ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องที่ชวนให้สังคมสงสัย มีอะไรทะแม่งๆ หรือไม่ใน “คดีฆ่าบิลลี่” ที่จู่ๆ “อัยการ” ก็เทสำนวนของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” สั่งไม่ฟ้อง “นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวก” ในข้อหาฆ่า “นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่” โดยไม่มีการประชุมหารือร่วมกันของสองหน่วยงานซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเสียก่อนที่จะสรุปสั่งไม่ฟ้อง คล้ายๆ รวบรัดตัดตอน หรือไม่? แม้ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะบอกว่ามุมกฎหมายอาจต่างกันก็ตาม
“คดีฆ่าบิลลี่” ที่ยืดเยื้อมาร่วมห้าปีเพิ่งมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อเดือนกันยายน ปี 2562 ที่ผ่านมา เมื่อทีมดีเอสไอที่มี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีมสอบสวนคดี ได้รวบรวมพยานหลักฐานโดยควานไปเจอหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงการหายตัวไปของบิลลี่ คือ กระดูกกะโหลกมนุษย์ในถังขนาด 200 ลิตร ที่จมอยู่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน
ทีมดีเอสไอ ตรวจสอบพบว่ากระดูกที่พบมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ ดีเอสไอ จึงอนุมานเบื้องต้นว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วนำมาสู่การขอออกหมายจับ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ออกหมายจับนายชัยวัฒน์ และพวก รวม 4 คน ใน 6 ฐานความผิด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ในวันถัดมานายชัยวัฒน์และพวก เดินทางมามอบตัว และศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ในระหว่างการต่อสู้คดี
จนกระทั่งถึงวันที่ 24 มกราคม 2563 แสงสว่างปลายอุโมงค์ในคดีฆ่าบิลลี่ ก็ดับวูบลง เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยอัยการสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียวคือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่นายชัยวัฒน์ อ้างว่าควบคุมตัวนายพอละจีไว้เพราะมีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว จึงถูกกล่าวหาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ส่งตัวนายพอละจีไปดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อคดีใหญ่มีปัญหา ดีเอสไอก็เปิดศึกงัดข้อกับอัยการอย่างช่วยไม่ได้ เพราะดีเอสไอและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มั่นใจในพยานหลักฐานในคดี ขณะที่อัยการชี้ว่า ในชั้นนี้ “พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ” ที่จะฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คดีนี้กลายเป็นข่าวฮอตขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 จากรายงานข่าวที่ว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 23 มกราคม 2563 ระบุเนื้อหาสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557
ทันทีที่กระแสข่าวแพร่กระจายออกไปก็กลายเป็นเรื่อง ทั้งอัยการและดีเอสไอต่างตั้งโต๊ะแถลงประชันกันในวันที่ 27 มกราคม 2563 โดยต่างฝ่ายต่างชี้แจงเหตุผล เบื้องหน้าเบื้องหลัง ฝั่งดีเอสไอมั่นใจในพยานหลักฐานทำไมถึงต้องฟ้อง ขณะที่ฟากอัยการก็ยืนกรานในชั้นนี้ทำไมถึงไม่ฟ้องเพราะหลักฐานพยานไม่มีน้ำหนักพอ
ทั้งนี้ ตามหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งถึงอธิบดีดีเอสไอ และถ้อยแถลงของนายประยุทธ์ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงชี้แจง สรุปได้ว่า คดีนี้ ดีเอสไอ ส่งสำนวนคดีอาญาให้สำนักงานอัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา โดยเป็นคดีระหว่างนางสาวพิณนภา พฤกษพรรณ กับพวก รวม 2 คน เป็นผู้กล่าวหา ส่วนผู้ต้องหา มี 4 คน คือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหาที่ 1 นายบุญแทน บุษราคัม ผู้ต้องหาที่ 2 นายธนเสฎฐ์หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายกฤษณะพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 โดยมีข้อกล่าวหาผู้ต้องหา ดังนี้
ผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า 1.ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ 2.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกโดนหน่วงเหนี่ยวถึงแก่ความตาย
3.ร่วมกันมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยเห็นว่าจะทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง 4.ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อกระทำผิดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 5.ร่วมกันเพื่อทุจริต หรือเพื่ออำพรางคดีกระทำประการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น
6.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต7.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจผู้อื่นให้ หรือทำให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนและผู้อื่น และ 8.ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
สำหรับผู้ต้องหาที่ 4 ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันกับผู้ต้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามข้อหาที่ 1- 5 และให้การสนับสนุนผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 เหตุที่แจ้งเป็นผู้สนับสนุนเพราะผู้ต้องหาที่ 4 เป็นลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน
หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีจากดีเอสไอ ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีนายประกาศิต เหลืองทอง อัยการผู้เชี่ยวชาญ เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อพิจารณาคดีเพราะเป็นคดีใหญ่ที่สังคมสนใจ หลังจากตรวจสำนวนแล้ว คณะทำงาน มีความเห็นว่า ข้อหาร่วมกันฆ่านายบิลลี่ ในข้อหาที่ 1 ในชั้นนี้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย
“เราไม่ได้วินิจฉัยว่า นายชัยวัฒน์ ไม่ได้กระทำความผิดในข้อหานี้ แต่พยานหลักฐานในชั้นนี้ยังไม่พอ” นายประยุทธ กล่าวย้ำ และชี้แจงเหตุผลของคณะทำงานประกอบการใช้ดุลยพินิจความเห็นและคำสั่ง ดังนี้
กรณีนายบิลลี่ ในชั้นแรกถูกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 ควบคุมตัวไปพร้อมน้ำผึ้งและรถจักรยานยนต์ หลังจากนั้นมีพยานบุคคลยืนยันว่า เห็นผู้ต้องหาทั้ง 4 ปล่อยตัวนายบิลลี่ ออกมา
ต่อมา ภรรยาและมารดาของนายบิลลี่ ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้นายชัยวัฒน์ และพวก ปล่อยตัวนายบิลลี่ และนำสืบพยานหลักฐาน ซึ่งศาลจังหวัดเพชรบุรี ยกคำร้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงทางคดีได้ความว่า นายชัยวัฒน์ และพวก ปล่อยตัวนายบิลลี่ออกมาแล้ว ต่อมาภรรยานายบิลลี่ ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรี ภรรยานายบิลลี่ยื่นฎีกา โดยศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
ภายหลังจากนั้น พยานที่เบิกความยืนยันว่าเห็นนายชัยวัฒน์และพวก ปล่อยตัวนายบิลลี่แล้ว 5 ปาก มี 2 ปาก ที่กลับคำให้การในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ บอกว่าไม่เห็นการปล่อยตัว แต่พนักงานอัยการคณะทำงาน เห็นว่า พยานสองปากดังกล่าวเคยเบิกความต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี จนกระทั่งศาลฎีกา ยืนยันชี้ชัดปล่อยตัวแล้ว แต่กลับมาให้การใหม่กับดีเอสไอว่าไม่เห็นตามที่เคยเบิกความ
“การชั่งน้ำหนักในชั้นแรก อัยการยังเชื่อว่าคำเบิกความต่อศาลชั้นต้นที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีจนกระทั่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจริงมีน้ำหนักมากกว่า จึงยังมองว่า นายชัยวัฒน์กับพวก ปล่อยตัวไปแล้วในเบื้องต้น” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบาย
ส่วนการตรวจพิสูจน์กระดูกที่เป็นวัตถุพยานของกลางในคดี โดยวิธีไมโครควอเทรียม ซึ่งการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ดีเอสไอได้ส่งให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจด้วยวิธีตามนิติวิทยาศาสตร์ ผลการตรวจเห็นความเชื่อมโยงของกระดูกดังกล่าวไล่สายกับสายมารดาของนายพอละจี และยายของนายบิลลี่
ประเด็นนี้คณะทำงานเห็นว่า การตรวจโดยวิธีไมโครควอเทรียมเป็นวิธีการตรวจเพื่อไล่เลียงเครือญาติสายมารดาเท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจชี้ชัดเอกลักษณ์บุคคลได้เท่ากับการตรวจนิวเคลียร์ ดีเอ็นเอ หรือเซ็กโคโมโซม ซึ่งจะชี้ชัดบุคคลได้ชัดเจนกว่า
“จากการวินิจฉัยประเด็นตรงนี้เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงทางคดีไม่มีพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะยืนยันว่าผู้ต้องทั้งสี่ได้ฆ่านายบิลลี่ เมื่อไหร่ โดยวิธีไหน และที่ใด
“..... สำนักคดีพิเศษแจ้งให้ทราบเป็นประเด็นสำคัญที่อัยการต้องบรรยายในคำฟ้องว่าหากจะฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกว่าฆ่านายบิลลี่ ต้องได้ความว่าฆ่าเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร และต้องมีการตรวจที่ชัดเจนว่าเป็นของนายบิลลี่ อย่างแน่นอน คณะทำงานจึงเห็นในชั้นนี้ยังไม่เพียงพอที่จะฟ้อง ....” นายประยุทธ ชี้แจง และยังชี้มุมมองของอัยการคณะทำงานด้วยว่า ถ้านำสืบไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์ กับพวก เป็นคนฆ่า ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยนี้ให้แก่นายชัยวัฒน์ และพวก นั่นคือโอกาสยกฟ้องมีสูง
