เผยดีเอสไอ เตรียม 6 ประเด็นความเห็นแย้งอัยการ กรณีสั่งไม่ฟ้องคดีฆ่า “บิลลี่” แกนนำชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เสนอให้อัยการสูงสุดชี้ขาด หนึ่งในนั้นคือดีเอ็นเอ อัยการไม่สามารถโต้แย้งความเห็นของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้
... รายงานพิเศษ
เป็นที่ทราบกันไปแล้วว่า อัยการคดีพิเศษ มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ในคดี ฆ่าและกักขังหน่วงเหนี่ยว นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
มีรายงานล่าสุดจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมยื่นโต้แย้งความเห็นของอัยการ 6 ประเด็น เพื่อให้อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาด โดยมีเนื้อหาสำคัญ เช่น ดีเอสไอเห็นว่า อัยการไม่สามารถโต้แย้งความเห็นของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับผลตรวจดีเอ็นเอได้
รวมทั้งยืนยันว่า สามารถดำเนินคดีได้แม้ไม่มีประจักษ์พยานพบเห็นการฆ่า โดยสามารถเทียบเคียงกับคดีฆ่า พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ได้
1. ดีเอสไอ ระบุ อัยการไม่ควรโต้แย้งประเด็น “ดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญอ้างอิง และไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดนอกเหนือจากสำนวน
ประเด็นอัยการ “พนักงานอัยการเห็นว่า กระดูกที่พบด้วยวิธีการตรวจด้วยไมโทคอนเดรีย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นของบิลลี่”
“โดยเห็นว่าวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรีย เป็นเพียงวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของบุคคลในสกุลเดียวกันจากพันธุกรรมฝ่ายมารดา (หญิง) ในสกุล โดยวิธีนี้บอกได้เพียงว่าบุคคลที่ต้องการตรวจหาพันธุกรรมนั้นสืบสกุลมาจากหญิงในสกุลใดเท่านั้น โดยวิธีการนี้บอกได้ว่าบุคคลที่ต้องการตรวจหาพันธุกรรมนั้นสืบสกุลมาจากหญิงในสกุลนั้นๆ ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ, ยายของยายจนมาถึงเหลน โดยในคดีนี้กระดูกชิ้นส่วนมนุษย์ในคดีนี้ยืนยันได้พียงว่ากระดูกชิ้นส่วนมนุษย์นี้ มีสารพันธุกรรมเดียวกันกับมารดาและยายของนายพอละจี่ฯ เท่านั้น
ดีเอสไอ เห็นว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ “ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจที่รับฟังพยานหลักฐานแตกต่างจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ แต่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน” เนื่องจากเห็นได้ว่า “การรับฟังข้อเท็จจริงของอัยการดังกล่าวไม่มีการอ้างอิงว่ารับฟังในประเด็นนี้เอามาจากพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานหลักฐานชิ้นไหน เนื่องจากในประเด็นนี้เป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จึงต้องรับฟังจากพยานผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งในคดีนี้มีพยานผู้เชี่ยวชาญการตรวจสารพันธุกรรมเพียงคนเดียวคือ นายแพทย์วรวีร์ฯ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ให้การโต้แย้งและกล่าวอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญอื่นใด
และหากพิจารณาตามคำให้การของนายแพทย์วรวีร์ ผู้เชี่ยวชาญ จะพบว่านายแพทย์วรวีร์ฯ ยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่า ชิ้นส่วนกระดูกฯ ที่พบมีความสัมพันธ์สืบทอดมาจากมารดาหรือยายคนเดียวกัน นั่นคือเป็นบุตรของนางโพเราะจีฯ หรือเป็นหลานของมารดาของนางโพเราะจีฯ โดยเหตุที่สามารถยืนยันได้เนื่องจากไมโทคอนเดียจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการถ่ายทอด 2 รุ่นขึ้นไป ดังนั้นเมื่อไมโทคอนเดียที่ตรวจเปรียบเทียบตรงกันกับไมโทคอนเดียของนางโพเราะจีฯ
นายแพทย์วรวีร์ฯ จึงยืนยันได้ว่าชิ้นส่วนกระดูกของกลางเป็นบุตรของนางโพเราะจีฯ หรือหลานของมารดานางโพเราะจีฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงญาติในลำดับที่เกินกว่านี้ หรือไม่รวมถึงแม่ของยายและยายของยายที่เลยไปกว่าชั้นมารดาของนายพอละจี่ ขึ้นไป (เกิน 2 รุ่น) ดังความเห็นของอัยการที่นำมากล่าวอ้างแต่อย่างใด และนายแพทย์วรวีร์ฯ ผู้เชี่ยวชาญยังยืนยันว่าการตรวจสารพันธุกรรมไมโทคอนเดียมีความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอปกติ
และเมื่อฟังข้อเท็จจริงจากคำให้การพยานลำดับญาติใน 2 รุ่น คือ รุ่นลูกของนางโพเราะจีฯ ที่ยืนยันว่าลูกทุกคนยังมีชีวิตอยู่ และรุ่นพี่สาวกับน้องสาวของนางโพเราะจีฯ ที่เกิดจากมารดานางโพเราะจีฯ (ตามคำให้การนายแพทย์วรวีร์ฯ ไมโทรคอนเดียถ่ายทอดทางสายผู้หญิงเท่านั้น) ที่ยืนยันว่า พี่สาว น้องสาว บุตรของพี่สาว บุตรของน้องสาวของนางโพเราะจีฯ ก็ยังมีชีวิต
มีบางคนเสียชีวิตแล้วก็มีการฝังทำพิธีถูกต้อง ไม่มีการนำไปลอยอังคารและไม่มีการเผา และพยานเครือญาติทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวยืนยันตรงกันว่าไม่มีบุคคลใดในเครือญาติ 2 รุ่นดังกล่าวนี้หายไปยกเว้นนายพอละจี่ฯ เพียงคนเดียว จึงฟังได้อย่างชัดเจนว่า ชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าว คือ นายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ
ดังนั้น เมื่อนายแพทย์วรวีร์ฯ ยืนยันว่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวนี้เสียชีวิตแล้ว และเมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ให้การชั้นสอบสวน ไม่โต้แย้งพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงในการตรวจพิสูจน์เป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนดังกล่าวประกอบกันว่า นายพอละจี่ หรือบิลลี่ รักจงเจริญ เสียชีวิตแล้ว
2. ดีเอสไอ ระบุ อัยการ ควรฟังพยานนักศึกษาฝึกงานที่กลับคำให้การว่า “ไม่เคยเห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว”
ประเด็นอัยการ “พยานรายนายเกษม ลือฤทธิ์ เจ้าหน้าที่อุทยาน กับนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ที่พนักงานอัยการเห็นว่าให้การกลับไปมาไม่น่าเชื่อถือ”
ดีเอสไอ เห็นว่า ตามความเห็นของพนักงานอัยการที่อ้างว่า คำให้การนายเกษมฯ และนักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน ให้การกลับไปมาไม่น่าเชื่อถือนั้น แต่ขณะเดียวกันตามความเห็นของอัยการกลับเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวบิลลี่ ไปแล้วหลังจับกุม ซึ่งย้อนแย้งกันเอง
ดังนั้น หากพนักงานอัยการอ้างว่า คำให้การของนายเกษมฯ กับนายอิศราฯ และนักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากให้การกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องกับรอย พนักงานอัยการก็ควรต้องรับฟังว่า ไม่มีพยานคนใดเห็นบิลลี่อีกเลยหลังจากที่ถูกผู้ต้องหาทั้งหมดจับเอาตัวไป และเมื่อคดีนี้มีพยานบุคคลยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้จับเอาตัวบิลลี่ไป แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ การรับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวนเช่นกัน
ดีเอสไอ ยังระบุว่า ตามคำให้การของพยานทั้งสามรายในประเด็นที่เคยยืนยันทำนองว่าเห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว หลังจากถูกผู้ต้องหาทั้งหมดจับเอาตัวไปก็จะพบว่าไม่สมเหตุผลอย่างชัดเจนเนื่องจากพยานเหล่านี้ไม่เคยรู้จักบิลลี่มาก่อน และอ้างว่าพบบิลลี่ ขับขี่รถจักรยายนต์หลังถูกปล่อยตัว ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลและผิดปกติอย่างยิ่งที่รับฟังยืนยันได้ (ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในรายงานการสอบสวน)
และที่สำคัญ นายเกษมฯ กับนักศึกษาฝึกงาน 2 คน พยานทั้งสามรายนี้ได้ยอมรับต่อมาในภายหลังต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้วว่า ความจริงแล้วพวกตนทั้งหมดไม่เห็นบิลลี่ แต่เหตุที่ให้การยืนยันไปในครั้งแรกเนื่องจากถูกกลุ่มผู้ต้องหาโน้มน้าวชักจูงให้ยืนยัน
3. ดีเอสไอ โต้ บิลลี่ถูกควบคุมตัวโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายก่อนจะหายตัวไป ควรถือว่าถูกใช้อำนาจข่มขืนใจ
ประเด็นอัยการ “ที่พนักงานอัยการเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่เอาทรัพย์ของนายพอละจีฯ ไป และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจบิลลี่”
ดีเอสไอ เห็นว่า คดีนี้มีพยานบุคคลยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้จับเอาตัวบิลลี่ไปพร้อมทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายของบิลลี่ (ตามที่กล่าวไว้ในรายงานการสอบสวน) แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวบิลลี่ และในรายงานการสอบสวนฟังได้อย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ร่วมกันจับเอาตัวบิลลี่ไปโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ทำบัญชีของกลาง ไม่แจ้งสิทธิ ไม่นำตัวบิลลี่ไปที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่า มีเจตนาจับเอาตัวไปเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายและเบียดบังเอาทรัพย์สิน และพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทั้งหมดมีจำนวนคนมากกว่า มีอาวุธปืนในขณะจับกุม ย่อมถือเป็นการข่มขืนใจ ย่อมเข้าใจได้ว่า หากขัดขืนไม่ยอมให้จับกุมจะถูกผู้ต้องหาทั้งหมดใช้กำลังประทุษร้าย
