ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่จับตาของสังคมว่า สุดท้ายแล้ว “อนาคต” หรือ “ปลายทาง” ของ “3 นายตำรวจ” ระดับ “บิ๊ก” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) คือ “บิ๊กต้อย-พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บิ๊กช้าง-พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และบิ๊กโจ๊ก-พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” จะลงเอยอย่างไร
แน่นอน คนแรกที่สังคมสนใจก็คือ “บิ๊กโจ๊ก- พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เพราะผลพวงจากความซ่าเที่ยวล่าสุด ทำให้เส้นทางชีวิตการรับราชการของเขาริบหรี่ลงไปทุกขณะ โดยดัชนีชี้วัดก็คือการที่ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2563 เรื่อง ให้ข้าราชการรักษาจรรยาและวินัยข้าราชการหนังสือเตือนเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2563
สาระสำคัญของหนังสือที่ “ลุงตู่” ลงนามก็คือ “เตือน บิ๊กโจ๊ก“ มิให้ “กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” และ “หากมีกรณีไม่รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป”
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ “ลุงตู่” ไม่เคยเตือนใครอย่างเป็นทางการในลักษณะนี้มาก่อน
แม้จะไม่ได้บอกต้นสายปลายเหตุว่ามาจากเรื่องอะไร แต่ “วิญญูชน” รับทราบดีว่า เป็นผลมาจาก “ปฏิบัติการโจ๊กท่ายาก” หรือ “คดียิงรถ” ที่เห็นได้ชัดว่าเขาตั้งใจเล่นงาน “บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” โดยมีเดิมพันคือ “เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” และการหวนกลับคืนสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องพบกับ “ความพ่ายแพ้” อย่างหมดรูป
หลัง “ลุงตู่” มีคำสั่งไม่นานนัก “บิ๊กโจ๊ก” ซึ่งน่าจะรู้ตัวดีว่ามองหาอนาคตในชีวิตราชการไม่เจอได้ตัดสินใจยื่นใบลาเพื่อไปอุปสมบทในวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 9 วัน โดยเดินทางไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คณะผู้ร่วมเดินทางประกอบไปด้วย นางสุมิตรา หักพาล มารดา, ภรรยา และญาติ รวม 12 คน โดย “บิ๊กโจ๊ก” จะทำพิธีบรรพชาอุปสมบทในวันที่ 28 มกราคมและมีกำหนดลาสิกขาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์
“บิ๊กโจ๊ก” ซึ่งได้รับฉายาว่า “สุรเชฏฺฐโพธิ” แปลว่า ผู้มีปัญญา เครื่องตรัสรู้ซึ่งเจริญที่สุด ด้วยความกล้าหาญ ยืนยันว่า ไม่ใช่บวชล้างสิ่งไม่ดี แต่บวชด้วยความตั้งใจ เพราะเคยลงชื่ออุปสมบทมาแล้วหลายครั้งแต่ติดภารกิจจึงยังไม่ได้บวช ประกอบเป็นคนชอบทำบุญ ศรัทธาในพุทธศาสนา ครั้งนี้จึงตั้งใจบวชให้สำเร็จไม่เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดกับตนเอง กรณีผู้บังคับบัญชามีคำสั่งกำชับมา เรื่องระเบียบวินัย ตนเองก็ต้องปฏิบัติตาม
ทว่า เมื่อกลับมาแล้วจะเป็นอย่างไร การบวชจะช่วยได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันชนิดไม่กระพริบตา
ขณะที่ “พี่ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ที่เคยให้ความเอ็นดู “บิ๊กโจ๊ก” เป็นพิเศษ กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่ได้มาลาด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องมาลาตัวเอง เพราะไม่ได้เจอกันนานแล้ว เพียงแค่เคยร่วมงานกัน ตอนนี้ต่างคนต่างทำงาน”
ท่าทีของ “พี่ป้อม” น่าจะเป็นเพียงแค่ต้องการรักษาระยะห่างกับ “บิ๊กโจ๊ก” พอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับตัวเอง เพราะวงการตำรวจรู้ดีว่า ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขนาดไหน
วันเดียวกับที่ “ลุงตู่” มีหนังสือเตือน “บิ๊กโจ๊ก” ก็มีเรื่องใหญ่สะท้านวงการตำรวจกับ 2 นายตำรวจคนสำคัญ นั่นก็คือ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา และ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย
“ลุงตู่” เซ็นคำสั่งย้าย “พล.ต.อ.วิระชัย” ให้พ้นจากเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ส่วน “บิ๊กแป๊ะ” ก็เซ็นคำสั่งย้าย พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เพื่อนร่วมรุ่น นรต.36 พ้นจากเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ยอมรับว่า เป็นผู้เสนอให้มีการโยกย้ายพล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี จากประเด็น “การปล่อยคลิปเสียงสนทนา”ระหว่างตนเองกับพล.ต.อ.วิระชัย เนื่องจากเป็นปัญหาต่อเอกภาพขององค์กร โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีมติเสนอโยกย้ายพล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หากอยู่เกรงจะเป็นอุปสรรคปัญหา
ส่วนกรณี พล.ต.อ.ชัยวัฒน์นั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เพื่อความเหมาะสม”
อย่างไรก็ดี ขณะที่ฝุ่นยังไม่ทันจางหาย “ระเบิดลูกใหญ่” ก็บึ้มเข้าใส่ พล.ต.อ.วิระชัยและ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ อีกระลอก เมื่อสำนักราชเลขานุการในพระองค์ มีหนังสือ ที่ พว.0005.1/493 ถึง ผบ.ตร.เรื่อง ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ้นจากการเป็นนายตำรวจราชองครักษ์ คือพลตำรวจเอก ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย และพลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา ตั้งแต่ 21 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ทว่า ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงแค่นั้น โดยเฉพาะสำหรับ “บิ๊กต้อย-พล.ต.อ.วิระชัย” เพราะเมื่อสืบสาวราวเรื่องลึกลงไปแล้ว บิ๊กต้อยได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสทางด้านธุรกิจไปพร้อมๆ กันด้วย
ถ้าจะใช้คำว่า “เละยิ่งกว่าโจ๊ก” ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงใดนัก
สังคมอาจยังไม่รู้ว่า “บิ๊กต้อย” คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE” จำนวน 2,282,528,920 หุ้น หรือ 22.43%ซึ่งเมื่อ “บิ๊กต้อย” เผชิญมรสุมแห่งชีวิต หุ้นของ ACE ก็ร่วงกราวรูด “ติดฟลอร์” และมีข้อมูลยืนยันว่า นายพรเมตต์ ทรงเมตตา กรรมการ บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ซื้อหุ้นACE วันที่ 24 ม.ค.2563 จำนวน 40 ล้านหุ้นที่ราคาฟลอร์ของวันดังกล่าว 3.04 บาท มูลค่า 121.6 ล้านบาท และนายธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการ ACE ซื้อหุ้นวันที่ 24 ม.ค. 2563จำนวน 3 ล้านหุ้น ที่ราคาฟลอร์ของวัน 3.04บาท มูลค่า 9.12 ล้านบาท
แม้ผู้บริหารบริษัทคือ “นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องออกหนังสือชี้แจงโดยยืนยันว่า “...บริษัทไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว” ทว่า ในความเป็นจริง ราคาหุ้น ACE ก็ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง
บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ก่อนเริ่มต้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 โดย “ครอบครัวทรงเมตตา” เป็นถือหุ้นใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 78.19% แบ่งเป็น พล.ต.อ.วิระชัย ผู้ถือหุ้น 22.43% และ “ลูกชาย” อีก 3 คือ นายพรเมตต์ ทรงเมตตา ถือหุ้น 20.97% นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ถือหุ้น 18.51% และนายณัฏฐ์ ทรงเมตตา ถือหุ้น 16.28%
ส่วนการบริหารงานบริษัท ACE นั้น มี น.ส.จิรฐา ทรงเมตตา ซึ่งเป็น “ภรรยา” ของพล.ต.อ.วิระชัย ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการ
ACE ของ “ครอบครัวทรงเมตตา” ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.ace-energy.co.th ระบุอีกว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วทั้งหมด 14 โครงการ จำนวนการผลิตติดตั้งรวม 212.18 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา จำนวนทั้งสิ้น 19 โครงการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเติบโตได้สูงมาก และทำนิวไฮมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
ผลการดำเนินงานในปี 2559-2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,161 ล้านบาท 4,346 ล้านบาท และ 4,849 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่องตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 50% และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท 334 ล้านบาท และ 547 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนปี 2562 ในการแถลงของ “จิรฐา ทรงเมตตา” ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาภายหลังเผชิญมรสุมเรื่อง “บิ๊กต้อย” ระบุว่า ในช่วง 9 เดือน ACE มีรายได้รวม 3,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากรายได้รวม 3,261 ล้านบาทจากช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 และมีกำไรสุทธิ 570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากกำไรสุทธิ 429 ล้านบาท จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2561
ขณะที่ในปี 2563 ในปี 2563 บริษัทฯมีแผนงานที่จะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ของภาครัฐ 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการ Quick-Win ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนและสามารถรับรู้รายได้อย่างอย่างรวดเร็ว และ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รวมแล้ว 1,100 เมกะวัตต์
นอกจากนั้น ACE ยังมี “บริษัทในเครือ” อีก 12 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท เอเชีย คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ 2.บริษัท เพาเวอร์ซัพพลาย แอนด์ เมนเทแนนซ์ เซอร์วิส จำกัด หรือ PSMS ประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรมซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายในกลุ่มบริษัทฯ เป็นหลัก
