ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บรรดา FC ที่ชื่นชมการทำงานของ “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ต่างตระหนกตกใจไปตามๆ กัน เมื่อตำรวจสืบสวนนครบาล 3 พร้อมด้วยตำรวจ สน.มีนบุรี บุกรวบตัวคาสำนักงานทนายความของเขาที่ จ.สมุทรสาคร ตาม “หมายจับ” ของศาลอาญามีนบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563 ในข้อหา ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมใน “คดีเอมี่ อาเมเรีย จาคอป” มิสทีนไทยแลนด์ 2006 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เอมี่ ธิดาวานร”
แน่นอน สังคมย่อมสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น มี “เบื้องหน้า-เบื้องหลัง” อันพิสดารอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ดี ถ้าหากติดตามเส้นทางการทำงานของทนายความชื่อดัง รวมทั้ง “ที่มาของหมายจับ” ข้อสงสัยน่าจะคลี่คลายลงไปได้บ้าง เพราะแม้ที่ผ่านมา “ทนายตั้ม” จะช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากในเรื่องคดีความเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมและประชาชนพึงตระหนักก็คือ “เหรียญย่อมมีสองด้าน” ด้านเสมอ
ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่ “คดีเอมี่” คดีเดียว “ทนายตั้ม” ยังมี “หมายจับ” ในคดีลักษณะเดียวกันอีกหลายคดี ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา “ทนายตั้ม” รีบชิงเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร หลังทราบว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครอนุมัติหมายจับที่ 216/2563 ในข้อหาเดียวกัน
ทั้งนี้ ทั้ง 2 คดีที่ “ทนายตั้ม” ถูกออกหมายจับมีความน่าสนใจยิ่ง ด้วยมีความเกี่ยวโยงกับ “มาตรา 100/2” ซึ่งเป็นมาตราสำคัญใน “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522”
กล่าวสำหรับ “หมายจับ” ใน “คดีแรก” เกิดขึ้นจากการที่มีตำรวจชั้นประทวนยศ ส.ต.ต.(ผบ.หมู่) สน.ศาลาแดง นายหนึ่ง เข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรีว่า ถูกนำเอกสารบัตรข้าราชการตำรวจไปปลอมแปลงลายเซ็น เพื่อใช้ยื่นต่อศาลใน “คดีเอมี่” เพื่อขอ “ลดโทษ” ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดมาตรา 100/2 หลังจากนั้นตำรวจสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเรื่อยมา จนศาลจังหวัดมีนบุรีออกหมายจับนายษิทรา ตามมาตรา 180 ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อเย็นวันที่ 3 ก.พ.2563
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ผู้ที่มีคำสั่งให้ไปจับ “เอมี่” ขณะที่กำลังเสพยาไอซ์ มิใช่ใครอื่น หากแต่เป็นนายตำรวจผู้โด่งดังชื่อ “พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล” เมื่อครั้งครองยศ พล.ต.ต.และรั้งตำแหน่งรักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ส่วน “ทนายตั้ม” ก็คือทนายที่มารับว่าความทำคดีให้
คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก “เอมี่” ในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และตรวจสารเสพติดจำเลยทุกครั้งที่มารายงานตัว รวมทั้งให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์รวม 24 ชั่วโมงด้วย ส่วนข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะที่นายปุณยวัจน์ หิรัณย์เตชะ แฟนหนุ่ม ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 2,500,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี 4 เดือน 15 วันปรับ 750,000 บาท
และหากยังจำกันได้ หลังเอมี่พ้นคดี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องเรียนให้ตรวจสอบโดยอ้างว่า ตำรวจเข้ามาเกี่ยวในการช่วยเหลือ ซึ่ง พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น ในขณะนั้นได้มีคำสั่ง บช.น.ที่ 307/2561 ลงวันที่ 11 ก.ย.61 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้ พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น.ในขณะนั้น(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) เป็นประธานฯ
ในครั้งนั้น นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า คดีนี้พบว่ามีการทำเป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 13 คน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือน ในนั้นมีทนายความชื่อดังรวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คดีของ “เอมี่” ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะ “อัยการ” ได้มีความเห็นอุทธรณ์คดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายรายละเอียดว่า หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังสำนักงานอัยการคดียาเสพติด 12 มีนบุรี พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีแจ้งว่าในประเด็นที่ศาลมีนบุรีเคยตัดสินยกฟ้องเอมี่ ข้อหาร่วมครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย โดยลงโทษเฉพาะข้อหาเสพยาฯนั้น พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดีและอัยการพิเศษฝ่ายศาลสูงมีนบุรี (นายธิติ คุ้มรักษ์) ได้มีความเห็นและคำสั่งอุทธรณ์และได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ส่วน “คดีที่สอง” นั้น เป็นผลมาจากการที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ร้องทุกข์กล่าวหา “ทนายตั้ม” และ “ร.ต.อ.ทวีป หรือพชรวรรษ สุขชู” ในข้อหาร่วมกันเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีนายธีรวัฒน์ หรือออย บุญรอด จำเลยในคดียาเสพติดที่ถูกจับกุม โดยมีการกล่าวหาว่าทั้ง 2 คนร่วมกันนำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ทำให้นายธีรวัฒน์ได้รับโทษน้อยลง
ความน่าสนใจของทั้ง 2 คดีคือล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวโยงกับ “มาตรา 100/2” ซึ่งเกี่ยวกับ “การลดโทษ” จำเลยที่ให้ข้อมูลสำคัญในคดียาเสพติด โดยสาระสำคัญของ มาตรานี้อยู่ตรงที่ว่า เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยให้การ “ขยายผล” การจับกุมไปที่ “รายใหญ่” กฎหมายถือเป็นการให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และสามารถนำมาลดโทษได้ ซึ่งถือเป็น “ช่องโหว่” ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี โดยต้องมี “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ในการดำเนินการ
ดังนั้น ในระยะหลังศาลซึ่งเห็น “ความผิดปกติ” จึงออกมาตรการเข้มงวดมากขึ้นคือ ผู้ต้องหาต้องแจ้งเบาะแสทันทีที่โดนจับ จะมาแจ้งที่หลังไม่ได้
กล่าวสำหรับ “ทนายตั้ม” นั้นต้องบอกว่า ที่ผ่านมา เขาและทีมงานเคยให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่บุคคลยากไร้เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น เมื่อปี 2556 ช่วยเหลือ “น้องภัทร” น.ส.ภัทราภรณ์ ทาทอง วัย 22 ปี สาวโรงงานที่ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ถูกรถสิบล้อชนแล้วหนีจนต้องตัดแขน ตัดขา กลายเป็นคนพิการ ซึ่งนายษิทราร่วมกับตำรวจหาเบาะแสจนสามารถจับกุมคนร้ายได้ และประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการต่างๆ จนน้องภัทรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
หรือกรณี “น้องจีโน่” นายณขจร กิจฤกษ์ไทย วัย 18 ปี ถูกนายนายพชร เทียนชูศักดิ์ และ น.ส.จันทราลักษณ์ มั่นสิน คู่รักวัยรุ่นใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาก่อนหลบหนี กระทั่งน้องจีโน่ถึงแก่ความตาย ซึ่ง “ทนายตั้ม” และทีมงานทนายประชาชน ให้ความช่วยเหลือทางคดีตามที่พ่อแม่น้องจีโน่ขอความช่วยเหลือ กระทั่งศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตแก่คู่รักวัยรุ่นทั้ง 2 คน
อย่างไรก็ดี การที่ “ทนายตั้ม” ถูกออกหมายจับในคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งแม้จะยังไม่เป็นที่พิสูจน์ชัดว่า จริงหรือไม่ แต่สะท้อนให้เห็นว่า เส้นทางสายนี้ถูกเพ่งเล็งและตรวจสอบอย่างหนัก ด้วยส่งผลทำให้กระบวนการยุติธรรมในภาพรวมมีปัญหา และน่าจะถึงเวลาที่ต้อง “ชำระสะสาง” กันได้แล้ว.