ใครต่อใครก็พูดกันว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุด บางคนบอกว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองสุดท้าย ประชาธิปไตยแปลว่า การปกครองโดยประชาชนในความหมายสากล และถ้าถอดความภาษาไทยก็จะแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่
ในหลวงรัชกาลที่ ๗ นั้นมีแนวคิดที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้คนไทยอยู่แล้ว แต่ทรงยังไม่เห็นความพร้อม จึงค่อยทำค่อยไป แต่คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาจากต่างประเทศเห็นว่าไม่ทันใจจึงชิงทำรัฐประหารด้วยการออกกุศโลบายหลอกให้ทหารมารวมตัวกันที่ลานพระรูป ในขณะที่ในหลวงเสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่หัวหิน และไม่ได้ขัดขืนเพราะไม่อยากให้เกิดการนองเลือด
แต่คนหนุ่มสาวในนามคณะราษฎรก็ไม่ได้ให้ประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริงให้กับคนไทยในทันที ก็เพราะความไม่พร้อมอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงตริตรองไว้นั่นแหละ ดังนั้นหลังปฏิวัติ 2475 ถ้าพูดกันในความหมายที่แท้จริงเราจึงได้การปกครองที่เรียกว่าคณาธิปไตยในเบื้องแรกไม่ใช่ประชาธิปไตย
เพราะแม้ 1 ปีกว่าต่อมาเราจะมีการเลือกตั้งครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง
กว่าจะได้ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกตั้งก็เป็นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 นานถึง 5 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเท่ากับการยึดอำนาจของ คสช.ในปัจจุบันที่ปกครองประเทศ 5 ปีกว่าจะให้สิทธิ์ประชาชนเลือกตั้ง
แต่หลังผ่าน 5 ปี คสช.ก็ร่างกติการัฐธรรมนูญที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นเพื่อหวังผลในการสืบทอดอำนาจ
ดังนั้นสำหรับผมแล้วคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ต้องมีการแข่งขันบนกติกาที่เท่าเทียมกัน เหมือนการแข่งขันกอล์ฟก่อนจะไต่เต้าไปเล่นแบบอาชีพ เขาก็จะมีแฮนดิแคปเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การชกมวยจะต้องมีน้ำหนักเดียวกันและต่อสู้บนกติกาที่เท่าเทียมกัน
ผมมีคำถามนะครับว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่บนกติกาที่เท่าเทียมกันไหม ถ้าไม่พูดถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ฝั่ง คสช.ตั้งพรรคขึ้นมาลงสนามด้วยแต้มต่อของ 250 ส.ว.ในมือซึ่งไม่เท่าเทียมแน่ แต่ผมพูดถึงกติกาการเลือกตั้งในเนื้อแท้ทั่วๆ ไปซึ่งผมมองว่า มันไม่มีความเท่าเทียมและความยุติธรรมอยู่ในตัวเช่นกัน
ดูเผินๆ ก็อาจจะบอกว่ามีความเท่าเทียมกัน เปิดให้หาเสียงในเวลาเดียวกันในกติกาเดียวกัน การตั้งพรรคมีกฎหมายว่าจะต้องทำอย่างไรจะต้องรวบรวมคนมากี่คนต้องมีเงินเท่าไหร่ ใครต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ดูเหมือนเป็นกติกาที่เป็นธรรม ใครจะทำป้ายหาเสียงเท่าไรก็ได้มีเสรีภาพเป็นการแข่งขันแบบเสรี แต่เคยคิดบ้างไหมว่านั่นแหละคือความไม่เป็นธรรมที่แฝงเร้น เป็นความเหลื่อมล้ำในระบอบประชาธิปไตย
เริ่มจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองระบุว่า พรรคต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ผู้ร่วมจัดตั้งต้องจ่ายเงินประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1 พันบาท แต่ไม่เกินคนละ 5 หมื่นบาท
แค่ตรงนี้ก็ลำบากแล้วครับสำหรับคนที่ไม่ได้ร่ำรวย 1 พันบาทอาจจะเป็นเงินที่ไม่มากสำหรับหลายคน แต่สำหรับหลายคนก็เป็นเงินที่หามาได้ยากเช่นเดียวกัน ดังนั้นเท่ากับกฎหมายก็ขีดเส้นไม่ให้คนยากจนเข้ามาสู่การเมือง เราอาจบอกว่า ก็ถูกแล้วคนที่จะมาเล่นการเมืองอยากจะมาช่วยประเทศชาติ ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องมีรายได้มีฐานะช่วยตัวเองให้ได้ก่อนถึงจะมาช่วยชาติ แต่นี่ก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันไหมนี่เป็นคำถาม