ส่วนที่เหลืออีก 10 บริษัทคือ บริษัท แอ๊ดวานซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด หรือ ACPบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด หรือ ALCP บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด หรือ AAPP บริษัท แอ๊ดวานซ์ เอเชีย เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด หรือ AAP บริษัท แอ็ดวานซ์ ไบโอ เอเชีย จำกัด หรือ ABA บริษัท แอ๊ดวานซ์ ฟาร์ม ทรี จำกัด หรือ AFT บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด หรือ BPP บริษัท เอซีอี โซลาร์ จำกัด หรือ ACE SOLAR บริษัท ปราสาทพรรุ่งเรือง จำกัด หรือ PSPR และบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เอเชีย จำกัด หรือ AAA ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงหลัก
ทั้งนี้ การลดลงของราคาหุ้น ACE ทำให้มูลค่าของบริษัทฯลดลงจาก 43,960.32 ล้านบาท (เมื่อวันที่ 23 มกราคม) เหลือ 32,363.19 ล้านบาท หรือมูลค่าลดลง 11,597.13 ล้านบาท และเมื่อคิดมูลค่าหุ้นในสัดส่วนที่ครอบครัว ‘ทรงเมตตา’ ถือหุ้นอยู่ 78.19% ใน ACE จะพบว่า เพียงวันเดียว ความมั่งคั่งของครอบครัว ‘ทรงเมตตา’ ลดลงมาอยู่ที่ 25,309.46 ล้านบาท หรือลดลง 9,067.79 ล้านบาท
กล่าวเฉพาะตัว “จิรฐา ทรงเมตตา” หรือชื่อเดิมคือ “ศิริวรรณ” นั้น มีความน่าสนใจไม่น้อย ด้วยสกุลเดิมของเธอคือ “ดำเนินชาญวนิชย์” โดยเป็นลูกสาวของนายกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล (ซุ่นฮั่วเส็ง) กลุ่มสวนกิตติ และกลุ่มบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ ซึ่งมีลูกชายและลูกสายทั้งหมด 7 คน เป็นลูกชาย 5 คนและลูกสาว 2 คน แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งและมีการฟ้องร้องกันภายในตระกูล น.ส.จิรฐา หรือน.ส.ศิริวรรณ จึงแยกตัวออกมาก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า
และแน่นอนว่า “จิรฐา” มี “คอนเนกชัน” ที่ไม่ธรรมดา เพราะผ่านสารพัดหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 54 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นคือนางสมถวิล วงษ์สุวรรณ ภรรยา พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบความหนักเบาในด้านชีวิตราชการ ก็ต้องบอกว่า “บิ๊กโจ๊ก” หนักสุดเพราะก่อนหน้านี้ก็ต้องขาดจากความตำรวจ แถมยังเจอหนังสือเตือนหนักๆ จาก “นายกฯ ลุงตู่” จนต้องหนีวิบากกรรมไป “บวช” ที่ประเทศอินเดีย รองลงมาก็คือ พล.ต.อ.วิระชัยเพราะถูกเด้งออกจาก สตช.ไปทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ยังไม่ขาดจากความเป็นตำรวจ
ส่วน พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ดูเหมือนว่าจะเบาหน่อย เพราะแม้จะถูกเด้งเข้ากรุ แต่ก็ยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ(ก.ตร.) ที่ “บิ๊กตู่” นั่งเป็นประธานเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา “บิ๊กช้าง” ก็ปรากฏตัวเข้าร่วมประชุมด้วย เพียงแต่น่าจะ “หมดลุ้น” ในเก้าอี้ “ผบ.ตร.” หลังการเกษียณอายุของ “เพื่อนแป๊ะ” อย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ “ไพรัตน์ go hair” พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีตรองผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ที่เปิดศึกกับ “บิ๊กใหม่-พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกระทบชิ่งยื่นฟ้อง “บิ๊กแป๊ะ” และชัดเจนว่า เป็น “พวกโจ๊ก พวกต้อย” ก็คงมีเส้นทางชีวิตราชการไม่ต่างกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมี “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ได้มีการหารือถึงข้อร้องเรียนของ “ไพรัตน์ go hair” และก.ตร.มีบทสรุปที่น่าสนใจใน 3 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก การที่ “บิ๊กใหม่” เมื่อครั้งเป็นจเรตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ “ไพรัตน์ go hair” มาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. มีข้อสรุปว่า พล.ต.อ.สุชาติปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปก.ตร. ตามคำสั่งของ ผบ.ตร. จึงมีอำนาจให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ได้
ประเด็นที่ 2 เมื่อมาอยู่ ศปก.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติสามารถส่งตัวไปฝึกธำรงวินัยได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวจเรตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติจาก ตร. ว่ากรณีถ้าเห็นว่ามีโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพก็สามารถส่งไปได้
และประเด็นที่ 3 เมื่อจเรตำรวจแห่งชาติพบการกระทำความผิดของข้าราชการตำรวจแล้วดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่นั้น กรณีกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรรมการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา เมื่อจเรตำรวจพบการกระทำผิดของข้าราชการตำรวจ ก็ส่งเรื่องไปทางต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยอยู่แล้ว
ดูจากมติ ก.ตร.ที่ออกมาแล้ว ฟันธงชนิดไม่กลัวธงหักว่า พ.ต.อ.ไพรัตน์ “รอดยาก”