4. ประเด็นการกล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี
ดีเอสไอ เห็นว่า คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการมีคำสั่งตามที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ซึ่งมีประเด็นแห่งคดีคนละประเด็นกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และคดีฆาตกรรมในคดีนี้ และข้อเท็จจริงในขณะนั้น ผู้ร้อง (มึนอ) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บิลลี่ อยู่ในความควบคุมของผู้ต้องหาทั้งหมดศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง มิใช่คำสั่งว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด และเหตุที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เนื่องจากผู้ร้องเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานนำมาพิสูจน์ให้ศาลเห็น ประกอบกับผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและได้ร่วมกันกล่าวอ้างนายเกษมฯ กับนักศึกษา 2 คน ในการสร้างเรื่องราวการปล่อยตัวอันเป็นเท็จ
ดังนั้น ความเห็นของพนักงานอัยการที่กล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญที่ได้จากการสอบสวนในภายหลังจึงไม่ถูกต้อง
5. ดีเอสไอ ยืนยัน คดีบิลลี่ เทียบเคียงคดีฆ่า พญ.ผัสพร ได้ ในประเด็น “ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า”
ประเด็นอัยการ “การพิสูจน์การฆ่า ซึ่งพนักงานอัยการอ้างว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า และไม่อาจนำคดีฆ่า พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ มาเทียบเคียงได้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน”
ดีเอสไอ เห็นว่า คดีนี้มีหลักในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในทำนองเดียวกันกับคดีฆ่าหมอพัสพร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปของสังคมและควรนำคดีฆ่า พญ.ผัสพร มาเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษาในการพิสูจน์การกระทำผิดในคดีนี้ เนื่องจากในคดีฆ่า พญ.ผัสพร ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่าและไม่พบศพเช่นเดียวกับคดีนี้ โดยในคดีฆ่า พญ.ผัสพร พิสูจน์การตายด้วยชิ้นเนื้อซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีแพทย์ยืนยันการเสียชีวิต เช่นเดียวกับคดีนี้ที่พิสูจน์การตายโดยชิ้นส่วนกระดูกอันสำคัญโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันประกอบพยานเครือญาติดังที่กล่าวมาข้างต้น
คดีฆ่าหมอพัสพรฯ มีหลักฐานกล้องวงจรปิดยืนยันผู้ต้องหาพาผู้ตายออกจากร้านอาหารซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่มีการพบเห็นผู้ตาย ก็เช่นเดียวกันกับคดีนี้ที่มีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นผู้จับเอาบิลลี่ไปจากด่านที่เกิดเหตุและเป็นจุดสุดท้ายที่มีคนพบเห็นบิลลี่
ประเด็นสุดท้าย คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมให้การโต้แย้งหรือกล่าวอ้างพยานหลักฐานใดในชั้นสอบสวน
ดีเอสไอ เห็นว่า คดีนี้ตามคำให้การของผู้ต้องหาทั้งหมดในชั้นสอบสวน เห็นได้ชัดว่า พนักงานสอบสวนได้พยายามสอบถามเพื่อให้โอกาสแก้ผู้ต้องหาทั้งหมดที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ วรรคสี่ แล้ว แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดก็มิได้ให้การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่กล่าวหาตนอันถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของสุจริตชนทั่วไป
และเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่ผู้ต้องหาทั้งหมดได้กล่าวอ้างเพื่อหักล้าง คงมีแต่ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามพยานหลักฐานทางการสอบสวน ทั้งพยานทางวิทยาศาสตร์ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสารหลายรายการ โดยพยานส่วนหนึ่งผ่านการพิจารณาของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบจนอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดทุกข้อกล่าวหา ฉะนั้น การรับฟังข้อเท็จจริงจึงควรต้องรับฟังตามพยานหลักฐานดังกล่าวที่กล่าวสรุปไว้ตามรายงานการสอบสวน
จากความเห็นแย้งดังกล่าวมาข้างต้น ดีเอสไอ จึงเห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ตามที่กล่าวไว้ในรายงานการสอบสวนมีน้ำหนักและรับฟังข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาและสมควรฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลเพื่อให้คดีนี้ซึ่งเป็นคดีฆาตกรรมอันสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจได้มีการพิสูจน์ความจริงกันในศาลจนเป็นที่ยุติและเป็นภาพลักษณ์อันดีของกระบวนการนยุติธรรมไทย