ยิ่งการตั้งพรรคการเมืองต้องเริ่มต้นด้วยเงิน 1 ล้านบาท ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลายคน แม้อยากจะเข้าสู่การเมือง มีพรรคการเมืองของตัวเอง ไหนจะต้องตั้งสาขาพรรคต้องตั้งที่ทำการพรรคในจังหวัดต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น การเดินสายรวบรวมสมาชิกการพบปะพูดคุยเกลี้ยกล่อมเพื่อเอาคนมารวมกันให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดก็ต้องใช้เงิน การหาเสียงพรรคการเมืองก็ต้องใช้เงิน
กลายเป็นว่าพรรคการเมืองไหนที่มีเงินมาก พรรคการเมืองนั้นก็ได้เปรียบ ไปดูป้ายหาเสียงพรรคที่รวยก็จะมีป้ายเยอะ มีเครื่องมือในการแนะนำตัวให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น ทำไมเราไม่กำหนดออกมาให้ชัดเลยว่า เมื่อขึ้นเวทีแล้วจะทำอย่างไหนได้บ้าง ติดป้ายที่ไหนได้บ้าง และรัฐนั่นแหละเป็นผู้ดำเนินการให้
เราดูพรรคอนาคตใหม่สิ ถ้าหัวหน้าพรรคไม่รวยไม่มีเงินให้ยืมจะสามารถโหมหาเสียงได้อึกทึกขนาดนี้ไหม ผมจึงคิดว่า ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งนั้นไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องทุนถึงจะยุติธรรม ทำให้พรรคการเมืองไม่ต้องเริ่มต้นด้วยเงิน ทำให้การหาเสียงไม่มีปัญหาเรื่องเงิน
แล้วเราย้อนไปดูความหมายของ “ประชาธิปไตย” สิ การปกครองโดยประชาชนเป็นใหญ่ มันก็ต้องหมายถึงประชาชนทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันด้วย ถามว่าจากกติกามันมีโอกาสที่เท่าเทียมกันไหม คำตอบคือ ไม่เลย
ความเท่าเทียมเดียวที่เราพอจะพูดได้ว่า มีก็คือ การมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในคูหาเลือกตั้งที่เท่ากัน
แต่มันเป็นความเท่าเทียมกันจริงๆ ไหม
สำหรับผมแล้วคิดว่ามันไม่เท่าเทียมกัน เพราะประชาชนแต่ละคนนั้นมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน มีความรู้ที่แตกต่างกัน มีปัจจัยและฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่ต้องตัดสินใจในเรื่องเดียวกัน เราอาจจะบอกว่าช่วยไม่ได้ เพราะธรรมชาติกำหนดให้ทุกคนมีสมองสองแขนสองขาเท่าเทียมกัน
หลายคนอาจจะแย้งว่าเราเอาเรื่องความยากจนและความรู้มากำหนดเป็นความไม่เท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ แต่ผมคิดว่าใช่
แล้วอย่าลืมว่าสังคมเราเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ ฐานะทางสังคมความยากจน มันเอื้อให้กลายเป็นเครื่องมือของคนรวย แม้เราจะเป็นเมืองพุทธที่สอนให้รู้จักการระลึกบุญคุณและตอบแทนบุญคุณผู้อุปการคุณ อาจจะไม่ผิดหรอกที่เราต้องเลือกคนที่เรารู้จักมักคุ้นก่อนที่จะเลือกคนดีหรือคนเก่ง แต่สิ่งเหล่านี้มันก็เบี่ยงเบนหลักการของที่ต้องส่งเสริมคนดีคนมีความสามารถให้ปกครอง ซึ่งเป็นสารัถตะที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย เท่ากับว่าคนรวยนั้นจะได้เปรียบเพราะเขาใช้ความอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจได้ง่ายกว่า
การอยู่ใต้อุปถัมภ์จึงเป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่สามารถเลือกคนที่ดีที่สุดมาปกครองบ้านเมืองได้ การเลือกตั้งก็เป็นเพียงเครื่องมือในการตัดสินคนที่มีพวกมากที่สุดเท่านั้นเอง
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ เรายังให้พรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ก่อนรักษาการอยู่ ก็จะได้เปรียบในเรื่องอำนาจรัฐที่ยังให้คุณให้โทษได้ แม้จะยังไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐก็ยังได้เปรียบที่สร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนที่เป็นข้าราชการอยู่ดี
ระบอบประชาธิปไตยที่เราคิดว่า ดีที่สุดจึงยังมีความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำอยู่ในตัวของมัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan