xs
xsm
sm
md
lg

ททท. ขอเชิญร่วมชื่นชมเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2563 และของดี อะไรๆ ก็ดีที่ศรีสะเกษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอเชิญเที่ยวงาน “เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ” ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2563 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งปีนี้ปีที่ 2 จัดงานทั้งหมด 5 วัน โดยไฮไลต์อยู่ในภาคกลางคืนชมการแสดง “จินตลีลา ประกอบแสดง สี เสียง” เรื่อง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเศวร” ตอน “สืบราชมรรค ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7” ที่ยิ่งใหญ่อลังการในระบบ 3 มิติ แสดงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผู้ชมจะได้สัมผัสอารยธรรมและประวัติความเป็นมาของจังหวัดศรีสะเกษ ย้อนตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษ เริ่มการแสดงเวลา 19.00 น. วันที่ 13 - 15 มีนาคม 2563 ชมฟรีทั้ง 3 คืน ซึ่งถือเป็นโรงละครธรรมชาติที่สวยงามรายล้อมด้วยกลิ่นหอมดอกลำดวน ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ


นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “งานดอกลำดวนบานที่ศรีสะเกษจะมีงานเรียกว่า ประเพณีสี่เผ่าไทและงานปีใหม่ประจำปี ที่เรียกว่าสี่เผ่าไทก็เพราะว่าศรีสระเกษดั้งเดิมประกอบไปด้วยชนเผ่าสี่เผ่าได้แก่ ลาว เขมร ส่วย เยอ ซึ่งอยู่ร่วมกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี แต่ล่ะกลุ่มก็จะอยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มอำเภอ แต่ละแห่งก็จะมีอัตลักษณ์ของตัวเองไม่ว่าจะเป็นวิถีของชีวิตและเรื่องของการแต่งกาย ปัจจุบันก็ผสมผสานกันไป ส่วนงานเทศกาลดอกลำดวนบานซึ่งทาง ททท. และจังหวัดจะกำหนดใว้ในวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม เพราะจะเป็นช่วงที่ดอกลำดวนบานมากที่สุด


สำหรับ “ดอกลำดวน” นี้เราถือว่าเป็นดอกไม้ประจำเมืองของเรา เพราะว่ามีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทพระวิหาร พูดถึงเรื่องราวการสร้างเมืองและการสร้างเทวาลัย ก็คือปราสาทสระกำแพงใหญ่ที่อุทุมพรพิสัย และพูดถึงเมืองนี้อยู่ในป่าดงลำดวนใหญ่ ซึ่งพอสืบค้นก็มาเจอที่วิทยาลัยเกษตร มีดงลำดวนธรรมชาติ ประมาณสี่ถึงห้าหมื่นต้นซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณนี้จึงกลายเป็นสวนสมเด็จซึ่งก็เป็นสวนสมเด็จพระศรีนครีนทร์แห่งแรกของประเทศไทย และไม่ได้เป็นสวนสมเด็จที่มีการสร้างสวนขึ้นมาใหม่แต่เป็นสวนธรรมชาติที่มีต้นไม้ธรรมชาติเดิมอยู่แล้ว ในส่วนนี้เองก็ถือว่าดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำเมืองและเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นในปีหนึ่งเราจะมีการจัดงานที่ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกลำดวนบาน ช่วงนี้ถ้าเย็นๆ ก็จะหอมทั้งเมือง นอกจากในสวนธรรมชาติแล้ว ในตัวเมืองก็จะปลูกด้วยเป็นว่าดอกลำดวนเยอะมาก


ในส่วนที่สองก็จะเป็นการแสดง แสง สี เสียง เรื่องเกี่ยวกับตำนานเมืองเดิมเรียกว่าการแสดง แสง สี เสียง ศรีพฤทเธศวร ในอดีตขอมที่เดินทางมาในเส้นทางสายขอมมาสร้างปราสาทสระกำแพงใหญ่ สระกำแพงน้อย สร้างเทวาลัยต่างๆ รวมทั้งอโลคยาศาลาต่างๆ สถาปัตยกรรมขอมจะมีกระจัดกระจายในพื้นที่ทุกๆ อำเภอ ในแต่ล่ะอำเภอก็จะมีงานบวงสรวงหรือสักการะบูชาในช่วงของเดือนสามนี้ ส่วนอีกงานจะเป็นงานผลไม้ช่วงมีนาคม กรกฎาคม จะเป็นช่วงของทุเรียนจะออกมาก