“ย้ำว่าในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่พอ .... ถ้าฟ้องแล้ว บรรยายไม่ได้ หรือโอกาสนำสืบไม่ได้ แล้วศาลยก จะทำให้เกิดความเสียหายต่องานยุติธรรมของอัยการมากกว่า นี่คือมุมมองของอัยการคณะทำงาน" คำชี้แจงของนายประยุทธ์ และว่าคดีนี้มีอายุความยี่สิบปีเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถยกคดีขึ้นฟ้องศาลได้
สำหรับข้อหาลำดับที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 นายประยุทธ ระบุว่า คณะทำงานมีเห็นว่า ทางคดีไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอจะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาทั้งหมดดังกล่าว จึงเห็นว่าคดีนี้พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4
ส่วนข้อหาที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คณะทำงานพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 จึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
ขณะที่มุมของอัยการว่าพยานหลักฐานไม่พอ ถ้าฟ้องไปโอกาสถูกยกฟ้องมีสูง สู้รอพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติมดีกว่า แต่ในมุมของดีเอสไอและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ยกทีมออกมาแถลงสวนทันควัน กลับเห็นต่าง
นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่าวิธีพิสูจน์หลักฐานด้วยการตรวจสอบไมโทรคอนเดรียดีเอ็นเอ ไม่ได้ใช้เฉพาะในไทย แต่ทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้ทั้งนั้น
วิธีการดังกล่าว ใช้พิสูจน์บุคคลสูญหายกรณีที่โครงกระดูกมีความเสื่อมสภาพ ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมในวัตถุเสื่อมสภาพและใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ไมโทรคอนเดรียจะเป็นการสืบสายพันธ์จากแม่สู่ลูกโดยสามารถติดตามได้ 2 รุ่น เมื่อถึงรุ่นที่ 3 ไมโทรคอนเดรีย จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุกรรม ซึ่งชิ้นส่วนกระดูกที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับจากดีเอสไอ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายบิลลี่ พบว่าไมโทรคอนเดรียตรงกันทุกประการ ทำให้เราตีกรอบว่ากระดูกนี้น่าจะมีการสืบสายโลหิตในไมโทรคอนเดรียเดียวกัน “.... มีหลายคดีที่ใช้ไมโทรคอนเดรียเป็นหลักฐานประกอบให้ศาลรับฟัง....” น.พ.วรวีร์ กล่าว
พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผอ.กองคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ดีเอสไอ ระบุว่า ดีเอสไอสอบปากคำพยานอย่างละเอียด ยืนยันว่าญาติพี่น้องร่วมมารดาของนายบิลลี่ไม่มีรายใดเสียชีวิต ส่วนญาติพี่น้องในรุ่นยายหรือแม่ของแม่บิลลี่ที่เสียชีวิตไปแล้วได้ประกอบพิธีทางศาสนาคือฝังตามธรรมชาติ มีแค่นายบิลลี่คนเดียวที่หายไปโดยไม่มีที่มาที่ไป
“.....เราไม่ได้ทำสำนวนปกติ แต่ทำสำนวนเสนอศาลให้พิจารณาออกหมายจับ และยังดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรรวมถึงอัยการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ มาตรฐานไม่แตกต่างจากสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ”
ความเห็นที่แย้งและแตกต่างนี้ ดีเอสไอ จะทำหนังสือแย้งไปยังอัยการตามกรอบเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าดีเอสไอ ยกร่างความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 แล้ว รวม 6 ประเด็น โดยสรุป ดังนี้
1.ความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอัยการเห็นว่า "วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรีย เป็นเพียงวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของบุคคลในสกุลเดียวกันจากพันธุ์กรรมฝ่ายมารดา ไม่มีพยานบุคคลใดยืนยันได้ถึงแม่ของยายและยายของยายที่เลยไปกว่าชั้นมารดาของนายพอละจีในแต่ละสายว่า ใครที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว
ดีเอสไอ มองว่า อัยการไม่ได้ใช่ดุลยพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างจากพนักงานสอบสวน แต่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน เนื่องจากอัยการไม่มีการอ้างอิงว่ารับฟังในประเด็นนี้จากพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานหลักฐานชิ้นไหน ขณะที่สำนวนสอบสวนมีพยานผู้เชี่ยวชาญการตรวจสารพันธุกรรมเพียงคนเดียวคือ นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ให้การโต้แย้งและกล่าวอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญอื่น
2.ประเด็นพยานบุคคล รวม 3 ปาก คือเจ้าหน้าที่อุทยาน กับอดีตนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ที่อัยการเห็นว่าให้การกลับไปมา ไม่น่าเชื่อถือ แต่อัยการเลือกที่จะเชื่อในคำให้การเฉพาะในส่วนที่ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้วหลังจับกุม ซึ่งย้อนแย้งกันเอง และเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน
3.ประเด็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 147 และฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 148 ที่พนักงานอัยการเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 เอาทรัพย์ของนายพอละจีไป และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจนั้น
ดีเอสไอ เห็นว่า คดีนี้มีพยานบุคคลยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้จับเอาตัวนายพอละจี่ไปโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ทำบัญชีของกลาง ไม่แจ้งสิทธิ ไม่นำตัวนายพอละจีไปที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดกลับร่วมกันสร้างเรื่องราวการปล่อยตัวอันเป็นเท็จ ถือเป็นพฤติการณ์อันสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีเจตนาจับเอาตัวไปเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายและเบียดบังเอาทรัพย์สินของนายพอละจี่ไป
นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทั้งหมดมีจำนวนคนมากกว่า และมีอาวุธปืนในขณะจับกุมนายพอละจีย่อมถือเป็นการข่มขืนใจนายพอละจี เข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 147 และ 148
4.ประเด็นการกล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี ดีเอสไอ เห็นว่า มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายพอละจี ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ซึ่งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละประเด็นกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และคดีฆาตกรรม และในช่วงเวลาดังกล่าวญาติของนายพอละจีซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่สามารถแสวงหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า นายพอละจีอยู่ในความควบคุมของผู้ต้องหาทั้งหมดศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง มิใช่คำสั่งว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด
ความเห็นของพนักงานอัยการที่กล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญที่ได้จากการสอบสวนในภายหลังจึงไม่ถูกต้อง
5.ประเด็นการพิสูจน์การฆ่า ซึ่งพนักงานอัยการอ้างว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า และไม่อาจนำคดีฆ่าพญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ มาเทียบเคียงได้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ตรงกันนั้น ดีเอสไอเห็นว่า คดีนี้มีหลักในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในทำนองเดียวกัน กล่าวคือเป็นคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่าและไม่พบศพ โดยพิสูจน์การตายด้วยชิ้นเนื้อซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีแพทย์ยืนยันการเสียชีวิต เช่นเดียวกับคดีนี้ที่พิสูจน์การตายโดยชิ้นส่วนกระดูกอันสำคัญโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันประกอบคำให้การของพยานที่เป็นเครือญาติ
6.คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมให้การโต้แย้งหรือกล่าวอ้างพยานหลักฐานใดในชั้นสอบสวน โดยพยานส่วนหนึ่งผ่านการพิจารณาของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบจนอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดทุกข้อกล่าวหา คดีจึงสมควรได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาล
ร่างความเห็นแย้งของดีเอสไอนี้ จะถูกส่งไปยังศูนย์บริหารคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาก่อนส่งต่อไปยังกลุ่มงานความเห็นแย้ง เพื่อให้ร่วมตรวจสอบอย่างรัดกุม โดยคดีนี้ไม่สามารถนำพยานหลักฐานอื่นเข้ามาประกอบเพิ่มเติมได้ เนื่องจากอัยการไม่ได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องคดีเองได้โดยตรง ตาม ป.วิอาญา มาตรา 34 เช่นเดียวกับคดีของ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ญาติยื่นฟ้องคดีเองในภายหลัง
แสงสว่างที่ดับวูบ ความหวังที่พังทลาย ภรรยาของนายบิลลี่ ยอมรับว่าเสียใจที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี รู้สึกเหมือนกับอัยการทำหน้าที่ไม่เต็มที่ จึงขอให้อัยการออกเอกสารชี้แจงเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้อง และเหตุผลที่ไม่ให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มด้วย
5 ปีที่มืดมนของคดีฆ่าบิลลี่ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป