xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม เอาผิด “ผู้หญิง” ทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การชูธง “การทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร” มาถึง “จุดเปลี่ยน” เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดด้วยเสียงข้างมากว่ ากฎหมายเอาผิดหญิงทำแท้งนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นั่นหมายความว่าหญิงที่ท้องไม่พร้อมที่มีอยู่นับแสนรายต่อปีตามตัวเลขของกรมอนามัยนั้น มีทางเลือกยุติการตั้งครรภ์โดยปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ต้องไม่ลืมว่าปัญหาท้องไม่พร้อมเกิดขึ้นทั่วโลก และการทำแท้งในบางประเทศถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่สำหรับไทย ข้อถกเถียงจะอนุญาตให้ทำแท้งในรายที่ท้องไม่พร้อมโดยไม่ผิดกฎหมาย เลยไปไกลถึงการใช้คำว่า “ทำแท้งเสรี” มีมายาวนาน มีทั้งเสียงหนุนและเสียงต้าน แต่สุดท้ายพ่ายกระแสเมืองไทยเมืองพุทธ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป ซุกปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ใต้พรม ทั้งที่สภาพความเป็นจริงมีหญิงท้องไม่พร้อมและเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการทำแท้งอยู่หลักหมื่นหลักแสนคน

การรณรงค์ในเรื่องนี้ของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเครือข่ายอาสา RSA มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่พีคสุดจนนำมาสู่จุดเปลี่ยนเกิดจากเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าจับกุม พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งเปิดศรีสมัยการแพทย์ที่หัวหิน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 เนื่องจากสงสัยทำแท้งผิดกฎหมาย มีการต่อสู้คดีกันจนกระทั่ง พญ.ศรีสมัยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจจัย

ล่าสุด ผลปรากฏออกมาแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดว่าหญิงที่ทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ว่าด้วยความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมทั้งหญิงและชาย

ที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กลับเอาผิดเฉพาะหญิงที่ทำแท้ง ทั้งที่การตั้งครรภ์เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันของชายและหญิง ถ้าเอาผิดฝ่ายหญิงก็ต้องเอาผิดฝ่ายชายด้วยจึงจะเท่าเทียมกัน จะมาลงโทษให้หญิงทำแท้งเป็นอาชญากรแต่ฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายชายลอยนวล ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างที่ศาลฯ ได้วินิจฉัย

ยิ่งหากลงลึกในบางกรณี หญิงที่ตั้งครรภ์และไปทำแท้งนั้นเกิดจากการถูกข่มขืน กระทำชำเรา ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะไม่เพียงเสี่ยงทำแท้งไม่ปลอดภัย แต่ยังมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจที่บอบช้ำซ้ำเติมอีกด้วย เรื่องการทำแท้งที่ถกกันมานมนาน จึงถึงเวลาแก้ไขให้ตามทันโลกกันเสียที

สำหรับรายละเอียดตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 พิจารณาคำร้องกรณี น.ส.ศรีสมัย เชื้อชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และ 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ซึ่งปรากฏผลการลงมติ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ศาลฯ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่บัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อ่านทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นั้น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28

ประเด็นที่สอง ศาลฯ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และ 302 เป็นการกระทำของแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น (2) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

ศาลกำหนดคำบังคับโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

สำหรับ มาตรา 27 และ 28 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่าบุคคลชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยความแตกต่างในเรื่องของถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ ภาษา สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะกระทำไม่ได้

ส่วน มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมาย หรือยกเลิกปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรค์ต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน

มติของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในประเด็นใหญ่ทางสังคมเรื่องหญิงที่ไปทำแท้ง และแพทย์ที่ทำแท้งให้ แต่เดิมถือเป็นความผิดทางอาญา แต่เมื่อศาลฯ มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วถือว่าไม่ผิดนั้น

กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย และเปิดคลินิกศรีสมัยการแพทย์ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2561 เคยถูกตำรวจ สภ.หัวหิน บุกเข้าจับกุมเนื่องจากสงสัยเปิดทำแท้งผิดกฎหมาย หลังพบว่ามีชายนำถุงดำใส่ศพเด็กทารก 4 รายไปทิ้งในถังขยะ

แต่ พญ.ศรีสมัย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ของกรมอนามัย ในการทำแท้ง และทำถูกต้องตามระเบียบการทำแท้งของแพทยสภา โดยทำแท้งให้กับหญิงที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกข่มขืน กระทำชำเรา เป็นเอดส์ หรือแม่เป็นเอดส์

ต่อมา รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงไม่พร้อม ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ศาลมีคำวินิจฉัย โดยอ้างถึงการที่ พญ.ศรีสมัย ถูกจับกุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 แต่ก่อนที่ศาลจะพิจารณา รศ.ดร.กฤตยา ได้ถอนคำร้องออกไปเพื่อต้องการทำคำร้องให้สมบูรณ์ ซึ่งศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ให้จำหน่ายคดี

หลังจากนั้น มีการยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ กระทั่งนำมาสู่การวินิจฉัยคดีดังกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญ

ตามคำร้องเดิมของ รศ.ดร.กฤตยา ระบุว่า วิอาญา มาตรา 301 บัญญัติมุ่งลงโทษแต่เฉพาะหญิงที่มุ่งทำแท้งเป็นสำคัญ ทั้งที่การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของหญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ชายที่มีสัมพันธ์กับหญิงต้องร่วมรับผิดและถูกลงโทษด้วย จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ชายและหญิงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27, 28 กำหนด

ส่วนวิอาญา มาตรา 305 ก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ ไม่เท่าทันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่เน้นการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ แทนการใช้หัตถการทางการแพทย์

นอกจากนั้นแล้ว การมุ่งคุ้มครองเฉพาะการกระทำของแพทย์ ไม่ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ให้บริการภายใต้การควบคุมของแพทย์ ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 77 สมควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้อยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

อีกประเด็นคือ ควรมีข้อยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่มีความผิด หากอายุครรภ์ของหญิงนั้นไม่ถึง 12 สัปดาห์ หรือการตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อจิตใจของหญิงนั้น หรือตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม

รศ.ดร.กฤตยา ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงไม่พร้อม เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมกว่า 90% ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้นต้องให้เขาเข้าถึงทางเลือกและบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย การยื่นคำร้องต่อศาลธรรมนูญ ขอให้ยกเลิก มาตรา 301 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะแม้ว่าปลอดภัยแต่อาจถูกจับได้

นอกจากนี้ ได้ขอให้ปรับปรุงมาตรา 305 ที่ระบุว่า หากเป็นการกระทำของแพทย์ จำเป็นต้องเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือตั้งครรภ์จากการทำผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน ให้ถือว่าไม่มีความผิด แต่ก็มีการจับแพทย์ที่ให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีแพทย์อาสา ถูกตำรวจตั้งข้อหาแล้ว 2 คน เพราะมีการตีความเรื่องมีผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เฉพาะทางกาย แต่ไม่รวมสุขภาพทางจิต โดยอ้างว่าข้อบังคับของแพทยสภา ที่ระบุเรื่องปัญหาสุขภาพทางจิตสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น ไม่ใช่กฎหมาย

ไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญของไทย ที่มีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ก่อนหน้านี้ไม่นาน ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ เพิ่งมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้กฎหมายห้ามทำแท้ง ซึ่งเกาหลีใต้ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือนานกว่า 66 ปีมาแล้ว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากละเมิดสิทธิของสตรีในการมีทางเลือกอย่างเสรี โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ จากเดิมที่กฎหมายห้ามทำแท้งเอาผิดมีโทษทั้งจำทั้งปรับทั้งหญิงและแพทย์ที่ทำแท้งเพื่อปกป้องทารกในครรภ์

เมื่อโลกเปลี่ยนหันมาคุ้มครองหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ที่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับชาย กฎหมายก็ต้องได้รับการแก้ไขตามยุคสมัย แต่คงไม่ถึงกับหนุนทำแท้งเสรี เพราะถ้าไปไกลถึงขนาดนั้น สังคมไทยก็คงรับไม่ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น