ดังนั้นเมื่อพอมาย้อนดูในเรื่องของงานดอกลำดวนมีอยู่ 3 วัตถุประสงค์ คือเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยว ให้รู้จักเมืองของเรา ที่เรียกว่าเมืองดอกลำดวน มาสัมผัสกับกลิ่นอายความงดงามของดอกลำดวน ความเป็นธรรมชาติของเรา ในประการที่ 2 ก็จะเป็นเวทีกลางในเรื่องของการที่จะนำเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม ของชนเผ่าสี่เผ่า เวทีตรงนี้แต่ละอำเภอต่างๆ จะได้ถือโอกาส นำวัฒนธรรมของตัวเองออกมาแสดง มีวิถีชีวิตชนเผ่า วัฒนธรรมการกิน รวมทั้งการแสดง รวมถึงเรื่องอาชีพ และส่วนที่ 3 เป็นช่วงเวลาเราที่ได้นำเสนอเรื่องของสินค้าพื้นเมือง สินค้าโอท็อป และอย่างที่ 4 คือ จะได้ชมตำนานเมืองโดยจัดการแสดง แสง สี เสียง ต่อเนื่องกันมา 20 ปี แล้ว ซึ่งพอแสดงแล้วก็มีพาแลง เป็นบรรยากาศที่ดีมากเหมือนการฉีดน้ำหอมทั่วบริเวณจัดแสดง กลิ่นดอกลำดวนจะหอมฟุ้ง รวมทั้งแสง สี ที่จัดไว้ ในป่าลำดวนทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่จัดแสดงก็จะเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ นี่ก็เป็นวัตถุประสงค์หลักๆ ของการจัดงานครั้งนี้




และปีนี้ก็เสริมด้วยเทรนใหม่ในเรื่องของสุขภาพ ก็จะมีการจัดงานวิ่ง “Lamduan Sisaket Night Run 2020” ซึ่งเป็นการจัด Night Run ครั้งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ จัดขึ้นในวันที่สองของงาน คือวันที่ 14 มีนาคม 2563 วันที่ 13 นั้นจะเป็นพิธีเปิด วันที่ 14 จะมีงาน Night Run ซึ่งตัดถนนสายใหม่ใกล้ๆ กับสวนสมเด็จฯ และจะมีวิ่งมินิ 10 กิโล และ Fun run ประมาณ 5 กิโล จะเริ่มต้นที่สวนสมเด็จฯ จบที่สวนสมเด็จฯ พอวิ่งเสร็จก็สามารถเข้าชมการแสดง แสง สี เสียง ได้ฟรีเลยครับ นอกจากค่าสมัครในการวิ่ง 450 บาท รายได้ที่หักจะนำมาสมทบในการจัดงานกีฬาแห่งชาติในปีนี้ที่เราเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คนเดินทางมาท่องเที่ยวมาพัก มาสัมผัสกับบรรยากาศของศรีสะเกษผ่านการวิ่งเพื่อสุขภาพ


และอยากจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งผู้ที่สนใจมาเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษของเราในทุกมิติเพื่อให้รู้จักเรามากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ถือโอกาสมาพักผ่อนหย่อนใจกับจังหวัดหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนกัมพูชา มีความพร้อมในการท่องเที่ยวทุกมิติพร้อมเสิร์ฟทุกเมนู เปรียบเสมือนว่าเรามาร้านอาหารที่ชื่อศรีสะเกษ ใครชอบในเรื่องของก๋วยจับ ลาบ ส้มตำ สเต็ก เรามีบริการทุกเมนู นั่นก็หมายถึงว่าการท่องเที่ยว เรามีทั้งวัฒนธรรม ธรรมชาติอย่างที่ ผามออีแดง ทะเลหมอกผากูปรี เรื่องลุยๆ แอดเวนเจอร์ เรามีทุ่งสวันนาเรียกว่า “ทุ่งกระบาลกะไบ” อยู่ชายแดนที่อุดมสมบูรณ์มากและมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด และในเรื่องของวัฒนธรรมชนสี่เผ่า วัฒนธรรมการกิน เช่น ไก่ย่างไม้มะดัน ห้วยทับทัน ที่ขึ้นชื่อ และเรื่องของ แพรพรรณ




ซึ่งเป็นเสื้อแก๊บสีดำเป็นสีประจำเมืองและมีการแซ่วมือ และเป็นอัตลักษณ์ของศรีสะเกษ ซึ่งเสื้อแต่ละตัวก็จะไม่เหมือนกัน ปีนี้เรานำมาเสริมเพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มสีเสื้อขึ้นมา โดยหยิบโยงในเรื่องอัตลักษณ์ของเมืองนำไม้มะดันที่เรานำไปทำไก่ย่างที่อร่อย นำมาย้อมสีเสื้อให้เป็น “สีเสื้อไม้มะดัน” ซึ่งถือเป็นเรื่องมงคลถ้าข้าราชการใส่ก็จะเจริญก้าวหน้า ภาคเอกชนภาคธุรกิจก็จะเจริญรุ่งเรืองเป็นมงคล และผ้าสีธรรมชาติสีที่สองก็คือ “สีลาวา” ซึ่งเป็นโซนทางที่ปลูกผลไม้ ปลูกทุเรียน ซึ่งดินลาวาเป็นดินที่มีแร่ธาตุที่ปลูกผลไม้อร่อยที่สุดในโลกเราก็นำมาย้อม ซึ่งมีความหมายถึงสีแห่งความอุดสมบูรณ์ ถ้าใครใส่สีนี้ชีวิตก็จะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ และ “สีกุลา” ซึ่งแต่เดิมทุ่งกุลาแห้งแล้งเป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา แต่ปัจจุบันพัฒนาการกลายเป็นว่าเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดนุ่มที่สุด สีนี้ซึ่งก็หมายถึงว่าถ้าใส่สีนี้ชีวิตก็จะมีการพัฒนาการที่ดีขึ้น และสีสุดท้ายคือ “สีดอกลำดวน” ซึ่งนำดอกลำดวนมาย้อมผ้า ดอกลำดวนนอกจากจะเป็นดอกไม้ประจำเมืองแล้วยังเป็นดอกไม้ของผู้สูงอายุ ดอกลำดวนจะไม่ค่อยทิ้งใบ แต่จะเขียวตลอดปีและอายุยืน ใครใส่เสื้อสีลำดวนก็จะมีอายุยืน และที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน ซึ่งที่ศรีสะเกษมีครบทุกมิติ สมกับคำว่า “อะไรๆ ก็ดีที่ศรีศะเกษ” ซึ่งมี 4 อย่างที่จะดันเศรษฐกิจฐานรากของศรีสะเกษก็คือ เกษตร ผ้า กีฬา ท่องเที่ยว” นายวัฒนา กล่าว


ด้านนายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เผยถึง พืชเศรษฐกิจโดดเด่น 3 ตัวที่มีความโดดเด่น อย่างแรกก็คือ ทุเรียน เป็นทุเรียนดั้งเดิมที่ยังไม่มีคุณภาพ เราเริ่มจากการคัดคุณภาพทำให้มีรสชาติที่ดีถูกอกถูกใจผู้บริโภค พอทำในเรื่องของคุณภาพแล้วปรากฏว่า คุณภาพเขามีอัตลักษณ์ เราก็เลยได้จดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากว่ามีความแตกต่างและโดดเด่นจากที่อื่น ทั้งๆ ที่เป็นทุเรียนหมอนทองด้วยกันมีรสชาติหวานหอม แต่กลิ่นไม่แรงและจะแห้งเอกลักษณ์ของเราคือเนื้อแห้งและเนื้อเนียน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมทั้งหมด ดินดี น้ำดีอากาศดี และทุกอย่างประมวลออกมากลายเป็นทุเรียนภูเขาไฟ รวมทั้งคนดี คนนี่หมายถึงการจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงทำให้ทุเรียนของเรามีความโดดเด่นกว่าที่อื่น


ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนมีประมาณ 7,000 ไร่ จะให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นจึงมีความต้องการสูงมากและทุเรียนของเราเกือบจะทั้งหมด เป็นทุเรียนพรีเมี่ยม ได้ผ่านการปลูกและดูแลอย่างทะนุถนอมกลายเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นผู้คนก็มีความต้องการสูงที่จะลิ้มลอง เรามีทุกรูปแบบในการส่งออนไลน์ถึงผู้บริโภคโดยตรง และมีการประกันคุณภาพทุกลูกจะมี QR Code สามารถตรวจย้อนได้ว่าสวนนี้มีการปฏิบัติที่ได้มาตรฐานอะไร เช่น มาตรฐานอินทรีย์ หรือมาตรฐาน GMP ก็จะเป็นคนละมาตรฐาน และประกันความอร่อยหรือถ้าไม่อร่อยเครมคืนได้หมด ดังนั้นในเรื่องนี้ในอนาคตทุเรียนศรีสะเกษ ซึ่งเป็นทุเรียนภูเขาไฟเป็นพันธุ์หมอนทอง มีอัตลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นจึงกลายเป็นทุเรียนภูเขาไฟ

ในอนาคตอันใกล้ในปี 64 เราได้ทำงานวิจัยเพื่อออกเป็นพันธุ์เฉพาะของศรีสะเกษ ซึ่งจะไม่เหมือนใครและเป็นหนึ่งเดียวในโลก และมีความเฉพาะโดดเด่นคือความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร ก็จะออกเป็นเวอร์ชั่น 2 ต่อจากทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งจะทำให้ผลไม้ศรีสะเกษโดดเด่นกว่าที่อื่นๆ และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในธุรกิจอย่างอื่น เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งทางจังหวัดจะทำเรื่องผลไม้ตลอดทั้งปี เราจะทำผลไม้คุณภาพ 10 ชนิด ให้มีความอร่อย ท่านมาตอนไหน ท่านก็จะได้ทานผลไม้ที่มีความอร่อยและมีความโดดเด่นในเรื่องของรสชาติตลอดทั้งปี ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่น ร้านอาหาร หรือโรงแรมที่พัก ก็คิดว่าผลไม้จะเป็นตัวหนึ่งที่จะชูให้ศรีสะเกษมีเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งทุเรียนศรีสะเกษจะออกมากที่สุดประมาณเดือนมิถุนายน กรกฏา ซึ่งจะเป็นช่วงที่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม อย่างปีนี้คาดว่าจะเป็นประมาณต้นกรกฎาคม


ส่วนพืชตัวที่สองก็คือ “หอมแดง” ซึ่งจากเดิมที่ศรีสะเกษปลูกมากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของที่บริโภคในประเทศใช้หอมศรีสะเกษและมีการส่งออกด้วย แต่เกิดปัญหาเนื่องจากว่าเกษตรกรปลูกกันเยอะแล้วทำคุณภาพล้นตลาด และมีหอมจากต่างประเทศเข้ามาด้วย ก็เลยคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้หอมแดงมีราคาที่เสถียรภาพและชาวบ้านสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เราก็เลยจัดเป็นโปรเจคใหญ่ คือทำการวิจัยให้ครบแวลูเชน (Value Chain) หมายความว่าจะต้องเริ่มต้นจากหอมแดงที่มีคุณภาพก่อน เมื่อทำหอมแดงที่มีคุณภาพแล้วเราจะมีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าในทุกสัดส่วนของหอมแดงเลย เช่น หอมแดงสดจะมีมากในช่วงฤดูแล้ง พอในช่วงฤดูฝนหอมขาดตลาดเราก็แปรรูปให้เป็นหอมพร้อมใช้ ที่เราใช้โลโก้ว่า ready to ues ตัวนี้สามารถเก็บได้ถึง 8-10 เดือน ซึ่งลดปัญหาเรื่องของการขนส่ง ลดปัญหาการใช้หอม แต่การผลิตของเราจะมีมาเฉพาะช่วงเดียว ตัวนี้เมื่อลงในน้ำจะคืนตัวเป็นหอมสดภายใน 3 นาที และจะคงกลิ่นและรสชาติเหมือนหอมสด ซึ่งเป็นนวัตกรรม รวมถึงสีและรสชาติก็จะช่วยในเรื่องของการตลาดได้เลย โดยเฉพาะเรื่องของการแปรรูปในด้านอุตสาหกรรมที่จะต้องใช้หอมแดงตลอดทั้งปีตัวนี้ี้จะช่วยได้ และลดการขนส่งรวมทั้งลดพื้นที่ลง 10 เท่า นั่นหมายความว่า 10 กิโลหอมสด จะกลายมาเป็น 1 กิโลกรัมหอมแปรรูป ซึ่งสามารถจะสต็อกเรื่องของเวลาและสต็อกสินค้าเป็นอบแห้งในระดับที่เหมาะสม สามารถใช้ได้ทันทีไม่ว่าจะนำไปยำหรือไปต้ม ไปแกง ได้หมด เพราะฉะนั้นแม่บ้านจะไม่ต้องเสียน้ำตาในการปอกหอมอีกต่อไป ส่วนนี้จะชัดเจนเลยครับจะช่วยได้




และอีกส่วนหนึ่งของหอมแดงที่จะแปรรูปจากส่วนที่เหลือใช้หรือทิ้งแล้ว เช่น เปลือก ราก ใบ ที่เรานำแต่หัวมาใช้ส่วนที่เหลือใช้เราวิจัยสกัดออกมาเป็นสารสำคัญที่เรียกว่า สารเควอซิทิน (Quercetin) สารตัวนี้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อและเป็น Anti-anging เป็น Antioxidants ด้วยเพราะฉะนั้นหอมจากผลิตภัณฑ์พวกนี้ ตัวแรกที่เราทำก็คือ "สบู่หอมแดง" เป็นรูปดอกลำดวน เราได้วิจัยออกมาและสารสำคัญตัวนี้ในอนาคตอันใกล้ เราก็จะออกมาเป็นครีมสำหรับบำรุงผิว มีทั้งไวท์เทนนิ่ง เซรั่ม มาร์คหน้า เจลแต้มสิว ยาดมแก้หวัด อีกตัวก็คือหอมแคปซูล ซึ่งจะนำมาบรรจุเป็นแคปซูลและบริโภคหลังอาหาร จะต้านการเกิดมะเร็งลำไส้ ถ้าครบวงจรเมื่อไรเราคิดว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นจากการปลูกหอมแดง และสุดท้ายก็คือราคาหอมแดงจะมีเสถียรภาพ เกษตรกรที่เกี่ยวข้องในการปลูกหอมแดงประมาณแสนราย GI ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งหอมสดและหอมแปรรูป จะสร้างคุณค่าให้กับจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งโปรดักส์ทั้งหมดจะเสร็จภายในปีนี้ภายใน 6 เดือน และเป็นสินค้าที่แปรรูปจากเกษตรเป็นเครื่องสำอางจะเพิ่มมูลค่า




และตัวสุดท้ายคือ “ไม้มะดัน” จากเดิมที่เป็นไม้พื้นถิ่น จากงานวิจัยของเราจะไม่เหมือนและเป็นคนละสปีชีส์กับมะดันบ้าน แต่มะดันของเราจะเป็นมะดันป่าคนละสปีชีส์บ่งบอกถึงบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นพืชเฉพาะถิ่น เราจะจด GI และเราจะมาพ่นที่เสื้อ เสื่อที่ได้จากการเหลาเปลือก ที่มีสีธรรมชาติ ซึ่งเราวิจัยแล้วว่าสามารถใกล้เคียงกับสีเคมี ติดทนกับใยผ้าได้ดีและให้สีเป็นธรรมชาติ เย็นตาและนำเปลือกที่ทิ้งจากการเหลาเพื่อนนำไก่ไปเสียบไม้มะดัน ก็นำเปลือกมาย้อมเสื้อ เทคนิคการย้อมก็จะเป็นการมัดย้อมลวดลายให้เกิดเป็นลายต่างๆ แล้วจะนำไปทอ ซึ่งสีมะดันสามารถให้สีได้ถึง 5 สี ตั้งแต่สีเหลืองทอง สีเหลือง สีน้ำตาลเข้ม สีเขียวขี้ม้า และ สีเปลือกมังคุด สินค้าเพิ่มคุณค่าสินค้า OTOP ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพมากมายต่อเนื่องไปจากการแซ่วด้วย ย้อมเสร็จก็จะมาแซ่วก็จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ในที่สุดสินค้าของศรีสะเกษก็จะเป็นสินค้า GI ซึ่งตอนนี้ที่เมืองนอกมีการสั่งไป อย่างเนเธอร์แลนด์ ในงานประชุมต่างๆ ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านจะเกิดอาชีพในการตัดเย็บด้วย ผลไม้ทั่วประเทศสามารถนำมาปลูกที่นี่ได้อร่อย อย่างเช่น สะตอก็จะไม่เหม็นกลิ่นไม่แรง ลองกองก็แห้งไม่ฉ่ำน้ำ เงาะล่อนกรอบ ลักษณะผลก็จะแตกต่างจากที่อื่น ผลไม้ทั่วประเทศสามารถปลูกที่นี่ได้หมดครับ”


นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ เปิดเผยว่า “เทศกาลดอกลำดวนบาน” เป็นประเพณีของชนสี่เผ่าไทศรีสะเกษ อันได้แก่ ชาวเขมร ชาวลาว ชาวส่วยและชาวเยอ ชนเผ่าพื้นเมือง “เขมร-ป่าดง” ผ่านรูปแบบการจำลองหมู่บ้านวิถีชีวิตชนสี่เผ่าโบราณอย่างใกล้ชิด กิจกรรมภายในงานได้แก่ การแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชนเผ่า ๔ เผ่า (ลาว เขมร ส่วย เยอ) การแสดงนิทรรศการภาพเขียน งานศิลปะ ของศิลปินท้องถิ่น การแสดงภาพวาด และสาธิตการวาดภาพของศิลปินท้องถิ่น การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอต่างๆ บริเวณลานทางเข้าสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ และกิจกรรมถ่ายภาพติดแสตมป์ที่ระลึกโดยไปรษณีย์จังหวัดศรีสะเกษ


รื่นรมย์ไปกับความหอมเย็นละมุนอ่อนนุ่มของดอกลำดวน ที่เบ่งบานผลิดอกจากต้นลำดวนกว่าห้าหมื่นต้น ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ พร้อมเลือกลิ้มชิมรสอาหารพื้นเมืองศรีสะเกษของชนเผ่า ลาว เขมร ส่วย เยอ ให้บริการแก่ผู้เข้าชมงาน และชมการแสดงแสง สี เสียง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” อันเป็นตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยการแสดงจากนักแสดงกิตติมศักดิ์ จากภาคราชการและภาคเอกชนที่มาร่วมถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชนสี่เผ่ากับตำนาน การสร้างบ้านแปงเมืองศรีสะเกษดินแดนแห่งดอกลำดวน ซึ่งจะสร้างความประทับใจมิรู้ลืมเชิญมาท่องเที่ยววิถีไทยชมดอกไม้ไทยที่เมืองศรีสะเกษ


สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0 4451 4447-8 E-mail : tatsurin@tat.or.th www.tourismthailand.org/surin โทร 1672 องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 045 814 676
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น