xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแจงเหตุสั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์”ฆ่าบิลลี่ เพราะการตรวจพิสูจน์ด้วยไมโทรคอนเดรีย ไม่ชี้ชัดได้ว่าเป็นกระดูกของบิลลี่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR online - รองโฆษกอัยการแจงเหตุผลสั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์”กับพวก ฆ่าบิลลี่ เหตุไม่เชื่อการตรวจด้วยวิธีไมโทรคอนเดรีย เป็นการพิสูจน์เพื่อยืนยันสายสัมพันธ์มารดาเท่านั้น ไม่ใช่ชี้ชัดว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ ประกอบคำพิพากษาศาลเพชรบุรี มีพยานบอกบิลลี่ถูกปล่อยตัวแล้ว


วันนี้ (27 ม.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวการสั่งคดีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อายุ 56 ปี ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ผอ.ทสจ.) ปัตตานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างปี 2551-2557 กับลูกน้อง 3 คน ตกเป็นผู้ต้องหา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 31 ปี นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าบิลลี่ โดยสั่งฟ้องเพียงข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ในวันนี้ นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ ผู้เสียหายในคดี พร้อม น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของนางพิณนภา เดินทางมาร่วมฟังแถลงข่าวด้วย

นายประยุทธ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีอาญาให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ พิจารณาคดีระหว่าง น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ กับพวกรวม 2 คน ผู้กล่าวหา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร, นายบุญแทน -บุษราคัม, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงศ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 1-4 นั้น ผลคืบหน้าการพิจารณาสำนวนคดีนี้ดังนี้ 1. เมื่อสำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนดังกล่าวแล้ว นายฐาปนา ใจกลม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้จ่ายสำนวนให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 พิจารณา และต่อมา นายชวรัตน์ วงศ์ธนบูลย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามคดีมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีคำสั่งที่ 26/2562 ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยนายปกาศิต เหลืองทอง อัยการผู้เชี่ยวชาญเป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมี พ.ต.ท.เดชาชัย ณ ลำปาง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นายวรพงษ์ ทองแก้ว อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และนายเชาวพันธ์ ช่วยชู อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

2. คณะทำงานร่วมกันตรวจพิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า สำหรับข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 จึงเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-3 ในข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/2, 172 และเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น

3. ข้อกล่าวหาอื่น คณะทำงานเห็นว่าทางคดีไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด มีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง สำหรับข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่ คณะทำงานตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้วเห็นว่า ในชั้นนี้พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่เช่นกัน โดยคณะทำงานเห็นว่า บิลลี่ในชั้นแรกถูกกลุ่มผู้ต้องหาทั้งสี่ควบคุมตัวไปพร้อมน้ำผึ้งและรถจักรยานยนต์ แต่ต่อมามีพยานบุคคลยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว โดยทางคดีได้ความอีกว่าภรรยาและมารดาของนายพอละจีได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสี่ปล่อยตัวนายพอละจี เพราะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบตามกฎหมาย

“เมื่อศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาพยานหลักฐานทุกฝ่ายแล้วได้มีคำสั่งยกคำร้อง เพราะมีพยานเบิกความต่อศาลว่านายพอละจีได้รับการปล่อยตัวแล้ว ซึ่งภรรยาของนายพอละจีได้ยื่นอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดเพชรบุรี แต่ทั้งชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาพิพากษายืน อันเป็นการชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้ว คดีเป็นที่สุด และต่อมาพยานที่เคยเบิกความในคดีที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ให้การใหม่กับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอตรงข้ามกับที่เคยเบิกความต่อศาล แต่พนักงานอัยการซึ่งเป็นคณะทำงานเห็นว่าตำเบิกความต่อศาลดังกล่าวน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากกว่า”

นายประยุทธ กล่าวถึงความเห็นคณะทำงานต่อไปว่า การตรวจพิสูจน์กระดูกซึ่งเป็นวัตถุพยานของกลางโดยวิธีไมโทรคอนเดรีย เป็นเพียงการตรวจเพื่อทราบถึงความสัมพันธ์สายมารดาเท่านั้น โดยการตรวจวิธีนี้ไม่เพียงพอยืนยันตัวบุคคลที่ชี้ชัดได้ว่ากระดูกของกลางที่พบเป็นของบุคคลใด และสำนวนคดีไม่มีข้อเท็จจริงหรือประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันฆ่านายพอละจีที่ไหน เมื่อไหร่ และโดยวิธีใด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นล้วนเป็นสาระสำคัญที่อัยการต้องกล่าวบรรยายไว้ในฟ้อง รวมทั้งสำนวนการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานว่านายพอละยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า การฟ้องคดีสามารถทำได้ครั้งเดียว อัยการต้องพิสูจน์ให้ได้ชัดเจน ถ้าสืบแล้วยังมีข้อสงสัย โอกาสศาลยกฟ้องมีสูง ถ้าสั่งไม่ฟ้องแล้วมีพยานหลักฐานใหม่ อัยการสามารถหยิบยกมาได้ แต่ถ้าฟ้องไปแล้วศาลยกฟ้องเสียหายมากกว่า คดีมีอายุความ 20 ปี โดยอธิบดีอัยการคดีพิเศษฝากเรียนญาติผู้เสียหายสามารถฟ้องเองได้ อัยการยินดีให้การสนับสนุน แต่ของอัยการฟ้องส่วนที่ชัดเจน หากยังไม่เพียงพอไม่ฟ้อง ทั้งนี้ ขั้นตอนต้องเสนอดีเอสไอพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าดีเอสไอมีความเห็นต่างต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าในระยะเวลาการฝากขังผู้ต้องหาทั้งสี่ใกล้ครบกำหนดวันที่ 3 ก.พ.นี้ อัยการสูงสุดจะสั่งคดีทันหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ถ้าหากเป็นคดีร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี อัยการจะฟ้องไปก่อนในข้อหาที่มีการสั่งฟ้องแล้วก่อน แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อาจจะต้องรอ และหากมีคำสั่งถึงที่สุดประการใด ก็จะให้พนักงานสอบสวนนำตัวมาในภายหลัง

เมื่อถามหากพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัย เหตุใดไม่สั่งสอบเพิ่มเติม นายประยุทธ กล่าวว่า หลักการสอบเพิ่มเติมนั้นต้องมีประเด็นที่อัยการจะต้องสั่งสอบเพิ่ม แต่คดีนี้ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยง ซึ่งขณะนี้มีพยานหลักฐานที่ดีเอสไอรวบรวมมา เรายังไม่เห็นความเชื่อมโยง ต้องชี้ว่าจะให้สอบเพิ่มประเด็นใด ซึ่งมีการลงความเห็นสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวไป

เมื่อถามว่าคดีนี้มีประจักษ์พยานยืนยันว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่ แต่พยานที่บอกว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วมากลับคำให้การในชั้นสอบสวนดีเอสไอว่าไม่เห็นการปล่อยตัว ถือว่าเป็นพยานไม่อยู่กับร่องรอยจะน่าเชื่อถือว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่จริงหรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่า เมื่อบิลลี่โดนนายชัยวัฒน์นำตัวไปแล้วไม่ได้กลับบ้าน ทางภรรยาและมารดาได้ยื่นร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีขอปล่อยตัว เพราะเชื่อว่าถูกนายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการสืบพยานสู้กัน เท่าที่รับแจ้งมา มีประจักษ์พยานเบิกความต่อศาลเห็นบิลลี่ขี่มอเตอร์ไซค์หลังจากนั้น ศาลเชื่อพยานว่านายชัยวัฒน์ปล่อยตัวบิลลี่มาแล้ว ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนว่าจากการนำสืบในคดี เห็นว่ามีการปล่อยบิลลี่ออกมาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลสั่งให้นายชัยวัฒน์ปล่อยตัว และยกคำร้อง พยานในคดีดังกล่าว 2 ปากจาก 5 ปาก มาให้การใหม่กับดีเอสไอในชั้นสอบสวนว่าไม่เห็นการปล่อยตัวบิลลี่ อัยการจึงมาชั่งน้ำหนัก เชื่อว่าสิ่งที่พยานพูดกับศาลจังหวัดเพชรบุรี จนศาลอุทธรณ์และฎีกาเชื่อมีน้ำหนักมากกว่าการให้การใหม่กับดีเอสไอ การนำพยานที่ขัดแย้งกันเองขึ้นสู่ศาล จะกลายเป็นประโยชน์แห่งการสงสัย กฎหมายจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ในชั้นนี้เราจึงต้องรอพยานหลักฐานที่แน่นหนากว่านี้

เมื่อถามว่าพยานที่ยืนยันว่าปล่อยตัวบิลลี่ไม่มีใช่หรือไม่ เนื่องจากมากลับคำในชั้นดีเอสไอ

นายประยุทธ กล่าวว่า ในสำนวนของศาลจังหวัดเพชรบุรีนั้นมี 5 ปาก ใน 3 ปากยืนยันอยู่ แต่มี 2 ปากพูดใหม่ การที่พยานกลับคำ อัยการมีสิทธิใช้ดุลยพินิจว่าจะเชื่อตรงไหน การเบิกความในชั้นศาล มีการซักค้านพยานกันอย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ดีเอสไอยืนยันความชัวร์ของการตรวจด้วยวิธีไมโทรคอนเดรีย โดยสืบจากครอบครัวมาแล้วระหว่างมารดาและยาย มีบุคคลหายคือบิลลี่คนเดียว ทางอัยการมีความเห็นอย่างไร

นายประยุทธ กล่าวว่า ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดก็สงสัยในประเด็นเดียวกัน สิ่งที่เราได้รับแจ้งจากคณะทำงานอัยการได้มีการพิจารณาสำนวนคดีโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าการตรวจโดยวิธีไมโทรคอนเดรียเป็นการตรวจหาสายสัมพันธ์ของมารดากับยาย ทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถไล่สายสัมพันธ์ได้มากขึ้นอีกกว่า 2 ลำดับ และคดีนี้ไม่สามารถตรวจดีเอ็นเอได้ เพราะพยานวัตถุถูกทำลายด้วยความร้อนสูง พยานจึงต้องเป็นพยานที่รับฟังประกอบส่วนอื่นได้ด้วย อัยการพิจารณาดูภาพรวมทั้งสำนวนแล้ว แต่ไม่เห็นความเชื่อมโยงกับพยานหลักฐานอื่น โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลที่บอกว่าปล่อยตัวนายพอละจี หรือบิลลี่ออกมาแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานว่าฆ่าที่ไหนอย่างไร ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะต้องบรรยายฟ้อง

ด้านนายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4 ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศได้มาร่วมแถลงข่าว กล่าวเสริมอธิบายเปรียบเทียบคดีหมอวิสุทธิ์ฆ่าหมอผัสพร ว่ามีความแตกต่างกัน เนื่องจากคดีดังกล่าวพยานวัตถุไม่เสียหายมาก ระยะเวลาผ่านไปไม่นาน สามารถสกัดดีเอ็นเอยืนยันตัวบุคคลได้ ไม่ใช่เพียงว่าการสืบสายมารดาและยายจะเข้ากับใครได้บ้าง

จากนั้น นางพิณนภา ภรรยาของบิลลี่ ซักถามว่าสิ่งที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจยืนยันเชื่อถือได้หรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่า วิธีการตรวจดังกล่าวไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ชัดเจน การตรวจแบบไมโทรคอนเดรียต้องใช้เชื่อมโยงกับพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ภาพรวมในสำนวนที่ได้รับแจ้งมายังไม่มีความเชื่อมโยง และไปถูกตัดตอนโดยคำพิพากษาศาลฎีกา จ.เพชรบุรี ที่ยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ การพิสูจน์หากบิลลี่ต้องสงสัยว่าไม่มีชีวิตอยู่ ยังสงสัยว่าใครเป็นคนฆ่า มีแต่การคาดการณ์เอง หากฟ้องไปศาลยกฟ้องจะเกิดความเสียหายมากกว่า

เมื่อถามว่าคดีนี้ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดหรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่า นายชัยวัฒน์มีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ตนเป็นผู้รับหนังสือนำส่งเรียนอัยการสูงสุด หลังจากนั้นทางอัยการสูงสุดจะส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวไปยังอัยการคดีพิเศษ ส่วนอัยการคดีพิเศษจะนำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมารวมพิจารณาสั่งคดีหรือไม่ ตนไม่ทราบ เนื่องจากตนไม่ได้อ่านเนื้อหาว่ามีประเด็นใดบ้าง

หลังการแถลงข่าวเสร็จ นางพิณนภาได้ยื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือ ขอให้อัยการชี้แจงเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องอย่างละเอียด

โดยนางพิณนภา กล่าวว่า ตนเข้าใจที่อัยการพิจารณาจากหลักฐานคำพิพากษา แต่ก็เข้าใจยาก สงสัยเรื่องการตรวจ เพราะคนกะเหรี่ยงเมื่อเสียชีวิตจะไม่เอากระดูกลอยน้ำ ในชั้นนิติวิทยาศาสตร์ตรวจแล้วยืนยันตรงกับแม่ของบิลลี่ ส่วนตัวรู้สึกเป็นไปไม่ได้ว่าจะเป็นคนอื่น นอกจากนี้ก็ไม่มีพยานหรือใครในหมู่บ้านที่เห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีอะไรก็อาจจะยื่นฟ้องคดีเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น