4-2-3 ไร่, ม่อนดอยลอยฟ้า เนื้อที่ 1-2-84 ไร่, บ้านท่าจันทร์ เนื้อที่ 1-2-85 ไร่, รีสอร์ต ม่อนม่วน เนื้อที่ 11-3-33 ไร่ และไร่นาย เนื้อที่ 5-1-82 ไร่ พร้อมตรวจสอบพบผู้ประกอบการที่ทำสิ่งปลูกสร้าง แต่ระบุว่าเป็นลานกางเต็นท์อีก 8 ราย ได้แก่ เดอะเบสท์แคมป์, หนองหอยแคมป์, บ้านอุ่นไอหนาว, ม่อนเหนือหมอก, ไร่ปลายฝัน, ไร่นายพงษ์ สุขสกุลปัญญา, ไร่แสงอรุณ และภูวินคาเฟ่ โดยกรมป่าไม้ได้ขอความร่วมมือกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมตรวจสอบว่าถือเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรหรือไม่ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม และท้องที่ใกล้เคียงอำเภอแม่ริมดังนี้ คือ ดำเนินคดีต่อแปลงที่ดินที่มีการเปลี่ยนการถือครองที่ดิน โดยมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2563 กรณีเจ้าของที่ดินเดิมก่อสร้างเกินพื้นที่ทำกินเดิม หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรม หรือส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หากพ้นกำหนดเวลาแล้วไม่รื้อถอนให้ถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืนต้องดำเนินการตรวจยึดดำเนินคดีทั้งแปลง โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินคดี 1 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุดการแจ้งเตือน
ส่วนแนวทางการดำเนินงานจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) นั้นให้จัดทำร่างคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่ม) ระหว่างภาครัฐ ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบบริหารจัดการพื้นที่ในกลุ่มผู้ที่มีสิทธิ์ให้มีการจัดการพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่ต้องเป็นลักษณะการทำเกษตรกรรมนำการท่องเที่ยว ผสมผสานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับการเกษตรแบบยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่หรือเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศ ตลอดจนกำหนดรูปแบบขอบเขต สัดส่วนของพื้นที่ในการทำการเกษตรและการบริหารที่พักที่เหมาะสมเช่น กำหนดให้พัฒนาเป็นสถานที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์หรือที่พักชั่วคราวได้ร้อยละ 20 ของพื้นที่ถือครอง ส่วนลานกางเต็นท์/กระโจมจะต้องมีรูปแบบที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม