ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อำนาจรัฐนั้นก็อยู่ที่ปลายกระบอกปืน คำพูดของ เหมา เจ๋อตุง นี้จะเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่สองฝ่ายเถียงและทะเลาะกันไม่เลิก ไม่มีใครฟังใคร เมื่อมีปืนมาจี้ ที่เถียงกันอยู่ก็จะเลิกเถียง และหันมาฟังคนที่ถือปืน บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยจึงต้องมีอยู่เสมอ อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ กองทัพทำหน้าที่ตัดไฟการเมือง ไม่ให้เกิดการฆ่ากันกลางเมืองจนเป็นสงครามกลางเมือง ขับไล่นักการเมืองฉ้อฉล เมื่อเกิดเผด็จการรัฐสภา แต่หลายครั้งการรัฐประหารของกองทัพก็นำไปสู่การเข่นฆ่าประชาชน การนองเลือด การควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่เสียเอง และทำให้สถานการณ์บานปลาย
ต้องกล่าวว่า ทำรัฐประหาร นั้นไม่ยาก แต่ทำรัฐประหารได้อำนาจรัฐมาแล้ว จะบริหารบ้านเมืองให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข รุ่งเรืองพัฒนา ทำได้ยากมาก ไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปประเทศ ที่รัฐประหารครั้งนี้คงสอนพวกเราแล้วว่า รัฐประหาร ทำได้ง่ายการปฏิรูปประเทศมาก โดยเฉพาะเมื่อรัฐประหารหรือเผด็จการไม่กล้าใช้อำนาจเผด็จการในการจัดการในสิ่งที่ต้องทำและควรทำให้ได้เฉพาะในช่วงรัฐประหารเท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง จะบอกว่าเสียของก็คงได้ ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีภาระงบประมาณมหาศาลและจะกลายเป็นปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคตอันใกล้ให้กับลูกหลานไทย ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหานี้ให้ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้นเลยแม้แต่น้อย น่าเสียดายเวลาในช่วงมีอำนาจเผด็จการจากรัฐประหารเป็นอย่างยิ่ง
ทหารเมื่อปกครองบ้านเมืองไปสักพัก มักจะเกิดการต่อต้านและความเกลียดชังจากประชาชนอย่างรุนแรง ในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีการจัดตั้งกันเป็นเรื่องเป็นราวโดยฝ่ายนักการเมืองที่ต่อต้าน ใช้เงินเพื่อจัดตั้งและก่อหวอดสร้างมวลชนขึ้นมา ในอีกด้านก็เป็นสนิมที่เกิดจากเนื้อในตนของผู้ถืออำนาจรัฐเอง ทหารไม่ใช่นักบริหาร ไม่ใช่นักปกครองที่ดีนักทุกคนไป ทหารที่บริหารเป็นและรู้จักใช้คนได้เก่งมากมีอยู่สองคน คนหนึ่งได้อำนาจรัฐมาจากรัฐประหารคือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลสฤษดิ์ นั้นมีความสามารถพิเศษในการดูคนและการเลือกใช้คน และทำให้คนดีๆ technocrat จำนวนมากมาย เข้ามาช่วยงานบริหารบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรือง ก้าวหน้า สงบ technocrat มือระดับพระกาฬ ที่มาช่วยทำงานในสมัยนั้นมีเยอะมาก เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (ด้านการต่างประเทศ) หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (ด้านการศึกษา) นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (ด้านพาณิชย์) นายโชติ คุณะเกษม (ด้านการคลัง) พระบำราศนราดูร (ด้านสาธารณสุข) เป็นต้น ส่วนนายทหารอีกท่านที่เดินผ่านตำแหน่งในกองทัพคือผู้บัญชาการทหารบกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แม้จะไม่ได้มาด้วยรัฐประหาร ได้รับเชิญมาเป็นนายกคนกลาง แต่ป๋าก็มีความสามารถพิเศษที่สุดในการใช้คนเป็นอย่างยิ่งยวด โปรดอ่านได้จาก นายกรัฐมนตรีในดวงใจในความทรงจำ : พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
คำถามคือกองทัพทำอย่างไรจึงทำให้ประชาชนรัก ไม่ใช่เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองแล้วจบไม่สวย ลงจากตำแหน่งโดยการถูกขับไล่และแช่งสาบส่งโดยประชาชน หรือถามกลับกันว่าหากรัฐประหารมาแล้ว ทำอย่างไรให้ประชาชนรักและอยู่ในตำแหน่งได้อย่างราบรื่น ได้ดอกไม้เหมือนเมื่อคราวขับรถถังลงถนนไล่นักการเมืองแล้วได้รับช่อกุหลาบมากมาย ทำให้แผ่นดินไม่นองเลือดได้นั้น เป็นแค่ความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร แต่ทำอย่างไรให้เกิดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองและราชการแผ่นดิน ทำอย่างไรให้จบลงอย่างสวยงาม
จริงๆ มีคำตอบแล้วดังเช่นที่ ป๋าเปรม ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างคือรู้จักพอ เมื่อรู้จักเริ่มก็ต้องรู้จักเลิก และต้องประเมินสถานการณ์ว่าตนเองจะขาดความชอบธรรมไปเมื่อไหร่ และจะนำไปสู่การต่อต้านและความรุนแรงไปอย่างไรเช่นกัน
การทำให้ประชาชนรักสำหรับกองทัพและผู้ถืออาวุธมาควบคุมอำนาจรัฐ จึงเป็นเรื่องที่แสนสำคัญยิ่งยวด ยิ่งสถานการณ์โลกมีวิกฤติรุมล้อมมากมาย เช่น เศรษฐกิจถดถอย ไวรัสโควิด19 และปัญหาสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปากท้องของคนไทย เมื่อปากท้องไม่อิ่มก็เกิดการต่อต้านและโค่นล้มได้ง่ายมาก ดังนั้นหน้าที่ของกองทัพต้องรับใช้ประชาชน และทำเพื่อการพัฒนาประเทศให้ครบทุกมิติ ทำให้กองทัพใสสะอาดและเป็นพลังสำคัญของชาติ ทำตามรอยพระยุคลบาทในหลวง ร.9 ในการทำงานเพื่อประเทศไทย
ผมเพิ่งได้อ่านบทความของ พลเอก ดร. จารุภัทร เรืองสุวรรณ ซึ่งเผยแพร่โดยนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพและการปฏิรูปกองทัพ เป็นบทความที่ทรงคุณค่าและกองทัพควรรับฟังและนำไปใช้ให้เหมาะสม จะทำให้กองทัพเป็นที่รักของประชาชน ชนะใจคนก่อนชนะสงครามได้ ขอให้กองทัพลองพิจารณา และนายกรัฐมนตรีในฐานะอดีตผบ.ทบ. และหัวหน้า ค.ส.ช. ก็ต้องอ่านเช่นกัน
ชัยชนะโดยไม่ต้องรบ พลเอก จารุภัทร เรืองสุวรรณ ว่าจะไม่เขียนเรื่องเกี่ยวกับทหาร แต่ด้วยอาชีพตลอดจนยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้มาถึงพลเอก อันเป็นยศสูงสุดทางทหารด้วยแล้ว จึงจำเป็นที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับทหารบ้าง ถือว่า เป็นเรื่องจำเป็นจริงๆถึงต้องเขียน ผมผ่านชีวิตการเป็นทหาร ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยปี 2507 มาถึงวันนี้ เวลาล่วงเข้าปีที่ 56 แล้ว ถ้าเป็นอายุคนก็เป็นอายุของชายวัยชราแล้ว ระหว่างเป็นทหารได้เติมพลังความรู้ด้านการรบทัพจับศึกมาแทบทุกขั้นตอน จะมีเพียง 5-6 ปี ระหว่างที่ไปเรียนต่างประเทศเท่านั้นที่เหินห่างชีวิตทหารไปบ้าง พอกลับจากเมืองนอกก็ต้องเข้าโรงเรียนทหารราบ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตามชั้นยศไม่ได้ละเว้น หน้าที่การงานก็วุ่นอยู่กับการเตรียมกำลังพลให้ไปสู่สนามรบ เกือบตลอดระยะเวลาที่รับราชการ ต้องเว้นวรรคบ้างก็ตอนที่เป็นนายทหารชั้นร้อยตรีร้อยโท ได้เป็นผู้ปฏิบัติการรบในสนามรบด้วยตนเอง ความรู้ความเข้าใจเรื่องการรบทัพจับศึก ก็คงไม่แตกต่างกับเพื่อนๆนายทหารมากนัก แต่พอมาถึงวันนี้ อายุเกิน 75 ปีไปแล้ว จึงถามตัวเองว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่จะให้ได้ชัยชนะในการรบ รถถัง หรือเครื่องบิน หรือเรือรบ หรือปืนผาหน้าไม้ หรือคำตอบคือใช่แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยเสริมกำลังรบเท่านั้น ถ้าไม่มีได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ต้องมี แต่จะมีมากน้อยเท่าใดนั้นอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อมีเวลาว่างมากหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ความคิดเรื่องนี้ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของวาระการดำรงชีวิตด้วย ตั้งแต่เช้าถึงเย็นได้ทุ่มเทค้นคว้าศึกษาหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตนเอง โดยไม่ได้รับสินจ้างรางวัลอะไรเลย ค้นคว้าไปในทะเลแห่งความรู้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Google Youtube Safari และอื่นๆ ตำรับตำราของบรรดานักปราชญ์การทหารทั้งในอดีตและมากมายทุกมุมโลก มาถึงบางอ้อ แล้วนึกตำหนิตัวเองว่าเรานี่ช่างโง่เขาเบาปัญญา หลงทางมาไกลแสนไกล ตั้งแต่ปีพศ 2543 ระยะเวลาจากบางอ้อถึงวันนี้ร่วม 20 ปีเต็ม จึงนึกได้ว่า ครั้งหนึ่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้มีโอกาสทองของชีวิต ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะนักบริหารและนักวิชาการจากองค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพของโลก เพื่อถวายปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2543 เวลา 18.00 น. หลังจากผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ท่านได้ตรัสถามคณะผู้เข้าเฝ้าทุกคน จนกระทั่งมาถึงผม ซึ่งแต่งเครื่องแบบทหารชุดขาวพร้อมสวมครุยปริญญาเอกด้วย พระองค์ท่านทรงแปลกพระทัย แล้วรับสั่งว่า เป็นอย่างไรมาอย่างไรนายทหารไทยถึงได้มายืนอยู่ในแวดวงฝรั่งนักวิชาการวันนี้ จึงได้กราบบังคมทูลว่า เนื่องด้วย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายที่จะให้นายทหารของกองทัพบกเป็นผู้มีความรู้ความสามารถรักษาสันติภาพร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ในฐานะผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง อันประกอบไปด้วยวิทยาลัยการทัพบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ กับมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติ จึงได้มาร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อสันติ ภาพ ในพิธีทูลเกล้าถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ พระพุทธเจ้าข้าขอรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก ขอให้ร่วมกันดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อความสงบสุขของบ้านเมืองและภูมิภาคแล้ว ยังเป็นเกียรติภูมิของทหารด้วย อีกประการหนึ่ง การรักษาสันติภาพให้ถาวรนั้น คือ การทำให้คนมีกิน ถ้าคนมีกินแล้วคนจะไม่ฆ่ากัน ขอให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนดหลักสูตรให้นายทหารเสนาธิการทหารบก ได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้นายทหารได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นำความรู้ไปเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนได้นำไปปฏิบัติ ถือว่าเป็นการช่วยรักษาความมั่นคงของชาติด้วย พระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าล้นกระหม่อม คือน้ำมันเติมตะเกียงชีวิตของผม ทำให้ตะเกียงชีวิตของผมสว่างไสวตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ เมื่อใดก็ตามที่มีใครมาพูดจากันในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง ทำให้ผมระลึกถึงคืนวันนั้นขึ้นมาทุกที อนึ่ง อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ มิสเตอร์แมคนามารา (Mc Namara) ก็ได้มาร่วมกับคณะเข้าเฝ้าในคืนวันนั้นด้วย ได้ให้ข้อคิดเห็นกับผมในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงยุคใหม่อย่างน่าสนใจยิ่ง ท่านกล่าวว่า ในสมัยปัจจุบัน ความมั่นคงของชาติหมายถึงการพัฒนาให้ดีขึ้น (improvement) ความมั่นคง ไม่ได้มีความหมายถึงความมั่นคงด้วยการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการมีกำลังพลที่เข้มแข็ง หากแต่ความมั่นคงคือการที่พัฒนาให้ประชาชนมีสภาวะดีขึ้น ถ้าไม่มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ก็หมายความว่าไม่มีความมั่นคงของชาตินั่นเอง การพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องยากหากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติตลอดจนการสร้างความเข้าใจถูกต้องร่วมกัน การร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ให้เกิดการพัฒนาอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ ซุนวู ปราชญ์แห่งพิชัยยุทธชาวจีน เมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้วกล่าวว่า ชัยชนะร้อยครั้งยังไม่สุดยอด เท่ากับสงบข้าศึกโดยไม่ต้องรบ การศึกสงครามเป็นเพียงปลายเหตุ ต้นเหตุสภาวะคือความไม่สมดุลและความไม่พอเพียงในการดำเนินชีวิต หากเราดับไฟที่ต้นลมหรือที่ต้นเหตุ เหตุก็จะยุติไม่ลุกลามกลายเป็นสงคราม ต้นเหตุของมนุษย์คือความรักตัวกลัวตาย เมื่อใดมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคง หากเราแก้ปัญหาให้เขารู้สึกว่าเขามีความสมบูรณ์มั่นคง มีการพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนั้นความสงบก็เกิดขึ้นการแย่งชิง การรบราฆ่าฟัน ก็ย่อมจะหมดไป เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องรบอันเป็นสุดยอดของชัยชนะ ความขัดแย้งในทุกกรณีจะประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายเสมอ หน้าที่ของทหารจะต้องเป็น สะพานเชื่อมระหว่างสองฝ่ายให้เกิดความสมดุล ช่วยพัฒนาฝ่ายที่ด้อยกว่าให้ได้ดุลกับอีกฝ่ายที่เหลือ โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ องศาแห่งความขัดแย้งจะลดลง กลายเป็นความร่วมมือกันในที่สุด ทำได้เช่นนี้เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมและเป็นชัยชนะโดยไม่ต้องรบ ภายในประเทศ เมื่อใดก็ตามมีความไม่สมดุลในการพัฒนาประเทศ คือผลของการพัฒนามีการเหลื่อมล้ำต่ำสูงทำให้มีฝ่ายที่ยากจนข้นแค้น กับฝ่ายที่มั่งมีศรีสุขในสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม เมื่อนั้นไฟของความขัดแย้งจะเริ่มก่อเค้าขึ้น และไฟนี้จะขยายตัวลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระดับสูงและเป็นสงครามในที่สุด ทำอย่างไรจะทำให้ปัญหาความยากจนของคนในชาติลดลง คำตอบคือ มีการพัฒนาประเทศด้วยการใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา จริงอยู่ทหารไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ หากแต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ การให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชาวบ้านจะต้องกระทำบนพื้นฐานความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง และอยู่ในขีดความสามารถที่ทหารจะกระทำได้ เมื่อเราทราบว่าขณะนี้ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่างชนบทกับเมืองไม่เป็นธรรม กล่าวคือ คนในชนบทมีรายได้น้อยกว่าคนในเมืองกว่า 10 เท่า อันเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง คนในชนบทจึงเดือดร้อน การลดช่องว่างให้แคบเข้าคือเป้าหมายที่จะต้องทำเพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวชนบทได้บรรเทาเบาบางลง เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนส่วนใหญ่ของชาติคือเกษตรกรในชนบท กองทัพจะต้องศึกษาหาหนทางปฏิบัติว่า เราจะช่วยกันยกระดับรายได้ของเกษตรกรในชนบทให้พอลืมตาอ้าปากได้อย่างไร จากการศึกษารูปแบบแนวทางที่กองทัพต่างชาติได้ปฏิบัติการสร้างชาติจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว อาทิ กรณีของยังเติร์ก (Young Turk) แห่งประเทศตุรกีในอดีต ได้สร้างผลงานการช่วยเหลือแก่ประชาชน ในเรื่องการอ่านออกเขียนได้และการเกษตร จนปัญหาการศึกษาของคนในชนบทได้หมดสิ้นไป กรณีของประเทศในอเมริกาใต้ กองทัพเปรูได้ช่วยชาวชนบทในพื้นที่กันดารพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทาง แหล่งน้ำ ทำนบ เหมืองฝาย ทำให้ชาวชนบทมีการคมนาคมสะดวกสบายขึ้นมีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักผลไม้และการปศุสัตว์ กรณีของประเทศอิสราเอล กองทัพอิสราเอลได้รักษาภารกิจอันเก่าแก่ของกองทัพที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า มือซ้ายถือพลั่วมือขวาถืออาวุธไว้อย่างแนบแน่น กล่าวคือ ในปัจจุบันกองทัพอิสราเอลไม่ได้ละเลยสิ่งที่บรรพบุรุษได้กระทำกันมาในอดีต นอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันประเทศด้วยพลังอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว เขายังใช้พลังกำแพงมนุษย์ อันได้แก่หมู่บ้านตามแนวชายแดน อาทิ คิบบุทธ์ โมชาฟ ไฮเอซซุท เป็นต้น ประชาชนตามแนวชายแดนได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้คนในชนบทมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีไม่เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท สร้างจิตสำนึกของความรักชาติรักแผ่นดิน เกิดความหวงแหนในผืนแผ่นดินเกิดที่บรรพบุรุษได้มอบให้เป็นมรดกตกทอดกันมา กรณีของประเทศจีนในยุคปฏิวัติประชาชน กองทัพจีน (PLA) เป็นพี่เลี้ยงประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้าน และการพัฒนาชุมชนหลากหลายมิติ อาทิ การช่วยประชาชนชาวชนบทสร้างหน่วยผลิต สร้างทำนบเหมืองฝาย สร้างปุ๋ยหมัก ช่วยเหลือการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งคนจีนในชนบท ที่เคยอยู่ในสภาวะยากจน ได้มีอยู่มีกินหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนลงได้ แม้วันเวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ชื่อเสียงของกองทัพ PLA ของจีน ยังจารึกปรากฏให้ลูกหลานได้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้ นอกจากนี้มีอีกหลายต่อหลายประเทศที่กองทัพได้ผันตัวเองจากการเป็นผู้บริโภค มาเป็นผู้สร้างชาติและสร้างสันติภาพของโลก ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องก้มลงมองพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทของเรา ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นกำแพงเป็นรั้วที่เข้มแข็งให้กับชาติร่วมกับกองทัพต่อสู้กับปัญหาเรื้อรังที่เป็นศัตรูของชาติร่วมกัน คือ ปัญหาความยากจนให้บรรเทาเบาบางและหมดสิ้นไปในที่สุด ก่อนอื่นกองทัพจะต้องพัฒนาคนหรือกำลังพลของกองทัพให้เป็นครูเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนากันเสียก่อน ทหารกองประจำการที่เข้ามาช่วยชาติตามวาระปีละหลายแสนคน และกำลังพลของกองทัพจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาการสร้างชาติและมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ ที่จะทุ่มเทแรงกายและแรงใจทำงานเป็นครูเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบท การพัฒนากำลังพลในทุกระดับนอกเหนือจากที่เคยปฏิบัติมา ให้กำลังพลเป็นครูที่ดีมีความรู้เรื่องการเพาะปลูก การก่อสร้าง การปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำปุ๋ยหมัก การเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างภาชนะเพื่อเก็บเกี่ยวน้ำฝนของเกษตรกร (Rain Water Hatvesting) เป็นต้น เมื่อปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบการมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งประชาชนในชนบทมีความรู้เรื่องการเกษตรการเพาะปลูกแล้ว ขั้นต่อไปคือขั้นการผลิต โดยเฉพาะการสร้างหน่วยผลิตของครัวเรือนและหน่วยผลิตของชุมชน ให้เป็นครัวเรือนและชุมชนพออยู่พอกิน เมื่อหน่วยผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการได้เกินพอ เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนเกินพอ จะต้องนำหลักการพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่าด้วยการพัฒนาระดับที่ 2 มาเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ คือร่วมกันคิด ร่วมกันซื้อ ร่วมกันขาย ไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับชุมชนหรือหน่วยผลิตอื่น ๆ เป็นเครือข่าย เคลื่อนไปข้างหน้าสู่ที่หมายด้วยกันดุจขบวนรถดีเซลรางระหว่างประเทศ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามแนวชายแดน อันเป็นกรณีสุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นศึกสงครามนั้น ก็ควรที่จะศึกษาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างว่าพระองค์ทรงให้แนวทางแก้ปัญหาอย่างไร จึงจะทำให้ได้ชัยชนะกันทุกฝ่าย (Win -Win Solution) กรณีเนิน 491 เมื่อ 8 ธันวาคม 2535 กรณีศึกษาที่น่านำมาพิจารณาว่าเราหลุดพ้นจากปัญหาความขัดแย้งแนวชายแดนได้อย่างไร ผมโชคดีที่ได้รับเกียรติจากผู้บังคับบัญชา ให้เป็นหนึ่งในคณะ 3 คนที่เป็นตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปเจรจาสงบศึกกรณีเนิน 491 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535 ณ กรุงย่างกุ้ง กับฝ่ายกองทัพพม่า นำโดย นายพล หม่องเอ ท่านอูยุ่นส่วย (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม) และคณะ ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำให้การเจรจาในครั้งนั้นประสบความสำเร็จเกินคาด สามารถสร้างความผาสุกระหว่างประเทศโดยไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับผลเสียหาย หลังการประชุมร่วม นายพลหม่องเอสรุปว่า เขาขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามพระกระแสรับสั่งขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 4 ธันวาคม 2535 อันเป็นที่ชื่นชมของชาวโลก เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน เราจะร่วมกันแก้ปัญหาสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นให้จงได้ บริเวณพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาท จะต้องเป็นพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย นอกจากชายแดนด้านพม่าแล้ว ชายแดนด้านมาเลเซียก็เช่นกัน เราแก้ปัญหาด้วยพระราชปรัชญาของพระองค์ท่าน ร่วมกันพัฒนาแทนที่จะรบราฆ่าฟันกัน องค์กรร่วมไทยมาเลเซีย (JDA) อันเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า เราโชคดีมีพระประมุขผู้สร้างสันติภาพอย่างถาวรให้เกิดขึ้น กับประเทศเพื่อนบ้านมาจนเท่าทุกวันนี้ กล่าวโดยสรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับ จะบันทึกภารกิจของทหารไว้ทั้ง 2 ภารกิจเสมอคือ ภารกิจในการรบกับการพัฒนาประเทศ ภารกิจการพัฒนาประเทศคือภารกิจที่ได้ชัยชนะโดยไม่ต้องรบ อันเป็นภารกิจที่ประเสริฐกว่า คือไม่มีใครเสียเลือดเสียเนื้อ แต่เมื่อจำเป็นที่จะต้องรบก็ต้องรบด้วยสติปัญญาของมนุษย์ ซีโนโฟน (Xenophon) นักรบชาวกรีกผู้นำทัพกรีกจำนวน 10000 คน เดินทัพจากกรุงบาบิโลนกลับเอเธนส์ ผ่านด่านกองทัพเปอร์เซียผู้เกรียงไกรซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายได้อย่างปลอดภัย ได้สรุปไว้ในหนังสือ Anabasis ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วย การบริหารเล่มแรกของโลก ว่าไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อันล้ำเลิศใดจะเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ อาจจะเรียกได้ว่าปัจจัยชี้ขาดในการรบหรือชัยชนะอยู่ที่คน ไม่ใช่ของครับ โปรดจงระลึกอยู่เสมอว่า ชัยชนะบนซากปรักหักพัง หาทำประโยชน์อะไรได้ไม่ |
ถูกต้องแล้วครับ กองทัพจะชนะใจประชาชน อันได้ผลกว่าชนะสงครามได้ ก็ต่อเมื่อกองทัพนำประชาชนต่อสู้ชนะความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย หากกองทัพทำได้ ความชอบธรรมของกองทัพหรือการที่อดีต ผบ.ทบ. จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะมีมากขึ้น